จับกลุ่มติว..คุณค่าที่มากกว่า


บันทึกนี้ของคุณครูธนิตย์ กระตุกใจให้เกิดคำถามว่า "นักศึกษาจับกลุ่มติวกันเอง vs อาจารย์ติวให้" อย่างไหนดีกว่ากัน..
ตอนข้าพเจ้ากลับมาใหม่ๆ ไฟแรง เมื่อรู้ว่าแพทย์ประจำบ้านจะสอบบอร์ด ก็แจ้งหัวหน้าแพทย์ประจำบ้านว่า จะติวหัวข้อเกี่ยวกับ Palliative medicine ให้..
เมื่อทราบว่าแพทย์ประจำบ้าน จัดกิจกรรมกลุ่มติว จึงเข้าไปสังเกตการณ์..
แล้วข้าพเจ้าก็เลิกล้มความคิดเดิมที่จะเป็นผู้ติว..ด้วยความอิ่มใจ
.

เพราะภาพที่ข้าพเจ้าเห็น
แพทย์ประจำบ้านรุ่นน้อง ช่วยรุ่นพี่ด้วยการไปเตรียมข้อสอบจากคู่มือเตรียมสอบ (Board review) ค้นคว้ารายละเอียดอธิบายอย่างแข็งขัน.
พวกเขา " จัดเวร" กันทำหน้าที่นี้ ทุกชั้นปี
มองไปที่กลุ่มแพทย์ประจำบ้านที่กำลังจะสอบบอร์ด
แน่นอนว่าในการทำงานร่วมกัน ช่วงเวลาฝึกหัด
น้องๆ เหล่านี้ย่อมมีกระทบกระทั่งกันบ้าง
แต่เวลานี้ ทุกคนต่าง "รับฟัง" กันและกันอย่างน่าอัศจรรย์ (ข้าพเจ้าคิดว่าไม่ได้ใช้คำเกินไปนะค่ะ)

ไม่มีใครการรันตีว่า สิ่งที่เขาติวกันเอง จะ"ตรง" กับข้อสอบจริง

ทว่า..สำหรับข้าพเจ้าแล้ว
แพทย์ประจำบ้านกลุ่มนี้ ไม่น่าเป็นห่วงอีกต่อไป
เพราะเขาสามารถทำในสิ่งที่ยากยิ่งกว่า
การผ่านคะแนนสอบบอร์ด
นั่นคือ
..การผ่านสู่ความเป็นผู้ใหญ่
รู้จักรับผิดชอบความสำเร็จของตนเอง 
..การผ่านความขัดแย้งทั้งมวล
แล้วทำงานกันเป็นทีม

###
เมื่อข้าพเจ้าจบชั้นมัธยมหก และต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย
เคยติดตามเพื่อนไปติวในสถาบันแห่งหนึ่ง
แต่เรียนได้เพียงสามสัปดาห์ก็เลิก
ไม่ใช่ว่าครูสอนไม่ดี คุณครูตั้งใจสอน ให้โจทย์ฝึกทำเยอะ
แต่..โดยส่วนตัวข้าพเจ้าไม่สามารถใช้ "สูตรสำเร็จ"
จึงตัดใจกลับมาอ่านหนังสือเตื้อยๆ เอาเอง
.
อีกสิ่งที่ช่วยชีวิตไว้ ก็คือ การมีกลุ่มติว
ลักษณะการติว ไม่ใ่ช่ใครเก่งวิชาไหน ก็มากางหนังสือเลคเชอร์อีกรอบ
แต่ต่างคนต่างไปทำข้อสอบมา
ใครมีข้อไหนติด ก็เอามาถาม
บางทีคนที่คิดคำตอบได้คนเดียว กลับไม่ใช่คนเก่งวิชานั้น 
ข้าพเจ้ารู้สึกสนุก การได้ฟังวิธีคิดที่หลากหลาย
คำถามหนึ่งข้อ ช่วยให้ทบทวนเนื้อหาได้มากมาย จากการ "อภิปราย"
สำหรับกลุ่มติว เราไม่ใช่คู่แข่งกัน
..แม้ด้วยระบบโควตา เอ็นทรานซ์จะเป็นเช่นนั้น
แต่เราคือทีม 
Together Everyone Achieve More
สิ่งนี้ไม่ได้จบลงที่ประตูมหาวิทยาลัย
ดังคะแนนสอบ


 

หมายเลขบันทึก: 481064เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2012 15:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 01:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

ผมให้นิสิตจับกลุ่มกันเอง แล้วให้เราดู outline ว่ามีเรื่องอะไรบ้าง ปรากฏว่าได้กลุ่มเพื่อนดีๆในกลุ่มเดียวกัน ได้ช่วยเหลือกัน  ถ้าอธิบายไม่ได้ผมก็จะช่วย แต่ให้เขาทำกันก่อนครับ

 

"... กองทัพเดินด้วยท้อง แม้กระทั่งการติว ..."

;)...

สวัสดีค่ะ อาจารย์ ป.

ใช่เลยค่ะ..."ทีม" ทำให้การเรียนรู้ของเด็กสนุก และมีความหมายมากขึ้นค่ะ ...นำไปสู่ "Together Everyone Achieve More"

ภาพนี้ครูนกได้มาตอนไปคุมสอบ O-net ต่างโรงเรียนค่ะ...นร.น่ารักมากมีการจับกลุ่มวิเคราะห์ข้อสอบที่ได้สอบไป...นี้ก็ทีมค่ะ

แบ่งเวลา ไปเที่ยวบ้างนะครับคุณหมอปัท...เที่ยวเยอะๆ ...ผมจะบอกลูกสาวอย่างนี้แหละครับ

* อ่านแล้วนึกถึงเมื่อเป็นนักเรียน เราจะมีตำราฉบับ " เพื่อนติวเพื่อน" เป็นการ digest วิชายากๆสะกัดออกมาแบ่งปันกัน โดยเพื่อนที่ "หัวดี" ตอบประเด็นข้องใจของเพื่อน "หัวทึบ" แล้วรวมคำถาม-คำเฉลย เป็นเล่มเวียนกันอ่าน

* เมื่อทำงานแล้ว ยังมีคู่มือฉบับ " เพื่อนบอกเพื่อน "..user เข้าใจ user "..ฯลฯ

* ในครอบครัว ประสบการณ์ " พี่คุยกับน้อง" ช่วยลดภาระของพ่อแม่ได้มากทีเดียวค่ะ

  • เมื่อก่อนตอนตัวเองเป็นนักเรียน ก็ใช้วิธีการติวกับเพื่อนคล้ายอย่างนี้ ช่วยอธิบายสิ่งที่ใครเข้าใจกว่าให้กันและกัน หรือถกเถียงประเด็นความรู้ที่เห็นไม่ตรงกัน แต่กับเด็กๆในปัจจุบัน โดยเฉพาะที่โรงเรียนผมหรือลูกศิษย์ผม บรรยากาศอย่างที่ตัวเองเคยมีในอดีตหายาก การพูดคุยในกลุ่มเพื่อนมักเป็นเรื่องอื่น เหตุการณ์อย่างนี้อาจเกิดขึ้นเฉพาะกับโรงเรียนผม หรือโรงเรียนที่มีสภาพคล้ายๆกับผมเท่านั้นก็ได้ และเท่าที่ผมเคยคิด สังเกต และสรุปได้ตอนนี้ น่าจะมีสาเหตุมาจากพื้นฐานครอบครัว..ผู้ปกครองลูกศิษย์ผมเป็นเกษตรกรหรือกรรมการเป็นส่วนใหญ่ แรงบันดาลใจในเรื่องเรียน เรื่องการศึกษาต่อ หรือเรื่องการประกอบอาชีพจึงมีน้อย.. 
  • สำหรับกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องที่ตัวเองรับผิดชอบนั้น ผมพยายามที่จะสร้างบรรยากาศอย่างนี้ เพราะเชื่อเช่นกันว่า การถ่ายทอดความรู้จากเพื่อนสู่เพื่อนจะทำได้ดีกว่าครูสู่นักเรียน ภาษาที่ใช้ ความเกรงใจ ความอาย กล้าที่จะซักถามในสิ่งที่ตัวเองไม่เข้าใจ..เหล่านี้เด็กๆจะสบายใจกว่าถ้าพูดคุยอยู่กับเพื่อนๆด้วยกันเอง 
  • ขอบคุณข้อคิดดีๆเกี่ยวกับเรื่องการติวครับท่านอาจารย์หมอ ป.

ขอโทษครับพิมพ์กรรมการผิด กรรมกรครับ..

ขอบคุณค่ะ อ.ขจิต น้องในภาพสีหน้ามุ่งมั่นมากทีเดียว
เห็นด้วยว่า ครู อาจารย์ก็ยังเป็น "Back up" ที่สำคัญค่ะ
 

ขอบคุณค่ะ คุณครูตาแว่น
ทีมเกิดได้ เมื่อสมาชิกทีม ยอมรับตัวเอง ยอมรับผู้อื่น
จึงจะเดินไปด้วยกัน ไม่ขัดขากัน ดั่งบันทึกของคุณครูค่ะ 

ระหว่างทางงดงาม

เป้าหมาย คือ ขวัญกำลังใจ

ให้ - รับ  เพิ่มทวีคูณ

อาจารย์ช่างสังเกตดีจังค่ะ

ตอนใกล้สอบน้ำหนักขึ้นกันก็เพราะนี่แหละ

ภาพที่คุณครูนกตาไวถ่ายมา น่ารักเป็นธรรมชาติดีจังค่ะ

ดูสีหน้า นักเรียนอารมณ์ดีอย่างนี้คงทำได้สบายๆ :)

ขอบคุณที่มาเยี่ยมเยียนค่ะ

เรื่องเดินทางท่องเที่ยวไปโน่นไปนี้ เป็นกิจกรรมโปรดหนึ่งเลยค่ะ
เปิดตา แล้วยังเปิดใจ 
เพราะเห็นว่า สิ่งที่บ้านเราให้คุณค่า ที่อื่นอาจมองตรงกันข้าม 
ลดการเอาตนเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล
หาจุดสมดุล ระหว่าง ชาตินิยม กับ มนุษยนิยม 

เห็นด้วยค่ะ ถ้ามีลูก ก็จะให้เขาท่องเที่ยว เพื่อเรียนรู้เช่นกัน

ขอบคุณค่ะพี่ใหญ่
อ่านแล้วรู้สึกอบอุ่น.. 

เพื่อนช่วยเพื่อน
พี่สอนน้อง

เหล่านี้เป็นบรรยากาศที่ควรมีมากขึ้นในศตวรรษที่ 21
เมื่อ เด็กๆ ต้องเริ่มเรียนพิเศษตั้งแต่อนุบาล
คงต้องจับตาดูต่อไปว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับอนาคตของเราบ้างค่ะ 

  • แรงบันดาลใจในเรื่องเรียน อย่างมีเป้าหมายในชีวิตเมื่อจบไป เป็นปัญหาของเยาวชนไทยทุกระดับ และน่าจะทุกอาชีพค่ะ..รวมทั้งตัวเอง ยอมรับว่า ไม่มีเป้าหมายอะไรชัดเจนว่าจะเป็นนั่นเป็นนี่ ไปตามที่คนรอบๆ เขาไปกัน ยกเว้นตอนก่อนจบมหาวิทยาลัย ถึงเริ่มมีความรู้สึก คงจะดีถ้าได้เป็นอาจารย์ แต่ก็ยังคิดแบบเบลอๆ อยู่ว่าเป็นอาจารย์อะไรก็ได้..จึงเห็นความจริงดั่งคุณครูว่าค่ะ ในขณะที่เด็กหลายคนยังไม่รู้ชัดว่าตัวเองอะไร แต่วัตถุประสงค์ของข้อสอบชัด จึงต้องการความช่วยเหลือจาก ครู อาจารย์อยู่
  • ติดตามกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องที่คุณครูถ่ายทอด เห็นบรรยากาศทำงานเป็นทีมในห้องแล้วได้แรงบันดาลใจด้วยคนค่ะ 

เป็นนิยามที่เหมาะสมคล้องจองค่ะ

มิได้หวังเพียงเป้าหมาย
จนลืมเก็บดอกไม้ระหว่างทาง

บทเรียนในชีวิต พบว่า
เป้าหมายที่พยายามเกือบตาย ใช้ได้ทีเดียว
คุณค่าสู้ดอกไม้ระหว่างทาง ที่ใช้ตลอดชีวิตไม่ได้ 

มิได้หวังเพียงเป้าหมาย

จนลืมเก็บดอกไม้ระหว่างทาง

บทเรียนในชีวิต พบว่า

เป้าหมายที่พยายามเกือบตาย ใช้ได้ทีเดียว

คุณค่าสู้ดอกไม้ระหว่างทาง ที่ใช้ตลอดชีวิตไม่ได้

น่าสนใจครับ คล้ายกับเวลาเราไปเที่ยวน่ะครับ เป้าหมายไปทะเล แต่

หลายครั้งสังเกตว่า ความสุขของเราอยู่อีตรง การค่อยๆ ขับไป มองเส้นทางที่แสนสวย สองข้างทางที่ดูสบายใจสบายตา

ชีวิตคน..เป็นศิลปะจริงๆ ไม่มีถูกผิด หน๊อ

กลุ่มพาเรียนนั้นสำคัญมากๆ ผมคิดว่าในทุกที่เลยนะครับ

  • คุณหมอครับ
  • เมื่อกี่อ่านงานวิจัยและเรื่อง 21 st Century skills บอกว่า มีการพัฒนาทักษะการคิดของนักเรียนโดยใช้การสอนอย่างจงใจ(intentional instruction) 
  • เป้าหมายคือ การปล่อยให้ความรับผิดชอบในการเรียนรู้เป็นของนักเรียนเอง
  • มีโมเดลแบบปล่อยความรับผิดชอบทีละน้อย(gradual release of responsibility model)
  • โมเดลนี้จงใจให้ครูตีตัวอกห่างจากการสนับสนุนการเรียนอย่างเต็มที่ ให้เหลือเป็นการช่วยเหลือกันในระหว่างเพื่อน จนเหลือการไม่ให้ความช่วยเหลือ
  • มาจากหนังสือของ  Duke,N.K.&Pearson,P.D.(2002) Effective practices for developing reading comprehension.P. 211
  • ดูจากนี้ในหน้า 4 ก็ได้ครับ
    1. Effective Practices for Developing Reading Comprehension

อาจารย์ หมอ ป. ครับ

     จากประสบการณ์ของผมนะครับ สมัยเรียนจับกลุ่ม "ติวกันเอง"  นี่  เป็นความรู็สึกที่ดีมากเลยครับ  คือ แต่ละคน  เป็นทั้งผู้ให้ และ ผู้รับ  Give & Take ขนาด ใครที่ไม่เก่งอะไรเลย  ก็พยายามหาข้อสอบเอามาแบ่งปันกันครับ

    

ขอบคุณที่มา ลปรร.กันอีกรอบค่ะ
ความคิดนี้ ช่วยในการตัดสินใจที่ค้างคามานาน...

ผลลัพท์ไม่แน่นอน..จะคุ้มกับการลงทุนลงแรงของเราไหมหนอ
ถ้าดูแต่ผลลัพท์ ตัดสินใจยาก
แต่พอคิดถึง "ประสบการณ์รายทาง"
ซึ่งเราจะได้แน่ๆ และไม่สุ่มเสี่ยงอันตรายไปนัก
ก็น่าลงทุน ถือเสียว่าเป็นค่าลงทะเบียนวิชาศิลปะชีวิตค่ะ :) 

ขอบคุณที่นำสิ่งดีมีประโยชน์มาฝากค่ะ

อ่านแล้วสะดุดใจตรง การช่วยนักเรียนให้ตั้ง goal และ summary เป็น

ชอบที่สุดตรงเทคนิคการ summary เพราะ ในชีวิตจริง ข้อมูลผู้ป่วยมีเยอะ ต้องรู้จักเลือกมานำเสนอ  มาคิดแก้ปัญหา ในข้อสอบใบประกาศของอเมริกา-USMLE นั้นมักให้โจทย์ยาวมากๆๆ เพราะต้องการวัดทักษะการจับใจความ ส่วนนี้ด้วยค่ะ

จากเอกสารที่อาจารย์แนะนำ ขอแปะไว้ใช้ต่อนะค่ะ 

Rule 1: Delete unnecessary material. Rule 2: Delete redundant material.

Rule 3: Compose a word to replace a list of items.

Rule 4: Compose a word to replace individual parts of an action.

Rule 5: Select a topic sentence.

Rule 6: Invent a topic sentence if one is not available.

ขอบคุณค่ะอาจารย์
ที่รู้สึกดีเพราะได้เป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ นี่เอง

อาจารย์ครับ

สำหรับผมในความคิดเห็น

ในประเด็น....นักศึกษาจับกลุ่มติวกันเอง vs อาจารย์ติวให้

ผมมองเห็นว่าสำคัญทั้งสองอย่าง

แต่น้ำหนัก...เวลา..รูปแบบ และรายละเอียด อาจจะแตกต่างกันไปครับ

ที่เหมือนกัน คือ ความเป็นทีมครับ

มีความสุขมาก ๆ นะครับ

ขอบคุณค่ะ คุณหมออดิเรก 
ทั้งสองอย่างสำคัญ
เนื้อหาที่อาจารย์เน้น ช่วยวางกรอบความคิดไม่ให้กระจัดกระจายเกินไป
ส่วนการอภิปรายในกลุ่มเพื่อน ช่วยให้เข้าใจลึกซึ้ง ยิ่งขึ้น

ขอโทษค่ะ 

คอมที่ใช้วันนี้ แทรกรูปไม่ได้ :-(

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท