ภควาน ในวรรณคดีสันสกฤต


ในวรรณคดีสันสกฤต มีศัพท์ที่น่าสนใจคำหนึ่ง ที่อยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังเล่นๆ เย็นๆ ใจ นั่นคือคำว่า ภควัต หรือ ภควาน  คำนี้มีปรากฏอยู่ในชื่อวรรณคดีเรื่องหนึ่งด้วย นั่นคือ ภควัทคีตา

เหตุใด ภควัต จึงกลายเป็น ภควัท อดใจรอ แป๊บบบบบ เดียวครับ

 

คำว่า ภควตฺ (ภะ คะ วัต) ในภาษาสันสกฤตนั้น มาจากคำว่า “ภค” แปลว่า โชค ประสมกับคำว่า “วตฺ” แปลว่า ผู้มี, คล้าย  เราอาจนำ วตฺ (หรือจะบอกว่า วนฺตฺ ก็ได้ แล้วแต่จะอธิบาย) ไปเติมท้ายคำอื่นๆ ได้มากมาย เพื่อแปลว่า ผู้มี เช่น ทีป + วตฺ = (ผู้)มีแสงสว่าง,  ธน + วตฺ = (ผู้)มีทรัพย์ คนรวย, ธรฺม + วตฺ = (ผู้)มีศีลธรรม เป็นต้น

กล่าวอย่างกว้างๆ คำว่า ภควตฺ อาจแปลได้ว่า ผู้มีโชค น่ารัก เหมาะสม มีความสุข ฯลฯ

ภควตฺ นี้ เมื่อต้องเปลี่ยนรูปทางไวยากรณ์ อาจเปลี่ยนเสียงท้ายเป็น ภควานฺ  ภควตฺ ภควนฺตํ ภควนฺเตา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอีกศัพท์หนึ่งที่แผลงจาก ภควตฺ นั่นคือ ภควตี เป็นคำนามเพศหญิง มีความหมายเดียวกัน หรือหมายถึงพระนางลักษมีก็ได้

 

คำว่า ภควตฺ นี้มีปรากฏในภาษาสันสกฤตมาช้านาน ตั้งแต่ในคัมภีร์ฤคเวท (ถือเป็นวรรณคดีภาษาสันสกฤตที่เก่าแก่ที่สุด) โดยมีความหมายว่า มีความสุข, เหมาะ, ดี เช่น ข้อความในเล่มที่ 1 และเล่มที่ 10 มีการใช้คำนี้

สูยวสาทฺ ภควตี หิ ภูยา อโถ วยํ ภควนฺตะ สฺยาม

อทฺธิ ตฺฤณมฆฺนฺเยวิศฺวทานีมฺ ปิพ ศุทฺธํ อุทกาจรนฺตี ฯ ฤคเวท. 1-164-40

(เจ้าจงเพลิดเพลินกับทุ่งหญ้าอันสมบูรณ์เถิด และขอเราจงมีทรัพย์ล้นเหลือ

     ดูก่อน แม่โค จงกินหญ้าเถิด ในทุกฤดูกาล และมาดื่มน้ำอันบริสุทธิ์เถิด)

 

     อยํ เม หสฺโต ภควานฺ อยํ เม ภควตฺตระ                

อยํ เม วิศฺวเภษโช อยมฺ ศิวาภิมรฺษนะ ฯ  ฤคเวท. 10-60-12

     (มือของข้านี้เหมาะสม และเหมาะสมยิ่งขึ้น  

มือของข้านี้มียาทั้งปวง ยานี้ทำให้ทุกสิ่งสัมผัสได้นุ่มนวล)

 

อย่างไรก็ตาม ในวรรณคดีสันสกฤตสมัยหลัง ภควตฺ มักใช้หมายถึง บุคคลสำคัญ เช่น พระราชา ฤษี หรือเทพเจ้า ด้วย เช่น บทละครเรื่อง ศกุลตลา เมื่อท้าวทุษยันต์ถึงฤษีกาศยปะ

ภควานฺกาศฺยปะ ศาศฺวเต พฺรหฺมณิ สฺถิต อิติ ปฺรกาศะ.

พระฤษีกาศยปะนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นผู้ยึดมั่นในพระเวทโดยตลอด”

 

ในที่นี้ ภควานฺ เป็นคำใช้นำหน้าชื่อ แสดงถึงความเคารพผู้นั้น อาจแปลว่า ท่าน, พระ หรือ ท่านผู้ประเสริฐ ฯลฯ ก็ได้ ในที่นี้ ภควานฺ และ กาศฺยปะ อยู่ในรูปประธาน เอกพจน์ เช่นเดียวกัน เพราะหมายถึงบุคคลเดียวกัน

วรรณคดีสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ปรากฏคำนี้ในชื่อเรื่องเลยทีเดียว นั่นคือ ภควัทคีตา คำนี้มาจากศัพท์ ภควตฺ  + คีตา (เปลี่ยน ต  เป็น ท (เสียงก้อง) ตามอิทธิพลของเสียง ค (เสียงก้อง) ที่ตามมา) มีความหมายว่า ดนตรีสำหรับพระผู้เป็นเจ้า

 

อนึ่ง คำว่า วตฺ นี้ มีความหมายเหมือนกับ มตฺ (หรือ มนฺตฺ) เช่น ฤทฺธิมตฺ แปลว่า ผู้มีฤทธิ หรือ ศฺรีมตฺ แปลว่า ผู้มีสิริมงคล ผู้ประเสริฐ  และคำว่า ศรีมัต นี้ มีการใช้คล้ายกับคำว่า ภควัต ด้วยความหมายที่คล้ายคลึงกันนั่นเอง คำนี้ บางครั้งก็ใช้ควบคู่กับ ภควัต เช่น ศฺรีมทฺภควตฺ อาจหมายถึง เทพเจ้าสูงสุด ดังตัวอย่าง

ทฺวารกำ หริณา ตฺยกฺตามฺ        สมุทฺโร’ปฺลาวยตฺ กฺษณาตฺ

วรฺชยิตฺวา มหาราชา               ศฺรีมทฺภควทาลยมฺ ฯ ภควัทคีตา.11-31-23

ข้าแต่ มหาราชา เมื่อพระหริได้ละทิ้งเมืองทวารกาแล้ว น้ำท่วมเมืองนั้นทันที เว้นแต่ที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ 

ในคัมภีร์ภควัทคีตานี้ ยังมีศัพท์ ภควตฺ และรูปแผลงอื่นๆ โดยตลอดทั้งเล่ม

 

สรุปสั้นๆ ว่า ภควัต หรือ ภควาน เป็นคำที่มีการใช้มานานเป็นพันๆ ปีมาแล้ว โดยเปลี่ยนความหมายจากสมัยแรกเริ่มที่ปรากฏในฤคเวท ให้มีความสูงส่งมากขึ้น ดังปรากฏในคัมภีร์สมัยหลัง และแม้ในวรรณคดีเพื่อความบันเทิงทั่วไป.

 


 

หมายเหตุ.

ในบทสวดภาษาบาลี ก็มีศัพท์ที่ตรงกัน นั่นคือ ภควโต ที่เราท่านคงคุ้นเคยกันดีจากบทสวดต่อไปนี้

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส.

ขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

โบราณท่านแปล ภควโต ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า และคงใช้สืบต่อๆ กันมา ขณะที่ในหนังสือเก่า เช่น ไตรภูมิพระร่วง มีการใช้คำว่า “พระผู้มีพระภาคย์เจ้า” ดังความใน อสูรกายภูมิ ดังนี้

“ข้าแต่พระพุทธเจ้า ผู้มีเพียร ข้าก็ไหว้พระบาทแห่งพระผู้มีพระภาคย์พระองค์อังพ้นจากกิเลสทั้งปวง...”

มีผู้อธิบายคำว่า ภาค ไว้หลายนัยด้วยกัน ขณะที่คำว่า ภาคย์ ไม่ค่อยเห็นผู้ใดกล่าวถึง แต่คำนี้มีความหมายตรงกับ ภค ในภาษาบาลีและสันสกฤตนั่นเอง ท่านที่สนใจปริบทในพุทธศาสนา มีผู้อธิบายเรื่องนี้โดยละเอียดแล้ว (โปรดอ่าน บล็อกของท่าน BM.chaiwut "ภาค และ ภควา" ที่เคยเล่าไว้นานแล้ว)

 

 

หมายเลขบันทึก: 476274เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2012 22:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณเรื่องราวดี ๆ ที่เอามาลงครับ ในประเทศไทยนี้ หาผู้มีความรู้ด้านสันสกฤตน้อยเต็มทีนับคนได้ เท่าที่มีก็ไม่ค่อยเขียนบทความ (ฟรี ) มาให้อ่านกันในโลกออนไลน์ ต้องซื้อหนังสือมาอ่าน ผมเป็นคนที่ชอบอินเดีย เขมร ชวาครับ อ่านเรื่องพวกนี้ก็ไม่พ้นจารึกสันสกฤต ซื้งไม่ค่อยแปรไทย ภาษาอังกฤษผมก็ไม่ประสา

เป็นกำลังใจให้เขียนเรื่องสันสฤตเยอะน ๆ นะครับ

ขอบคุณครับ อ.นุ ที่แวะมาอ่านและมอบดอกไม้ ;)

สวัสดีครับ คุณวาทิน ศานติ์ สันติ

ผู้รู้ภาษาสันสกฤตในบ้านเราอันที่จริงก็ไม่้น้อยครับ แต่ส่วนมากไม่ค่อยจะได้เขียนไว้ หรือเขียนไว้แต่ไม่แพร่หลาย

รู้สึกอาจารย์ท่านหนึ่งแปลจารึกสันสกฤตไว้ แต่ยังหาที่พิมพ์ไม่ได้...

บางท่านก็พิมพ์หนังสือไว้พอสมควร แต่เผยแพร่ในแวดวงจำกัด เพราะคนอ่านคงจะมีน้อยพอๆ กับคนเขียน ;)

ขอบคุณนะครับที่ให้กำลังใจ ช่วงไหนสะดวก ผมก็จะมาเขียนถี่หน่อย

บางครั้งก็เว้นไปหลายเดือนก็มีครับ.

กราบสวัสดีท่านอาจารย์คะ ...

นับเป็นโชคดีของดิฉันจริงๆที่ได้พบกับเวปไซด์อันมีประโยชน์ในทางภาษาศาสตร์เช่นนี้

ส่วนตัวแล้วเป็นคนที่สนใจในภาษาสันสกฤตมากๆ เลยอยากที่จะศึกษาเอาไว้

ส่วนหนึ่งจะเอาไปใช้กับการสวดมนต์ จะได้ออกเสียงถูก

แต่ก็นะค่ะ อุปสรรคในการศึกษาของดิฉันนั้นมีมากมายหลายทาง

ทั้งกับงานประจำที่เยอะจนไม่ค่อยจะมีเวลา แต่ก็พยายามหาเวลาว่างที่เหลือมานั่งอ่านหาความรู้

ล่าสุดนี่เพิ่งจะไปโหลด E-BOOK ที่เป็นภาษาอังกฤษสอนภาษาสันสกฤต

มีแบบที่เป็นตัวอักษรเทวนาครีด้วย

แต่ปรากฎว่าอ่านไปอ่านมาเองแล้วไม่เข้าใจคะ เหมือนยิ่งอ่านยิ่งโง่ อิอิ

ใจหนึ่งเลยรู้สึกว่าเราน่าจะหาที่เรียนเป็นจริงเป็นจังได้ละ ไม่อยากมานั่งงมโข่งอยู่แบบนี้

เลยอยากจะมาขอคำแนะนำจากท่านอาจารย์สำหรับผู้เริ่มต้น แบบที่ไม่รู้อะไรเลยจริงๆ

ว่าควรจะเริ่มอย่างไรคะ จากหนังสือ จากอาจารย์ผู้สอน

นี่ก็ไม่ทราบว่าที่ไหนเขารับสอนเป็นเรื่องเป็นราวหรือนอกรอบมั้งนะคะ

เคยได้ยินว่ามีที่ศูนย์สันสกฤตแต่ก็ยังมิมีเวลาได้เข้าไปสักทีคะ

หวังว่าคงจะไม่รบกวนท่านอาจารย์มากเกินไปนะค่ะสำหรับคำแนะนำ

และใจจริงก็อยากให้อาจารย์มาเขียนบทความที่เป็นความรู้ เป็นประโยชน์แบบนี้บ่อยๆคะ

เผื่อจะได้เป็นประโยชน์กับผู้ที่มีความสนใจเหมือนกัน

ภาษาสันสกฤตในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสิ่อการเรียนการสอน หรือแม้กระทั่งตำราจะได้มีมากขึ้นกว่าเดิมนะ

เพราะทุกวันนี้เหมือนดูริบหรี่ๆลงไปทุกที ผิดกับกระแสภาษาเกาหลี ญุี่ปุ่นที่กลับได้รับความนิยมตามเทรนมากขึ้นทุกวันนะคะ

ก่อนหน้านี้ดิฉันก็อยากจะได้พจจนานุกรมภาษาสันสกฤษ - อังกฤษ หายังไม่ค่อยจะมีเลยคะ

ทุกวันนี้ก็อาศัยดูในอินเตอร์เนตเอา ที่รู้เรื่องก็พอจะเป็นคำๆไป

แต่พอมาเป็นประโยค ซึ่งดิฉันไม่มีความรู้ด้าน Grammar ก็เกิดอาการมึนตึ้บคะ อิอิ

สุดท้ายนี้ขอองค์พระวิญญาณแห่งพระเวท ผู้ซึ่งมีโหราศาสตร์เป็นพระเนตร

ยัญญกรรมทั้งหลายเป็นพระหัตถ์ นิรุกติศาสตร์เป็นพระกรรณ

สัทศาสตร์เป็นพระนาสิก ไวยากรณ์ศาสตร์เป็นพระพักตร์

ขอพระพรแห่งพระสรัสวตีพระเป็นเจ้าของดิฉันจงสถิตอยู่กับท่านอาจารย์นะค่ะ

กราบสวัสดีคะ ..

http://haripurush-jagadbandhu.org/devi-saraswati/10-pics/saraswati2.jpg

ขออนุญาติถามต่ออีกสักนิดนะค่ะ หวังว่าจะไม่รบกวนอาจารย์มากเกินไป

คืออยากจะทราบว่าในภาษาสันสกฤตนั้นมีการเรียงประโยคเหมือนกับในภาษาอังกฤษไหมนะค่ะ

เช่น Adj + n . แบบนี้ คือว่าดิฉันไปสะดุดกับคำนี้คะ ...

वक्रतुण्ड

वक्र วักระ อันนี้แปลว่า curved ใช่ไหมค่ะ เป็น adj หรือเปล่าเอ่ย

เพราะเห็นมันนำหน้าคำว่า तुण्ड ตุณฑะ แปลว่าผู้มีงวงอันคดโค้ง

ที่งงก็เพราะเห็น วักระเป็นทั้งคำนาม และวักระตะ ที่เป็นคำนามเพศหญิง เลย งงๆคะ

ภาษาสันสกฤตหนึ่งคำมีหลายความหมาย เราจะมีวิธีเลือกใช้ความหมายนั้นอย่างไรคะ

สวัสดีครับ คุณ บรมอีศวร

ต้องขออภัยที่ตอบช้านะครับ

1. พจนานุกรมสันสกฤต-อังกฤษ มีหลายเล่ม

สั่งซื้อจากศูนย์หนังสือใหญ่ๆ น่าจะได้นะครับ

แต่ใช้ online ก็สะดวกดี ที่เขียนมา แสดงว่าำอ่านเทวนาครีได้แล้ว

ลองหาโหลดเป็น pdf ไว้เลยก็ได้ครับ เข้าไปที่ archive.org มีหลายเล่มที่เดียว

หรือจะไปที่ http://books.google.com/ ก็ได้

ถ้าไม่เจอ ไปที่ http://www.sanskrit-lexicon.uni-koeln.de มีทั้งอังกฤษ - สันสกฤต, สันสกฤต - อังกฤษ

สันสกฤต - เยอรมัน ทั้งแบบออนไลน์ แบบ pdf,

อ้อ สันสกฤต - ฝรั่งเศส ที่ http://sanskrit.inria.fr/DICO/index.html

ปัจจุบันมีสื่ออิเล็กทรอนิกส์สำหรับเรียนภาษาสันสกฤตเป็นจำนวนมากครับ

2. การเรียนสันสกฤตนั้น อยากให้ลองแคะๆ เกาๆ ดู

แล้วมาสอบถามผมเป็นข้อๆ ก็ได้ครับ เริ่มจาก Sanskrit Primer เล่มนี้ลำดับความเหมาะกับการเรียนครับ

เล่มอื่น จะเป็นตำรารวมไวยากรณ์ ไม่ได้ลำดับจากง่ายไปยาก อ่านได้ไม่กี่หน้าก็ต้องวาง

3. สำหรับคำ वक्रतुण्ड (วกฺรตุณฺฑ) เข้าใจถูกแล้วครับ วกฺร แปลว่า โค้ง,งอ มาจากรากศัพท์ (ธาตุ) วกฺ ที่แปลว่ากริยา โค้ง

ตุณฺฑ แปลว่า ปาก, งวง การเรียงคำในภาษาสันสกฤตนั้น มีทั้งต่าง และเหมือน กับภาษาอังกฤษ แต่ "ส่วนใหญ่"แล้ว ในคำประสม (สมาส - compound) ความหมายหลักจะอยู่ข้างหลัง คำขยายอยู่ข้างหน้า

4. คำสันสกฤต(และบาลี) นั้น นามกับคุณศัพท์ถือว่าเหมือนกัน ไม่แยกกันก็ว่าได้ เพราะคำในกลุ่มนี้ใช้ขยายคำอื่นได้

และใช้เป็นนาม แจกเพศ พจน์ และการก ได้ครับ เมื่อไหร่ทำหน้าที่ขยาย ก็ว่าเป็นคุณศัพท์ (วิเศษณะ) เมื่อไหร่แจกวิภักติ์นาม

ก็ถือเป็นคำนาม

5. คำสันสกฤตมีมากมายหลายความหมายจริงๆ เพราะฉะนั้นต้องหัดอ่านจากง่ายไปยาก เราจึงจะทราบภูมิหลังครับ

ไม่อย่างนั้น กำหนดเป้าหมายเอาไว้ ไม่นานก็เก่งครับ ;) เอาในช่วยครับ

ขอขอบพระคุณที่อำนวยพร และขอมอบพรนี้แด่คุณบรมอีศวร เช่นกันครับ

มีข้อสงสัยอื่นๆ ก็สอบถามได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท