จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

ซีเรีย: กระจกสะท้อนกลับ


ก่อนที่ท่านจะอ่านและให้ความเห็นต่อบทความนี้ของผม ผมก็ขอออกตัวก่อนนะครับว่า ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโลกอาหรับหรือตะวันออกกลาง ความรู้เรื่องต่างประเทศมีน้อยนิดมากจริงๆ งานเขียนนี้เลยต้องขอสงวนว่าไม่ได้วิเคราะห์มูลเหตุและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในซีเรียที่เจาะลึก วิเคราะห์ชัดอะไรมากมาย เป็นเพียงมุมสะท้อนคิดบางประการที่เกิดขึ้นระหว่างที่ข่าวคราวของชีเรียประจักษ์แก่สาธารณะชน 

บางทีผมก็อดประหลาดใจต่อปฏิกิริยาของประชาคมโลกในกรณีของซีเรียครับ ทำไมยากเย็นนักที่จะประนามการกระทำของรัฐบาลอัลบัซซาร์ แต่พอดูต่อว่าประเทศสมาชิกความมั่นคงที่วีโต้ร่างมติสหประชาชาติในเรื่องดังกล่าวครั้งแรกๆ ก็คือ จีนกับรัสเซีย ก็ยิ่งทำให้ผมอยากรู้ว่าอะไรคือประเด็นหลักในเรื่องนี้มากขึ้น อยู่ย้อนไปอีกนิดก็พบการมีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญของอีหร่านต่อที่มาที่ไปมากยิ่งขึ้น แล้วก็ได้คำตอบแรกว่า ซีเรียปกครองโดยกลุ่มชีอะห์ครับ ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือสายสุนนีย์ และปรากฏการณ์นี้จึงเป็นการลุกขึ้นของคนกลุ่มใหญ่ของประเทศเพื่อปลดปล่อยตนเองจากการถูกปกครองอย่างอธรรมมาอย่างยาวนาน และการลุกขึ้นมาครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ ครับ ความกล้าในการเรียกร้องต่อผู้นำที่อธรรมนั้นถือเป็นการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ในอิสลาม และผมขอดุอาต่ออัลลอฮ์ทรงประทานความช่วยเหลือต่อผู้ที่กำลังต่อสู้บนหนทางของพระองค์ ขอให้พวกเขามีพลังที่เหนือกว่าศัตรูของพระองค์

# สำหรับผม ซีเรียเป็นชื่อประเทศลำดับต้นๆ ที่ผมรู้จักชื่อ เพราะเป็นชื่อประเทศที่ต้องท่องจำตั้งแต่สมัยเด็กๆ ครับว่า ท่านรอซูล (ซ.ล) เดินทางไปค้าขายในวัยหนุ่มที่ประเทศชามเป็นที่แรก โดยคุณครูก็จะอธิบายต่อว่า ชามก็คือซีเรียในปัจจุบัน และภาพในใจของผมต่อซีเรียคือประเทศของมุสลิมประเทศหนึ่ง แต่เหตุการณ์ในหลายๆ ประเทศแถบตะวันออกกลางในช่วงเวลานี้ตอกย้ำให้เห็นถึงความอ่อนแอของมุสลิมได้ชัดเจนขึ้นครับ ซีเรียก็เหมือนกับอีกหลายๆ ประเทศที่ได้ถูกแปรฐาตุให้กลายพันธุ์มานานแล้วครับ ระบอบการปกครองแบบอิสลามเป็นระบอบที่ไม่เอื้อต่อการสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับชนชั้นปกครอง เพราะเป็นระบอบที่โอบอุ้มคนคุณธรรมขึ้นมาเพื่อปกครองคนส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้นในประเทศในโลกอาหรับเมื่อได้รับมรสุมแห่งยุคการล้าอาณานิคมและผลประโยชน์ที่มากมายต่างตอบแทนระหว่างกัน แน่นอนครับเขาจะไม่ยอมที่จะเลือกเอาระบอบอิสลามมาใช้ในการบริหารประเทศแน่ๆ ประเทศอาหรับมุ่งกลับไปหาคำสำคัญใหม่เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพของประเทศ คำๆ นั้นไม่ใช่ มุสลิม ไม่ใช่อิสลาม แต่เป็นคำว่า "อาหรับ" ครับ

กระจกแรกที่สะท้อนกลับจากเหตุการณ์ในโลกอาหรับคือ เมื่อเราเลือกเอาคำสำคัญที่ไม่ใช่หัวใจหลักและไม่สามารถนำมาเป็นแก่นแท้ขอชีวิตได้มาใช้เพื่อสร้างเอกภาพที่เป็นภาพลวงของประชาชาติแล้ว สุดท้ายมันก็จะนำไปสู่ความล้มเหลวครับ มองย้อนไปในอดีต อาหรับไม่ได้สร้างอารยธรรมนะครับ แต่หลักคำสอนของอิสลามสร้างอาหรับให้รุ่งโรจน์ได้ ความเจริญของอาหรับในอดีตเติบโตขึ้นจากฐานของอิสลาม เฉกเช่นเดียวกันกับคนบ้านเราครับที่หลายคนให้ความสำคัญของการเรียกร้องจากคำสำคัญจอมปลอม คำสำคัญที่เราเป็นคนปั้นแต่งขึ้นมาเอง และหากมองไปยังแก่นแท้ เราก็จะไม่พบอะไรเลยนอกจากความว่างเปล่า

# ผมมองการต่อสู้ของประชาชนในหลายประเทศอาหรับอย่างชื่นชมครับ มันเป็นการจุดกระแสของการปลดปล่อย การต่อสู้กับผู้ปกครองที่อธรรม (ซอเล็ม) ซึ่งนั่นคือการต่อสู้บนหนทางของอัลลอฮ์ (ญีฮาด) มันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนกลุ่มหนึ่งที่จะลุกขึ้นเรียกร้องถึงแม้นว่าเขาจะถูกกดขี่อยู่ก็ตาม ผู้ที่เสียชีวิตไปกับเหตุการณ์ในซีเรีย ณ ปัจจุบันเกือบๆ หมื่นคนแล้วครับ (ขออัลลอฮ์ทรงให้ความเมตตาแก่พวกเขา) ถึงแม้ปฏิกิริยาจากหลายกลุ่มประเทศมองไปยังเรื่องสิทธิมนุษยชนมากกว่าการร่วมกับประชาชนเพื่อนำมาซึ่งชัยชนะของประชาชนและการปลดปล่อย ซึ่งหลายคนก็ตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมเขาหยิบยื่นมาได้เพียงเท่านี้เองหรือ? ผมขอดุอาต่อการช่วยเหลือที่ยิ่งใหญ่จากอัลลอฮ์ เพื่อนำพามาซึ่งชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ครับ

กระจกของผมมองสะท้อนกลับมาว่า เราจะสร้างพลังให้เกิดการเรียกร้องที่ยิ่งใหญ่ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบอุดมการณ์กันก่อนครับว่า มีความถูกต้องสอดคล้องกับหลักการเพียงใด จากนั้นจึงจะต้องสร้างการเสียสละ ยอมรับต่อการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น แน่นอนครับ ภาพดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าแต่คนมองเห็นเดียวจมูกของตนเอง ที่สำคัญคือสังคมต้องสร้างผู้นำที่ให้ความสำคัญต่อการเสียสละครับ ซึ่งบางทีในสังคมบ้านเรามองหาแล้วหาอีกก็ไม่เจอ แต่จริงๆ ไม่ควรมองหาให้ไกลมากไปครับ มองกลับมาที่ต้วเองเป็นสำคัญครับทำไมไม่สามารถเป็นผู้นำได้

สงสัยเมื่อวานจะเล่นน้ำนานไปหน่อยครับ วันนี้สภาพร่างกายเลยไม่ค่อยจะพร้อมในการเขียนบันทึกสักเท่าไร จบเพียงเท่านี้แล้วกันครับ ขอบคุณครับ

คำสำคัญ (Tags): #ซีเรีย
หมายเลขบันทึก: 482336เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2012 10:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชอบภาพประกอบ แสงสะท้อน งดงามมากๆ ค่ะ

ไม่สันทัดประเด็นนี้ แต่ชอบประโยคนี้มากๆ

เราจะสร้างพลังให้เกิดการเรียกร้องที่ยิ่งใหญ่ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบอุดมการณ์กันก่อนครับว่า มีความถูกต้องสอดคล้องกับหลักการเพียงใด จากนั้นจึงจะต้องสร้างการเสียสละ ยอมรับต่อการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น

เชื่อมั่น ศรัทธา ความกล้าหาญในการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ขอบคุณค่ะ :)  

 

ผมชอบประโยคนี้ครับ

"มองย้อนไปในอดีต อาหรับไม่ได้สร้างอารยธรรมนะครับ แต่หลักคำสอนของอิสลามสร้างอาหรับให้รุ่งโรจน์ได้ ความเจริญของอาหรับในอดีตเติบโตขึ้นจากฐานของอิสลาม"

ผมเชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่รับข่าวเพียงผิวเผินแล้วแยกความแตกต่างระหว่างคำสำคัญสองคำนี้ไม่ออกครับ บันทึกของอาจารย์เปิดมุมมองความคิดได้ดีมากทีเดียวครับ

ขอบคุณครับ  Ico24 ดร. ธวัชชัย ปิยะวัฒน์

เหมือนๆ กับ มุสลิมกับมลายูในบ้านเราครับ บางทีแยกยาก แต่หากเอาปัญหามาพินิจพิเคราะห์ดูจะทำให้เห็นชัดว่าควรปรับทิศทางการแก้ไขยังไงดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท