โรงเรียนชาวนาระดับอุดมศึกษา (25) ปัจฉิมบท


...กว่าจะเป็นนักเรียนชาวนาไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะไม่มีใครบังคับ ขึ้นอยู่กับความสนใจแต่ละบุคคลที่จะเลือกทางเดินใหม่ ...

แทบฝั่งธารที่เราเฝ้าฝันถึง

                                   

     การเดินทางของนักเรียนชาวนา บนเส้นทางของการทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน…นี่เป็นเป้าหมายของการเดินทางที่ทุกคนต่างมุ่งหวังและหมายมั่น อันเป็นภารกิจใหญ่ของทั้งคุณกิจและคุณอำนวย แต่ในระหว่างการเดินไปตามทาง ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด หากจะเปรียบเปรยไป การเดินทางเสมือนหนึ่งเป็นเรือที่ล่องลอยอยู่กลางสายธาร ซึ่งระหว่างการล่องเรือตามหาสิ่งที่มีคุณค่า ย่อมจะได้พบกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆมากมาย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการเดินทาง

     การขับเคลื่อนกระบวนการนั้น บ้างก็เป็นไปด้วยความราบรื่น บ้างก็พบอุปสรรค มากน้อยตามจังหวะ จากห้วงเวลาที่ผ่านมา...ราวปีกว่าๆ ของการดำเนินงานภายใต้โครงการส่งเสริมการจัดการความรู้เรื่องการทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ทั้งคุณกิจและคุณอำนวยต่างก็ได้ร่วมแก้ขัดแก้ไขไปตามศักยภาพและความสามารถ เพื่อให้แต่ละจังหวะเกิดความลงตัวมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

     ธารแห่งความหวังไหลล้อมรอบอยู่ใกล้ๆตัวของนักเรียนชาวนา จากวันนั้นถึงวันนี้ มองย้อนกลับไปและมองกลับมา มองอย่างทบทวนตนเอง จึงทำให้พอรู้ว่า ได้เดินทางออกมาไกลมากจากจุดเดิมที่เคยยืนอยู่

     เมื่อหันมาทบทวนตนเอง ในวันนั้น นักเรียนชาวนาคือชาวนาที่เคยใช้สารเคมีในการทำนา คุ้นเคยและเคยชินอยู่กับใส่ปุ๋ยเคมี ฉีดพ่นยาฆ่าแมลง มุ่งหวังแต่เพียง...ขอให้ได้ผลผลิตมากๆ ขอให้ราคาขายข้าวเปลือกที่แพงๆ ดังนั้นจึงได้ทุ่มเทชีวิต หยาดเหงื่อแรงกาย เวลา เงินทุน ลงไปกับการทำนา โดยไม่ได้คำนึงถึงสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ความสงบสุข วิถีชีวิต นี่เป็นภาพในวันนั้นที่นักเรียนชาวนาทุกคนกล่าวสะท้อนถึงด้วยความเศร้าสร้อย

     ก่อนจะมาเป็นนักเรียนชาวนา หลายคนก็คิดแล้ว แล้วก็คิดอีก หลายเสียงบอกกล่าวกันว่า “เป็นชาวนามาตั้งแต่เกิด ทำไมต้องไปเรียนทำนาอะไรอีก” หรือไม่ก็ “ขนาดใช้ตัวยาแรงๆ ยังเอาไม่อยู่เลย แล้วจะให้ไปใช้สมุนไพร จะไหวหรือ” ทำให้หลายคนซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในชุมชนขอลองเข้ากระบวนการเพื่อการเรียนรู้สักระยะหนึ่งก่อน ได้ผลกันอย่างไรแล้วค่อยมาคิดมาอ่านกันใหม่ ในขณะที่ยังมีอีกหลายคนซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ในชุมชน หันหน้าหนี และไม่เลือกที่จะเข้าร่วมกิจกรรม

     เส้นแบ่งบางๆ ค่อยๆเกิดขึ้นในชุมชน ด้วยเหตุผลของความขัดแย้งในทางความคิด เป็นการแย่งพื้นที่ทางความคิด ระหว่างนักเรียนชาวนากับชาวนาทั่วไป (ชาวนาที่เข้าสู่กระบวนการเพื่อการเรียนรู้ก็คือนักเรียนชาวนา) นักเรียนชาวนาประกาศตัวและเริ่มต้นลดละเลิกการใช้สารเคมีในการทำนา ท่ามกลางการเฝ้าดูและเฝ้านินทาจากผู้คนรอบข้าง

     ในบางครอบครัว แม่บ้านตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมตามโครงการ ในขณะที่พ่อบ้านแสดงทัศนะไม่เห็นด้วย คนในบ้านเดียวกันกำลังช่วงชิงพื้นที่ทางความคิดด้วยเหตุผลที่แต่ละคนรู้จักและเข้าใจ แม่บ้านคิดในใจอยู่เสมอ พยายามหาวิธีการให้คนในบ้านเดียวกันยอมรับให้ได้ “คนในบ้านเดียวกันแท้ๆยังไม่คล้อยตามเลย แล้วจะให้ไปบอกกับคนอื่น มีหรือเขาจะเชื่อ” จากนั้นกลยุทธ์และกุศโลบายหลายๆอย่างถูกนำขึ้นมาใช้ เพื่อหลอกล่อให้พ่อบ้านเปลี่ยนความคิด “ต้องให้เขาเห็นกับตา เขาจึงจะเชื่อ” ความคาดหวังของแม่บ้านมีอยู่ตลอดเวลา หากแม่บ้านสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงเป็นผลเชิงประจักษ์แล้ว สักวันหนึ่ง ไม่นานเกินรอ พ่อบ้านจะเปลี่ยนใจ แล้วจนกระทั่งสถานการณ์เปลี่ยนไป พ่อบ้านได้เริ่มเข้าใจและหันมาสนใจทางเลือกใหม่ที่แม่บ้านนำเสนอ สมุนไพรย่อมดีกว่าสารเคมี ซึ่งเป็นสิ่งที่แม่บ้านตอกย้ำข้อเท็จจริงต่อพ่อบ้านอยู่เสมอๆ

     บางครอบครัว น้องตัดสินใจเป็นนักเรียนชาวนา ในขณะที่เสียงคัดค้านจากพี่ๆและเครือญาติดังจนหนาเต็มสองหู ทุกครั้งที่จะไปเรียนรู้ ก็ถูกเสียงที่ทำให้เสียขวัญเข้ามารบกวนจิตใจจนเกือบจะเลิกล้มความตั้งใจ แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากจะฝ่าวงล้อมทางความคิด จึงยืนยันที่จะมุ่งหน้าลดละเลิกการใช้สารเคมีในการทำนาให้จงได้ ขณะเดียวกันก็คิดหาวิถีทางที่จะทำให้พี่ๆและญาติได้เข้าใจ จนจังหวะเอื้ออำนวยให้สมุนไพรที่ทำไว้ได้แสดงผลงาน “ ต้องให้เขาเห็นกับตา เขาจึงจะเชื่อ” จากนั้นเสียงคัดค้านเริ่มลงลดและหายไป กลายเป็นกำลังใจและความช่วยเหลือเพื่อหนุนผลักดันไปสู่การลดละเลิกการใช้สารเคมี ละแล้วก็กลายมาเป็นคนร่วมพายเรือเดียวกันเพื่อจะเดินทางให้ไปถึงฝั่งฝัน วิถีทางเกษตรกรรมยั่งยืนของครอบครัว

     ปรากฏการณ์ที่ได้เล่าความให้รับทราบกันนี้เกิดขึ้นจริงกับครอบครัวของนักเรียนชาวนา กว่าจะฝ่าวงล้อมทางความคิดในวงครอบครัวและญาติพี่น้องได้นั้น ไม่ใช่ง่ายๆ พายุที่พัดอยู่ในบ้านเป็นด่านสำคัญด่านแรกในการเดินทางของนักเรียนชาวนา

     จากวันนั้นจนมาถึงวันนี้ ทิ้งระยะเวลาไม่นานนัก พอมาเห็นพ่อบ้านกับแม่บ้านนั่งคุยกัน พี่กับน้องนั่งคุยกัน เรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านเมื่อปีกลาย ก็ได้กลายเป็นเรื่องสนุกๆไประหว่างกัน เก็บความไม่เข้าใจเอาไว้เป็นเพียงบทเรียนสอนใจระหว่างกัน

     บทเรียนบางตอนจากบางครอบครัวได้นำมาเล่าสู่กันฟังในเวทีโรงเรียนชาวนา ให้เป็นเรื่องสอนใจสำหรับใครอีกหลายคนที่เผชิญปัญหาประเด็นความขัดแย้งทางความคิดภายในบ้าน

     เรื่องในบ้านสามารถจัดการได้ง่ายกว่า แต่ในชุมชน ความซับซ้อนมีมาก ผู้คนหลากความคิดหลายความเห็น จึงไม่ง่ายนักที่จะลดความขัดแย้งทางความคิดระหว่างกันได้ในชุมชน

     คนในชุมชนจำนวนไม่น้อยยังไม่ค่อยเข้าใจนักเรียนชาวนา “ พวกนี้บ้า ” วลีดังกล่าวนี้มีมาตั้งแต่เริ่มต้นตั้งโรงเรียนชาวนา และในทุกวันนี้วลีอย่างนี้ก็ยังไม่หายไป แม้ว่าคนในชุมชนส่วนหนึ่งพอจะเข้าใจหลักการและรูปแบบวิธีการบ้างแล้ว การยอมรับความคิดอยู่ในระดับผิวเผิน “พอรู้ พอเข้าใจ แต่ไม่ทำหรอก”

     นักเรียนชาวนาอาศัยการชักชวนเพื่อนบ้านผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม เริ่มต้นด้วยการให้ “เอาไปลองดูเผื่อจะได้ผล” ทั้งน้ำหมักเอย สมุนไพรไล่แมลงเอย ฮอร์โมนเอย สิ่งต่างๆที่นักเรียนชาวนาทดลองทำแล้วนำไปใช้ได้ผลดี จึงถูกนำไปแจกจ่ายให้ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านไปทดลองใช้กับพืชผักผลไม้และข้าวตามแต่จะทดลอง จนมีเสียงตอบรับที่ดีกลับมา “ต้องให้เขาเห็นกับตา เขาจึงจะเชื่อ” คำพูดดังกล่าวยังใช้ได้ผลดีอยู่

     ใครสนใจอยากจะทำเป็น ก็จะเชื้อเชิญให้เข้ามาร่วมวงแลกเปลี่ยนในโรงเรียนชาวนา บ้างก็ยินดีและสนใจ บ้างก็ปฏิเสธ ตามแต่จะตัดสินใจ “เรื่องอย่างนี้บังคับกันไม่ได้หรอก” “ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ”

     กว่าจะเป็นนักเรียนชาวนาไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะไม่มีใครบังคับ และขึ้นอยู่กับความสนใจส่วนบุคคล ชาวนาที่สนใจและสมัครใจจึงเลือกทางเดินใหม่ ซึ่งมีความแตกต่างจากตัวเลือกเดิมอย่างสิ้นเชิง

     นักเรียนชาวนาที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ เล่าให้ฟังว่า ได้เก็บความต้องการและความหวังมานานพอสมควร ประการหนึ่งเห็นจะเป็นเรื่องของสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สำหรับชีวิต ทุกคนต่างตระหนักกันถึงเรื่องสารเคมี ผลกระทบต่อร่างกาย ต่อสิ่งแวดล้อม พิษภัยจากสารพิษได้ทำให้นักเรียนชาวนารู้ซึ้งถึงภัยอันตราย เพราะแต่คนเคยมีประสบการณ์โดยตรงจากท้องนากันมาแล้ว

     อีกประการหนึ่งคงเป็นเรื่องของต้นทุนการทำนา ซึ่งโรงเรียนชาวนาส่งเสริมให้นักเรียนชาวนาจัดทำบันทึกทำบัญชี จดค่าใช้จ่ายในการทำนา แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน ระหว่างการทำนาแบบใช้สารเคมี กับการทำนาแบบลดต้นทุนโดยชีววิธี และนักเรียนชาวนาส่วนใหญ่สามารถลดต้นทุนการทำนาได้แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี

     หลังจากที่นักเรียนชาวนาที่ได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้มาในระดับหนึ่งแล้ว จึงพบว่า มีนักเรียนชาวนาจำนวนไม่น้อยต้องการก้าวไปสู่ฝั่งฝันอย่างยิ่งยวด ยอมทุ่มเททั้งแรงใจแรงกายเพื่อจะพายเรือลำใหญ่ไปให้ถึงฝั่งฝัน

 

หมายเลขบันทึก: 48323เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2006 09:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ร่วมปฎิวัติการศึกษาเพื่อความเป็นไท

http://gotoknow.org/blog/plays-learns/320506

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท