จิตติ์ ดวงบุปผาวงค์
พระครูปลัด จิตติชัย จิตติชโย มาตย์วงค์

การเดินธุดงค์


ทุกก้าวแห่งความดีงาม

การเดินธุดงค์

 

            ตามธรรมเนียมถือปฏิบัติในการเดินธุดงค์กัมมัฏฐานนั้น เมื่อเดินไปเรื่อยๆ จนถึงหมู่บ้านหนึ่ง ในระยะเวลาบ่ายมากแล้ว ถ้าขืนเดินทางต่อไปจะต้องค่ำมืดกลางทางแน่ พระธุดงค์ก็จะกำหนดเอาหมู่บ้านที่มาถึงในเวลาบ่ายมากนั้นเป็นที่เที่ยวภิกขาจารหาอาหารในเช้าวันรุ่งขึ้น ครั้นได้ระยะห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๕๐๐ ช่วงคันธนู หรือประมาณ ๑ กิโลเมตร ตามที่พระวินัยกำหนดแล้ว ก็จะแสวงหาร่มไม้หรือสถานที่สมควรปักกลด กำหนดเป็นที่พำนักภาวนาในคืนนั้น พอรุ่งเช้า ก็จะย้อนเข้าในหมู่บ้านเพื่อบิณฑบาต ชาวบ้านที่รู้ข่าวตั้งแต่เมื่อวาน ก็นำอาหารมาใส่บาตรตามกำลังศรัทธา และกำลังความสามารถ ครั้นกลับถึงที่พักปักกลด ก็ทำการพิจารณาฉันภัตตาหาร เสร็จแล้วจึงเดินทางต่อไป ยกเว้นแต่จะกำหนดสถานที่นั้นพักภาวนามากกว่า ๑ คืน ก็จะอยู่บำเพ็ญภาวนา ณ สถานที่แห่งนั้นต่อไป ชาวบ้านที่สนใจ ก็อาจจะติดตามมาฟังพระธรรมเทศนา และแนวทางปฏิบัติในตอนค่ำบ้าง ในตอนเช้าหลังการบิณฑบาตบ้าง

            เมื่อเป็นเช่นนี้ พระธุดงค์ก็จะถามชาวบ้านถึงเส้นทางที่จะเดินทางต่อไป เพื่อจะได้สามารถกำหนดเส้นทางและกำหนดหมู่บ้านอันเป็นที่สมควรแก่การเที่ยวภิกขาจารในวันต่อๆ ไปได้
            เป็นการเดินธุดงค์ไปตามเส้นทางธรรมดาของพระธุดงค์แท้พระธุดงค์จริงตามแบบอย่างที่ พระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต และบรรดาสานุศิษย์ได้ถือปฏิบัติกันมา สำหรับการ ปักกลด นั้น ในทางปฏิบัติก็ต้องเอามุ้งกลดแขวนไว้กับเส้นเชือกที่ผูกตรึงกับต้นไม้ ไม่ใช่ปักไว้กับพื้นดิน เพราะการขุดดินหรือทำให้ดินเสียปรกติสภาพของมันไปเป็น การอาบัติโทษ อย่างหนึ่ง
            ข้อปฏิบัติที่ถือเป็นธรรมเนียมประการต่อไป คือจะไปเที่ยวปักกลด ในหมู่บ้าน ในสถานที่ราชการ ใกล้เส้นทางคมนาคม เช่น ริมถนน ริมทางรถไฟหรือที่มีคนพลุกพล่านผ่านไปมา อย่างนั้นไม่สมควร
สถานที่พำนักปักกลดควรเป็นที่สงบวิเวก เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร เช่นในป่า ภูเขา ถ้ำ โคนไม้ เรือนร้าง หรือป่าช้า เป็นต้น
            ถ้ามีพระ เณร หรือฆราวาสที่ร่วมเดินทางด้วย แต่ละคนก็แยกกันไปปักกลดห่างกันพอสมควร เพื่อไม่ให้การปฏิบัติภาวนามีการรบกวนกัน ไม่ใช่ปักกลดอยู่เป็นกลุ่มใกล้ชิดติดกัน
อย่างไรก็ดี การเดินธุดงค์ตามแบบดังกล่าว ถือเป็นธรรมเนียมหรือแบบฉบับที่ครูบาอาจารย์สายกัมมัฏฐานอบรมสั่งสอน และพากันปฏิบัติสืบต่อกันมา

            ธุดงค์ ถือเป็นองค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส,ชื่อข้อปฏิบัติประเภทวัตร ที่ผู้สมัครใจจะพึงสมาทานประพฤติได้
เป็นอุบายขัดเกลากิเลส ส่งเสริมความมักน้อยสันโดษเป็นต้น มี ๑๓ ข้อคือ
หมวดที่ ๑ จีวรปฏิสังยุตต์-เกี่ยวกับจีวรมี
๑. ปังสุกูลิกังคะ ถือใช้แต่ผ้าบังสุกุล
๒. เตจีวริกังคะ ใช้ผ้าเพียงสามผืน
หมวดที่ ๒ ปิณฑปาตปฏิสังยุตต์-เกี่ยวกับบิณฑบาต มี
๓. ปิณฑปาติกังคะ เที่ยวบิณฑบาตเป็นประจำ
๔. สปทานจาริกังคะ บิณฑบาตตามลำดับบ้าน
๕. เอกาสนิกังคะ ฉันมื้อเดียว
๖. ปัตตปิณฑิกังคะ ฉันเฉพาะในบาตร
๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ลงมือฉันแล้วไม่ยอมรับเพิ่ม
หมวดที่ ๓ เสนาสนปฏิสังยุตต์ -เกี่ยวกับเสนาสนะมี
๘. อารัญญิกังคะ ถืออยู่ป่า
๙. รุกขมูลิกังคะอยู่โคนไม้
๑๐. อัพโภกาสิกังคะ อยู่กลางแจ้ง
๑๑. โสสานิกังคะ อยู่ป่าช้า
๑๒. ยถาสันถติกังคะ อยู่ในที่แล้วแต่เขาจัดให้
หมวดที่ ๔ วิริยปฏิสังยุตต์-เกี่ยวกับความเพียร มี
๑๓. เนสัชชิกังคะ ถือนั่งอย่างเดียวไม่นอน

คำสำคัญ (Tags): #การเดินธุดงค์
หมายเลขบันทึก: 482528เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2012 22:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 20:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท