พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

จม.ถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรณีนายพลฯ คนไร้รัฐป่วยด้วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง


จม.ถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรณีนายพลฯ คนไร้รัฐป่วยด้วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ลงวันที่ 15 มีนาคม 2555

 15 มีนาคม 2555

 

เรื่อง                  ขอความอนุเคราะห์ดำเนินการให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิในสถานะบุคคล และสิทธิในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV)

เรียน                 ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สิ่งที่ส่งมาด้วย    บันทึกข้อเท็จจริงเบื้องต้น กรณีนายพล คนไร้รัฐและผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง

 

ด้วยโครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิของบุคคล กองทุนศาสตราจารย์คนึง ฦาไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการประสานงานจาก นายอรุษ ตวงธนาคม ถึงกรณีของของ นายพล (ไม่มีนามสกุล) หรือนายพล แก้วล่า หรือนายตี๋ หรือนายซอตะตู่  

โครงการบางกอกคลินิกฯ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง (ดำเนินการในระหว่างวันที่ 17-28 กุมภาพันธ์ 2555) พบว่าคือ นายพลฯ  เป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทย เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.2526 ที่บริเวณบ้านห้วยกะโหลก อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีชนเผ่ากะเหรี่ยงอาศัยอยู่ขณะนั้น โดยเป็นบุตรชายคนเดียวของบิดามารดาที่อพยพหนีภัยสงครามมาจากพม่าเข้ามาในประเทศไทยเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว โดยบิดาและมารดาของนายพลฯ ไม่มีเอกสารประจำตัวที่ออกโดยประเทศพม่า    

ในระหว่างที่บิดาและมารดาอาศัยอยู่ในประเทศไทย บุคคลทั้งสองไม่เคยเข้ารับการสำรวจและบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎรของประเทศไทย และไม่เคยแจ้งการเกิดของนายพล และนายพลฯ ก็ไม่เคยเข้ารับการสำรวจเพื่อบันทึกในทะเบียนราษฎรของประเทศไทยเช่นกัน ทำให้ทั้งครอบครัวเป็นผู้ตกหล่นจากการสำรวจและบันทึกตัวบุคคลในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง บิดาและมารดาของพลเสียชีวิตตั้งแต่เขาอายุประมาณ 8-9 ปี ปัจจุบันเขาเหลือญาติ คือ ป้าซึ่งเป็นพี่สาวของมารดา และลูกพี่ลูกน้อง แต่นายพลฯ ก็ไม่ได้อาศัยอยู่กับญาติ และจะติดต่อกันเมื่อจำเป็นเท่านั้น

เมื่อประมาณวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2555 ปรากฎข้อเท็จจริงว่า นายพลฯ มีปัญหาสุขภาพอย่างหนัก คือ ป่วยด้วยโรควัณโรค และโรคหอบ ไม่สามารถเดินและประกอบกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ จำต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ จึงได้รับการประสานงานให้ความช่วยเหลือจากคุณคอรีเยาะ มานุแช เจ้าหน้าที่ International Rescue Committee (IRC) ศูนย์แม่สอด เพื่อส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก โดยใช้ชื่อผู้ป่วยคือ “นายซอตะตู่ (ไม่มีนามสกุล)” จนสามารถรักษาชีวิตไว้ได้ทัน และก็ได้ทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า นายพลฯ กำลังป่วยด้วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV) และด้วยเป็นคนฐานะยากจน ไม่มีครอบครัว ประกอบกับปัญหาสุขภาพ ทำให้ไม่ได้ประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่ง ไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลใดๆ ได้

ต่อมาเมื่ออาการดีขึ้นจนสามารถถอดเครื่องช่วยหายใจได้ ทางโรงพยาบาลแม่สอดเห็นควรให้ออกจากโรงพยาบาล  และด้วยนายพลไม่มีรายได้เพียงพอต่อการรักษาพยาบาลแต่ก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิด ตลอดจนต้องได้รับยารักษาโรคอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการประสานงานไปยังโครงการ Shoklo Malaria Research Unit (SMRU) ประจำประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการรับ นายพลฯ ให้อยู่ในความดูแลของโครงการ เพื่อจะได้รับยาที่ถูกต้องโดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยโครงการดังกล่าวมีที่ทำการอยู่ ณ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ปฏิบัติภาระกิจดูแลและให้ความช่วยเหลือกับผู้ป่วยโรคมาลาเรีย โรควัณโรค โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV) ของคนชายขอบบริเวณชายแดนประเทศไทยและประเทศพม่า

ต่อมาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 ได้ทราบจากนายอรุษ และคุณเยาะว่า โครงการ SMRU ได้รับนายพลฯ เข้าดูแลแต่จำเป็นต้องไปพักรักษาตัว ณ คลินิควัณโรค Koko ของโครงการฯ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณหมู่บ้านวังผา พื้นที่ทางฝั่งของประเทศพม่า เป็นระยะเวลา 6 เดือนจนกว่าอาการจะดีขึ้น

 

จากข้อเท็จจริงที่ปรากฎ ทางโครงการบางกอกคลินิกฯ มีความเห็นว่า มีนายพลฯ กำลังประสบปัญหาความไร้รัฐ ไร้สถานะตามกฎหมายทะเบียนราษฎร ไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก และไม่มีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐใดเลย แต่ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง นายพลฯ ย่อมพึงได้รับการปฏิบัติและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเฉกเช่นบุคคลอื่น กล่าวคือ มีสิทธิที่จะได้รับการรับรองว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายทุกแห่งหน ซึ่งเป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทยในฐานะรัฐภาคี กล่าวคือตามข้อ 6 แห่ง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948 และข้อ 16 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและทางการเมือง ค.ศ.1966

            นอกจากนี้ นายพลฯ ยังควรได้รับการคุ้มครองในสิทธิที่จะมีมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพ ตลอดจนสิทธิที่จะได้รับการรักษาทางการแพทย์และบริการทางสังคมที่จำเป็น ตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทยในฐานะรัฐภาคี กล่าวคือ ตาม ข้อ 25 แห่ง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948 และข้อ 12 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

            อย่างไรก็ตามเพื่อให้กระบวนการคุ้มครองสิทธิของนายพลฯ ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องและผู้ที่ไร้สถานะตามกฎหมายทะเบียนราษฎร ซึ่งรับฟังข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่าเกิด เติบโตและอาศัยอยู่ในประเทศไทยตลอดมา เพียงแต่มีเหตุผลความจำเป็นด้านปัญหาสุขภาพจึงจำต้องเดินทางไปรักษาพยาบาลต่างประเทศอย่างกะทันหันในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติ โครงการบางกอกคลินิกฯ จึงขอความอนุเคราะห์ท่านในฐานะองค์กรซึ่งมีอำนาจหน้าที่เพื่อการธำรงไว้ซึ่งการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เข้าดูแล ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อแก้ไขกรณีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของนายพลฯ ตลอดจนติดตามและให้ความคุ้มครองกับสิทธิที่จะเข้าถึงการรักษาพยาบาลตามสมควรอย่างต่อเนื่องเพื่อการมีชีวิตอยู่รอดของนายพลฯ

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาให้ความอนุเคราะห์

 

             ขอแสดงความนับถือ

 

 

       (นางสาวพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์)

     นักกฎหมายประจำโครงการบางกอกคลินิก

   เพื่อให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิของบุคคล

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หมายเลขบันทึก: 482078เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2012 17:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท