ช่วยกันออกแบบเวทีเรียนรู้งานงิ้วหนองบัวหน่อยครับ


ปี ๒๕๕๕ นี้ เทศกาลงานงิ้วหนองบัวจะจัดขึ้น ๕ วัน ๕ คืนในวันที่ ๒๒-๒๕ มีนาคม ๒๕๕๕ มีมหรสพให้ชมตลอดงาน และวันแห่จะมีในวันเสาร์ที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๕ ในงานนี้ ผมขอประสานงานเพื่อร่วมกันถือเป็นโอกาสจัดเวทีเรียนรู้หนองบัวบูรณาการไปกับงานงิ้ว ให้คนหนองบัว ได้ถือเป็นอีกโอกาสหนึ่งในการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์สังคมสุขภาวะ ที่มีส่วนร่วมมาจากทุนศักยภาพ มรดกทางสังคมวัฒนธรรม และภูมิปัญญาต่างๆที่มีอยู่ในหนองบัว รวมทั้งเป็นโอกาสได้ทำและเรียนรู้ไปบนการปฏิบัติจากของจริงในสังคม เพื่อเข้าถึงวิธีเลือกสรรการเปลี่ยนแปลง ในการนำเอาวิทยาการและเทคโนโลยีสื่อออนไลน์ มาใช้สร้างสังคมส่วนรวม ได้อย่างเหมาะสม .........................

  ความเป็นมาของการจัดเวทีเรียนรู้บูรณาการไปกับงานงิ้ว   

ในระยะที่ ๒-๓ ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะงานงิ้วเมื่อปี ๒๕๕๔ เวทีคนหนองบัว ได้ช่วยกันประสานเครือข่ายความร่วมแรงร่วมใจ ให้ผู้คนที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาการเรียนรู้และเคลื่อนไหวการสั่งสมภูมิปัญญาเกี่ยวตนเองของหนองบัว ได้เห็นเป็นโอกาสที่ดีโอกาสหนึ่ง ในอันที่จะร่วมทำให้งานงิ้วและงานเชิงวัฒนธรรมต่างๆของหนองบัว ที่จะสามารถเชื่อมโยงให้นำมาจัดในช่วงงานงิ้วไปด้วยกันได้ ให้มีมิติการสื่อสารและสร้างกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม รวมทั้งเคลื่อนไหวสิ่งที่จะส่งเสริมสุขภาวะทางด้านต่างๆของชุมชนหนองบัว เพิ่มขึ้นมาในงานงิ้ว

การบูรณาการไปกับงานงิ้วที่มีอยู่ทุกปีอยู่แล้ว ก็ทำให้ความเป็นหนองบัวและสิ่งต่างๆ ได้มีการนำมานำเสนอ เรียนรู้ และเผยแพร่ ในรูปของเวทีเรียนรู้ของคนหนองบัว ซึ่งส่วนประกอบที่สำคัญก็ประกอบไปด้วยการจัดเต๊นท์นิทรรศการ การจัดทำสื่อและสิ่งตีพิมพ์ การจัดนั่งเสวนากันของคนหนองบัว การจัดแสดงรูปวาดเกี่ยวกับชุมชนหนองบัว การฉายสื่อ และการนำชมนิทรรศการ ซึ่งได้รับความสนใจและเป็นที่ประทับใจอย่างกว้างขวางพอสมควร

สิ่งเหล่านี้ ทำให้มรดกทางวัฒนธรรม ตลอดจนภูมิปัญญาและเรื่องราวดีๆที่มีอยู่ในหนองบัว ได้รับการฟื้นฟู สืบสาน สร้างความซาบซึ้ง เห็นการมีคุณค่าและความหมาย ในอันที่จะจรรโลงความอยู่ดีมีสุข และทำให้ชุมชนหนองบัวพัฒนาตนเองไปสู่อนาคตด้วยการมีทุนทางสังคมใวัฒนธรรมที่ดี ที่สำคัญคือ มีบทบาทต่อการเป็นเวทีชาวบ้าน รองรับการเดินเข้ามามีส่วนร่วมและแสดงความผูกพันต่อถิ่นฐานบ้านเกิดและถิ่นที่อาศัย ทั้งของลูกหลานคนหนองบัวและผู้ที่มาใช้ชีวิตอยู่หนองบัว ก่อให้เกิดพลังความสร้างสรรค์สุขภาวะสาธารณะของหนองบัว อย่างส่งเสริมเกื้อหนุน เป็นทุนต่อทุนให้กันหลายอย่างเกิดขึ้นตามมาอย่างต่อเนื่อง เช่น หลังจัดงานแล้ว ผมกับท่านพระอาจารย์มหาแลและหลายท่านที่ร่วมคิดทำในเวทีคนหนองบัวออนไลน์ ก็ได้ร่วมกันมอบชุดสื่อนิทรรศการ หนังสือทำเอง มีดจากช่างว่อนและงานฝีมือสะท้อนภูมิปัญญาคนเก่าแก่ของหนองบัว ให้แก่โรงเรียนหนองบัว ซึ่งต่อมา ก็ทำให้หมวดสังคมศึกษาของโรงเรียนหนองบัว สามารถใช้เป็นทรัพยากรวิชาการ เป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการให้กับเครือข่ายโรงเรียนที่ได้รับโรงเรียนในฝันของจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อร่วมกันพัฒนาเครือข่ายจัดการเรียนรู้แบบอิงถิ่นฐานได้โดยได้รับทุนอุดหนุนจากหน่วยงานเชิงนโยบายระดับจังหวัด

ต่อจากนั้น กลุ่มงานต่างๆ ซึ่งผมอาจจะเรียกชื่อไม่ถูกต้อง แต่พอจะทราบว่าเป็นกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับงานพัฒนาการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ กลุ่มงานพัฒนาเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา กลุ่มสาระการเรียนรู้ทางสังคมศึกษา ก็มีกำลังใจที่จะนำเอาเนื้อหาที่สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ของหนองบัว อันได้แก่วัดหนองกลับหรือวัดหลวงพ่อเดิม ไปพัฒนาต่อเป็นสื่อออนไลน์เนื้อหาทุกภาษาของประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน ทำให้โรงเรียนอำเภอของชาวหนองบัวและการเรียนรู้ท้องถิ่นของลูกหลานชาวหนองบัว ได้มีการเรียนรู้และเป็นผู้นำทางการปฏิบัติ ในการสะท้อนความจำเป็นของสังคมโลกและการนำเอาวิทยาการ เทคโนโลยี และภูมิปัญญาของสังคม ทั้งที่ทันสมัยก้าวหน้าและที่ก่อเกิดบนรากฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่น มาใช้เพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้อย่างบูรณาการ

ต่อมา ก็มีการพัฒนากระบวนการทำงานเพื่อเชื่อมโยงกับการศึกษาพื้นที่ในมิติต่างๆที่มีข้อมูลทั้งภาพถ่าย การบอกเล่า และเอกสารการบันทึกทุกรูปแบบชี้นำให้เห็นแง่มุมสำหรับการลงไปศึกษาเชิงลึกและนำมาบันทึกรวบรวมไว้ โดยเฉพาะทางพระอาจารย์มหาแล อาสโยซึ่งได้ถือโอกาสรับกิจนิมนต์ เยี่ยมญาติโยม และร่วมให้การสนับสนุนงานศึกษาวิจัยต่างๆที่ทำในหนองบัว ไปทำการสัมภาษณ์และสนทนาบันทึกข้อมูลจากแหล่งข้อมูลบุคคลเก่าแก่ของหนองบัวหลายสาขา เช่น หมอหนิม กำนันผล และคนเฒ่าคนแก่ของหนองับวอีกหลายคน

นอกจากนี้ ก็มีการพัฒนาไปสู่การพัฒนาประเด็นการวิจัย เชื่อมโยงนักศึกษาในขั้นสูง  ระดับปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสน์ ของมหาวิทยาลัยนรเศวร ให้ดำเนินการวิจัย สร้างความรู้จากบทเรียนภาคปฏิบัติในเวทีคนหนองบัว เพื่อเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆในบริบททางสังคมวัฒนธรรมไทยอย่างเป็นระบบได้ดีขึ้น ซึ่งเวทีคนหนองบัวและชุมชนหนองบัวก็จะได้องค์ความรู้มาสนับสนุนพลังการปฏิบัติ เพิ่มพูนมากยิ่งๆขึ้น พร้อมกับได้เป็นผู้นำการปฏิบัติ สร้างบทเรียนนำร่อง ชี้นำการริเริ่มสิ่งต่างๆให้กับสังคมส่วนรวม

อีกทั้ง ผมเองนั้น ก็ได้ทบทวนข้อมูลในเวทีคนหนองบัวแล้วตั้งประเด็นการวิจัย โดยเริ่มจากการสังเคราะห์บทเรียน นำเสนอแนวคิด 'เทคโนโลยีการศึกษาชุมชน' บทเรียนที่สะท้อนขึ้นจากสิ่งที่ก่อเกิดได้จริงในเวทีคนหนองบัวและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อดำเนินการในบริบทความจำเป็นของสังคมไทย ตีพิมพ์รายงานในวารสารร่มพฤกษ์ ของมหาวิทยาลัยเกริก เสริมกำลังวิชาการเชื่อมโยงให้ความริเริ่มเล็กๆของคนหนองบัว ได้เป็นตัวอย่างแนวคิดและความบันดาลใจของภาคสาธารณะ ในอันที่จะสร้างสรรค์เพื่อสังคมสุขภาวะดังที่พึงประสงค์ร่วมกันให้มากยิ่งๆขึ้นต่อไป และอีกหลายประการด้วยกัน ซึ่งผมเชื่อว่าหลายท่านคงจะค่อยๆถือโอกาสถอดบทเรียนและนำมานำเสนอให้ได้เห็นกันเป็นระยะๆ ผมเองก็จะเป็นคนหนึ่งที่จะทำอยู่เสมอๆไปด้วย

   การร่วมจัดเวทีเรียนรู้ในงานงิ้วของปี ๒๕๕๕ นี้    

ผมอยากเชิญชวนคนหนองบัวและผู้สนใจการพัฒนาการมีส่วนร่วมสร้างสุขภาวะชุมชนทั่วๆไปทุกท่าน ได้ร่วมคิดและเสนอแนะ การร่วมจัดเวทีเรียนรู้ผสมผสานกับงานงิ้วของชาวอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ โดยผมได้ลองทำตัวอย่างยกร่างความคิดมาเพื่อเป็นประเด็นนำร่อง ดังนี้ครับ ........................

  • การจัดนิทรรศการ เผยแพร่และนำเสนอเรื่องราวเพื่อการเรียนรู้หนองบัวมิติต่างๆ
  • การเสวนา เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้สาธารณะ และเป็นการสะสมรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหนองบัว เล่าขาน สืบสาน ในตอนเย็นของทุกวันที่ข้างเต๊นท์นิทรรศการ น่าจะมีกิจกรรมเสวนา หมุนเวียนหัวข้อต่างๆ วันละหัวข้อ ในแก่นเรื่อง 'คนหนองบัว กับชุมชนหนองบัว อดีต ปัจจุบัน และอนาคต' เดียวกัน เช่น.........
    ๑. หมอหนิม กับอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของพัฒนาการสาธารณสุขชุมชนหนองบัว
    ๒. ดอกอุ้มน้อง มีดช่างว่อน พริกเกลือ และศาลาเปรียญหลวงพ่อเดิม : บันทึกวิถีชีวิต วัฒนธรรมการผลิต ระบบนิเวศ และสุขภาวะชุมชน
    ๓. แตรวง หนัง สื่อ : การเคลื่อนไหวทางสื่อ ข่าวสาร และการเรียนรู้สาธารณะของชุมชนหนองบัว
    ๔. ๖๐ ปีอำเภอหนองบัว ๕๐ ปีโรงเรียนหนองบัวและโรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) : พลังการศึกษาต่อพัฒนาการหนองบัวและสุขภาวะสังคมชนบท
    ๕. เวทีคนหนองบัว : เครือข่ายบันทึกชุมชนและสื่อสารเรียนรู้สื่อออนไลน์แบบผสมผสาน
  • เวทีการร้องเพลงคาราโอเกะและเล่าเรื่องของดีหนองบัว
  • การสัมมนาเชิงปฏิบัติการของศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัวและคนหนองบัวที่กลับไปเยือนบ้านในช่วงงานงิ้ว
  • การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเก็บข้อมูลและทำเนื้อหาสื่อเพื่อบันทึกเรื่องราวต่างๆของหนองบัว
  • การจัดเปิดนิทรรศการและนำชมในวันแห่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

   การสื่อสารและประสานงานเบื้องต้น   

  • ผมได้ปรึกษาหารืออย่างไม่เป็นทางการกับคนหนองบัวหลายท่านไว้เป็นระยะๆ เช่น อาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ อาจารย์สืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัว คุณไพศาล เจียนศิริจินดา ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมและส่งเสริมสุขภาพภาคประชาชน นครสวรรค์นายแพทย์สมพงษ์ ยูงทอง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นครสวรรค์ กลุ่มคุณครู กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา โรงเรียนหนองบัว ท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย ท่านพระอธิการโชคชัย กำนันวิรัตน์ บัวมหกุล รองประธานกรรมการจัดงานงิ้วหนองบัว
  • ได้ประสานงานเพื่อขอตั้งเต๊นท์ ๓ เต๊นท์ในบริเวณงาน บริเวณเดิมอย่างที่จัดเมื่อปี ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา คือ ที่ข้างศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่และหลวงปู่ฤาษีนารายณ์กับโรงเปียของระดมทุน

เชิญทุกท่านตามสบายครับ โดยเฉพาะท่านพระอาจารย์มหาแล ท่านพระอธิการโชคชัย คุณสมบัติ ฆ้อนทอง (พรพมมินทร์) คุณฉิก คุณครูอนุกูล คุณครูต้นเทียน คุณคนปรุงแผ่นดิน รวมไปจนถึงเครือข่ายเรียนรู้และเป็นกระบวนกรสนับสนุนทางวิชาการออนไลน์ อาจารย์ณัฐพัชร์ คุณเริงวิชญ์ ดร.ขจิต คุณมะปรางเปรี้ยว อาจารย์หมอ JJ คุณหมอธิรัมภา อาจารย์ ดร.จันทวรรณ บังวอญ่า คุณเอกจตุพร น้องครูอ้อยเล็ก พี่ใหญ่นงนาท และอีกหลายท่านซึ่งไม่สามารถกล่าวถึงได้หมด รวมไปจนถึงคนหนองบัวในต่างประเทศด้วยนะครับ.

หมายเลขบันทึก: 480149เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2012 12:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • ขออาสารับไปประสานงาน เชิญชวนผู้ที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวดีๆของชุมน
  • น่าจะได้หลายท่านอยู่นะในปีนี เช่น พ่อเพลง แม่เพลงพื้นบ้้าน, อดีตผู้ำนำชุมชน, ลูกหลานช่างว่อน,ลูกหลานหมอประจำตำบลรุ่นเก่า,ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนอาหารพื้นบ้าน
  • โดยเฉพาะโยมลุงวาน บุญกิจ(อายุ ๙๑ ปี)แต่ยังมีร่างกายแข็งแรงมาก จะหาโอกาสเชิญท่านไปให้ได้ เพราะ่ท่านสามารถบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์หนองบัวได้อย่างรอบด้านดีจริงๆ เล่าได้ถึงตอนท่านได้เห็นโบสถ์ฺหลังเก่าของวัดหนองกลับด้วย เสียดายตอนไปบ้านโยมคราวปีใหม่(๒๕๕๕) ว่าจะพาหลานชายไปวาดโบสถ์เก่าตามคำบอกเล่าของท่าน ก็ไม่ทันได้ไปเพราะกลับวัดก่อน
  • โยมป้าหมอหนิมก็จะลองไปเชิญท่านด้วย
  • ยังมีอีกหลายท่านที่มีคนแนะนำ้ให้อาตมาไปพบ แต่ก็พลาดโอกาส เดี่ยวจะต้องหาเวลาไปนิมนต์โยมเหล่านั้นให้มาในงานนี้ 
  • ขอไปเดินบอกบุญเองก็แล้วกันงานนี้(กิจกรรมเดินบอกงานบุญ(งานบวช,งานแต่ง,ทำบุญขึ้นใหม่,งานศพในหมู่บ้าน ยังมีอยู่)ที่หนองบัว
  • แตรวง รุ่นเก่าในหนองบัวใครๆก็รู้จักและต้องกล่าวถึง วงทิดบวน บ้านใหญ่หนองกลับ
  • ปัจจุบันน้าทิดบวน ท่านก็ยังเป่าแตรอยู่นะ 
  • คงจะเรียนรู้ตำนานแตรวงจากท่านอีกเยอะ

กราบอนุโมทนาและตื้นตันใจแทนคนหนองบัวอย่างยิ่งครับ

ทีแรกผมว่าจะเว้นไป ว่าจะไปจัดเวทีต่างหากหลังงานงิ้วแล้ว เพราะผมกำลังย้ายข้าวของ อีกทั้งช่วง ๒๐-๒๑ มีนาคม ๒๕๕๕ ก่อนงานงิ้ววันแรก ก็จะไปช่วยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สงขลา จัดเวทีพัฒนาเครือข่ายผู้บริหารรุ่นใหม่ ดูกิจกรรมชีวิตและระยะเวลาต่างๆแล้ว ก็ท่าจะโกลาหลเอาการ

แต่เมื่อนึกว่าหากหยุดไปก็จะขาดความต่อเนื่อง อีกทั้งหลายคนก็ออกปากไว้ตั้งแต่ก่อนจบงานปีที่แล้วว่าอยากให้มีในปีนี้อีก เลยตัดสินใจว่าจะพากันทำอีก แล้วก็ได้โทรศัพท์ประสานงานกับทางกำนันรองกรรมการจัดงานและหลายท่านที่หนองบัวแล้ว อีกทั้งวางแผนกับภรรยาแล้วว่าเห็นทีจะต้องแก้ปัญหาด้วยการเตรียมงานต่างๆผ่านสำนักงานออนไลน์ พอเห็นแนวคิดและการลุกขึ้นจัดการด้วยของพระคุณเจ้านี่ ก็ให้มีพลังใจและคึกคักขึ้นมาเลยครับ

ปีนี้เราเวทีคนหนองบัวของเราคงจะมีโอกาสเก็บข้อมูล และนำเอาข้อมูลเก่าๆเท่าที่ช่วยกันสะสมได้มาตรวจสอบได้ดีมากยิ่งๆขึ้น หลังจากงานงิ้วแล้ว ก็น่าจะมีงานความรู้ ช่วยกันจัดทำสื่อและสิ่งตีพิมพ์ ขยายผลสู่การพัฒนาด้านอื่นๆต่อไปได้มากขึ้นอีกนะครับ

แตรวงตาบวนนี่ผมรู้จักครับ เสียงเดี่ยวแซกตาบวนและของวงนั้นฟังปั๊บก็รู้
ไม่น่าเชื่อว่ายังสามารถเล่นกันได้อยู่อีก คงอาวุโสกันหมดแล้ว

ขอมาเชียร์ก่อนนะครับ

วันที่ ๒๒-๒๕ มีนาคม ๒๕๕๕ โอโหช่วงญี่ปุ่นมาเสียด้วย ดีใจที่อาจารย์จะได้พบเพื่อนเก่า วงดนตรีเก่า

ดูว่าจะช่วยอาจารย์ตอนไหนได้บ้างครับ...

  • ที่รู้ว่าท่านน้าทิดบวนยังรับงานอยู่ ก็เพราะได้พบเจอแตรวงรุ่นนี้ในงานศพที่หนองบัวนั่นเอง(เห็นทุกงาน)
  • ทั้งวงก็อาวุโสทั้งหมดเลย อย่างเยาว์สุดในวงก็เลยห้าสิบขึ้นไปแล้ว
  • ถ้าเป็นไปได้ จะลองไปชวนแตรวงคณะน้าทิดบวน มาพูดคุยสักวัน แหมถ้ามาได้ทั้งคณะนี่ อยากจะบอกว่า จะเป็นบันทึกชุมชนที่เห็นร่องรอยอันงดงามแห่งวันวานได้อย่างเยี่ยมเลย
  • ในชุมชนมีหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว โดยบางอย่างก็ไม่หลงเหลือร่องรอยให้ได้สืบต่อหรือเรียนรู้ได้เลย แต่แตรวงน่าจะเป็นสิ่งที่ยังเหลืออยู่ในชุมชนที่เห็นได้เ่ด่นชัดเจนที่สุด(น่าจะยังมีอยู่หลายคณะ)
  • ขอเสนอบุคคลอีกสักสองอาชีพให้ได้มาร่วงงาน พบปะพูดคุยในเวทีครั้งนี้คือช่างตัดผมและช่างถ่ายรูปรุ่นเก่าๆ โดยเฉพาะช่างหวิด ช่างตัิดผมท่านนี้ อยากให้มาบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตจังเลย

สวัสดีครับอาจารญ์ ดร.ขจิตครับ
คิดว่าจะมีสักครั้งหนึ่งนะครับ ที่จะได้เชิญอาจารย์และอีกหลายท่านใน gotoknow ไปร่วมถอดบทเรียนและสร้างประเด็นการมองไปข้างหน้าต่อเรื่องต่างๆของสังคมไทยด้วยกัน เพื่อสะท้อนไปสู่การเคลื่อนไหวงานและการดำเนินชีวิตที่มีและเป็นอยู่แล้ว ให้ได้ความเชื่อมโยง ส่งเสริมเกื้อหนุนกันให้เป็นพลังสร้างสรรค์ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่างๆไปด้วยกัน โดยใช้กรณีชุมชนหนองบัวและเวทีคนหนองบัวเป็นกรณีศึกษา คุยและทาบทามอาจารย์เป็นปีแล้วนะครับเนี่ย ยังไปไม่ถึงสักที

กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ
ตาหวิดนี่เป็นคนดั้งเดิมที่น่าจะมีส่วนต่อการเคลื่อนไหวสังคมของคนหนองบัวมากคนหนึ่งเหมือนกันนะครับ ร้านตัดผมของแกนั้น เป็นแหล่งพบปะและสร้างวงสมาคมทั้งของคนหนองบัวกับชุมชนรอบนอกของอำเภอที่ไปตัดผมและไปนั่งรอรถที่ท่ารถในศูนย์การค้าหนองบัว หลากหลายรุ่นวัยมากเลยนะครับ พี่ชายของแกคือตาหวัดก็เช่นกัน เมื่อก่อนนี้ไม่ว่าจะเป็นใครในหนองบัว ก็รู้จักร้านตัดผมตาหวัด และร้านตัดผมตาหวิดกันทั้งนั้น แกเป็นญาติพี่น้องบ้านตาลินของผมด้วย มีอัธยาศัยและเป็นที่รักที่เคารพนับถือของผู้คนในหนองบัวมาก ให้เบ่าเรื่องราสวเกี่ยวกับผู้คนและความทรงจำเกี่ยวกับพัฒนาการของหนองบัวแล้วละก็ น่าจะเป็นคนที่ถ่ายทอดได้ดีที่สุดคนหนึ่งเลยละครับ

เรียนท่านพระอาจารย์มหาแล เจริญพรโยมอาจารย์ดร.วิรัตน์ และชาวหนองบัวทุกท่าน

  • ต้องขออภัยไม่ได้เข้าบล็อกซะหลายวัน เพราะสายสัญญาณเน็ตมันขาด ตอนนี้ติดตั้งใหม่ใช้งานได้เป็นปกติแล้วครับ
  • เทศกาลงานงิ้วปีนี้ หน้าจะครึกคลักน่ะครับอาจารย์ ผมเห็นท่านอาจารย์ดร.วิรัตน์เตรียมงานอย่างนี้แล้วน่าสนใจมาก ยิ่งมีบุคคลหลายฝ่ายเข้ามาร่วมมือ ร่วมใจกันแล้วปีนี้หน้าจะได้บทเรียนใหม่ๆ ขึ้นมาอีกหลายประเด็น
  • ผมขอเสนอว่า อย่าลืมเครือข่ายครูน่ะครับ เท่าที่ไปเก็บข้อมูลสัมภาษณ์เครือข่ายครูโรงเรียนหนองบัว ล้าสุดเมื่อวันที่16-17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คุณครูหลายท่านให้ความสนใจกระบวนการเรียนรู้เวทีคนหนองบัวมากขึ้น ถึงขนาดอยากให้อาจารย์ดร.วิรัตน์ จัดเวิร์กช๊อปรอบสองทีเดียว
  • งานนี้ผมจะช่วยประสาน ประชาสัมพันธ์เทศกาลงานงิ้วกับเครือข่ายครูอีกแรงหนึ่งครับ..

คิดว่างานงิ้วนี้จะนำอะไรไปแจกเด็กๆและชาวบ้านดี
เมื่อได้เห็นภาพวาดตำนานเมืองหนองบัว เลยคิดอันนี้น่าจะดี

เลยให้พระท่านช่วยทำเอกสารเย็บเล่มเล็กๆขนาดเอ๔ ๒ แผ่น(๘ หน้า)
ทำในพาวเวอร์พ้อย ไม่ใครรู้วิธีจัดเรียงหน้าหนังสือ(ทำหนังสือเลยทำในพาวเวอร์พ้อนแทน)

จำนำไปแจกในงานงิ้วและชาวบ้านสักร้องสองร้อย
                                 
                                
                                หน้าปกเอกสาร
                                
                                ปกหลังเอกสาร 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท