๒๖๙.คำประกาศเจตนารมณ์ เครือข่ายคนพะเยาเพื่อพัฒนาพะเยา


จึงขอประกาศเพื่อทราบโดยทั่วกัน ขบวนองค์กรชุมชนคนพะเยา และภาคประชาสังคม พะเยา ๙ มีนาคม ๒๕๕๕

 

คำประกาศเจตนารมณ์

เครือข่ายคนพะเยาเพื่อพัฒนาพะเยา

ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หน่วยงานภาครัฐ จังหวัดพะเยา

เพื่อดำเนินงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนจังหวัดพะเยา อันจะนำไปสู่ความเข้มแข็ง ความสงบร่มเย็น  อยู่ดีกินดี มีความยั่งยืน และสามารถจัดการตนเองได้

            -------------------------------------------------------------------------

     ด้วยตระหนักถึงความมั่นคงในการดำรงชีพของคนในจังหวัดพะเยา ซึ่งกำลังถูกถาโถมด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และท้าทาย ทั้งในทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง อันนำไปสู่การกัดกร่อนรากฐานสำคัญของการดำรงชีพของคนพะเยา อันประกอบด้วย มิติต่างๆ ดังนี้

     มิติทางสังคม และวัฒนธรรม ด้วยตระหนักถึงความมั่นคงในการดำรงชีพของคนพะเยา ที่อยู่บนฐานสำคัญของสถาบันครอบครัว สถาบันเครือญาติ สถาบันศาสนา สถาบันโรงเรียน และสถาบันชุมชน เป็นสำคัญ หากแต่ ปัจจุบัน สถาบันเหล่านี้ กำลังถูกท้าทายด้วยปัญหาการฆ่าตัวตาย ปัญหาการหย่าร้าง ปัญหายาเสพติด ปัญหาวัยรุ่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาการศึกษา และปัญหาสุขภาพ

     ในขณะที่ มิติทางเศรษฐกิจระดับชุมชน ด้วยตระหนักถึงความสำคัญ ของการดำรงชีพของคนพะเยา ซึ่งวางอยู่บนภาคการผลิต การกระจาย และการบริโภค ในระดับชุมชนที่อิงอาศัยอยู่กับ ทั้งทรัพยากรธรรมชาติบนลุ่มน้ำอิง และน้ำยมเป็นสำคัญ อีกทั้งวางอยู่บนฐานการผลิตภาคเกษตรกรรมเป็นสำคัญ ซึ่งกำลังถูกท้าทายด้วยระบบการผลิต การกระจาย และการบริโภคแบบสมัยใหม่ ในระดับมหภาค และการขาดนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการทรัพยากรทั้งระบบ

     อีกทั้ง ในมิติทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมือง ด้วยตะหนักถึงปัญหาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชน ในการมีส่วนร่วมทั้งทางการเมือง และการพัฒนาของคนพะเยา ซึ่งกำลังถูกเพิกเฉย และละทิ้งทั้งจากการปกครองส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น

          ขบวนองค์กรชุมชนคนพะเยา จึงก่อเกิดขึ้นเพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาการดำรงชีพของคนพะเยาทั้งในมิติทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง ด้วยเครือข่ายองค์กร 12 เครือข่ายหลัก ดังนี้ 

  1. เครือข่ายทรัพยากร
  2. เครือข่ายสวัสดิการชุมชน
  3. เครือข่ายสุขภาพ
  4. เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน
  5. เครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV
  6. เครือข่ายชาติพันธุ์
  7. เครือข่ายบ้านมั่นคง
  8. เครือข่ายครอบครัวเข็มแข็ง
  9. เครือข่ายแรงงานนอกระบบ
  10. เครือข่ายผู้บริโภค
  11. เครือข่ายผู้หญิง และ
  12. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก

     โดยมีภาคีเครือข่าย 13 เครือข่ายองค์กร เป็นผู้ร่วมสนับสนุนในการพัฒนาร่างข้อเสนอ ดังนี้

  1. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
  2. สถาบันพัฒนาการเมือง
  3. สภาองค์กรชุมชน
  4. มหาวิทยาลัยพะเยา
  5. สำนักงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
  6. สำนักงานปฏิรูปเพื่อสังคมไทยที่เป็นธรรม
  7. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
  8. สถาบันส่งเสริมประชาธิปไตยเพื่อการต่างประเทศ และ
  9. มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา
  10. สถาบันปวงผญาพยาว
  11. เครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองพะเยา
  12. มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย จังหวัดพะเยา
  13. สมาคมโรตารี่ จังหวัดพะเยา

          โดยมีข้อเสนอของคนพะเยา เพื่อพัฒนาพะเยา ใน 7 ประเด็นหลัก ดังนี้

     1)      การพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติทั้งระบบโดยยึดลุ่มน้ำอิง และลุ่มน้ำยมเป็นหัวใจสำคัญ อันประกอบด้วย การจัดการกว้านพะเยา การจัดการป่า การจัดการที่ดิน และการจัดการลุ่มน้ำขนาดเล็ก ในลุ่มน้ำ โดยยึดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และชุมชน เป็นสำคัญ

     2)      การพัฒนาศักยภาพของสวัสดิการชุมชนสู่ความมั่นคงของชีวิตคนพะเยา โดยให้สภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงาน  รวมทั้ง เชื่อมโยงกองทุนสวัสดิการชุนชนสู่บำนาญประชาชน ในระดับจังหวัด ต้องการให้ อบจ. และจังหวัดผลักดันให้ “สวัสดิการ” เป็นวาระจังหวัด รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรม และเครื่องมือในการทำงาน  ในขณะที่ ระดับประเทศ ทั้งรัฐ และสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารของรัฐ มีส่วนร่วมในการสนับสนุน “สวัสดิการ”

     3)      การจัดการสถานะทางสิทธิของบุคคลไร้รัฐ และไร้สัญชาติ โดยเสนอให้เริ่มจากการจัดทำข้อมูลสถานะบุคคลในจังหวัดพะเยา และการสนับสนุนเครื่องมือ และความรู้จากภาคส่วนวิชาการ การประชาสัมพันธ์เรื่องสิทธิ รวมทั้ง รัฐควรให้ความสำคัญกับกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสัญชาติ และควรให้สิทธิตามฐานของความเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ หรือสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ

     4)      การพัฒนาภาคการเกษตรปลอดภัย และเกษตรที่เป็นธรรม โดยยึดเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทาง และเสนอให้พัฒนา และคุ้มครองระบบเกษตรกรรายย่อย ให้อยู่บนฐานการผลิตของตนเอง ทำเกษตรอินทรีย์ เน้นเพื่อบริโภคของตนเอง และแลกเปลี่ยนในครัวเรือน เป็นสำคัญ อีกทั้ง ควรสนับสนุนให้สร้างวงจรเศรษฐกิจภายในชุมชน และส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อแปรรูปผลผลิตในชุมชน รวมทั้ง การส่งเสริมให้ออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม และกฎหมายเพื่อจำกัดการถือครองที่ดิน

     5)      การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน เสนอให้มีการจัดการเชิงรุก โดยอาศัยภาคประชาชนเป็นกลไกสำคัญในการจัดการ ไม่เน้นการนั่งรอจากหน่วยงานรัฐ เพียงอย่างเดียว หากแต่ ทั้งจังหวัด หน่วยงานของรัฐ อาทิ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน และกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยควรให้การสนับสนุนในทุกช่องทาง

     6)      การพัฒนาสภาองค์กรชุมชน และประชาธิปไตยชุมชน สนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งสภาชุมชนให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด และพัฒนาศักยภาพของสภาองค์กรชุมชน อีกทั้ง หน่วยงานในจังหวัดต้องสนับสนุนกิจกรรม และยกระดับสภาองค์กร เป็นศูนย์เรียนรู้ รวมถึง ใช้กลไกสภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกในการเคลื่อนงาน

     7)      การพัฒนาคุณภาพชีวิต อันประกอบด้วย การพัฒนาสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็ง การพัฒนาระบบสุขภาพให้มีคุณภาพการรักษาที่ดี และเน้นการส่งเสริมการป้องกันโรคเพิ่มมากขึ้น การเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยในกลุ่มแรงงานนอกระบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบการพัฒนาระบบการศึกษา การจัดการระบบการบริโภคให้มีอาหารบริโภคที่ปลอดภัย โดยไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ โดยทุกกระบวนการต้องเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ชุมชน และการสนับสนุนจากทั้งภาคจังหวัด และนโยบายของรัฐ

 

 

จึงขอประกาศเพื่อทราบโดยทั่วกัน

ขบวนองค์กรชุมชนคนพะเยา และภาคประชาสังคม พะเยา

9 มีนาคม 2555

 

 

หมายเลขบันทึก: 482244เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2012 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 00:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท