"ครู" กับปัญหาของครูและสังคมไทย (ตอนที่ 2)


สภาพ ณ ขณะนั้น เรียกได้ว่า “กลืนไม่เข้าคายไม่ออกกันทั้งประเทศ”

ขอกลับไปมองอดีตอีกครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 10 ปีก่อนเมื่อครั้งที่ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นบทพิสูจน์สำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาต่าง ๆ ที่ผ่านมา


เมื่อเจอปัญหาก็ต้องแก้ไข

แต่การแก้ไขปัญหาที่สำคัญมากอันที่กระทบต่อ “ครู” และวงการศึกษาของไทยมีอยู่สองประการด้วยกันก็คือ

  1. การปรับลดขนาดและเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยงานราชการ 
  2. การนำสถาบันการศึกษาในระดับต่าง ๆ ออกนอกระบบ

ประเด็นแรก

การปรับลดขนาดและเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยงานราชการ

จากวิกฤตเศรษฐกิจในขณะนั้น ประเทศของเรากำลังประสบกับภาวะ “ถังแตก” เงินทุนสำรองระหว่างประเทศในคลังนั้นลดลงจนไม่เพียงพอที่จะค้ำประกันหนี้สินระหว่างประเทศ ทั้งก่อเกิดขึ้นจากรัฐสู่รัฐ หรือแบบเอกชนกับรัฐบาล


ดังนั้นจึงเข้าสูตรที่จะออกนโยบาย “ประหยัด” เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ในขณะนั้น


ซึ่งนโยบายประหยัดอันหนึ่งที่ส่งผลต่อระบบการศึกษาซึ่งเป็นฐานรากของสังคมไทยในปัจจุบันอย่างมากที่สุดก็คือ “การปรับลดขนาดของหน่วยงานราชการ” การไม่บรรจุข้าราชการเพิ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการครู ตำแหน่งเกษียณขอคืนกรม


จากนโยบายดังกล่าว ทำให้เกิดสภาวะการว่างงานอย่างหนัก ส่งผลโดยตรงต่อบัณฑิตหรือนักศึกษาที่เรียนจบใหม่ ๆ ในขณะนั้นที่ไม่สามารถเข้าสอบบรรจุเพื่อแข่งขันเข้ารับราชการในตำแหน่งต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะการสอบเข้าเป็น "ข้าราชการครู”


คนเราต้องขวนขวายอยู่เฉย ๆ ก็เท่ากับรอความตาย


ดังนั้นช้างเผือกในตมต่าง ๆ ที่เรียนจบมาในสายครุศาสตร์ ก็ต้องขวนขวายที่จะหางานทำเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว ใช้หนี้ใช้สิน บางคนก็สามารถสอบบรรจุเข้าแข่งขันเบียดเข้าไปทำงานได้ บางส่วนก็ต้องออกไปทำงานในภาคธุรกิจเอกชน กลับไปบ้านเพื่อทำหน้าที่ของครอบครัวที่เขาห่างเหินมานานเพราะต้องมาเรียนวิชาชีพครู


สภาพ ณ ขณะนั้น เรียกได้ว่า “กลืนไม่เข้าคายไม่ออกกันทั้งประเทศ”

ต้องช่วยกันประคองชีวิตและสภาพของตนเองให้อยู่รอดปลอดภัยผ่านสภาวะวิกฤตต่าง ๆ เหล่านั้นไปให้ได้


แต่โชคดีที่ประเทศไทย (เหมือนที่จะ) สามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ต่าง ๆ มาได้อย่างรวดเร็ว จากนโยบายแบบประชานิคมต่าง ๆ ที่เข้ามาโดยผ่านระบบทุนนิยม ใช้เศรษฐกิจเป็นตัวชูโรง ทำให้เหมือนว่าประเทศไทยของเรามีเงินมีทองมากมาย ระบบเศรษฐกิจดีขึ้นโดยฉับพลัน

GDP พุ่งสูงขึ้น ยอดส่งออกแต่ละปีมีมากมายมหาศาล แต่แท้ที่จริงในฐานของสังคมลึก ๆ ระบบการศึกษาของไทยถูกผลกระทบนี้จนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากโดยไม่รู้ตัว


ระบบประเพณีวัฒนธรรมของคนไทยในอดีตที่เปรียบเทียบอาชีพครูว่าเป็นอาชีพที่ยิ่งใหญ่ เป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญยิ่งของชุมชน ท้องถิ่น ใครได้เป็นครูจะเป็นที่เชิดหน้าชูตาของครอบครัว ในปัจจุบันก็ถูกกลบกลืนไปด้วยระบบ “เงิน” นับถือเงินเป็นพระเจ้า

แต่ละครอบครัวแข่งขันกันว่า ลูกชั้นได้เงินเดือนเท่าโน้นเท่านี้ ลูกเธอได้เงินเดือนเท่าไหร่ เป็นครูจน ๆ จะได้เงินเดือนมากมายกันสักเท่าไหร่เชียว


ระบบเศรษฐกิจระบบทุนนิยมที่หลอกล่อจิตใจของคนที่ว่ากันด้วยทรัพย์สินเป็นหลัก ทำให้วิชาชีพที่ศักดิ์สิทธิ์นี้ถูกมองข้ามและดูถูกด้วยระบบเงินนิยมหรือรายได้นิยมแบบไม่รู้ตัว


เมื่อผนวกกับการปรับโครงสร้างและลดขนาดของหน่วยงานราชการ ที่ลดหรือแทบจะไม่มีการบรรจุข้าราชการเพิ่มขึ้นเลยนั้น ทำให้ “ข้าราชการ” อาชีพที่มีสวัสดิการที่มั่นคง ที่เมื่อก่อนเคยเป็นสิ่งจูงใจให้ลูกหลาน และครอบครัวมุ่งหวังให้ลูก ๆ ของเขาสอบรับราชการให้ได้ เพื่อให้พ่อแม่สบายนั้น ก็ไม่สามารถเปิดช่องให้กับบุคคลมีความสามารถ มีความกตัญญูและเสียสละเข้าถึงสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นได้อีกแล้ว


คนเก่าก็อยู่อย่างหวาดระแวง คนใหม่ก็ไม่มีทางได้เข้ามา


สายเลือดใหม่ผสมสายเลือดเก่าที่เคยสืบทอดผ่านกันมาตามระบบวัฒนธรรมการศึกษาของไทย สายสัมพันธ์นั้นขาดสะบั้นลงก็ด้วยเพียงเพราะระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนี่เอง

 

แต่ชีวิตก็ต้องเดินไปข้างหน้าทุกวัน เวลาและวารีไม่เคยหยุดนิ่ง


ระบบต่าง ๆ ของสังคมก็เดินต่อไปเรื่อย ๆ


คนแต่ละคนก็พยายามดิ้นรนขวนขวายเพื่อเอาชีวิตรอดได้ด้วยตนเอง
การดิ้นรนขวนขวายเหล่านั้น ถ้าอยู่บนฐานของพุทธธรรมดังเช่นในอดีต ที่คนไทยมีความรักใครสามัคคีกัน ปัญหาต่าง ๆ จะไม่มีทางเกิดขึ้นเลย หรือถ้ามีก็มีอย่างน้อยมาก


แต่การดิ้นรนที่อยู่บนฐานของระบบทุนนิยมที่นำลัทธิบ้าบริโภค สังคมมีการแก่งแย่งชิงดีกัน


บริษัทต่าง ๆ ธุรกิจต่าง ๆ ก็ต้องการความอยู่รอด ก็บีบเค้นเรื่องของการทำงาน รายได้และค่าตอบแทนต่าง ๆ เพื่อทำให้ตนเองอยู่รอด แล้วก็หันไปเอารัดเอาเปรียบกับผู้บริโภค ทำให้สังคมไทยบิดเบี้ยวตามจิตใจของคนที่บิดเบี้ยวไป

แล้วทำอย่างไรกันดีล่ะที่ดี ปัญหาเก่ายังไม่หายปัญหาใหม่ก็เริ่มคืนคลานเข้ามา

และถ้ายิ่งต้องมาเจอกับประเด็นปัญหาที่ 2 ซึ่งเข้ามาเหมือนจะแก้ปัญหาแต่กลับกลายเป็นเสมือนคลื่นที่เข้ามาถาโถมปัญหาการศึกษาไทยให้กลับยิ่งแย่ขึ้นเป็นเท่าตัว "การนำสถาบันการศึกษาในระดับต่าง ๆ ออกนอกระบบ"

สนุกกันแน่ล่ะที่นี้ประเทศไทย

จะสนุกกันมากขนาดไหน โปรดติดตามต่อใน "ครู" กับปัญหาของครูและสังคมไทย (ตอนที่ 3)


ขอให้พลังแห่งวิชาชีพครูสถิตกับครูที่ดีทุก ๆ ท่านตลอดไปครับ

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

 

หมายเลขบันทึก: 48219เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2006 17:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2012 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท