เครื่องมือการจัดการความรู้ "ธารปัญญา"


ธารปัญญา

เครื่องมือการจัดการความรู้  “ธารปัญญา”

 

            เครื่องมือการจัดการความรู้  “ธารปัญญา”  เป็นเครื่องมือการจัดการความรู้ที่เหมาะสำหรับการดำเนินการจัดการความรู้ ที่ทำเป็นเครือข่ายขององค์กรหรือหน่วยงานที่มีภารกิจประเภทเดียวกัน

ซึ่งเครื่องมือชุด  “ธารปัญญา”  ประกอบด้วยเครื่องมือหลัก  5  ประการ ดังนี้คือ

          1.  ตารางอิสรภาพ  เป็นตารางสำหรับประเมินตนเอง ว่ามีขีดความสามารถหลัก เพื่อบรรลุเป้าหมายที่พึงประสงค์ในระดับใด

          2.  แผนภูมิแม่น้ำ  (River Diagram)  เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้จัดการเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้  (KM network manager)  มองเห็นภาพรวมของขีดความสามารถหลักของเครือข่าย และขณะเดียวกันช่วยให้สมาชิกของเครือข่ายมองเห็น “ตำแหน่ง” ของตนได้โดยง่าย และเห็นได้เป็นรายความสามารถหลัก

          3.  แผนภูมิขั้นบันได  (Stair Diagram)  เป็นผังแสดงระดับความสามารถปัจจุบันกับระดับความปรารถนาที่จะเพิ่มขีดความสามารถของแต่ละองค์กรที่เป็นสมาชิกเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในขีดความสามารถหลักเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

          4.  ขุมความรู้  (Knowledge Assets)  เป็นบันทึกความรู้ชัดแจ้งและความรู้ในตัวคนเกี่ยวกับขีดความสามารถหลัก เพื่อบรรลุเป้าหมายที่พึงประสงค์

          5.  พื้นที่ประเทืองปัญญา หรือพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้  มี  2  ประเภท คือ พื้นที่จริง คือการพบปะแลกเปลี่ยนกันตัวต่อตัว และพื้นที่เสมือน คือการนำขุมความรู้มาจัดเก็บในระบบ  ICT  เพื่อเปิดโอกาส เปิดเวที ให้ผู้ที่สนใจค้นคว้า เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้สะดวกยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการจัดการความรู้ในวงที่กว้างออกไป

 

          เป้าหมาย วิธีการใช้เครื่องมือ และการนำเครื่องมือไปใช้ในงานด้านหลักสูตร             และการสอนในโรงเรียน ตามประเด็นเครื่องมือหลัก  5  ประการ ของเครื่องมือการจัดการความรู้ “ธารปัญญา”

          1.  ตารางอิสรภาพ เป็นเครื่องมือเริ่มต้นของการจัดการความรู้ ซึ่งประกอบด้วย

              1.1  การตั้งเป้าหมายร่วมกัน  นำมาใช้ในการกำหนดเป้าหมายในด้านการเรียนการสอน เช่น                   

“เพื่อยกระดับผลการสอบ O-NET ของนักเรียนให้สูงขึ้น”   

              1.2  ร่วมกันกำหนดปัจจัยหรือองค์ประกอบหลักที่จะนำไปสู่เป้าหมาย โดยใช้ Story telling  กำหนดปัจจัยหรือองค์ประกอบที่จะทำให้  “ผลการสอบ O-NET ของนักเรียนสูงขึ้น” โดยกำหนดปัจจัย ดังนี้

                1.2.1  วิเคราะห์ผู้เรียนและวิเคราะห์หลักสูตร

                1.2.2  สอนตามมาตรฐานและตัวชี้วัด

                1.2.3  วัดและประเมินผลตามมาตรฐานและตัวชี้วัด

                1.2.4  ซ่อมเสริมผู้เรียนให้สามารถพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ

              1.3  นำองค์ประกอบแต่ละหัวข้อมาจัดระดับขีดความสามารถ เป็น  4  ระดับ คือ

                    ระดับ     1      พอใช้

                    ระดับ     2      ปานกลาง

                    ระดับ     3      ดี

                    ระดับ     4      ดีมาก

              1.4  กำหนดเกณฑ์ความแตกต่างของค่าระดับขีดความสามารถ  เช่น

                    องค์ประกอบที่  2  สอนตามมาตรฐานและตัวชี้วัด

              ระดับ      4     มีการสอนตามมาตรฐานและตัวชี้วัดร้อยละ  100

              ระดับ      3     มีการสอนตามมาตรฐานและตัวชี้วัดร้อยละ  80-99

              ระดับ      2     มีการสอนตามมาตรฐานและตัวชี้วัดร้อยละ  60-79

              ระดับ      1     มีการสอนตามมาตรฐานและตัวชี้วัดร้อยละ  50-59

              1.5  ประเมินตนเองตามระดับขีดความสามารถของตารางอิสรภาพ ว่าอยู่ในระดับใด

          2.  แผนภูมิแม่น้ำ  (River Diagram)  คือการนำผลการประเมินตนเองมา Plot เป็นกราฟ

              แสดง Profile ของแต่ละหน่วยงาน เช่นองค์ประกอบที่ 1 มีค่าขีดความสามารถตั้งแต่ 2-4

              องค์ประกอบที่ 2 มีค่าขีดความสามารถตั้งแต่ 1-4  เมื่อระบายสีช่วงความกว้างของระดับขีดความสามารถทั้งหมด จะได้  Profile ในรูป  “แผนภูมิแม่น้ำ” 

              ความกว้างของลำธารเป็นตัวบอกความแตกต่างในระดับขีดความสามารถหลักของแต่ละหน่วยงาน ยิ่งกว้างมากเท่าใดโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันก็มากเท่านั้น เช่น องค์ประกอบที่ 2    การสอนตามมาตรฐานและตัวชี้วัด หน่วยงานที่ได้ระดับ 1 ก็จะไปแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานที่ได้ระดับ 4 เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของตนเองให้ไปสู่เป้าหมาย ซึ่งแผนภูมิแม่น้ำนี้จะเป็นเครื่องมือให้ผู้จัดการเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (KM network manager) มองเห็นภาพรวมของขีดความสามารถหลักของเครือข่าย และขณะเดียวกันก็ช่วยให้สมาชิกของเครือข่ายมองเห็นตำแหน่งของตนเองภายในกลุ่มได้โดยง่าย เพื่อสะดวกในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

          3. แผนภูมิขั้นบันได (Stair Diagram)  เป็นแผนผังแสดงความแตกต่าง (Gap) ระหว่างเป้าหมาย (Target) กับระดับที่ประเมินได้ในปัจจุบัน (Current) เช่น

              องค์ประกอบที่  2  สอนตามมาตรฐานและตัวชี้วัด มีเป้าหมาย อยู่ในระดับ 4  ถ้าประเมินตนเองได้ระดับ 4  Target-Current   =  Gap  4-4=0  แสดงว่าช่องว่างระหว่างการประเมินตนเองกับเป้าหมาย = 0 ซึ่งกลุ่มที่มีค่า Gap 0, 1  อยู่ในระดับสูง จะอยู่ยอดบันได อยู่ในกลุ่มพร้อมให้หรือแบ่งปัน

              ส่วนกลุ่มที่อยู่ด้านขวาของบันได คือกลุ่มที่ประเมินตนเองไว้ในระดับต่ำ คือระดับ 1, 2  จะมีช่องว่าง (Gap) เท่ากับ 2, 3 แสดงให้เห็นว่าเป็นกลุ่มที่ต้องการพัฒนา เรียกว่ากลุ่มใฝ้รู้หรือผู้เรียนรู้

              ซึ่งแผนภูมขั้นบันไดนี้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์สำหรับการจัดเวที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยการจับคู่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างกลุ่มพร้อมให้กับกลุ่มใฝ่รู้ ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้ที่ต้องการเรียนรู้กับผู้ที่มีความสามารถ

         

          4.  ขุมความรู้ (Knowledge Assets)  เป็นบันทึกความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge)  และแหล่งความรู้ในคน  เกี่ยวกับขีดความสามารถหลัก (Core competence) เพื่อบรรลุเป้าหมายที่พึงประสงค์ ประกอบด้วย 3  ส่วนคือ 

              ส่วนที่ 1 สรุปบทเรียนในช่วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นองค์ประกอบหลักที่จะยกระดับผลการสอบ O-NET ของนักเรียนให้สูงขึ้น ทั้ง 4  องค์ประกอบในเรื่องวิธีการหลัก ๆ ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายในแต่ละองค์ประกอบ

              ส่วนที่ 2  เรื่องเล่าและคำพูดที่เกี่ยวกับความรู้หลัก

              ส่วนที่ 3  รายละเอียดของแต่ละเรื่องเล่าหรือคำพูดอาจอยู่ในรูป เทปเสียง คลิปวีดีโอ หรือแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่สนใจเข้าไปศึกษาต่อ

          5.  พื้นที่ประเทืองปัญญา หรือพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ มี  2  ลักษณะ คือ

              5.1  พื้นที่จริง  คือการพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันแบบตัวต่อตัว

              5.2  พื้นที่เสมือน  คือการนำขุมความรู้มาจัดเก็บในรูป ICT เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้สะดวกขึ้น ทำให้เกิดการจัดการความรู้ที่กว้างขวางออกไป

          การใช้เครื่องมือการจัดการความรู้  “ธารปัญญา” นั้น จะต้องใช้เครื่องมือบนพื้นฐานความคิด ความรู้ ปัญญา โดยเน้นการปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์หรือบริบทของแต่ละเครือข่ายหรือแต่ละองค์กร จึงไม่ควรยึดติดกับรูปแบบ

         

คำสำคัญ (Tags): #ธารปัญญา
หมายเลขบันทึก: 481452เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2012 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 17:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณที่เขียนบันทึกความรู้เรื่องนี้ได้ละเอียด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี

เยี่ยมค่ะ

ขอบคุณอาจารย์มากค่ะที่ให้กำลังใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท