ผชช.ว.ตาก (๗๖): โครงการงบEUตาก


โครงการเสริมสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศไทยโดยการพัฒนาสถานะสุขภาพของผู้หนีภัยการสู้รบและผู้อพยพชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย จังหวัดตาก

การทำงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดตาก มีความทับซ้อนกันอยู่หลายด้าน ในด้านการบริการสาธารณสุขมีสถานบริการภาครัฐเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ๒ แห่ง โรงพยาบาลชุมชน ๖ แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ๑๑๕ แห่ง สถานบริการสาธารณสุขชุมชนอีก ๓๖ แห่ง และยังมีศูนย์มาลาเรียชุมชน ๙๐ แห่ง สุขศาลา เกือบ ๒๐ แห่ง เพื่อดูแลคนไทยเกือบ ๖ แสนคน ในขณะเดียวกันยังคงมีโรงพยาบาลเอกชน ๑ แห่ง แม่ตาวคลินิก โรงพยาบาลในศูนย์พักพิงชั่วคราว ๓ แห่ง และสถานบริการของSMRU อีก ๓ แห่ง ที่คอยให้บริการชาวต่างด้าวอีกราว ๔ แสนคน

ข้อมูลบริการ ข้อมูลโรคหรือการเจ็บป่วยต่างๆ มักจะมีข้อมูลเฉพาะของคนไทยหรือต่างด้าวในสถานพยาบาลของรัฐ ส่วนของเอกชนหรือเอ็นจีโอก็มีเป็นส่วนๆ ทำให้ข้อมูลที่จะนำมาใช้พิจารณาแผนงานสาธารณสุขในภาพรวมไม่สมบูรณ์

ปีที่แล้ว ทาง สสจ.ตากได้รับงบประมาณส่วนหนึ่งจากสหภาพยุโรปผ่านทางองค์การอนามัยโรค (ประเทศไทย) และ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุขพร้อมๆกับจังหวัดชายแดนอีก ๔ แห่ง (แม่ฮ่องสอน ราชบุรี กาญจนบุรี) มาจัดทำโครงการเพื่อพัฒนาสุขภาพชายแดน ในชื่อโครงการที่ยาวมากๆๆว่าโครงการเสริมสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศไทยโดยการพัฒนาสถานะสุขภาพของผู้หนีภัยการสู้รบและผู้อพยพชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย จังหวัดตาก

จำนวนเงินที่ได้มาไม่มากนัก แต่เป็นสิ่งที่เราชาว สสจ.ตากอยากทำอยู่แล้ว จึงพยายามบริหารจัดการเงินให้ตอบโจทยืทั้งผู้ให้ทุนและความต้องการของเราเอง กิจกรรมที่ทำมีทั้งเรื่อง

๑. การวางระบบโครงสร้า้งการจัดการโดยจัดให้มีหน่วยสุขภาพชายแดนจังหวัด (Border Health Unit) อำเภอ และพื้นที่ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังโรค (Disease surveillance center)ในศูนย์อพยพทั้ง ๓ ศูนย์ที่ท่าสอยาง พบพระ อุ้มผาง รวมทั้งขยายพื้นที่ไปอีก ๒ อำเภอที่ไม่มีค่ายอพยพแต่มีต่างด้าวแวะเวียนเข้ามามากคือแม่สอด กับ แม่ระมาด

๒. จัดระบบศูนย์ข้อมูลสุขภาพชายแดนจังหวัดตากขึ้น โดยครอบคลุมข้อมูลสำคัญๆด้านสุขภาพ ๒ เรื่องคือ

๓.๑ ข้อมูลประชากรต่างด้าว แยกรายละเอียดตามพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลและตามพื้นที่ตำบล

๓.๒ ข้อมูลบริการทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ผู้ป่วยท่ต้องเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา

๓.๓ ข้อมูลเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา มีการกำหนดกลุ่มโรคที่ต้องรายงานด่วนภายใน ๒๔ ชั่วโมงและรายงานทุกสัปดาห์

๓. การจัดกิจกรรมตามข้อกำหนดโครงการ ประกอบด้วย

จัดเวทีสมัชชาสุขภาพ 2 ครั้ง

พัฒนาแนวทางการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานในเรื่องของการตอบสนองและการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับโรคระบาดที่สำคัญในพื้นที่พักพิงชั่งคราว

ให้การสนับสนุนทางวิชาการกับองค์กรเอกชนโดยการจัดการอบรมทีมเคลื่อนที่เร็วในการจัดการกับโรคระบาดในพื้นที่พักพิงชั่วคราว

จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจของทีมเคลื่อนที่เร็วในการประเมินปัญหา เตรียมการและจัดการกับโรคระบาดในพื้นที่พักพิงชั่วคราว

จัดตั้งศูนย์ข้อมูลและศูนย์ประสานงานการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคของผู้หนีภัยจากการสู้รบและประชากรต่างด้าวโดยเน้นเรื่องโรคระบาด

พัฒนากลไกการเตรียมความพร้อมต่อการรับมือกับการระบาดในศูนย์พักพิงชั่วคราวและบริเวณโดยรอบ

พัฒนากลไกในการเสริมสร้างระบบเฝ้าระวังโรคและการตอบสนองต่อการระบาดของโรค

พัฒนากลไกการประสานงานและความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

แม้จะเริ่มกิจกรรมไปได้เพียง ๑ ปี แต่งานที่ได้กลับก้าวหน้าไปถึงปีที่ ๒ แล้ว เมื่อทีมประเมินจากองค์การอนามัยโลกและอียู มาประเมินจึงได้มีความพึงพอใจและประทับใจเป็นอย่างมาก

หมายเลขบันทึก: 479249เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2012 21:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 12:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท