ดำเด็กข้างบ้าน 15/1 ชาตรี สำราญ


คำถามที่สอดคล้องกันมากคือ “เขียนได้อย่างไรกัน” กับ “สอนอย่างไร”

๑๕.

 

                ผมกับดำไม่ได้พบกันหลายสัปดาห์  เพราะผมติดธุระไปต่างจังหวัด  กลับมาบ้าน  ดำส่งงานเขียนให้ผมอ่าน 2 เรื่อง  คือ  เรื่องลอยกระทง กับ เรื่องฤดูกาล  ผมอ่านแล้วรู้สึกพอใจ  เรื่องทั้ง 2 เรื่อง  ผมคิดว่ามันสมบูรณ์พอสำหรับงานเขียนของดำ  เมื่อมีใครมาเยี่ยมผม  ถ้าผู้นั้นเป็นครู  ผมจะหยิบงานทั้ง 2 ชิ้นนี้ให้อ่าน  คำถามที่สอดคล้องกันมากคือ  “เขียนได้อย่างไรกัน” กับ “สอนอย่างไร”

         ผมตั้งเป้าหมายว่า  เรื่องราวต่างๆ ที่ดำเรียนรู้ไปนั้น  ดำจะต้อง  เข้าไปอยู่ในหัวใจ  คือ  เรื่องราวเหล่านั้นจะต้องฝังใจดำ  แล้วพัฒนาสู่ความรู้สึก  ตรงนี้สำคัญมาก  “ผู้เรียนจะต้องมีความรู้สึกต่อเรื่องที่เรียน”  เพราะถ้าผู้เรียนมีความรู้สึกต่อเรื่องนั้น  เขาจะฝังใจต่อเรื่องนั้น  แล้วโอกาสที่เขาจะแสดงออกต่อเรื่องนั้นย่อมมี  เช่น  การสอนเกี่ยวกับเรื่อง  สิ่งแวดล้อม  ผู้เรียนจะต้องมีความรู้สึกต่อสิ่งแวดล้อมที่เรียน  แล้วเขาจะฝังใจต่อเรื่องนั้น  ถ้าผู้เรียนมีความรู้สึกด้านดี  เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม  จิตอนุรักษ์  ย่อมจะเกิดขึ้นกับผู้เรียนคนนั้นในวันหนึ่งข้างหน้า  เพราะเขาฝังใจต่อสิ่งแวดล้อมในด้านดี  ผมมองเห็นขั้นตอนของการเรียนรู้อย่างนี้ว่า

                ถ้าผู้เรียนได้ยินได้ฟังบ่อยๆ เขาจะสนใจหรือคุ้นชิน

                ถ้าผู้เรียนได้ศึกษาเรียนรู้โดยการกระทำบ่อยๆ เขาจะรู้จริงหรือเกิดเป็นนิสัย

                สร้างนิสัยใฝ่เรียนใฝ่รู้บ่อยๆ จะรู้แจ้งหรือเกิดเป็นสันดาน

สันดานนี้แหละที่จะพัฒนาสู่จิตอนุรักษ์  จิตอาสา  จิตวิจัย

                ผมมีวิธีการสร้างความรู้สึก  ให้เกิดขึ้นกับดำโดยการให้ดำอ่านเรื่องที่เขาอยากรู้  (นิยาย  ประวัติศาสตร์  วรรณกรรม)  อ่านจบ 1-2 เที่ยว  แล้วมานั่งสนทนาถึงความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นแก่ดำ  ใช้เชิงการซักถามจนดำเกิดความรู้สึกขึ้นมาก็ให้เขียนความรู้สึกนั้นในตอนที่ 1  แล้วอ่านเรื่องนั้นใหม่  ให้จับใจความของเรื่องที่อ่านมาเขียนเรียบเรียงใหม่ตามภาษาที่ดำถนัด  ก็จะเป็นตอนที่ 2  ส่วนตอนที่ 3 เป็นตอนที่เน้นย้ำให้ดำเขียนถึงความรู้สึกลึกๆ  ที่ดำรู้สึกอีกครั้ง  ให้ดำขมวดความคิด  ความรู้สึกนั้นๆ ให้สั้นกระชับ  ซึ่งตรงนี้แหละสำคัญมาก  เพราะประโยคสั้นที่ออกมาจากความคิดสั้นๆ นั้นจะ  ฝังใจ  ดำอยู่นาน  ถ้านำมาเน้นย้ำบ่อยๆ ก็จะพัฒนาเป็นนิสัยหรือความรู้สึกนึกคิดที่ติดตัวดำไปได้นานแสนนาน 

           มาถึงตรงนี้ขอเน้นย้ำว่า  การสอนนั้นนอกจากจะให้ผู้เรียนรู้  แล้วต้องสอนให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกต่อเรื่องที่เรียนด้วย  ความรู้สึกนี้ผู้เรียนจะต้องเรียนรู้จากภายใน  เพราะฉะนั้นวิธีการเรียนการสอน  จะต้องปรับให้เหมาะสมแก่ผู้เรียนด้วย 

                การที่ผู้เรียนเรียนรู้จนเกิดความรู้สึก  แล้วถ้าผู้เรียนเขียนเป็น  เขาจะสามารถถ่ายทอดบทเรียนได้น่าอ่านซึ่งผู้อ่าน  อ่านแล้วจะเกิดอารมณ์ด่วน  มีนักเขียนมากมายที่เขียนออกมาจากความรู้สึก  ผู้อ่านอ่านแล้วประทับใจต่อข้อเขียนนั้น  เช่น  ประยอม  ซองทอง  เขียนกลอนชื่อ  “ม่านดอกรัก”  (ในสุดสงวน, 2532)  เขียนได้ประทับใจ  เพราะผู้เขียนเขียนด้วยความรู้สึกสะเทือนใจว่า

 

                “และเพื่อพี่...ผู้แพ้ให้แก่ “เขา”

                ขอให้เราเป็นเพียง “ผู้เคยรู้จัก”

                เผื่อพบหน้าถ้าจำได้อย่าทายทัก

                จำจงหนัก...โลกนี้ไร้พี่แล้ว”

 

หรือที่ อดุล จันทรศักดิ์  เขียนไว้ใน  ณ กาลเวลา (2549)  เรื่อง คิดแบบหมา  อดุล  จันทรศักดิ์  เขียนบทจบไว้น่าอ่านมาก  เพราะได้อารมณ์ความรู้สึก  ลองอ่านดูเถิดครับ

 

                 ...เดินหาเสียงยามวิกาลแล้วถูกกัด

                นั่นคือหมาปฏิบัติหน้าที่หมา

                หน้าไม่คุ้นก็ขย้ำเป็นธรรมดา

                ไม่เลือกหน้าเลือกน่องที่ต้องใจ

 

                    ต้องตามกฏตามเกณฑ์แห่งการกัด

                หมาหรือเลือกปฏิบัติกับใครได้

                ใครเลือกใช้อำนาจรัฐจัดการใคร

                เคยอายหมาบ้างไหมหรือไม่เคย

 

เป็นไงครับบทกลอนที่เขียนออกมาจากความรู้สึก  อ่านแล้วได้อารมณ์ไหมครับ

 อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ครับ https://docs.google.com/docume...

 

หมายเลขบันทึก: 482569เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2012 09:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท