ประทับใจมหิดล (อีกรอบ)


ผมมีความจำเป็นต้องไปเสียค่าปรับที่นครปฐม ฐานขับรถเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนด (133 กิโลเมตร/ช.ม. บนถนนพระราม ๒) เมื่อเสียค่าปรับแล้วจึงเดินทางกลับ คิดได้ว่า ต้องผ่านมหิดลศาลายา นึกถึงครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชามาให้ จึงขับรถเข้าคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สิ่งที่เปลี่ยนไปวันนี้คือ ถนนภายในมหาวิทยาลัยที่กว้างขึ้น มีการจัดระเบียบที่จอดรถ (จำได้ว่า เดิมทีจอดเลียบถนนนี้) สะอาดสะอ้านสายตาเหลือเกิน มีต้นไม้เยอะ เป็นบรรยากาศที่ดีทีเดียว ผมได้คำตอบในใจตัวเองว่า "ชอบจัง" กับภาพที่เรามองเห็นนั้น มหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่ต้องการจัดการความรู้แบบนี้ สามารถแวะไปดูได้

ผมเดินผ่านทางประตู (ไม่ใช่ประตูมั้ง เป็นทางเท้า) ที่เคยเดินผ่านหลายๆรอบเมื่อหลายปีก่อน มีสำนักงานสาขาวิชาใหม่ๆเกิดขึ้น แต่ดูเหมือนสิ่งที่มหิดลไม่ทิ้งคือเอกลักษณ์ว่าตนจะยืนอยู่ ณ จุดใด ผมเดินขึ้นไปบนชั้น ๓ ซึ่งเป็นภาควิชามนุษยศาสตร์ ทราบมาว่า ภาควิชานี้ก่อตั้งมานาน ตั้งแต่สมัยถนนดินแดง ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงคือ ห้องเรียนที่ดูมีสง่าราศรี ทันสมัย แม้ทราบว่าตึกนี้จะเก่าแล้ว แต่เราสามารถจะจัดการให้ทันกับสมัยใหม่ได้ ผมได้ข้อคิดว่า ทุกอย่างมันน่าจะขึ้นอยู่กับ "การจัดการ"

เสียดายแท้ ตั้งใจจะไปหาอาจารย์ที่ตนนับถือ แต่อาจารย์เหล่านั้นเกษียณไปแล้ว ที่เหลือก็ทำหน้าที่ของตัวเอง เมื่อไม่พบอาจารย์ที่ต้องการจึงเดินไปคุยกับเจ้าหน้าที่ ทราบว่า จะมีหลักสูตรใหม่เปิดในภาควิชานี้ เลาๆคือ "ศาสนาเพื่อการพัฒนา" 

หลายคนอาจมองดูศาสนาเป็นอีกโลกหนึ่ง แต่ดูเหมือนเราปฏิเสธศาสนาไม่ได้ ลองดูระหว่างประชากรโลกที่มีศาสนากับไม่มีศาสนา จำนวนมากน้อยกว่ากันเพียงใด สำหรับผม ศาสนายังมีความสำคัญกับโลก ขณะเดียวกัน ศาสนาก็เป็นสิ่งอันตรายหากเราไม่ได้เข้าใจพื้นฐานที่แท้จริงของศาสนา

เมื่อสองวันก่อนดูรายการทางไทยทีวี พิธีการหนุ่มนามสกุลโด่งดัง ความคิดดี สัมภาษณ์ฝรั่งคนหนึ่ง ฝรั่งคนนั้นบอกว่า ตนไม่มีศาสนา แต่เขามีอะไรบางอย่างที่ทำให้มีความสุขได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงศาสนา ดูเหมือน มีช่องว่างระหว่างกันอยู่ใน ๒ สิ่งนี้ แน่นอนเราคงต้องไปเปิดดูพื้นฐานที่แท้จริงของศาสนา แต่ไม่ใช่เข้าใจศาสนาอย่างที่เราพบกับปรากฎการณ์ทางสังคมในบางพื้นที่

หวนคิดอีกที ยังประทับใจมหิดลไม่ขาด ครูบาอาจารย์ภาควิชามนุษย์จิตใจดีงาม น่าเสียดายที่ผมต้องกลับที่ทำงานแล้ว จึงไม่มีโอกาสเดินชมความงามของบรรยากาศ "มหาวิทยาลัย" เพื่อซึมซับบางอย่าง แน่นอนคนเราต้องมีความใฝ่ฝัน ผมไม่รู้หรอกภายในองค์กรเป็นอย่างไร ที่แน่ๆคนเก่งเจอคนเก่งหรือจะยอมกันได้ แต่ผมก็หวังว่า มรภ.จะเดินตามความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยแบบนี้บ้าง มิฉะนั้น แม้แต่โรงเรียนมัธยมบางแห่ง เราก็ยังตามไม่ทันเขา

หมายเลขบันทึก: 482335เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2012 09:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท