๒๕๑.ฮอมกำกึ๊ด ฮอมผญา คนพะเยาจัดการตนเอง


เหตุผล หรือปัจจัยที่เป็นสาเหตุของปัญหานั้น ๆ มันสะท้อนอะไรได้บ้าง มันอาจไม่ใช่ ๑+๑ เป็น ๒ อย่างในอดีตก็ได้ แต่มันอาจเป็ฯ ๓-๔-๕-๖-๗-๘-๙.....ก็ได้ เพราะในปัจจุบันมันซับซ้อนมากกว่าที่เราเห็นและสัมผัสได้ด้วยตนเอง

 

     วันนี้ ผู้เขียนได้รับนิมนต์จากอาจารย์มุกดา อินต๊ะสาร ประธานคณะทำงานขบวนการองค์กรชุมชนจังหวัด โดยผ่านคุณแวว-มุทิตา สัตย์สม ให้ไปปาฐกถานำในงาน "ฮอมกำกึ๊ด ฮอมผญา คนพะเยาจัดการตนเอง" ณ หอประชุมภูกามยาว ๑ มหาวิทยาลัยพะเยา ตำบลแม่กา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา โดยมี "แกนนำเครือข่าย" จาก ๖๘ ตำบล ๆ ละ ๑๐ คน รวมกว่า ๖๐๐ คน การปาฐกถานำครั้งนี้ ใช้เวลา ๑๕ นาที

     โดยผู้เขียนได้ให้ทัศนะว่า เห็นพัฒนาการของงานนี้ค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไปตั้งแต่ต้นคือปี ๒๕๕๑-๕๒ ที่ก่อร่างสร้างแนวคิดจนเป็นรูปเป็นร่างอย่างที่เห็น แม้แต่ตัวผู้เขียนเองเหมือนกันพัฒนาการจากการที่อาจารย์มุกดา  อินต๊ะสาร ชักชวน มอบงานให้ทำ จนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน จากการกล่าวสรุป ก็พัฒนาการมาเป็นกล่าวเปิดงานในวันนี้

      คำว่า "ฮอมกำกึ๊ด" ภาษาไทยคือ "รวมความคิด" ซึ่งการระดมความคิดในแต่ละครั้งนั้น อาจจะตรงประเด็นหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่แสดงออกไปมันเป็นความคิด ซึ่งหมายความว่าเป็นเวทีให้ยอมรับฟังเหตุผลของแต่ละฝ่าย แม้ว่าจะเห็นต่างจากเราก็ตาม กล่าวคือการมุ่งยอมรับฟังซึ่งกันและกันเป็นหลัก

     คำว่า "ฮอมผญา" ภาษาไทยคือ "รวมปัญญา" ซึ่งการหลอมรวมระหว่างสติและปัญญานี้เอง แสดงถึงการตกผลึกทางด้านความคิดจากทุก ๆ ฝ่าย ทุก ๆ องค์กร และทุก ๆ ภาคส่วน มารวมกันซึ่งก็กลายมาเป็น "ภูมิปัญญา" ที่สามารถปฏิบัติให้เกิดเป็นมรรคเป็นผลได้ กินได้และสัมผัสได้ด้วย ไม่ใช่แค่แนวคิดที่เป็นเพียงอุดมคติเท่านั้น

     คำว่า "คนพะเยาจัดการตนเอง" คนพะเยา(ขออธิบายอีกครั้ง)หมายถึง คนที่อยู่รอบกว๊าน ซึ่งน้ำ ๑๒ สายไหลมารวมกัน ก่อนจะรวมกันได้ก็วนก่อน ซึ่งการวนนี้ ภาษาพะเยาเรียกว่า "กว๊าน" ดังนั้น คนที่มาอยู่อาศัยดื่มกิน จะมาจากที่ไหนก็ตาม ผู้เขียนเรียกว่าเป็นคนพะเยา

     คน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เมื่อมีจิตใจสูงก็เรียกว่า "มนุษย์" ดังนั้น มนุษย์ที่จิตใจสูงส่งนี้เองเมื่อรวมตัวกันแล้วช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เสียสละซึ่งกันและกันศัพท์ทางพุทธศาสนาใช้ "สัตวภาคี" คือเป็นผู้มีส่วนรับใช้-คล้าย-ใกล้เคียงพระโพธิสัตว์ ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่

     การที่ต่างคนต่างอยู่ โดยสัณชาตญาณคือการเอาตัวรอด เช่น ฝูงกระบือที่ถูกต้อนด้วยสิงห์โต ๒-๓ ตัว ก็ถูกไล่ ถูกฆ่าทีละตัว สองตัว แต่ถ้ากระบือฝูงนั้นรวมตัวกัน มันเกิดพลัง ต่อให้สิงห์โตทั้งฝูง ๑๐-๒๐ ตัว ก็ทำอันตรายต่อฝูงกระบือไม่ได้ นี้คือผลของการทำงานเป็นทีม ไม่ใช่ one man show

     การจะจัดการตัวเองได้นั้น ชุมชนต้องทำงานเชิงวิจัย หรือหาข้อมูลในสิ่งที่จะทำด้วยกระบวนทัศน์ ๔ ประการคือ

     ๑.นำปัญหาเชิงประจักษ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพราะแต่ละพื้นที่อาจมีปัญหาเหมือนหรือไม่เหมือนกันก็ได้ แต่ควรนำเสนอเพื่อให้เป็นกรณีศึกษา อาจเป็นการย่นเวลาในการประจักษ์แจ้งด้วยตนเอง

     ๒.เหตุผล หรือปัจจัยที่เป็นสาเหตุของปัญหานั้น ๆ มันสะท้อนอะไรได้บ้าง มันอาจไม่ใช่ ๑+๑ เป็น ๒ อย่างในอดีตก็ได้ แต่มันอาจเป็ฯ ๓-๔-๕-๖-๗-๘-๙.....ก็ได้ เพราะในปัจจุบันมันซับซ้อนมากกว่าที่เราเห็นและสัมผัสได้ด้วยตนเอง

     ๓.โยมลองตั้ง "ธง" ว่าอะไรที่ต้องการแท้จริง เป้าหมายหลักคืออะไรกันแน่? หรืออะไรคือเป้าหมายที่วางเอาไว้ กำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันให้ชัดเจน

     ๔.ลองหาแนวทางร่วมกันสิว่า มีกระบวนการอะไรบ้าง? ที่เราจะเดินไปสู่จุดมุ่งหมายนั้น ๆ พร้อมกันได้ เป็นที่ยอมรับกัน และสามารถนำไปใช้กับส่วนอื่น ๆ ได้ด้วย

     นอกจากนี้แล้ว ผู้เขียนจึงฝากให้คนที่จะเป็นแกนนำได้ใช้แนวคิดทางพระพุทธศาสนาอีก ๓ ประการ คือ

     ประการที่ ๑ จะทำอะไร ๆ อย่าเอาตนเองเป็นใหญ่ ไม่ควรค้านเสียทุกเรื่อง-ชนิดหัวชนฝา ไม่ควรถือทิฐิ แต่ต้องยอมรับ สดับฟังจากคนที่เห็นต่างจากเราด้วย

     ประการที่ ๒ จะทำอะไร ๆ อย่าเอาพวกจำนวนมาก-ลากกันไป แต่จงเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง โดยยังมีประโยชน์ของคนส่วนน้อยยังอยู่-ไม่เสียด้วย และ

     ประการที่ ๓ จะทำอะไร ๆ จงทำด้วยเมตตาธรรม โดยผู้ปกครอง หรือแกนนำ ต้องเป็นผู้ทรงธรรม(ธรรมฐิติ) มีระบบเป็นธรรม(ธรรมเนติ) และมีมติหรือเสียงโหวตเป็นธรรมด้วย(ธรรมมติ)

     ด้วยระยะเวลาที่จำกัด ผู้เขียนถือโอกาสอวยพรให้ "แกนนำ" กว่า ๖๐๐ คน ที่อยู่ในทุกตำบลได้ตั้งใจทำงานเพื่อส่วนรวม โดยมีจิตเป็นแบบสาธารณะ เอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยความเมตตาอารีต่อกัน...สาธุ

หมายเลขบันทึก: 481490เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2012 21:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท