สุขเอา เผากิน


วัฒนธรรมการเรียนของนักเรียนนักศึกษาไทยที่ผมไม่ทราบว่าเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยไหน คือวัฒนธรรม "สุขเอา เผากิน"

สุภาษิตนี้โบราณเขียนว่า "สุกเอาเผากิน" นะครับ ผมแปลงเสียหน่อยเป็น "สุขเอา เผากิน" ซึ่งความหมายของผมจะไม่ค่อยเหมือนเดิมสักเท่าไหร่ ลองอ่านดูนะครับ

เดิม "สุกเอาเผากิน" คือ "การทำลวกๆ ชุ่ยๆ ทำพอเสร็จไปคราวๆ หนึ่ง" ซึ่งเป็นนิสัยที่ไม่ดีอยู่แล้ว นักเรียนนักศึกษาไทยเรียนรู้กันแบบ "สุกเอาเผากิน" มานานแล้ว เรียกว่าทำงานพอส่งครูให้ได้คะแนนเท่านั้นเอง ไม่ได้สนใจถึงประโยชน์ในการเรียนรู้ว่าตนเองจะได้ความรู้อะไรจากการทำงานบ้าง

แต่ "สุขเอา เผากิน" นี่เป็นอาการที่หนักหนากว่า "สุกเอาเผากิน" เพราะหมายถึงเด็กที่ไปมุ่งที่ "ความสุขแบบผิวๆ เผินๆ" โดยเอาเวลาไปทำอะไรต่อมิอะไรที่ตัวเองคิดว่าสุขหรือสังคมเปลือกๆ บอกว่าสุข ไปเที่ยวไปเล่นอะไรต่อมิอะไร เพื่อบอกตัวเองว่ามีความสุขแต่ในขณะเดียวก็ซ่อนความทุกข์ไว้ข้างหลัง

พอถึงเวลาที่ต้องทำอะไรให้เป็นหลักเป็นฐานเพื่อดำรงชีวิตให้อยู่ได้ก็กลับทำเสียแบบ "เผากิน" เสียนี่

"เผากิน" นี่เหมือนกับการเผาป่าครับ ตอนนี้เมืองไทยกำลังมีปัญหากับการเผาป่าเสียด้วย

ความคิดของเด็กนักศึกษาก็เป็นเช่นเดียวกับชาวบ้านที่เผาป่านั้นเอง ชาวบ้านเผาป่าเพราะ "เอาง่าย" เผามันง่ายกว่าถากกว่าถางปรับหน้าดินแบบวิธีอื่นแม้จะได้ผลลัพธ์ที่แย่กว่าวิธีอื่นแต่ก็พอ "สุกเอาเผากิน" ไปได้ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นภายหลังก็ไม่ต้องสนใจเพราะไม่ได้เกิดขึ้นวันนี้ เรียกว่าผลักปัญหาไปในอนาคตเพื่อจะค่อย "สุกเอาเผากิน" ไปต่อไปอีก

มนุษย์เราเวลามี "ป่า" ให้เก็บกินก็ต้องดูแลให้สมบูรณ์เพื่อจะได้เก็บกินกันไปตลอดชีวิต ป่ามีความสมบูรณ์ มนุษย์ก็สมบูรณ์ ทุกสิ่งก็สวยงาม

แปลกที่เด็กพวก "สุขเอา เผากิน" ดูเหมือนรู้เรื่องนี้แต่จะเข้าใจเฉพาะ "ป่า" ที่เป็นป่าไม้เท่านั้น ไม่สามารถเปรียบเทียบปรับปรุงปรัชญาความคิดไปยังเรื่องอื่นๆ ได้ ผมเดาว่าก็น่าจะเป็นเพราะไม่ได้ใช้เวลาในการพัฒนาทักษะความคิดของตัวเองด้วยเอาเวลาไป "สุขเอา" เสียหมดนั่นเอง

"เผากิน" นี่ก็ต้องประกอบกับพฤติกรรม "ลิงหลอกเจ้า" ไปอีกขนาน ซึ่ง "ลิงหลอกเจ้า" แปลว่า "หน้าไหว้หลังหลอก" นั่นเอง แต่ลิงโดยส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยรู้ว่าเจ้ามักจะรู้เวลาลิงหลอก ก็ถ้าไม่รู้แล้วจะมาเป็นเจ้าได้อย่างไรจริงไหมครับ

สิ่งที่น่าเศร้ากับการ "สุขเอา เผากิน" ของนักเรียนนักศึกษา คือในที่สุดแล้วผู้ที่ทำงานแบบนี้ไม่เหลืออะไรเลยในชีวิตที่เป็นชิ้นเป็นอัน เพราะความสุขแท้ก็ไม่ได้หา เพราะไปเสียเวลากับความสุขเทียมเสียหมดแล้ว ส่วนความรู้ความสามารถที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นไปให้สามารถมีชีวิตอยู่กับความสุขแท้ได้ก็ไม่มีอีก เพราะ "เผากิน" ไปหมดแล้วอีกเช่นกัน

ในโลกปัจจุบันที่ "เวลา" และ "สถานที่" ไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการทำงานอีกต่อไป เราจึงเห็นชาวต่างชาติใส่กางเกงขาสั้นตัวเดียวนั่งๆ นอนๆ อยู่ริมชายหาดบ้านเราพร้อมกับ notebook หนึ่งตัวทำงานไปทั่วโลก ในขณะที่เด็กไทยเราหางานไม่ได้ทั้งๆ ที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือแม้กระทั่งปริญญาโทสวยหรู

วิชาชีพสายผม (information science/computer science/graphic designers) นี่จะเป็นตัวอย่างของคนที่เลี้ยงชีวิตได้อย่างมีความสุขโดยไม่ต้องจำกัดกับ "เวลา" และ "สถานที่" วิชาชีพนี้กลายเป็น "วิชาชีพอิสระ" ที่ทุกคนมี "กิจการของตัวเอง" ไม่ต้องขึ้นอยู่กับคนอื่นมากมายเหมือนเมื่อก่อนแล้ว

เว็บไซต์หลายๆ แห่งก็อำนวยความสะดวกในเรื่องการทำงานเหล่านี้มาก oDesk, Elance, หรือ Freelancer.com คือไซต์ที่ผมใช้งานประจำครับ

ผมเจอ usability specialists และ programmers หลายคนที่ "อยู่ไม่เป็นที่" หมายความว่าเขาอยู่และทำงานในที่ที่เขาเลือกที่จะอยู่และทำ และมีหลายคนที่เลือกที่จะ "อยู่เมืองไทย" ตามชายหาด ตามภูเขา หรือตามชนบทที่สวยงามของบ้านเรา

น่าเสียใจที่เด็กไทย "สุขเอา" จนหมด และ "เผากิน" จนไม่เหลืออะไรแล้ว จะทำได้ก็เพียงเสิร์ฟน้ำเสิร์ฟอาหารหรือทำงาน routines ให้แก่ชาวต่างชาติเหล่านั้นเท่านั้นเอง

หมายเลขบันทึก: 481446เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2012 13:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 22:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

หัวเรื่อง สดุดใจ จริงๆ ครับอาจารย์

เห็นสนใจก็ the star นะครับ ความจริงเรื่องราวที่อาจารย์กล่าวถึงนี้ก็เป็น the star ต่างสาขา เช่นเดียวกัน หากนักศึกษาเข้าอกเข้าใจ หรือแปลปรัชญาให้เป็นบวกกับตนเอง ก็น่าจะไม่ต้องทำงานแค่เสริฟน้ำนะ

รูปที่จะแทรก เป็นแนวตั้ง Insert ยากครับท่าน น่าจะเป็นแนวนอนเหมือเดิมครับ

เคยผ่านตาจาก website ของ สสช มาไม่กี่วันนี้ ว่าสถิติคนไทยว่างงานประมาณร้อยละไม่เกิน 1 ยังงงกับตัวเลขไม่หายเลยค่ะ ขณะที่ยุโรป อเมริกา มีคนว่างงานร้อยละ 9-10 สงสัยคนไทยเราไปเป็นเด็กเสิร์ฟน้ำเสิร์ฟอาหารหรือทำงาน routines ให้แก่ชาวต่างชาติ อย่างที่อาจารย์ว่านะคะ

สวัสดีวันสุดสัปดาห์ค่ะ

... แตกความให้เกิดหน่อ แต่ต่อ (ไป) ให้เกิดยอด ...

ขอแสดงความเห็นด้วยอย่างยิ่งครับ อาจารย์ ;)...

Anyone Anytime Anywhere เป็นปรัชญาที่เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต

รวมถึงการทำงานที่ในทุกเวลาและทุกที่อย่างที่อาจารย์กล่าวไว้ด้วย

ขอบคุณครับ ;)...

In the olden days, the craftsmen had more say in what the do; they created/crafted their work to the best of their knowledge and skilled; they were rewarded in pride and money for their creativity.

Todays, most people work to 'set specifications' using only 'standard tools and standard sets of techniques'; creativity is suppressed (by employers) in the name of productivity (errrh profit); their skills are factored out (broken down into unitary actions/movements) and reprogrammed -- the robots are coming.

What would craftspersons do for living? Where would they go? What would happen to "the" skills if only robots learn to make things?

Would vocational education (institutes) be doing -- producing craftspersons to compete with robots?

ผมว่าในปัจจุบันคนทำงานได้ในระดับ craftpersons กลับกลายเป็นอาชีพที่รายได้ดีและมีอิสระในการทำงานสูงกว่าอาชีพระดับ standard-skilled persons ครับ

แต่ระบบการศึกษาของเรามุ่งสร้าง standard-skilled persons โดยหวังว่าวันหนึ่งหลังจากเขา practice skills เขาระยะหนึ่งแล้ว เขาจะยกระดับเป็น craftpersons แต่รูปการณ์ไม่เป็นอย่างนั้นครับ ผมไม่แน่ใจว่าเราขาดอะไรที่ทำให้เป็นเช่นนั้นได้ครับ

คนสมัยนี้  ขาดความคิด แบบ ร่วมทุกข์ ร่วมสุข

การได้ใช้ชีวิตด้วยกัน ไม่ว่า เป็นครูกับนักเรียน

เพื่อนกับเพื่อน พี่กับน้อง ลูกกับพ่อแม่

ล้วนเกิดการร่วมทุกข์ร่วมสุขไม่มากก็น้อยค่ะ

 

 

 

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท