การข้ามพ้นของคนชายขอบ


คนทำงานเกี่ยวกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติทุกคน ตระหนักอยู่ในใจเสมอว่า การบรรลุถึงจุดหมายของพวกเขา ล้วนประสบกับความเจ็บปวด การต่อสู้ที่ต้องอดทนพากเพียร การสนับสนุนจากบุคคลอื่นเป็นเพียงกำลังเสริม และมิอาจประสบผลสำเร็จได้ หากขาดพลังหลักที่มาจากความมานะบากบั่นของพวกเขา

“พี่มีข่าวดีจะบอก ตอนนี้พี่กับน้อง ๆ อีก ๔ คน ได้ถ่ายบัตรประชาชนแล้วนะ ดีใจที่สุดที่เป็นคนไทยโดยสมบูรณ์กับเขาเสียที ก็เลยโทรมาขอบคุณค่ะ”

            แม้จะเป็นเวลานานพอสมควร ที่ดิฉันไม่ได้ร่วมปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลเหมือนกับตอนทำหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้ สว.เตือนใจ ดีเทศน์  แต่น้ำเสียงดีใจสุดขีดของ อัมพร คำวันดี ชวนให้ระลึกถึงวันแรกที่ได้พบเธอ

            อัมพร เกิดในประเทศไทยเมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว จากมารดาที่เกิดในประเทศไทยและบิดาชาวลาว ตากับยายของเธอเดินทางล่องเรือมาจากหลวงพระบางเมื่อเดือน  ธันวาคม  ๒๔๙๗     หลักฐานชิ้นเดียวของรัฐไทยที่แสดงความมีตัวตนของอัมพร คือ สูติบัตรออกโดยอำเภอเชียงของ ทุกครั้งที่มีการเรียกตรวจบัตรประจำตัวประชาชน เธอก็จะใช้หลักฐานชิ้นนี้แสดง

            อัมพร สมรสกับชายไทยและมีบุตรชาย ๒ คน เธอเคยคิดจะขอสัญชาติไทยตามสามี แต่เกิดเหตุทำให้หย่าร้างกันไปเสียก่อน โดยที่อัมพรเป็นผู้ดูแลบุตรชายทั้งสอง

            วันที่พบอัมพร เธอร่ำไห้เพราะมีเรื่องราวที่แสนเจ็บปวดของบุตรชายคนโต ซึ่งเป็นคนเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี  และมีความประสงค์จะสอบเข้าเรียนในโรงเรียนเตรียมทหาร   แต่ในระเบียบการของสถาบันระบุว่า ผู้สมัครสอบต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยโดยกำเนิด รวมทั้งมีบิดาและมารดาเป็นคนสัญชาติไทยโดยกำเนิดเช่นกัน ในกรณีของอัมพรเธอตกเป็นคนไร้สัญชาติเพราะแม้ว่าตนเองจะเกิดในประเทศไทยและเคยมีสัญชาติไทย แต่มีบิดามารดาเป็นบุคคลที่เกิดนอกไทย จึงถูกถอนสัญชาติตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗  อัมพรเฝ้าแต่โทษตัวเองว่าเป็นเหตุให้ลูกไม่สามารถเข้าเรียนตามที่ใฝ่ฝันได้

            อัมพรเป็นคนขยันขันแข็ง เธอมีอาชีพค้าขายสินค้าจำพวกเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ จึงต้องเดินทางไปโน่นมานี่บ่อย ๆ อัมพรซื้อรถยนต์โดยใช้ชื่อของคนรู้จักที่เป็นคนไทยเพราะเธอไม่มีบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน อีกทั้งยามต้องเดินทางไปต่างจังหวัด เธอใช้วิธีจ้างคนไทยที่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์เป็นผู้ขับให้ ทั้งที่เธอเองก็สามารถขับรถได้

เมื่อมีการเปิดห้องเรียนความรู้กฎหมายสัญชาติและการวิเคราะห์สถานภาพของคนไร้สัญชาติ ที่ศูนย์ฝึกอบรมข้าราชการครูอำเภอเชียงของ จัดโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อัมพรเข้ารับการอบรมและใช้ความรู้ที่ได้รับ ยื่นคำร้องและติดตามเรื่องราวของเธอเองกับปลัดอำเภอเชียงของเป็นเวลานานร่วมปี จนกระทั่งได้สิทธิในการถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนไทยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยซึ่งลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(อาจารย์โภคิน  พลกุล)เรื่องการสั่งให้บุคคลซึ่งถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ และบุตรหลานได้สัญชาติไทย

“สิ่งแรกที่พี่รีบทำ คือ ไปสอบใบขับขี่รถยนต์ จะได้ไม่ต้องให้คนอื่นขับให้อีกแล้ว ตอนนี้ลูกชายทั้งสองคนก็ไม่ต้องอายคนอื่น เพราะแม่ไม่มีบัตรแล้วค่ะ”อัมพรกล่าวในตอนท้ายของการสนทนา

เดือน อุดมพันธ์ เป็นอีกคนหนึ่งที่ยังคงโทรศัพท์ติดต่อดิฉันเป็นระยะ ปัจจุบันเธอเป็นครูอัตราจ้าง อยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย

เรื่องการได้มาซึ่งบัตรประชาชนไทยของเดือน ถูกเผยแพร่ในสื่อหลายแห่ง เธอเป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทย จากบิดามารดาที่เกิดในประเทศไทยและมีหลักฐานเป็นเอกสารชัดเจน เดือนและครอบครัวเป็นคนไทลื้อ อาศัยอยู่ที่บ้านสองพี่น้อง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ถือบัตรสีฟ้า เธอกับน้อง ๆ ยื่นคำร้องขอสัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ เช่นเดียวกับบิดามารดา

ระหว่างที่รอคอยตามกระบวนการและขั้นตอนของกระทรวงมหาดไทย เดือนเริ่มเรียนรู้เรื่องราวของกฎหมายสัญชาติ ตอนที่เธอยังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ ๔ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และหลังจบการศึกษาเธอได้เข้ารับการอบรมความรู้กฎหมายสัญชาติและการวิเคราะห์สถานภาพของคนไร้สัญชาติเช่นเดียวกับอัมพร คำวันดี

เดือนรับรู้ว่า สิทธิของเธอ คือการเป็นคนไทยตั้งแต่เกิด เดือนจึงขอถอนชื่อจากคำร้องขอสัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ และยื่นขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรในฐานะคนไทยโดยกำเนิด ซึ่งทำให้เรื่องราวของเธอล่าช้าออกไปอีก เดือนวิ่งเข้าวิ่งออกที่ว่าการอำเภอเชียงของอยู่นานถึงสองเดือน

วันที่เดือนเดินทางนำบัตรประจำตัวประชาชนไทยที่เพิ่งถ่ายมาหมาด ๆ เข้าร่วมในเวทีของการประชุมคณะอนุกรรมาธิการหามาตรการแก้ไขปัญหาเด็กไร้สัญชาติ   ในคณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชน และผู้สูงอายุ  วุฒิสภา ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย น้ำตาแห่งความปลื้มปิตินองหน้าของเธอ พร้อมคำสัญญาจะช่วยเหลือบุคคลอื่นที่ยังมีปัญหาสัญชาติต่อไป

นางเรียวและนายเผ่ นายมหาวัน เป็นอีกคู่แม่ลูกที่โทรมาขอบคุณดิฉัน เนื่องจากมีส่วนทำให้พวกเขากลับคืนสถานภาพเป็นคนไทยอีกครั้ง

นางเรียว นายมหาวัน เป็นหนึ่งในกรณีผู้ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎรของอำเภอแม่อาย คดีที่เป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญที่คนทำงานด้านความไร้รัฐไร้สัญชาติต้องจดจำ

เรื่องราวของผู้คน ๑,๒๔๓ คน ที่ได้รับการเพิ่มชื่อเป็นคนไทยจากการพิสูจน์ของนายอำเภอแม่อายสองท่าน และถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎรหลังจากนั้น ๒ - ๓ ปีโดยนายอำเภอท่านต่อมา จากชาวบ้านผู้ไม่เคยรับรู้กฎหมายเลย ถูกปัญหานี้ทำให้รวมตัวกันเป็นกลุ่มสิทธิชุมชนแม่อาย ร่วมคิด ร่วมร้อง ร่วมเรียนรู้ จนได้รับความสนใจติดตามจากสื่อมวลชนทุกแขนงจนกระทั่งคดีถึงที่สุด

นางเรียว มารดาผู้ต่อสู้ทุกวิถีทาง เพราะจิตใจของคนเป็นแม่ที่อยากให้บุตรชายคนเดียวของตน คือ นายเผ่ ซึ่งเป็นผู้พิการตาบอดที่มีความสามารถในด้านกีฬาว่ายน้ำ จนได้เป็นตัวแทนคนพิการของประเทศไทยเพื่อไปแข่งขันยังต่างประเทศ แต่ก็หมดสิทธิเพราะทั้งคู่เป็นผู้ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎร

เมื่อครั้งที่คดียังไม่ได้รับการตัดสิน นางเรียวขอร้องให้พยานรู้เห็นการเกิดของตนไปให้ปากคำกับปลัดอำเภอแม่ฟ้าหลวง หนึ่งในพยานเป็นหญิงชราขาขาดทั้งสองข้างด้วยโรคเบาหวาน แม่เฒ่าพูดว่า “ถ้าไม่ใช่ลูกหลานที่เห็นกันมาตั้งแต่เกิด อุ้ยก็คงไม่มาให้หรอก ออกไปไหนแต่ละครั้งมันลำบากมาก”

การเรียกร้องดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง กินเวลาถึงสามปีเศษ และสิ้นสุดโดยคำพิพากษา ของศาลปกครองสูงสุดว่า การถอนชื่อบุคคลดังกล่าวออกจากทะเบียนราษฎรเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายและให้นำรายชื่อทั้งหมดกลับคืนสู่ทะเบียนเช่นเดิม

กรณีตัวอย่างที่น่ายินดีทั้งสาม เป็นเพียงส่วนน้อยนิดของคนอีกนับหมื่นนับแสนที่ยังคงประสบปัญหาการไร้สัญชาติ ไร้ตัวตนบนรัฐไทยแห่งนี้ คำขอบคุณที่พวกเขามอบให้คนทำหน้าที่ช่วยเหลือ เป็นแรงใจให้ยังคงมุ่งมั่นปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง กระนั้นคนทำงานเกี่ยวกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติทุกคน ตระหนักอยู่ในใจเสมอว่า การบรรลุถึงจุดหมายของพวกเขา ล้วนประสบกับความเจ็บปวด การต่อสู้ที่ต้องอดทนพากเพียร การสนับสนุนจากบุคคลอื่นเป็นเพียงกำลังเสริม และมิอาจประสบผลสำเร็จได้ หากขาดพลังหลักที่มาจากความมานะบากบั่นของพวกเขา “คนชายขอบ”

บันทึกไว้เมื่อเมษายน 2549

หมายเลขบันทึก: 479244เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2012 20:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรื่องของคนไร้สัญชาติที่เชียงของนั้น เจ้าของตำนานก็คงเป็นเด็กหญิงแมวนี่ล่ะ ยังมีอะไรที่ไม่ได้บันทึก ก็คงต้องรีบทำก่อนที่จะลืมไปเสียก่อน

สำหรับเรื่องคนไร้สัญชาติที่แม่อายนั้น การบันทึกมีมากพอสมควร เพียงแต่พัฒนาการหลังๆๆ เท่านั้นที่ขาดหายไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท