การตัดสินให้ครูขอโทษนักเรียน ครูผิดหรือไม่ผิดสมควรหรือไม่


ครูคือครู การทำผิดเกิดขึ้นได้ทั้งเจตนาและไม่เจตนา

          วันหนึ่งในวงสนทนาในร้านน้ำชาระห่างครูต่างวัย  กลุ่มหนึ่งเกษียณอายุฝ่ายหนึ่งเพิ่งจะเป็นครูได้คนละ 2- 5 ปี 

           การสนทนานี้เกิดขึ้นในตอนเช้าวันอาทิตย์แรกของเดือนมีนา หลังจากมีการเสวนาปาฐกกันหลากหลายประเด็น    ก็มีครูหนุ่มคนหนึ่งยกมือขึ้นแล้วขออนุญาตที่จะขอความคิดเห็นในกรณีที่เขาประสบกับเหตุการณ์ที่มีความสงสัยในอารมณ์ว่ามันน่าจะเป็นไปในลักษณะใดถึงจะถูกต้องตามทำนองครองธรรม      

           พอผู้อาวุโสหัวโต๊ะพยักหน้าอนุญาต  ครูหนุ่มก็สาธยายความตามเรื่องราวที่ประสบมา

            ประตูฟุตบอลเล็ก ๆ ที่นักเรียนใช้ในการเล่นฟุตบอลในพื้นที่แคบ ๆ    ที่จำกัดของโรงเรียน  กว้าง ยาว สูง ด้านละ 1 เมตร หุ้มด้วยตาข่ายของนักเรียนชั้น ม.3 ซึ่งเก็บไว้บนเวที  ถูกทำให้หักเสียหาย   ผู้ที่จะใช้ประโยชน์ก็ออกสอบถามกับนักเรียนในโรงเรียน  พบนักเรียน 2 คน รับว่าเห็นคนที่ทำลายและก็เป็นครูผู้หญิงในโรงเรียน   เจ้าของประตูฟุตบอลก็พาพยานแห่กันไปพบครูคนที่ถูกอ้างถึง

             ครูคนที่พยานมาชี้ตัวด้วยความที่ไม่รู้เรื่องใด ๆ และอ้างว่าไม่รู้ไม่เห็น เพราะครูไม่ได้ทำ ก็เกิดอารมณ์โมโหไปก่อนที่สติจะหยุดไว้ได้  ก็ใช้กำปั้นทุบบริเวณไหล่พยานคนหนึ่งไปหลายที  พยานก็ร้องไห้  ครูก็สาธยายคำไม่พอใจอันค่อนข้างจะไม่น่าฟังไปหลายประโยคเช่นกันแต่ก็มีครูอาวุโสได้ท้วงติงให้เลิกรากันไปก่อนเนื่องจากวันนี้ไม่สามารถจะตัดสินได้เนื่องจากผู้มีอำนาจในการตัดสินคดีความของโรงรียนเดินทางไปต่างประเทศ

              วันรุ่งขึ้นก็มีครูอาวุโสอีกท่านเห็นว่าถ้ารอไปนานอาจมีการเข้าใจผิดกันได้เนื่องจากทราบว่าผู้ปกครองไม่พอใจเมื่อทราบว่าลูกของตนมาเป็นพยานแต่ถูกครูทำร้ายร่างกาย  ก็เลยเรียกนักเรียนทั้งสองคนที่เป็นพยานมาสอบถามพร้อมกับเขียนบันการให้ปากคำโดยสอบถามทีละคนแต่ไม่พร้อมกัน

               จากการให้ปากคำของพยานทั้งสองคนขัดแย้งกัน

                คนที่ 1 บอกว่าครูคนดังกล่าวใช้ให้เด็กประถม จับประตูฟุตบอลลงเวทีคอนกรีตโยนลงมาด้านล่างแล้วครูก็เหยียบทำลาย

               พยานคนที่ 2  ให้การว่า ครูได้ใช้ให้เด็กประถมศึกษาคนหนึ่งหิ้วพาเดินลงบันไดเวทีลงมาวางบนพื้นแล้วครูเหยียบทำลาย

               ครูอาวุโสท่านนั้นได้สรุปบันทึกไว้ในตอนท้ายว่าครูผู้หญิงที่พยานบอกว่าเห็นทำลายนั้น ให้ปากคำไม่ตรงกัน  ก็ถือได้ว่าครูคนดังกล่าวไม่มีความผิด

               หลังจากนั้นก็ได้แจ้งให้ครูที่ถูกกล่าวหาว่าการทุบตีพยานด้วยสันมือและพูดจาอันไม่ควรพูดไปหลายคำในเรื่องนี้น่าจะถือว่าผิดเพราะไม่อดกลั้นอดทน  แสดงออกต่อศิษย์ที่ไม่เหมาะสมก็ควรจะขอโทษผู้ปกครองเพื่อจะให้สบายใจว่าครูยอมรับในการใช้อารมณ์ในการพูดที่ครูไม่ควรพูด  ครูก็รับคำจะไปขอโทษพ่อแม่ของพยาน

                ปัญหาที่เกิดขึ้นในวันถัดคือผู้ปกครองได้มาที่โรงเรียนและจะให้ครูของโทษลูกของเขาต่อหน้านักเรียน  ม. 3 ทั้งหมด เพราะวันที่เกิดการทุบตีกันก็บริเวณที่นักเรียน ม.3 กำลังเรียนและได้เห็นเหตุการณ์ทั้งหมด

                ประเด็นที่จะให้วงเสวนาให้ความเห็นก็คือ  การให้ครูไปขอโทษผู้ปกครองที่บ้านกับ ครูขอโทษนักเรียนที่โรงเรียนต่อหน้านักเรียน ม.3 ประเด็นไหนจะเหมาะสมกว่า  ดีไม่ดีอย่างไร หรือใช้วิธีอื่น ๆ

             ท่านผู้อาวุโส  ไม่อาวุโสทั้งหลายโปรดให้ความเห็นตามวิสัยแห่งเหตุผลของแต่ละท่านได้ตามสมควรต่อไป

              

หมายเลขบันทึก: 481491เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2012 21:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

รอท่านประธานใหญ่ที่ไปต่างประเทศกลับมาก่อน

เรื่องอาจเย็นลงได้

...อ่านแล้ว คิดถึง..เรื่อง "น้ำผึ้ง หยดเดียว.."...ไหน้ำผึ้งแตกกลางตลาด..แมวมากินน้ำผึ้ง..หมามากัดแมว..เจ้าของแมวมาตีหมา...เจ้าของหมาเลยมาตีหัว..เจ้าของแมว...สงครามกลางตลาดเกิดขึ้น..เพราะ..น้ำผึ้งหยดเดียวกลางตลาด..อิอิ...(คนห้าม..คงไปเมืองนอกเหมือนกัน..นะ)..ยายธี

สวัสดีค่ะ...

...ตำหนิ ติเตือนในที่ลับ - ยกย่อง ชมเชยในที่แจ้ง(ขงจื๊อ)

...ครูคือต้นแบบ"คำขอโทษ"ไม่ใช่เรื่องหน้าอาย เสียหาย ตรงกันข้ามต่อหน้าลูกศิษย์และผู้ปกครองหากผู้เป็นครูกล้าที่จะยกมือไหว้ผู้ปกครองและขอโทษลูกศิษย์ สิ่งที่ได้คือหัวใจที่ไว้ใจและยอมรับในความอาจหาญ(การละ-ยึดติดตัวตน) "จิตวิทยาฝูงชน"หากครูนำไปใช้ได้ผลและได้ใจที่ศรัทธากับคำว่าคุณครู...

...ขอบคุณค่ะ...

ขอฝากบทเพลง จาก http://www.nature-dhrama.com

12

ไม้เรียว

คำร้อง ประทีป วัฒนสิทธิ์

ทำนอง ประทีป วัฒนสิทธิ์

ไม้เรียว ......

สิ่งที่เขารู้เรานั้นไม่รู้ สิ่งที่เขาเข้าใจเขาก็ไม่เข้าใจ

สิ่งที่เรารู้เขาก็ไม่รู้

สิ่งที่เราเข้าใจเราก็ไม่เข้าใจ

เจ้านี่โง่จนฉลาด เจ้านี่ฉลาดจนโง่

คุณน่ะดีจนชั่ว

คุณน่ะชั่วจนดี

นี่หลังมือคุณว่าหน้ามือ นี่หน้ามือคุณว่าหลังมือ

คุณซื่อสัตย์จนโกง

นี่คุณโกงจนซื่อสัตย์

นี่คือสี่งที่เรารู้

12

ไม้เรียว

เสรีเกินไปมันก็ไม่ดี

ให้อย่างนี้จะเอาอย่างนั้น

ให้อย่างนั่นจะเอาอย่างนี้

มันเสรีกันเกินไป โอ๊ย..มันเสรีกันเกินไป

เด็กไม่เข็ดขลาดเพราะขาดไม้เรียว

ไม่ข้องไม่เกี่ยวคำสั่งคำสอน

พ่อแม่ต้องไหว้พ่อแม่ต้องวอน

ไม่ได้ดังสอนเอาเสียเลย โอ๊ย..ไม่ได้ดั่งสอนเอาเสียเลย

ครูบาอาจารย์ท่านสอนท่านสั่ง

นักเรียนไม่ฟังนั่งทำเป็นเฉย

ไม่คิดใส่ใจทุกเรื่องละเลย

เพราะไม่เคยโดนไม้เรียว โอ๊ย..เพราะไม่เคยโดนไม้เรียว

อำนาจไม้เรียวนี่ดีหนักหนา

เขาว่ากันว่าพาสู่สวรรค์

ถ้าหากไม้เรียวมันขาดสะปั้น

สวรรค์คงเป็นอเวจี โอ๊ย..สวรรค์คงเป็นอเวจี

ระเบียบวินัยของเด็กหายไป

จะทำอย่างไรให้กลับมาที

ช่วยหาช่องทางช่องว่างมากมี

จะทำไงดีหากไม่มีไม้เรียว โอ๊ย..จะทำไงดีหากไม่มีไม้เรียว

คิดวางรากฐานจากบ้านให้ลูก

ช่วยฝังช่วยปลูกให้ถูกวิธี

เมื่อเด็กถึงฝึกถึงฝนอย่างดี

อาจไม่ต้องมีไม้เรียว โอ๊ยอาจไม่ต้องมีไม้เรียว

เรื่องนี้ ได้อ่านแล้ว ก็มีความคิดเห็นส่วนตัว  และเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ  น่าศึกษา  

แต่หากจะให้ความเห็นส่วนตัวเอง อาจจะผิดพลาดได้ เพราะเรียนมาน้อย ลงวิชากฎหมายก็ไม่กี่ตัว

จึงต้องได้ไปขอความเห็นกับ  อาจารย์ และท่านผู้รู้ทางด้านกฎหมายหลายๆ ท่าน 

และเมื่อได้ความรู้ และคำแนะนำในเรื่องดังกล่าวมาแล้ว  

จึงใคร่ขออนุญาตนำเสนอความเห็น ดังต่อไปนี้..ค่ะ


เหตุการณ์ในกรณีนี้ ได้เกิดความผิดต่างกรรม ต่างลักษณะ ดังนี้

  1. เริ่มจากเกิดเหตุการณ์ขึ้น คือ  ทรัพย์สิน ของบุคคลหนึ่ง ถูกทำลาย ถือได้ว่าเกิดการละเมิด

  2. ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ถามหาว่าใครเป็นคนท  มีผู้กล่าวอ้างว่าเห็นเหตุการณ์   คือ นักเรียน 2 คน

  3. นักเรียน 2 คน ยอมเป็นพยาน ไปกล่าวหาครู  ซึ่งนักเรียนรู้ดีว่าเป็นเพียงการคาดคะเนเอาเอง แต่ด้วยความที่ยัง

      เด็กจึงไม่รู้ผลที่จะตามมา คือนักเรียนที่เป็นพยานเท็จ กำลังจะมีความผิดฐานละเมิดครู

  4. ผู้ถูกกล่าวหา  ปฏิเสธว่าตนเองไม่ได้กระทำ

  5. ครูผู้หญิง ผู้ถูกกล่าวหา ถูกกล่าวหาต่อหน้าบุคคลอื่น ถือว่าถูกละเมิด 

  6. ผู้ถูกกล่าวหาถูกกล่าวหาต่อหน้าสาธารณะชน  และเป็นถึงครูอาวุโส  เมื่อถูกละเมิดโดยนักเรียน จึงเกิดโทสะ 

      และใช้กำลังทำร้ายร่างกายนักเรียนที่เป็นพยานเท็จ ด้วยการทุบที่ไหล่พยาน  

      ครูจึงมีความผิด 2 กระทง เกิดขึ้นทันที 

            6.1  ผิดด้าน  "วินัย"  

            6.2  ผิดด้านอาญา  "ฐานละเมิดนักเรียน" 

  7. ครูอาวุโส ท่านหนึ่ง ต้องการหาความจริง จึงได้สอบถามพยานซึ่งเป็นนักเรียนทั้ง 2 คน   คำให้การของพยาน 

      2  คนไม่สอดคล้องกัน   

  8.  เมื่อหลักฐานไม่สอดคล้อง ชัดเจน   คำตัดสิน  จึงต้องยกประโยชน์ให้จำเลย (ครูผู้หญิง)

  9. นักเรียนที่เป็นพยานทั้ง 2 คน จึงถือได้ว่ามีความผิด ฐานเป็นพยานเท็จ เป็นการละเมิดครู

10. ผู้ปกครองฝ่ายพยานเท็จต้องรับผิดชอบในฐานนะ เป็นผู้ปกครองของพยานเท็จ  นี่คือประเด็นที่ 1   นักเรียนมี

       ความผิด  ฐานทำให้ครูผู้หญิงเสียหาย ต่อหน้าครู และนักเรียน และเป็นความผิดฐานละเมิด

11.  ครูผู้หญิง เมื่อถูกกล่าวหาซึ่งหน้า และคิดว่าตนเองไม่ได้ผิด แต่การถูกกล่าวหาต่อหน้าบุคคลอื่น ยอมเกิดความ

      ไม่พอใจ และโกรธเป็นธรรมดา ความโกรธเข้าครอบงำท ำให้ขาดสติ ขาดความยั้งคิด จึงทุบนักเรียนที่เป็นพยาน

12. ครูผู้หญิง จะกล่าวว่าตนเองได้ลงโทษสั่งสอนนักเรียน ก็สามารถทำได้  แต่การกระทำนั้นเกินกว่าเหตุ และผิดวิธี

      การ ไม่เป็นไปตามระเบียบการลงโทษ   ซึ่งกฎกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษ ไม่น่าจะอนุญาตให้ลงโทษ

      ด้วยวิธีการดังกล่าวได้ ขนาดไม้เรียวยังห้ามใช้ตีเด็กนักเรียนเลย ดังนั้น ครูจึงมีความผิดฐาน  "ทำร้ายร่างกาย"

13. ทั้งหมดที่ว่ามานั้น  ความผิดจะเกิดขึ้นได้ ต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมาย  ผู้ปกครองหากประสงค์จะดำเนินการ

      เอาผิด ควรแจ้งความต่อตำรวจ ให้ดำเนินการผ่านกระบวนการศาลต่อไป

14. ผู้ปกครองเองเมื่อมาครั้งแรก  ก็ทราบว่าครูผู้หญิงได้ยอมรับผิดที่่ลุแก่โทสะทำร้ายนักเรียน และได้ยอมขอโทษ     

      ผู้ปกครอง ในฐานะเป็นผู้ปกครองนักเรียนไปแล้ว 

15. แต่มิได้มีข้อความใดที่ว่า  ผู้ปกครองนักเรียนทราบว่า ที่ครูทำร้ายนักเรียนนั้น  เพราะนักเรียนได้ทำการละเมิดครู 

      ด้วยการเป็นพยานเท็จ   ซึ่งจุดนี้  ถือเป็นความผิดนักเรียนที่ละเมิดครู  ผู้ปกครองนักเรียนในฐานะเป็นผู้ปกครอง

      ควรขอโทษครูด้วยเช่นเดียวกัน

16. ทั้งหมด ถือว่าเป็นความผิดซึ่งกัน แ่ละกัน   เป็นความผิดสถานเดียวกัน  ครูถูกละเมิด โดยนักเรียน  นักเรียกถูกระ

      เมิดโดยครู  ผู้ปกครองนักเรียนก็ถือได้ว่า ผู้ปกครองเสมือนเป็นผู้ถูกละเมิด เช่นเดียวกัน

17. กรณีนี้ น่าจะสามารถ ยอมความกันได้  แต่ถ้าไม่ยอมความกัน  ก็ต้องไปใช้กระบวนการศาลตัดสิน

18. ผู้ปกครองไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้ครู ขอโทษนักเรียนของตนเอง ต่อหน้านักเรียนผู้อื่นได้

19. ผู้ปกครองมีอำนาจจะฟ้องครู ในฐานะเป็นผู้ปกครองนักเรียนที่ถูกละเมิด ในฐานทำร้ายร่างกายลูก

20. ครูมีอำนาจจะฟ้องผู้ปกครองนักเรียน กระทงที่ 1 ในฐานละเมิด ที่ลูกของผู้กครองใส่ร้ายป้ายสี  

      ครูมีอำนาจจะฟ้องผู้ปกครองนักเรียน กระทงที่ 2 ในฐานละเมิด ที่ผู้ปกครองมาข่มขู่บังคับจิตใจ

21. ขึ้นศาลปกครอง  ศาลอาญา  ศาลเยาวชน  กันไป

22. ครูก็ขึ้นศาลปกครองไป  พิพากษาชั้นต้นก็มีความผิดแน่นอน  ศาลอุธรณ์ก็คงรอด  ศาลฎีกาก็คงแพ้  แต่อาจโชคดี  

      ที่มีเหตุพอบรรเทาโทษได้ในฐานะรับราชการมานาน  อาจแค่เพียงรอลงอาญา

23. ครูต้องถูกตั้งกรรมการสอบวินัยมีความผิด และถูกดำเนินคดี  ซึ่งท้ายที่สุดก็มีความผิด ถูกลงโทษทางวินัยแน่นอน

24. ผู้ปกครองขึ้นศาลอาญา ก็มีความผิดในฐานะข่มขู่บังคับครู  ผลก็คือ คงแพ้ทุกศาล

      นักเรียนขึ้นศาลปกครอง ก็มีความผิดแน่นอน ในฐานะพยานเท็จ ผลก็คือ คงแพ้ทุกศาล

สิ่งที่พึงกระทำ

25.  ผู้บริหาร หรือครูผู้ใหญ่ที่จะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยต่อจากนี้ไป  ( บุคคลท่านนี้  ควรได้รับการยอมรับที่จะให้พิจารณาเรื่องนี้ จากคู่กรณี ทั้งสองฝ่ายก่อน...นะคะ) ก่อนจะตัดสินอะไร ต้องชี้แจงให้เข้าใจทุกฝ่าย และแต่ละฝ่ายเสียก่อนจะ่ขอคำสรุป จากแต่ละฝ่ายว่าจะเอาอย่างไรกัน  โดยให้เลือกระหว่าง

               25.1   ต่อสู้กันไปในกระบวนการศาลยุติธรรม 

                              25.1.1  เสียเวลาขึ้นศาล (ซึ่งก็น่าจะหลายปี เพราะหลายคดี)  

                              25.1.2  เสียเงินค่าทนายความ  เสียเวลา และในที่สุด ต่างฝ่ายต่างก็ถูกลงโทษ

                              25.1.3  เสียอารมณ์ 

                              25.1.4  แต่ละฝ่ายจะไม่เป็นที่ชื่นชม ต่อสังคมของตนเอง  และสังคมภายนอก

                                            25.1.4.1   นักเรียนที่รักครู จะเกลียดชังนักเรียนที่ฟ้องครู

                                                            จะไม่มีครูคนไหนอยากมาสอนนักเรียนคนนี้อีก เพราะไม่อยากจะมีเรื่องกับ

                                                            ผู้ปกครองคนนี้

                                            25.1.4.2    ครู ที่ไม่ชอบหน้าครูผู้หญิง จะเอาไปนินาให้เสียหาย

                                                             ครู ที่ชื่นชอบครูไม่อยากยุ่งเกี่ยวด้วย เดี่ยวถ้าครูมีความผิดจริงจะพลอย

                                                             เสื่อมเสียไปด้วย

                                                             ครู ที่เป็นกลาง ได้แต่ปลงในสังคมโรงเรียน

                                             25.1.4.3   โรงเรียนเสียชื่อเสียงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่มีใครอยากพาบุครหลานมา

                                                              เข้าโรงเรียนแห่งนี้อีก           

                   ผลสุดท้าย :  ต่างฝ่ายต่างเสีย  โรงเรียนไม่รู้เรื่องด้วย ยังเสียหายในชื่อเสียง..........

                

              25.2  ยอมความซึ่งกัน และกัน  ข้อให้ไตร่ตรองให้ดีจะเห็นว่า เกิดประโยชน์กับทุกๆ ฝ่าย 

                              25.2.1 ผู้ปกครองเคยได้รับคำขอโทษไปแล้ว ก็น่าที่จะพอใจ

                              25.2.2 ครูผู้หญิงก็ยังไม่เคยได้รับคำขอโทษจากนักเรียนที่เป็นพยานเท็จ  

                              25.2.3 ครูผู้หญิงก็ยังไม่เคยได้รับคำขอโทษจากผู้ปกครองที่ได้มาบังคับขู่เข่น 

                                         ให้ครูขอโทษต่อหน้าสาธารณะชน 

                              25.2.4 ต้องขอขอบคุณคุณครู ที่ได้ยอมกล่าวขอโทษต่อผู้ปกครอง ถือได้ว่าครูยอมถอย 1 ก้าว  

                              25.2.4 ต้องขอขอบคุณผู้ปกครอง ที่ได้กรุณารับคำขอโทษ ซึ่งก็ถือได้ว่าได้ก็ถอย 1 ก้าว 

                                         เช่นเดียวกัน


คำแนะนำสำหรับผู้บริหารที่ควรดำเนินการ

          1. ให้รับเรื่องร้องทุกข์จากผู้ปกครอง

          2. ให้รับเรื่องร้องทุกข์จากครู  (ถ้าผู้ปกครองร้องเป็นหนังสือ ให้ทางครูร้องเป็นหนังสือด้วย) 

หมายเหตุ

          1. โรงเรียนไม่รับเรื่อง ไม่ได้ เดี๋ยวจะโดนฟ้อง ต้องรับไว้ก่อน 

          2.  ค่อยๆ ดึงเวลาดำเนินการเป๋็นระยะ  เพื่อให้สติของ แต่ละฝ่ายเกิด 

          3.  ขอพบ แต่้ละฝ่ายเป็นการส่วนตัว เพื่อพูดคุยปรึกษา  

                     3.1  ก่อนพบให้นั่งพักอยู่ห้องแอร์เย็นๆ ให้อารมณ์เย็นลงก่อน 

                     3.2  รับฟัง ปล่อยให้ระบายอารมณ์โกรธไป  สักพักเดี๋ยวสติก็จะกลับมาเอง  

                     3.3  ให้คำแนะนำด้านกฎหมาย แต่ห้ามตัดสินว่าใครผิดถูก

          4. เรียกทั้งหมด พูดคุยพร้อมๆ กัน ในฐานะเป็นผู้เกี่ยวข้อง จึง "ขอเชิญมาร่วมประชุมปรึกษาหารือ"  

                     4.1 ถ้ายังไม่มีการยื่นเป็นหนังสือ  ให้ถือว่ามาพูดคุย  ให้ตอบกลับเป็นพูดคุย (แต่ต้องสรุปเป็นหนังสือ)  

                     4.2 ถ้ายื่นมาเป็นหนังสือ ต้องตอบกลับไปเป็นหนังสือ ( เิชิญมาพูดคุย และตอบกลับเป็นหนังสือ โดย

                           อ้างถึงหนังสือคำร้องที่ยื่น) 


เรื่องที่โรงเรียนต้องชี้แจง (ควรทำเป็นบันทึกสรุป การหารือร่วม)

            1.  โรงเรียนรับทราบ และเป็นห่วงในความรู้สึกที่ท่านได้รับ (ผู้ปกครอง นักเรียน ครู)

            2.  จากที่ได้เคยปรึกษานั้น โรงเรียนเข้าใจความรู้สึกของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างดี  

            3.  โรงเรียนไม่มีอำนาจสั่งการบังคับครูให้ขอโทษด้วยวิธีการที่ผู้ปกครองกำหนดได้

            4.  โรงเรียนไม่มีอำนาจบังคับให้นักเรียน หรือผู้ปกครองขอโทษครูได้เช่นเดียวกัน

            5.   จากเรื่องราวที่เกิดขึ้น โรงเรียนใคร่ขอความอนุเคราะห์ หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มาจนถึงปัจจุบัน

                  แต่ละฝ่าย คงต่างได้ใช้สติ  ไตร่ตรองเรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้ว  น่าจะเห็นว่า  หากแต่ละฝ่าย จะได้ยอมความ

                  ซึงกันและกัน  น่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับแต่ละฝ่ายมากกว่าการมุ่งเอาชนะกัน ซึ่งมีแต่จะเกิดความเสีย

                  หายกับทุกๆ ฝ่าย  ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และโรงเรียน  ( ถ้าหาพระบรมราโชวาทมาได้ ก็น่าจะหามา

                  ประกอบด้วย เพราะทุกคนรักในหลวงที่ไม่อยากเห็นคนไทยทะเลาะกัน ก็คิดว่าน่าจะยินยอมกัน และกัน ) 

                  ( ที่จริง แต่ละฝ่ายต้องการหาทางลง อย่างไม่เสียหน้า ไม่เสียฟอร์ม)

             6. โรงเรียนได้รับคำร้อง  และขอเรียนชี้แจงในข้อกฎหมายว่า 

                              1. ในกรณีนี้ โรงเรียนไม่มีอำนาจในการพิจารณาตัดสินความผิดผู้ใดทั้งสิ้น

                              2. โรงเรียนเป็นได้เพียง ผู้ไกล่เกลี่ย ชี้แนะในข้อกฎหมาย เพื่อให้แต่ละฝ่ายเข้าใจ

                              3.  แต่ละฝ่ายจะยอมความกันเพื่อให้เกิดผลดี  หรือจะต่อสู้ทำลายกัน และกันเพื่อเอาชนะ 

                                   ก็คงต้องพิจารณาตัดสินใจทำกันเอง 

                              4. หากโรงเรียนตัดสินอย่างใด อย่างหนึ่งไป  ทำให้เกิดความไม่พอใจของแต่ละฝ่าย  

                                  โรงเรียนโดยผู้บริหาร ซึ่งเป็นผู้ตัดสิน อาจกลายเป็นจำเลยต่อศาลปกครองได้ ในที่สุด

                    ดังนั้น จึงเรียนมาเพื่อขอให้แต่ละฝ่าย  ได้รับทราบ และโปรดไตร่ตรองให้ดี  ทั้งนี้โรงเรียนใคร่ขอยกพระ

ราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ความตอนหนึ่งว่า  " .....................(ว่าไป) ..........................." 

  

                     ในการปรึกษาหารือในครั้งนี้  โรงเรียนขอชี้แจงว่า จะแต่คณะกรรมการ ร่วมรับฟังคำปรึกษา  ซึ่งจะเป็นพยานให้กับแต่ละฝ่าย  แต่จะไม่ออกความคิดเห็น และจะไม่มีการบันทึกเสียงใดๆ   เพื่อการให้เกียรติซึ่งกัน และกัน  (ถ้ามีเครื่องบันทึกเสียง จะเกิดอาการไม่พอใจ และต่างฝ่ายต่างจะปกป้องตนเอง ความขัดแย้งจะไม่จบ)

                       ให้ทุกคนร่วมกันตัดสินใจ ได้ผลอย่างไรให้ สรุปเขียนเป็นบันทึกข้อความไว้  เขียนไม่เป็น ให้หาคนร่างให้ เสร็จแล้วให้แต่ละฝ่ายลงนาม รับรองการตัดสินใจในการประชุมปรึกษาหารือในครั้งนี้   และให้โรงเรียนเก็บบันทึกนี้ไว้  (อย่างน้อยโรงเรียนน่าจะรอดจากศาลปกครองได้...ค่ะ)


หมายเหตุ :    1. ที่เรื่องมันไม่จบ เพราะผู้ปกครองนักเรียน  บังเอิญมีญาติผู้หวังดี (แต่ประสงค์ร้าย) ได้แนะนำให้ 

                            ผู้ปกครองมาสั่งการให้ครูขอโทษนักเรียน ต่อหน้าสาธารณะชน   

                       2.  ตัวการเสี้ยมผู้ปกครองคนนี้ นอกจากจะไม่ต้องรับโทษอะไรแล้ว ยังได้แต่นั่งดู "ความทุกข์ทรมาณ

                            ของผู้ปกครอง  นักเรียน  และครู  อยู่ด้วยความ "สะใจ"


ผู้รู้เขาแนะนำมา หนูก็บอกต่อไปตามนั้น....ค่ะ

งานนี้ "ใครผิด ใครถูก  หนูไม่เกี่ยว...นะคะ"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท