เข้าโรงเรียน (2) โรงเรียนเทศบาลบ้านหนองใหญ่


เช้าวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 คณะของเราเดินทางไปถึง “โรงเรียนเทศบาลบ้านหนองใหญ่” ก่อนเวลาเข้าแถวเคารพธงชาติ มี อาจารย์จุมพล สวัสดิผล ผู้อำนวยการโรงเรียน พร้อมด้วยรองผู้อำนวยการโรงเรียน มารอต้อนรับและพาเดินเยี่ยมชมบรรยากาศการเรียนรู้ภายในโรงเรียน

โรงเรียนเทศบาลบ้านหนองใหญ่ เป็นโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครขอนแก่น เช่นเดียวกันกับ โรงเรียนเทศบาลบ้านหนองแวง แต่เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 3 และเป็นเครือข่ายที่ร่วมอุดมการณ์เดียวกับโรงเรียนเทศบาลบ้านหนองแวง คือ ได้รับแรงบันดาลใจและตัดสินใจที่จะนำแนวคิดและวิธีการจัดการศึกษาของ “โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา” มาประยุกต์ใช้เพื่อปฏิรูประบบการเรียนการสอนของโรงเรียน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาแล้วเป็นระยะเวลาประมาณ 8 เดือน

เมื่อเราเดินทางไปถึงไม่นานนักก็ได้เวลาเข้าแถวเคารพธงชาติ ซึ่งที่นี่ไม่มีเสียงกริ่งบอกเวลาเข้าแถว และไม่มีการเข้าแถวกลางสนาม เมื่อถึงเวลา เด็ก ๆ ต่างพากันมายืนเข้าแถวอยู่บริเวณหน้าห้องเรียนของตนเองในแต่ละอาคารเรียน มีตัวแทนนักเรียนนำร้องเพลงชาติ สวดมนต์ และกล่าวปฏิญานตน โดยไม่มีเสียงดนตรีอึกทึกครึกโครม มีเพียงเสียงของเด็กๆ ที่ดังกระจายมาจากอาคารต่างๆ ที่ตั้งรายรอบอยู่ในบริเวณโรงเรียน สิ้นสุดเสียงปฏิญาณตนเด็กๆ ก็ทยอยเข้าห้องเรียนไป

คณะของพวกเราแยกย้ายกันไปสังเกตและเรียนรู้กิจกรรมการเรียนการสอนตามห้องเรียนต่างๆ ตามความสนใจ เด็กๆ ที่นี่เริ่มต้นการเรียนรู้ในแต่ละวันด้วยกิจกรรมตามแนว “จิตศึกษา” วันละครึ่งชั่วโมง (แทนชั่วโมงโฮมรูม) เพื่อเตรียมพร้อมให้เด็กๆ สงบ นิ่ง และอยู่ในภาวะพร้อมที่จะเรียนรู้

สภาพในห้องเรียนส่วนใหญ่ โต๊ะ-เก้าอี้ถูกจัดวางไว้ท้ายห้อง เปิดพื้นที่หน้าห้องเป็นลานโล่ง เด็กๆ และครูนั่งล้อมวงกันบนพื้นเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน โดยกิจกรรม “จิตศึกษา” ของแต่ละห้องเรียนมีรูปแบบแตกต่างกันไปเพื่อให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัย เช่น บางห้องใช้กิจกรรมฝึกสมอง นั่งสมาธิ เดินจงกรม วาดภาพ เป็นต้น

ตลอดทางที่เดินเยี่ยมชมกิจกรรมการเรียนรู้บนอาคารเรียน ผู้เขียนเห็นมีการติดแสดงผลงานการทำ mind map ของเด็กนักเรียนทุกระดับชั้นไว้เต็มไปหมด ทั้งในห้องเรียน หน้าห้องเรียน ตามระเบียงอาคารเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกทึ่งมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้เห็น mind map ของเด็กๆ มากมายขนาดนี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความคิดเชื่อมโยงเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ของเด็กๆ แล้ว พวกเขายังออกแบบ ตกแต่ง ระบายสีสันกันอย่างสวยงามด้วยความตั้งใจ

เมื่อเดินไปถึงบริเวณหน้าห้องเรียนชั้นอนุบาล ผู้เขียนได้รับการเชิญชวนให้เข้าร่วมกิจกรรม “มอบความรัก” ในบรรยากาศที่มีเสียงเพลงคลอเบาๆ มีครูและเด็กๆ นั่งล้อมกันเป็นวงกลมขนาดใหญ่ (เด็กอนุบาล 1-3 ทำกิจกรรมนี้ร่วมกัน) เริ่มต้นที่เด็กคนหนึ่งเดินเวียนไปกอดทุกๆ คนที่นั่งอยู่ภายในวงทีละคน เพียงช่วงเวลาไม่กี่นาทีที่ผู้เขียนแทรกตัวเข้าไปร่วมในกิจกรรมนี้ก็มีโอกาสได้กอดเด็กๆ ถึง 20 กว่าคน ด้วยความรู้สึกที่เป็นสุข...คุ้มจนเกินคุ้ม

เสร็จจากกิจกรรมมอบความรัก ผู้เขียนตามเข้าไปสังเกตกิจกรรมของเด็กอนุบาลต่อในห้องเรียนหนึ่ง เด็กๆ นอนล้อมวงกันบนพื้น หันศีรษะเข้าหากัน โดยมีคุณครูนั่งอ่านนิทานให้ฟังด้วยเสียงที่เบามาก และมีเสียงดนตรีคลอเบาๆ ผู้เขียนแอบคิดในใจว่า “เสียงเบาขนาดนี้จะมีใครได้ยินมั้ยเนี่ย”  แต่เมื่อได้นั่งสงบจิตสงบใจอยู่ในห้องนั้นซักระยะหนึ่งก็รู้สึกว่าเสียงเล่านิทานเริ่มดังชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ  ทั้งๆ ที่ระดับเสียงของคุณครูยังคงเดิม พอเล่านิทานจบคุณครูก็ขานชื่อเด็กทีละคนด้วยเสียงที่เบามากเช่นเดิม แต่ว่าเด็กๆ ลุกขึ้นนั่งได้ทันทีที่คุณครูเอ่ยชื่อของตนจนครบทุกคนในวง กิจกรรมนี้ทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้ว่า เมื่อเราอยู่ในภาวะที่พร้อมจะฟัง แม้เสียงของคนที่พูดจะเบาแค่ไหน เราก็สามารถได้ยินอย่างชัดเจน

ปลาทูแม่กลอง

17 กุมภาพันธ์ 2555

หมายเลขบันทึก: 479039เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2012 17:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านบันทึกนี้แล้ว รู้สึกดีจังเลย โดยเฉพาะกิจกรรม "มอบความรัก" และเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพิ่งได้ดูรายการ 10 ปากกาหน้าเลนส์ ของช่อง Thai PBS เป็นหนังสั้นเรื่อง "แม่เภา" เนื้อเรื่องก็พูดถึงการสอนให้คนรู้จักฟัง "ฟังเสียงที่เราเลือกที่จะได้ยิน" ท่ามกลางเสียงอึกทึกมากมาย สอนอะไรๆ เราได้เยอะทีเดียว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท