น้อมกราบคารวะคุณครูรวีวรรณ เปรมจิตต์ โรงเรียนหนองบัว นครสวรรค์


คุณครูลัดดา สันคามิน (พูลสวัสดิ์) คุณครูที่เคารพรักยิ่งของผมและของชาวโรงเรียนหนองบัว ได้มีความเมตตาบอกข่าวคราวแก่ผมสองเรื่อง เรื่องแรกคือ คุณครูสุนทร สันคามิน อดีตคุณครูเก่าแก่อีกท่านหนึ่งของผมและของชาวโรงเรียนหนองบัวยุคก่อนซึ่งเป็นคู่ชีวิตของท่านด้วย ได้เข้ารับการผ่าตัดรักษาตา และอีกเรื่องหนึ่งคือ คุณครูรวีวรรณ เปรมจิตต์ คุณครูและอดีตครูใหญ่อันเป็นที่รักผูกพันกับพวกเราหลายรุ่น ได้ถึงแก่กรรมแล้ว หลังจากการถึงแก่กรรมของคุณครูเทิน ราชสันเที๊ยะเพียง ๒ วัน [1] ลูกหลาน ญาติมิตร ลูกศิษย์ลูกหาและผู้เคารพนับถือ ได้ตั้งศพของท่านบำเพ็ญกุศลและบรรจุชั่วคราว เพื่อรอทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงศพ ที่วัดนครสวรรค์ ในวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๕ เวลา ๑๖.๐๐ น. โดยประมาณ ผมขอถือโอกาสนี้บอกต่อให้กันแก่ชาวอำเภอหนองบัว โดยเฉพาะศิษย์เก่าของโรงเรียนหนองคอก หรือโรงเรียนหนองบัว

อาจารย์รวีวรรณ เปรมจิตต์ 
ขอขอบคุณ : ภาพจากทำเนียบผู้บริหาร ในเว็บเพจโรงเรียนหนองบัว

คุณครูรวีวรรณ เปรมจิตต์ ท่านเป็นครูเก่าแก่ในยุคบุกเบิกของโรงเรียนหนองบัว กระทั่งดำรงตำแหน่งเป็นครูใหญ่ท่านที่ ๒ ต่อจากคุณครูเขจร เปรมจิตต์ ผู้ซึ่งเป็นผู้นำในการก่อตั้งและดำเนินการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนมัธยมแห่งแรกของอำเภอหนองบัวเมื่อปี ๒๕๐๓ ซึ่งระยะแรกอยู่ที่เดียวกันในโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) หรือโรงเรียนอนุบาลหนองบัวในปัจจุบัน และต่อมา ได้แยกออกไปตั้งเป็นโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ ณ สถานที่ปัจจุบัน [2]

ผมและเพื่อนๆ ได้เรียนโรงเรียนหนองบัวร่วมสมัยในช่วงเวลาที่คุณครูรวีวรรณ เปรมจิตต์เป็นครูสอนพวกเราตลอดทั้งสามชั้นปี นับแต่มัธยมศึกษาปีที่ ๑ ถึง ๓ แต่เดิมนั้น ท่านเป็นครูอยู่ในโรงเรียนชั้นนำของจังหวัดนครสวรรค์ และได้ย้ายออกมาอยู่ที่โรงเรียนหนองบัวก่อนรุ่นผมหลายปี ความเข้มงวดและความเอาจริงเอาจังในการสอน รวมทั้งในการพัฒนาการเรียนต่อนักเรียนโรงเรียนหนองบัว ซึ่งเริ่มจากชั้นอาวุโสและเคี่ยวอย่างหนักในกลุ่มที่กำลังจะจบระดับสูงที่สุดของอำเภอสู่โลกภายนอก อันได้แก่ชั้น มศ.๓ นั้น เป็นที่ร่ำลือมาก ทำให้ทั้งผมและพวกที่เป็นรุ่น มศ.๑-มศ.๒ อยากเห็น อยากได้ขึ้น มศ.๓ ทั้งอยากเรียนกับคุณครูและทั้งยำเกรง

คุณครูพัฒนาศิลปะการสอนและนำเอากิจกรรมหลายอย่างมาบูรณาการเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้กับพวกเรา สิ่งที่มักกล่าวถึงอยู่มิได้ขาดเมื่อได้พบกันของศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัวที่ได้เรียนกับท่านอยู่เสมอก็คือ การคัดลายมือแก้ปัญหาเขียนคำผิดคำละเป็นร้อยและหลายร้อยครั้ง การให้ท่องศัพท์ภาษาอังกฤษวันละ ๑๐ คำ การให้พูดแสดงความเคารพและทักทายกับท่านเป็นภาษาอังกฤษ และการให้เขียนบันทึกไปให้ท่านอ่านทุกวัน

ในการคัดลายมือ เขียนคำผิดแก้ไขให้ถูกนั้น นับว่าเป็นทั้งการลงโทษ การประเมิน และแปรการลงโทษให้เป็นการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เรียนกลับได้สิ่งดีแก่ตนเองอย่างเข้มข้น ท่านมักจะให้ผู้ที่เขียนคำผิดคัดคำเดิมนั้นให้ถูกต้องเต็มหน้ากระดาษ เป็นร้อยๆครั้ง ผู้ที่ไม่ค่อยเขียนผิดอาจจะต่ำกว่าเล็กน้อย และผู้ที่เขียนผิดบ่อยๆก็จะต้องเขียนมากกว่านั้น ในการเขียน ก็ต้องเขียนอย่างบรรจงให้สวยงามทุกตัว หน้ากระดาษแต่ละหน้าต้องตีเส้นกั้นหน้าอย่างเรียบร้อย เขียนวัน วันที่ เดือน และพุทธศักราช ไม่ให้ตกหล่นแม้แต่นิดเดียว เรียกว่าเขียนผิดครั้งเดียว ก็จะต้องทำให้นั่งเขียนคำนั้นจนมือหงิกมืองอ เป็นเหตุให้ได้จำและเขียนคำนั้นได้อย่างติดตาติดมือเลยทีเดียว และสิ่งอันเป็นที่ฮือฮามากอย่างยิ่งก็คือ ท่านจำทุกคนในโรงเรียนได้หมด ทั้งที่ก็ไม่เห็นท่านจดหรือทำท่าสนใจนักเรียนคนใดอย่างเป็นพิเศษ หากใครหลีกเลี่ยง ก็จะโดนเพิ่มเข้าไปอีก ๒ เท่า จาก ๑๐๐ ครั้งเป็น ๒๐๐ ครั้ง ดังนั้น จึงไม่มีใครกล้าหลีกเลี่ยงกันเลยทีเดียว

ในการท่องศัพท์ภาษาอังกฤษ หลังจากท่านบอกว่าให้ไปท่องคำศัพท์ ๑๐ คำอะไรบ้างแล้ว ในวันถัดไปที่ท่านบอกให้แต่ละคนเดินไปยืนท่องให้ฟังต่อหน้าท่านนั้น บางครั้งท่านก็เข้าไปนั่งที่โต๊ะครูในห้องให้พวกเราเดินออกไปยืนท่อง บางครั้งก็เรียกให้พวกเราเดินไปท่องให้ท่านฟังในห้องพักครู บางครั้งเมื่อเดินผ่านและจำได้ ก็อาจเจาะจงให้บางคนที่ท่านอยากให้ท่องให้ฟัง ยืนท่องแบบปากเปล่าให้ท่านฟัง

ท่านเป็นครูที่มีบุคลิกเคร่งครัด ไม่ว่าจะแต่งชุดข้าราชการครูสีกากีหรือชุดแบบใดก็จะสะอาดเรียบร้อยหมดจดอยู่เสมอ ไม่ค่อยยิ้มและหัวเราะส่งเสียง มีบารมี เคลื่อนไหวรวดเร็ว สามารถทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เช่น มือข้างหนึ่งเขียนกระดานดำ ตาก้มอ่านหนังสือในมืออีกข้างหนึ่งเพื่อคอยตรวจสอบสิ่งที่กำลังให้ใครสักคนยืนอ่าน และปากท่านก็สอนขยายความสิ่งต่างๆ เสียงพูดของท่านฉะฉานชัดเจน เวลาต้องไปยืนท่องคำศัพท์ต่อหน้าท่านก็ให้มีอันทั้งตื่นเต้นท้าทาย ใจฝ่อ และสนุกสนานระคนกัน

บางครั้ง ในการประชุมรวมของนักเรียนทั้งโรงเรียน ท่านถึงกับหาโอกาสเชิญครูชาวต่างประเทศ ไปยืนพูดและสาธิตการพูดสนทนาภาษาอังกฤษ การออกเสียงภาษาอังกฤษแบบชาวต่างประเทศเจ้าของภาษา โดยมีท่านยืนเป็นผู้ดำเนินรายการ และร่วมสอนบนเวทีกลางแจ้ง ซึ่งเมื่อรำลึกถึงคราใด ก็ให้รู้สึกต้องน้อมเคารพในความทุ่มเทด้วยชีวิตจิตใจ และประทับใจในความสร้างสรรค์คิดค้นนวัตกรรมทางการศึกษา ซึ่งในห้วงเวลานั้น  ต้องนับว่าหากไม่เกิดจากความริเริ่มและทุ่มเทจริงจังของท่านแล้ว ก็เป็นการยากที่โรงเรียนหนองบัว ซึ่งมีสภาพกันดารและอยู่ห่างไกลความเจริญทุกด้าน จะมีโอกาสได้รับ

ท่านเอาใจใส่แม้กระทั่งการสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมและกระตุ้นความรักในการศึกษาเล่าเรียนและมุ่งมั่นต่อการเติบโตงอกงามไปในอนาคต ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ต่อผู้เรียนของโรงเรียนหนองบัวสูงขึ้นทั้งในภาพรวมและในรายบุคคล เป็นยุคที่มีการริเริ่มให้มีการบันทึกชื่อขึ้นบอร์ดผู้ที่สามารถสอบไล่ชั้น มศ.๓ อันเป็นปีสุดท้ายของโรงเรียนอันดับ ๑-๓ ที่สูงกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นขึ้นไป รวมทั้งในปีที่รุ่นผมอยู่ มศ.๓ นั้น ท่านก็เชิญศิษย์เก่าของโรงเรียนหนองบัว ที่เคยได้ชื่อขึ้นบอร์ดและหลังจากจบ มศ.๓ จากโรงเรียนหนองบัวแล้ว ก็สามารถไปเรียนโรงเรียนเตรียมทหารและโรงเรียนนายร้อย จปร ให้ถือโอกาสในช่วงที่กลับไปเยี่ยมบ้านพ่อแม่ที่หนองบัว ไปปรากฏตัวให้กับพวกน้องๆที่กำลังจะจบ มศ.๓ อันได้แก่ พี่โกศล ซึ่งต่อมาในปัจจุบันคือ พันเอกพิเศษโกศล ประทุมชาติ นายทหารเสนาธิการและรองผู้บัญชาการกองพัน ๓๓ ค่ายกาวิลละ เชียงใหม่ ซึ่งพี่โกศลท่านก็ได้ไปพบกับน้องๆและครูอาจารย์ของโรงเรียนหนองบัวพร้อมกับเพื่อนจากโรงเรียนเตรียมทหารอีกคนหนึ่ง

ผมยังจำภาพนั้นได้อย่างติดตา คุณครูดูปลื้มปีติไปกับลูกศิษย์ของท่านจากหนองบัว พี่โกศลและเพื่อนซึ่งยืนอยู่หน้าห้องคิงส์ มศ.๓/๑ ของเราให้ท่านได้กล่าวชื่นชม ซึ่งก็เป็นรุ่นพี่ที่ทันได้เห็นและเรียนอยู่ด้วยกัน ๑ ปี ก็ดูสง่าและเป็นความอัศจรรย์ที่ไม่เคยได้เห็นกันมาก่อนในชีวิตนักเรียนบ้านนอกที่หนองบัวของทุกคน

วิธีดังกล่าวนับว่าเป็นรูปธรรมของการแสดงให้เห็นอนาคตและสื่อสะท้อนโลกกว้างจากภายนอกให้ได้สัมผัส ในขณะที่นักเรียนของโรงเรียนบ้านนอกมากอย่างหนองบัวในตอนนั้น ไม่เคยรู้และไม่มีทางจินตนาการได้กันมาก่อนเลย ช่างเป็นศิลปะของการแนะแนวและมีพลังต่อการเสริมสร้างกำลังใจให้เกิดความใฝ่เรียนแก่พวกเราอย่างที่สุด กล่าวได้ว่า ท่านเป็นผู้ทำให้โรงเรียนหนองบัวเกิดการพัฒนาและมีความงอกงามเฟื่องฟูขึ้นในทุกด้าน ทั้งทางด้านวิชาการ การพัฒนาการเรียนการสอน กีฬา ดนตรีและดุริยางค์นักเรียน กิจกรรมลูกเสือและเนตรนารี

ผมเองนั้น ผลจากการที่ท่านใช้การเขียนบันทึกไปให้ท่านอ่านทุกวันเป็นเครื่องมือและวิธีพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียนนั้น ก็ตระหนักรู้เป็นอย่างดีว่าทำให้ได้หลายอย่างติดตัวไปใช้ในชีวิตและการทำงานตลอดมา ทั้งการทำงานความคิด การอ่านแบบสรุปใจความแบบเร็วๆ การตอบโต้และติดตามสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ตรงหน้าพร้อมกับทำงานประมวลข้อมูลภายในความคิดและวาดรูปหรือเขียนบันทึกทั้งสรุปประเด็นและเชื่อมโยงเนื้อหา การสังเกตรายละเอียดที่ถ่ายทอดและสะท้อนความหมายได้ การที่พอจะพลิกแพลงเล่าเป็นภาพและการถ่ายทอดสิ่งต่างๆออกมาเป็นการเขียนอย่างที่ต้องการ

ในช่วงที่ผมทำงานที่มหาวิทยาลัยมหิดลกว่า ๒๕ ปีนั้น หลายครั้งที่มีความต้องการเขียนสกู๊ปสารคดีสื่อ บทบรรยายสื่อ ทำบทสรุปจากกองเอกสารตำราและงานวิจัย หรือประมวลภาพการประชุมจากเหตุการณ์และข้อมูลหลายชุดให้เห็นความปะติดปะต่อและสร้างประเด็นที่มีนัยสำคัญเพื่อการนำไปใช้ในงานต่างๆต่อไป รวมไปจนถึงการเตรียมเอกสารข้อมูลต่างๆ เพื่องานวิชาการ ก็มักจะมีผู้มาขอให้ผมทำและรอรับเพื่อนำไปใช้ได้เลยในเวลาไม่นาน ทางด้านภาษาอังกฤษนั้น หลังจบจากโรงเรียนหนองบัวแล้ว แม้ยังเรียนไม่ถึงขั้นจบมหาวิทยาลัย ก็พอจะเป็นประสบการณ์พื้นฐานที่สร้างแรงกระตุ้นจากภายในให้ผมไปเดินสนามหลวงและซื้อหนังสือวรรณกรรมต่างประเทศไปอ่านด้วยความสนใจของตนเองได้แล้ว ผมจึงเป็นคนหนึ่งที่ซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่งในกุศโลบายและจิตวิญญาณความเป็นครูของท่าน

ในโอกาสนี้ ผมขอร่วมแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการจากไปของท่าน กับท่านอาจารย์เขจร เปรมจิตต์ คู่ชีวิตของท่านและคุณครูของผมกับชาวโรงเรียนหนองบัว ลูกหลาน ญาติมิตร ลูกศิษย์และเพื่อนร่วมงานในทุกช่วงชีวิตของท่าน ขอกราบอาราธนาอำนาจแห่งบริสุทธิคุณของพระรัตนตรัย รวมทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวงอันเป็นที่เคารพนับถือของท่าน คุณธรรมความดีงามทั้งหลายที่ท่านได้สร้างคนและสร้างประโยชน์แก่สังคม จงอำนวยพรและเป็นกำลังหนุนส่งดวงวิญญาณของท่าน ให้ถึงซึ่งสุคติภพนิรันดร เทอญฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

[1] อ่าน : รำลึกครูเทิน ราชสันเที๊ยะ โรงเรียนหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ใน http://www.gotoknow.org/blogs/posts/479457
[2] อ่าน : แรกมีของอำเภอหนองบัว โรงเรียนหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ใน http://www.gotoknow.org/blog/civil-learning/232669

หมายเลขบันทึก: 479744เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2012 14:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ขอบพระคุณ อาจารย์ ดร.จันทวรรณ
แขกและมือเสริมพลังใจกิตติมศักดิ์
ที่แวะมาเยือนครับ มีความสุขครับอาจารย์

สวัสดีวันครูค่ะอาจารย์เซียนศิลป์

อ่านแล้ว ระลึกถึงพระคุณครู สอนภาษาอังกฤษม. ปลาย ท่านครู บังอร ร.ร. สันติราษฏร์ ฯ

ท่านเอาใจใส่ และเสียสละเวลา สอนพิเศษพวกเราทั้งห้องด้วย ยังประทับในใจเสมอ เช่นกันค่ะ

สวัสดีครับคุณ Poo
ขอรำลึกถึงคุณครูของคุณ Poo ด้วยคนเช่นกันครับ
นึกถึงพระคุณของคุณครูนี่ จัดว่าเป็นกำลังสำหรับทำสิ่งดีๆ ที่ดีอยู่เสมอๆนะครับ

ขอสรรเสริญ...ครู คือ.. ผู้ให้..

จงสู่สุขคติภพด้วยเทอญ...

กราบขอบพระคุณพระคุณเจ้า
ที่ได้กรุณามาร่วมสรรเสริญคุณธรรมแห่งครู
มอบแด่คุณครูด้วยครับ

  • ขอแสดงความเสียใจด้วยครับ
  • เรามีครูเก่งมากมาย
  • แต่ระบบทำให้ครูเก่งๆหายไปครับ
  • ทำให้คิดถึงตอนให้นักเรียนท่องศัพท์สมัยเป็นครูมัธยมศึกษา
  • ชาวต่างประเทศมาคุยกับนักเรียนบ่อยๆ
  • เอาวิทยากร HA มาฝากก่อนนะครับ

สวัสดีคับอาจารย์ดร.ขจิตครับ
การทำให้การศึกษาเรียนรู้ ได้บูรณาการการให้ประสบการณ์ต่อผู้คน การได้ประสบการณ์ชีวิต การเห็นโลกกว้างและความกว้างขวางของชีวิต เป็นบทบาทของครูที่สำคัญมากต่อการสร้างคนในรุ่นต่างๆอย่างหนึ่งเลยนะครับ

แวะมาสวัสดีท่านอาจารย์ ดร. วิรัตน์ และเยี่ยมชมงานศิลปะอีกชิ้นหนึ่ง

ขอแสดงความเสียใจในโอกาสระลึกถึงคุณครูของอาจารย์

เป็นการเล่าเรื่องที่ให้คติสอนใจถึงการศึกษาที่แท้จริงของชีวิตได้อย่างน่าชื่นชม

ด้วยรัก คิดถึง และเคารพอาจารย์ ดร. วิรัตน์ เสมอครับ

สวัสดีครับอาจารย์ดร.ป๊อปครับ
ผ่านไปทางเหนือละก็ อย่าลืมแวะไปแอ่วกันนะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท