อย่าหลงไต่บันได คาร์เนกี



           บันได คาร์เนกี (Carnegie Ladder) หมายถึง "ระดับความเป็นเลิศ" ของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา โดยยึดถือเกณฑ์ความเป็นเลิศตามแบบของมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด เป็นต้นแบบ  วัดความสำเร็จที่ความใหญ่ มีตึกเพิ่ม มีหลักสูตรเพิ่ม นักศึกษาเพิ่ม เงินสะสมเพิ่ม มีสนามกีฬาขนาดใหญ่ ทีมกีฬาที่มีชื่อเสียง   Carnegie Ladder เป็นคำเรียกทั่วๆ ไปตาม Carnegie Classification System

          หนังสือ The Innovative University : Changing The DNA of Higher Education บอกเราว่า  บันได คาร์เนกี นี้เหมาะแก่มหาวิทยาลัยวิจัยกลุ่มยอดที่มีอยู่ประมาณ ๒๐๐ แห่งเท่านั้น (ในสหรัฐอเมริกา)   สถาบันอุดมศึกษากลุ่มที่ ๒ และกลุ่มที่ ๓ ไม่ควรไปหลงไต่บันไดนี้   เพราะจะเป็นภาระทางการเงินมากโดยไม่คุ้มค่า 

          อ่านข้อความในหนังสือตอนนี้แล้ว ก็นึกถึงสถานการณ์ในประเทศไทย   ที่มีการหลงยึดถือ “ศักดิ์ศรี” ของมหาวิทยาลัยตามขั้นบันไดดังกล่าว

          หลายปีมาแล้วผมได้ยินอธิการบดีท่านหนึ่งกล่าวในที่สาธารณะ หลังจาก สมศ. กำหนดให้แต่ละมหาวิทยาลัยต้องกำหนดตัวเองว่าอยู่ในกลุ่มใดใน ๔ กลุ่มสถาบันอุดมศึกษา  คือ (๑) สถาบันเพื่อชุมชน  (๒) สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการวิจัย  (๓) เพื่อผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรี  (๔) สถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทาง    ท่านกล่าวว่าจะระบุว่ามหาวิทยาลัยที่ท่านเป็นอธิการบดีอยู่ในกลุ่มที่ ๓ ก็ทำใจไม่ได้ 

          สะท้อนวิธีคิดแบบขั้นบันได ขั้นที่สูงกว่าถือว่าดีกว่า

          หนังสือเล่มที่เอ่ยถึง ระบุชัดเจนว่า Carnegie Ladder เป็นมายา   ใช้ Carnegie Classification System เป็นพันธนาการกำหนดพฤติกรรมของสถาบันอุดมศึกษา ให้เดินตามแนวทางของมหาวิทยาลัยกลุ่ม elite   ที่ไม่ควรถือเป็นแบบอย่างสำหรับสถาบันอุดมศึกษาเพื่อคนส่วนใหญ่ ที่ไม่ใช่ elite

          มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ควรทำหน้าที่ยกระดับชีวิตของคนที่ต้องการ   จากดำรงชีพแบบปากกัดตีนถีบเป็นแรงงานไร้ความรู้ เป็นแรงงานมีความรู้   หรือทำงานแบบไร้ความรู้ เป็นทำงานแบบมีความรู้   ความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ควรอยู่ที่ประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการทำหน้าที่นี้   ไม่ใช่อยู่ที่การวิ่งไล่กวดมหาวิทยาลัยกลุ่ม ฮาร์วาร์ด

          กลับมาที่ประเทศไทย   นิทานเรื่องนี้สอนเราว่า การจัดแบ่งกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา ไม่ใช่ตัวบอกว่ากลุ่มใดดีที่สุด   แต่แบ่งตามการทำหน้าที่ให้แก่สังคม   ในแต่ละกลุ่มจะมีสถาบันที่คุณภาพสูงหรือเป็นเลิศ และมีสถาบันที่คุณภาพต่ำ   สถาบันใดกำหนดกลุ่มของตนเองผิดก็จะกลายเป็นสถาบันที่คุณภาพต่ำ

          ย้ำว่า คุณภาพสูงหรือต่ำอยู่ที่ผลงาน ไม่ใช่อยู่ที่ราคาคุย

          ผลงานต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของนักศึกษาหรือผู้จบการศึกษา มีความสำคัญพอๆ กับผลงานวิจัยสร้างความรู้ใหม่ หรือประยุกต์ใช้ความรู้   ซึ่งหมายความว่าบัณฑิตที่จบออกไปต้องมีความรู้ความสามารถ (competencies) ตรงตามความต้องการของงาน ที่จะเป็นงานที่ตนเองเป็นผู้ประกอบการ หรืองานของนายจ้างก็ได้   สถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งมั่นสร้างความเป็นเลิศด้านนี้และทำได้สำเร็จ ถือว่ามีคุณภาพสูง เป็นยอดของสถาบันอุดมศึกษากลุ่มที่ ๓ ของ สมศ.

          แต่หนังสือ The Innovative University บอกเรามากกว่านั้น  

          เวลานี้ค่าเล่าเรียนระดับอุดมศึกษาสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ และเกินกำลังผู้เรียน   เพราะสถาบันต่างๆ หลงเอาเงินรายได้ไปใช้ไต่บันได คาร์เนกี   และไม่รู้จักใช้เทคโนโลยีที่ช่วยการเรียนรู้ให้บัณฑิตได้ competencies เพื่อการทำงานที่มีรายได้เพิ่มขึ้น   และให้นักศึกษาเรียนได้อย่างยืดหยุ่น สะดวกแก่ผู้เรียน   และมีค่าใช้จ่ายน้อย   นั่นคือการเรียนแบบ online แบบใหม่   ที่ถือเป็น “คลื่นลูกที่สี่” ของอุดมศึกษา

 

วิจารณ์ พานิช
๘ ม.ค. ๕๕

 

 

หมายเลขบันทึก: 476495เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2012 14:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 08:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยกับข้อเขียนของอาจารย์อย่างยิ่งครับ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท