เบาหวาน-น้ำหนักเกินเพิ่มเสี่ยงมะเร็ง


จดหมายข่าวเว็บไซต์อาจารย์หมอเมียคินตีพิมพ์เรื่อง 'Being overweight or diabetic markedly increases your risk for cancer' = "น้ำหนักเกิน (หรือ) เบาหวาน เพิ่มเสี่ยงมะเร็ง", ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
.
.
การนำน้ำตาล (กลูโคส) เข้าเซลล์ส่วนใหญ่ต้องอาศัยฮอร์โมนอินซูลิน (insulin) ช่วย, โดยอินซูลินทำหน้าที่คล้ายกุญแจไขกุญแจตัวรับ (receptors) ที่ผนังเซลล์ เปรียบคล้ายการไขกุญแจประตูบ้าน 
.
ถ้าอินซูลินไขกุญแจตัวรับที่ประตูบ้าน (ผนังเซลล์) สำเร็จ... น้ำตาลจึงจะเข้าเซลล์ได้
.
เซลล์ไขมัน (fat cells) มีปริมาณน้ำมันภายในเซลล์ไม่เท่ากัน ถ้าเซลล์นี้สะสมไขมันเต็มที่จะมีรูปกลม อ้วนเป่ง และปล่อยสารเคมีที่ทำให้ฮอร์โมนอินซูลินนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ได้น้อยลง
.
ภาวะที่เซลล์ตอบสนองต่ออินซูลินน้อยลง เรียกว่า "ภาวะดื้อต่ออินซูลิน (insulin resistance)" พบบ่อยในคนที่อ้วนลงพุง (เส้นรอบเอวเกิน 90 เซนติเมตรในผู้ชาย, 80 เซนติเมตรในผู้หญิง), น้ำหนักเกิน หรืออ้วน
.
เมื่อเซลล์ในร่างกายดื้อต่ออินซูลิน... ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้น, น้ำตาลจะเข้าเซลล์ร่างกายได้น้อยลง ทว่า... เข้าสู่เซลล์มะเร็งได้เพิ่มขึ้น
.
เซลล์มะเร็งส่วนใหญ่เป็นเซลล์ที่หิวโหยน้ำตาล และชอบภาวะที่น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นมากเป็นพิเศษ
.
คนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 (พบบ่อยในผู้ใหญ่ และเด็กอ้วน) และคนที่อ้วนส่วนใหญ่มีระดับอินซูลิน และฮอร์โมนพี่น้องของอินซูลิน (insulin like growth factor 1 / IGF-1) สูงขึ้น หรือมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าประชากรทั่วไป
.
การลดน้ำหนักให้มากพอ (5% ของน้ำหนักแรกเริ่ม ถ้าน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน), การออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำให้มากพอ, การรักษาเบาหวานด้วยยาที่ช่วยลดระดับอินซูลิน (เช่น ยาเมทฟอร์มิน - metformin / Glucophage) อาจช่วยป้องกันมะเร็งได้
.
การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า คนที่อ้วนลงพุง น้ำหนักเกิน หรืออ้วน มีระดับฮอร์โมนเพศหญิงสูงขึ้น เพิ่มเสี่ยงมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งเต้านม ฯลฯ
.
น้ำหนักปกติคิดได้โดยใช้เครื่องคิดเลข นำน้ำหนักเป็นกิโลกรัมมาตั้ง หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตร 2 ครั้ง ค่าปกติ = 18.5-23.4
 
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
.

> [ Twitter ]

  • Thank Dr.Mirkin sources > Science, January 2012;335 (6064): 28-32.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 22 กพ.55. ยินดีให้ท่านนำบทความไปใช้ได้ โดยอ้างที่มา และไม่ใช้เพื่อการค้า > CC: BY-NC-ND.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค; ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 480875เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2012 22:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 16:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท