เวทีคนหนองบัวเมื่อ ๒๕๕๓ ก่อนย่างก้าวถึงวันนี้ปี ๒๕๕๕


ความริเริ่มของเวทีคนหนองบัว ก่อเกิดโดยการเสริมความคิดกันผ่านการสนทนาเกี่ยวกับข้อมูลอันเป็นความดีงาม และความภาคภูมิใจของท้องถิ่น ผสมผสานกันทั้งจากแหล่งประสบการณ์ชีวิตและการมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลเอกสาร ซึ่งคนทั่วไปไม่มีโอกาสเข้าถึง จากการเริ่มต้นเมื่อกรกฎาคม ๒๕๕๒ กระทั่งถึงปัจจุบันปี ๒๕๕๕ เป็นระยะเวลาย่างเข้าสู่ปีที่ ๓ ก็ได้ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวและสร้างพัฒนาการความสืบเนื่องมากพอสมควรทั้งต่อท้องถิ่นหนองบัวและต่อเครือข่ายการศึกษาเรียนรู้สุขภาวะชุมชนในวงกว้าง บันทึกนี้จึงได้นำเอาการวิเคราะห์บทเรียนในะระยะแรกมาทบทวน เพื่อวิเคราะห์และถอดบทเรียนต่อเนื่องอีกครั้งหนึ่งต่อไป

หากพิจารณาโดยเริ่มจากการได้ตั้งบันทึกจำเพาะ 'เวทีคนหนองบัว' ขึ้นแล้ว ก็ต้องนับว่าท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย (ขำสุข) เป็นผู้ริเริ่มอันนำมาสู่การก่อให้เกิดเวทีคนหนองบัวที่สำคัญ ท่านเป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติศึกษาเรียนรู้ เป็นพระชาวบ้าน มีความอาวุโสทางพรรษา มีพื้นฐานเป็นคนทำงานและใช้ชีวิต รวมทั้งเป็นพระนักปฏิบัติที่ใส่ใจสังคมชาวบ้านและวัตรปฏิบัติต่อครูอุปปัชฌา จารย์ ร่วมกับคนท้องถิ่นที่ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนและทำงานในสาขาต่างๆ โดยแนวความสนใจที่มีอย่างสอดคล้องกันที่สำคัญคือประสบการณ์ตรงต่อชุมชนผ่านการดำเนินชีวิตในชุมชนและการทำมาหากิน ความประทับใจในการดำเนินชีวิต กิจกรรมศาสนาและกิจกรรมชีวิตชุมชน ตลอดจนการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและการเรียนรู้แง่มุมต่างๆจากชุมชนอันเป็นถิ่น ฐานบ้านเกิด ซึ่งเป็นแกนหลักของการสนทนาและร่วมมือกันเขียนความรู้ รวมทั้งรวบรวมข้อมูลต่างๆสะสมเพิ่มพูนเป็นเวทีคนหนองบัว

กลุ่มผู้อ่านและเขียนบันทึกช่วยกันในเวทีคนหนองบัวโดยเฉลี่ยวันละ ๑๕๐-๒๐๐ คน จัดว่าค่อนข้างเป็นที่สนใจ และบางวาระอันได้แก่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันแม่ รวมทั้งการเกิดประเด็นซึ่งเป็นวาระทางสังคม สิ่งแวดล้อม และปัญหาส่วนรวม จะมีผู้อ่านสูงกว่าปรกติเป็น ๒ เท่า สะท้อนถึงความสามารถเป็นสื่อเคลื่อนไหวความตื่นตัวและสนองตอบด้านคุณธรรม ความสำนึกต่อส่วนรวมของประชาชนได้อย่างน่าสนใจ 

ขณะเดียวกัน เวทีคนหนองบัวก็ได้รับการส่งเสริมเกื้อหนุนเป็นสภาพแวดล้อมและแรงสนับสนุนจากเครือข่ายการเรียนรู้จากทั่วประเทศผ่านเว๊บล๊อก GotoKnow ซึ่งทำให้เวทีคนหนองบัวเป็นคลังข้อมูลและคลังความรอบรู้ของชุมชนท้องถิ่น ระดับอำเภออีกแห่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งมีผู้ร่วมกันเขียนอย่างต่อเนื่อง มีความโดดเด่นด้านข้อมูลและความรอบรู้เกี่ยวกับชีวิตชุมชน สังคมชาวบ้าน และพัฒนาการของเมืองหนองบัวในด้านความริเริ่มและการมีส่วนร่วมของประชาชน ภาคราชการท้องถิ่น วัด ผู้นำชุมชน กลุ่มการรวมตัว กลุ่มพริกเกลือของคนหนุ่มสาว และการรวมกลุ่มทางวัฒนธรรมเพื่อทำสาธารณประโยช์

ข้อมูล องค์ความรู้ ตลอดจนสื่อ ภาพวาด ในเวทีคนหนองบัว เป็นทรัพยากรความรู้และส่งเสริมให้คนทำงานได้นำไปใช้ในลักษณะต่างๆ อันได้แก่เป็นสื่อพัฒนาการเรียนการสอน เป็นสื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านและคนในชุมชนได้มีเรื่องราวชุมชนตนเองอ่าน เป็นสื่อจัดกิจกรรมวิชาการของสถาบันวิชาการ เป็นสื่อและแหล่งค้นคว้าวิธีการทำงานกับชุมชนชาวบ้าน ทั้งสำหรับคนท้องถิ่น และจากหลายแหล่งของประเทศ

ในแง่การสนองตอบต่อสภาวการณ์ความเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสม โดยแปรวิกฤติการสูญเสียความเป็นชุมชนจากการขยายตัวและการย้ายถิ่นเพื่อการ ศึกษาและทำงานต่างถิ่น ซึ่งเป็นความล่มสลายเชิงโครงสร้างชุมชนของประเทศต่างๆทั่วโลกให้เป็นโอกาส เชิงบวกมากขึ้นนั้น เวทีคนหนองบัวมีบทบาทต่อการเป็นสื่อออนไลน์เอนกประสงค์ ให้คนหนองบัวในท้องถิ่นและคนหนองบัวที่ไปทำงานในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ ตลอดจนสถานศึกษา ชุมชน และองค์กรท้องถิ่น ได้ใช้สื่อสารเผยแพร่ เชื่อมโยงการปฏิสัมพันธ์กันได้ใกล้ชิดมากขึ้นอย่างข้ามข้อจำกัดทั้งความห่าง ไกล เวลา และสถานที่ ก่อให้เกิดการรวมตัวกันทำสิ่งดีในลักษณะต่างๆ ทั้งต่อสังคมส่วนรวมและต่อบ้านเกิดที่ชุมชนหนองบัว

นอกจากนี้ ชุมชนแห่งการเรียนรู้ในเวทีคนหนองบัวมีอัตราการอ่านและเขียนโดยเฉลี่ย ๓๐ หน้าต่อคน สูงกว่าอัตราการอ่านเขียนหนังสือโดยเฉลี่ยของพลเมืองประชากรของประเทศกว่า ๑๒๐ เท่า รูปแบบการเรียนรู้ชุมชนท้องถิ่นโดยเครือข่ายความร่วมมืออย่างผสมผสานใน ลักษณะดังกล่าวของเวทีคนหนองบัวนี้ จึงมีความสามารถพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้และสังคมแห่งการแปรความรู้สู่การ ปฏิบัติในกระบวนทรรศน์การพัฒนาใหม่ๆได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการผสมผสานพื้นฐานความเข้มแข็งภายในชุมชนกับความก้าวหน้าของวิทยา การและเทคโนโลยีของประเทศและของสังคมโลกอย่างสมดุล โดยมีความเป็นชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง

ในแง่การเชื่อมโยงความเป็นท้องถิ่นกับสังคมวงกว้าง รวมไปจนถึงความเป็นสากลอย่างไร้พรมแดนนั้น เวทีคนหนองบัวเป็นสื่อการเรียนรู้ทางสังคมซึ่งทำให้ชุมชนหนองบัวซึ่งเป็น ชนบทและห่างไกลการรับรู้ทางข่าวสาร มีสื่อสำหรับเผยแพร่สื่อสารกับสังคม สามารถเห็นและเข้าถึงได้จากทั่วประเทศไทยและทั่วโลก โดยในรอบ ๑ ปีนับแต่การเริ่มทำเวทีขึ้นมา ได้มีผู้อ่านโดยเฉลี่ยวันละ ๔๗ คน ร้อยละ ๙๘ เป็นผู้อ่านจากทั่วประเทศไทย และอีกร้อยละ ๒ ซึ่งเป็นผู้อ่านจากต่างประเทศนั้น ประกอบด้วยผู้อ่านจากประเทศต่างๆ ๓๐ ประเทศในทุกภูมิภาคของโลก รวมไปจนถึงประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ก่อให้เกิดเครือข่ายการเรียนรู้และการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเชิงการแลกเปลี่ยน เรียนรู้อย่างบูรณาการของความเป็นท้องถิ่นชนบทไทยกับความเป็นสากลและความ เป็นนาชาติ มีความเกื้อหนุนส่งเสริมกันในเชิงสร้างสรรค์ของความเป็นท้องถิ่นและความเป็น โลกาภิวัตน์

กล่าวได้ว่า เวทีคนหนองบัวเป็นอีกแนวหนึ่งของการเรียนรู้ทางสังคมและการพัฒนาความเป็น สากลผ่านการเรียนรู้ท้องถิ่น นำร่องให้เห็นถึงอีกมิติหนึ่งของการถักทอสังคมวัฒนธรรมและการเรียนรู้เพื่อ พัฒนาการเรียนรู้ทางสังคมอย่างเป็นตัวของตัวเอง พร้อมกับเชื่อมโยงกับความเป็นนานาชาติและความเป็นสากล โดยวิธีถ่ายทอดสื่อสารแบบผสมผสานผ่าน Glocalization Interactive Webblog ซึ่งก่อเกิดและพัฒนาการขึ้นด้วยรูปแบบที่เป็นธรรมชาติได้อย่างน่าสนใจ

...............................................................................................................................................................................

   หมายเหตุ   

อ่านบทวิเคราะห์โดยละเอียด ใน วิรัตน์ คำศรีจันทร์ เวทีคนหนองบัว. สถิติเวทีคนหนองบัวความเป็นสากลและนานาชาติ ด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ท้องถิ่น http://www.gotoknow.org/blogs/posts/407200

หมายเลขบันทึก: 481514เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2012 06:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

...ชุมชนแห่งการเรียนรู้ในเวทีคนหนองบัวมีอัตราการอ่านและเขียนโดยเฉลี่ย ๓๐ หน้าต่อคน สูงกว่าอัตราการอ่านเขียนหนังสือโดยเฉลี่ยของพลเมืองประชากรของประเทศกว่า ๑๒๐ เท่า..

ชื่นชมกับผลลัพท์ ที่เห็นได้จับต้องได้ โดยใช้เทคโนโลยีไม่แพง ขอบคุณมากค่ะ

รวบรวมบล็อกเกอร์หนองบัวและนำมาฝากด้วย
สักวันคงได้เจอกัน(เมื่อไหร่ดี ดีตอนเจอ)

(๑)ดร.วิรัตน์  คำศรีจันทร์
คนบ้านตาลิน ตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัว นครสวรรค์เป็นบุคคลท่านแรกที่ได้เขียนเรื่องชุมชนหนองบัวบันทึกไว้ในเว็บไซต์โกทูโน(gotoknow) ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ จากการบุกเบิกริเริ่มของท่านนี้เอง ต่อมาจึงทำให้ชุมชนอำเภอหนองบัวมีข้อมูลความรู้เรื่องราวต่างๆมากมายออกสู่สาธารณะชนในโลกไซเบอร์ จนเป็นชุมชนที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เรียนรู้ได้จากสื่อออนไลน์ภายในไม่กี่นาที 
(๒)อ้อย : สุภาเพ็ญ นุชเฉย คนบ้านเนินตาโพ หมู่ ๑ ตำบลหนองกลับ เขียนเรื่องประเพณีกินดองหนองบัว อาตมาได้อาศัยงานเขียนของเธอมาบันทึกไว้ที่เวทีคนหนองบัว
(๓)อัญชัน แสนเหมือน คนบ้านหนองกลับ ตำบลหนองกลับ ปัจจุบันอยู่ที่ประเทศสวีเดน  บล็อกหญิงจากหนองบัวจากชุมชนหนองบัว ที่เป็น
(๔)เสวก ใยอินทร์ คนบ้านเนินพลวง ตำบลหนองกลับ ผู้เขียนเรื่องคนหนองบัวกับพริกเกลือ เป็นคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องราวในชุมชน
(๕)ฉิก : ศักดิ์ศรี  พิทักษ์อำนวย เป็นคนเมืองมากที่สุดกว่าใครเพื่อน เพราะบ้านอยู่ในตลาดหนองบัว มีความรู้ ความสามารถมากๆเกี่ยวกับไอที-คอมพิวเตอร์
(๖)สมบัติ  ฆ้อนทอง  ชาวห้วยปลาเน่า : ห้วยวารี เจ้าของผลงาน พจนานุกรมภาษาลาว(พจนานุกรม ๓ ภาษา คือภาษาลาว ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ)
(๗)ครูอนุกูล  วิมูลศักด์  ครูอัตราจ้างโรงเรียนวัดเทพสุทธาวาส  โดยพื้นเพไม่ได้เป็นคนหนองบัว ผู้ศึกษาค้นคว้าประวัติเรื่องภาพยนตร์และได้เขียนเรื่องโรงหนังในอดีตของอำเภอหนองบัว
(๘)อำนาจ(ธนกฤต)  รอดแสวง คนบ้านเนินตาโพ ลูกหลานช่างว่อน อดีตเด็กวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์  ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ เป็นผู้ชักชวนเพื่อนๆ สมัยเรียนที่หนองคอก จนได้มาสมัครสมาชิกในเว็บโกทูโน และต่อมาก็ได้มาร่วมเขียนความรู้ในเวทีคนหนองบัวหลายท่าน น่าอนุโมทนา(อัญชัน แสนเหมือน,บุญเลิศ ทรงทอง,ครูยุพิน รอดประพันธ์,กิตติ ปัอมเสน)
(๙)บุญเลิศ ทรงทองทอง(DekThape) คนบ้านใหญ่ หมู่ ๔ ตำบลหนองกลับ
(๑๐)กิตติ ป้อมเสน ม.๖ รุ่นที่ ๑ โรงเรียนหนองคอก
(๑๑)ยุพิน รอดประพันธ์ ม.๖ รุ่นที่ ๑ โรงเรียนหนองคอก
(๑๒)รัชทนง รัชโพธิ์พรหม มัธยมรุ่นที่ ๑๔ โรงเรียนหนองคอก เพื่อนรุ่นเดียวกันกับดร.วิรัตน์ และถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นท่านเดียวในรุ่นนี้ด้วยที่เป็นบล็อกเกอร์ ที่อยู่ในท้องที่หนองบัว
(๑๓)พระมหาแล  อาสโย(ขำสุข)

ลืมบล็อกเกอร์หนองบัวไปหนึ่งท่านคุณวิฑูรย์ ขำสุข

  • อ่านบันทึกอาจารย์ เห็นภาพความสำเร็จของเวทีคนหนองบัวชัดเจนมากครับ..
  • ขอบคุณความรู้ครับอาจารย์

ขอบพระคุณครับอาจารย์หมอ ป.ครับ
หากเวทีคนหนองบัวเตรียมข้อมูล เตรียมชุมชน และเตรียมประสบการณ์ของคนทำงานเชิงพื้นที่ได้พอสมควร พอที่จะยกระดับการจัดเวทีสาธารณะของพื้นที่ทางด้านต่างๆได้บ้างนั้น ทางด้านสุขภาพและการขับเคลื่อนเครือข่ายจัดการสุขภาพชุมชนนั้น ผมนึกถึงอาจารย์หมอป.หรือการได้เชื่อมโยงประเด็นเพื่อการดำเนินการทางปฏิบัติต่างๆกับอาจารย์ด้วยนะครับ ได้ติดตามงานของอาจารย์ทำให้ได้พอทราบว่ามีทุนประสบการณ์หลายอย่างกับการทำงานสุขภาพชุมชนทางภาคเหนือและนครสวรรค์เยอะเลยนะครับ

กราบมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ
เห็นเป็นเรื่องเป็นราว เป็นตัวเป็นตนได้ดีขึ้นมากเลยนะครับ นอกจากคนหนองบัวแล้ว อีกหลายท่านที่เป็นชุมชนเรียนรู้สุขภาวะชุมชนร่วมกับเวทีคนหนองบัวก็คงต้องช่วยกันพยายามประมวลภาพออกมาด้วยเหมือนกันนะครับ ผมอยากประสานงานให้ได้ไปนั่งถอดบทเรียนที่หนองบัวสัก ๒-๓ ด้าน ที่คิดว่าจะเป็นประสบการณ์และบทเรียนที่ส่งเสริมการทำงานที่ดียิ่งๆขึ้นของคนหนองบัว อีกทั้งสามารถเป็นบทเรียนชี้นำแนวคิด ให้แนวปฏิบัติ และสร้างความบันดาลใจ ให้กับผู้สนใจในแหล่งต่างๆทั่วประเทศ เพิ่มพูนการมีส่วนร่วมในการสร้างสุขภาวะสังคมมากยิ่งๆขึ้นอีกด้วย

สวัสดีครับท่านอาจารย์ธนิตย์ครับ
มีกำลังใจกันมากครับ ประเดี๋ยวจะช่วยกันถอดบทเรียนไปอีกหลายๆด้านครับ

ทุกๆ ครั้งที่เข้ามาอ่านบันทึกของอาจารย์ฯ ความทรงจำที่บ้านเกิดผุดพรายขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในบางอารมณ์มีความทรงจำงดงาม..บางภาวะหม่นมัวไปตามวิถีของมัน

แต่ทั้งปวงคือพลังที่เติมให้กับตัวเองอย่างไม่กังขา

ผมมีความฝันสองเรื่องที่อยากทำในวินาทีนี้ (1) เขียนเรื่องสถานที่สำคัญๆ ของชุมชนรอบมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นหนังสือท้องถิ่นของเรา และส่งเสริมให้นิสิตได้อ่านประกอบในรายวิชาที่ผมสอน (2) เขียนเรื่องเล่าเกี่ยวกับบ้านเกิดผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันแบบมีส่วนร่วมระหว่างผมแลชะผู้ชนในชุมชน....

จากนี้ไป คงได้แวะมาเสริมและเติมพลังให้ตัวเองจากอาจารย์มากขึ้น

สวัสดีครับอาจารย์แผ่นดินครับ
ขอสนับสนุนและออกแรงเชียร์ความมุ่งมั่นนี้อย่างสุดฤทธิ์ครับ

  • เรื่องราวของท้องถิ่นและองค์ความรู้เกี่ยวกับชุมชน เพื่อเป็นตัวป้อนให้กับการได้เรียนรู้ชุมชนรอบมหาวิทยาลัยของคนหนุ่มสาวในชุมชนการศึกษาขั้นสูงนั้น นอกจากจะเป็นวิธีออกแบบจัดความสัมพันธ์ของการศึกษากับสถาบันการศึกษาและแหล่งที่ตั้ง ให้เป็นการอยู่อาศัยอย่างซาบซึ้งและทำให้ชุมชนที่อาจจะรับรู้เพียงการเป็นแหล่งที่ตั้งของสถาบันการศึกษาเพียงอย่างเดียวแล้ว มีความหมายมากขึ้นถึงความเป็นถิ่นอาศัยและให้การก่อเกิดของชีวิตทางการศึกษา เป็นวิธีสร้างความรู้และเคลื่อนไหวกระบวนการเรียนรู้ที่จัดความสัมพันธ์ที่ดีของมนุษย์กับสังคม
  • ส่วนเรื่องราวของชุมชนบ้านเกิดนั้น เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมทางปัญญาและสร้างทรัพยากรทางการเรียนรู้ ให้ลูกหลานและผู้คน มีโอกาสที่จะทำให้เกิดบรรยากาศของการอ่านชีวิตและอ่านชุมชน ทำให้การดำเนินชีวิตในชุมชนมีความเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชีวิต อยู่บนมรรควิถีของการเรียนรู้ตลอดชีวิต เด็กๆและผู้คนไม่เพียงจะได้พัฒนาการอ่านการศึกดษาเรียนรู้บนวิถีชีวิตเท่านั้น แต่จะเป็นความจริงในหนังสือและเนื้อความวรรณกรรม, หนังสือและงานวรรณกรรมจะสามารถสะท้อนชีวิตผู้คน และผู้คนกับวิถีชีวิตชุมชน ก็เป็นตัวหนังสือ ถ่ายทอดและบอกเล่าเรื่องราวต่างๆด้วยตนเองอยู่ในหนังสือในแนวนี้
  • ผมและเวทีคนหนองบัวขอร่วมเป็นเครือข่ายเรียนรู้ไปด้วยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท