๒๔๒.พุทธศาสนาเชิงรุกด้านการเผยแผ่


 

     จากภารกิจทั้ง 6 ด้านของคณะสงฆ์ จะเห็นว่าภารกิจด้านที่  3, 4 และ 6 อันได้แก่งานด้านการศึกษาสงเคราะห์, งานด้านการเผยแผ่  และงานด้านการสาธารณสงเคราะห์ คืองานของพุทธศาสนาเชิงรุก ซึ่งจะขออธิบายงานทั้ง  3  ด้านใหม่ ดังต่อไปนี้

ด้านการเผยแผ่

     การเผยแผ่พุทธศาสนาในระยะหลัง ๆ มักจะเป็นการเผยแผ่โดยอาศัยโอกาสคือวันสำคัญทางพุทธศาสนา และประเพณีประจำปีของวัดเท่านั้น ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ถูกมองว่าเป็นพุทธศาสนาเชิงรับมากกว่าพุทธศาสนาเชิงรุก การเผยแผ่มักจะถูกตีความอยู่ในวงแคบ ๆ ไม่กว้างไกลอย่างที่เคยเป็นมา คือนิยามเพียงแค่การแสดงธรรมเทศนาในโอกาสสำคัญ ๆ เท่านั้น ซึ่งโดยมากมักจะถูกร้องขอให้ทำการเผยแผ่

     การกระทำดังกล่าวไม่สอดคล้องกับยุคสมัย สังคมที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทยในยุคโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เต็มไปด้วยข่าวสารทางสื่อต่าง ๆ มากมาย ทำให้พุทธศาสนาถูกเบียดตกจากลู่ทางแห่งการใช้สื่อในการเผยแผ่อย่างน่าเสียดาย จนก่อให้เกิดการสื่อสารกันไม่รู้เรื่องระหว่างพระกับประชาชน โดยพูดกันคนละภาษา ดังนั้นวิธีการการเผยแผ่เดิม ๆ ที่พระสงฆ์ทำกันมานั้นไม่ได้ผลเท่าที่ควร จนนักเผยแผ่ทางพุทธศาสนาที่รู้เท่าทันหลายกลุ่มลุกขึ้นมาปลุกกระแสพุทธศาสนาเชิงรุก โดยออกมาช่วยกันชี้นำสังคมในระดับต่าง ๆ กัน

     องค์กรที่เด่นชัดในเรื่องนี้คือสมาคมแห่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนา (Society  for  the  promotion  of  Buddhism. 1997 : 28) ซึ่งตั้งขึ้นในประเทศญี่ปุ่นทำงานในเรื่องนี้มานาน  ได้ให้ทัศนะไว้ว่า ความจำเป็นในการนำพุทธศาสนาเชิงรุกออกสู่สาธารณชนก็เนื่องมาจากพระพุทธเจ้าทรงมีเจตนาดีต่อประชาชน  ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า  “ความทุกข์ของประชาชนคือความทุกข์ของเรา  ความสุขของประชาชนคือความสุขของเรา”

     นั้นก็หมายความว่าประชาชนก็คือพุทธศาสนา  พุทธศาสนาก็คือประชาชน ดังนั้นจึงแยกออกจากกันไม่ได้ ประชาชนมีความทุกข์พุทธศาสนาก็มีปัญหา ประชาชนสุขพุทธศาสนาก็เจริญด้วย โดยอาศัยเหตุนี้ สมาคมดังกล่าวจึงได้จัดพิมพ์หนังสือชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า ( The  Teaching  of  Buddha ) ออกเผยแผ่ตามโรงแรมชั้นนำของทั่วโลก ราวกับว่าเป็นหนังสืออ่านเล่นประจำห้องนอน อันเป็นการทำพุทธศาสนาเชิงรุกในอีกแง่มุมหนึ่งอย่างน่าสนใจยิ่ง

     พระธรรมโกศาจารย์-ประยูร  ธมฺมจิตฺโต (2548 : 1-15)    ได้กำหนดพุทธศาสนาเชิงรุกใน  2  ลักษณะคือ การศึกษาสงเคราะห์ และการสาธารณสงเคราะห์  คือการทำพุทธศาสนาเชิงรุกด้วยการสงเคราะห์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อนำบุคคลเข้าหาธรรม มากกว่าจะนำตัวธรรมเข้าหาคน โดยอธิบายเพิ่มเติมไว้ว่าประการที่  1  ต้องสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก โดยมีกิจกรรมที่มีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง เช่น การประชุมผู้นำทางพุทธศาสนาเนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา การจัดตั้งสมาคมมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา เป็นต้น ประการที่  2  องค์กรพุทธศาสนาต้องรุกเข้าไปในสถาบันการศึกษา เช่น ทำค่ายพุทธบุตร  เข้าไปจัดทำหลักสูตรวิชาพุทธศาสนา เข้าไปสร้างสรรค์สื่อหรือวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอนวิชาพุทธศาสนา ส่งครูพระสอนศีลธรรมจำนวนสองหมื่นรูปไปสอนตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เป็นต้น

     นอกจากนี้ พระธรรมโกศาจารย์  (www.vimokkhadhamma.com.2552) ยังได้ให้ทัศนะต่อบุคลากรทางศาสนาที่ทำการเผยแผ่พุทธศาสนาเชิงรุกในต่างประเทศอีกว่า พระนักผู้เผยแผ่หรือพระธรรมทูตที่มีความรู้ความสามารถแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ก็เพราะปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ พระนักเผยแผ่บางรูปสามารถบรรยาย และทำการสอนดี แต่ไม่สามารถครองใจคน จึงไม่ประสบความสำเร็จ  ดังนั้นพระต้องทำงานอย่างมืออาชีพโดยทำการวิเคราะห์ มีการวางแผนก่อนลงมือปฏิบัติการจริง ศัพท์สมัยปัจจุบันที่เรียกว่า  SWOT  Analysis  คือการวิเคราะห์สถานการณ์ใน  4   ด้านซึ่งได้ยกตัวอย่างไว้อย่างน่าสนใจยิ่งว่า

     จุดแข็ง  (Strength)  เช่น  ความเข้มแข็งของชุมชนไทยในต่างแดนมีมาก  การบริจาคทรัพย์  การชอบเข้าวัดของคนไทย ฯลฯ จึงเป็นจุดแข็งของการเผยแผ่พุทธศาสนาอย่างมาก

     จุดอ่อน  (Weakness)  เช่น  ภาษาที่อ่อนด้อย  ไม่มีการบริหารจัดการที่ดี ฯลฯ จะต้องเร่งปรับปรุงแก้ไขเพื่อพลิกให้เป็นจุดแข็งให้ได้

     โอกาส  (Opportunity)  เช่น  คนอังกฤษ เป็นคนอนุรักษ์นิยม ชอบเรื่องศาสนา, คนอเมริกันชอบลองของใหม่, คนศรัทธาพระในเมืองไทยมีจำนวนมหาศาล  มีโอกาสมหาศาล นี้คือทุนทางสังคมของคนไทย

     สิ่งคุกคาม  (Threat)  เช่น  คนบวชน้อยลง  รุ่นลูกไม่ยอมเข้าวัด ฯลฯ พระนักเผยแผ่ต้องปรับท่าที่อย่างไรให้เหมาะสม

     นอกจากนี้ยังได้เสนอวิธีการเผยแผ่อีกว่า พระนักเผยแผ่ต้องรู้เขารู้เรา   มีการเล่าเรื่องประกอบเป็นบุคลาธิษฐาน  ผู้บรรยายต้องมีฐานความคิดที่ดี  มีอุปกรณ์เสริม เช่น ภาพหนึ่งภาพมีค่าเท่ากับคำพูดหนึ่งพันคำ  ที่สำคัญต้องมีทฤษฎีสี่  ส.  คือ สัททัสสนา (แจ่มแจ้ง)  สมาทปนา  (จูงใจ)  สมุเตชนา  (แกล้วกล้า)  สัมปหังสนา  (ร่าเริง) นอกจากนั้นแล้วยังจำเป็นที่จะต้องสร้างเครือข่าย (Network)  ในการทำงานด้านการเผยแผ่ ทั้งนี้เพราะทุกคนมีจุดอ่อนด้วยกัน  จึงต้องหาคนที่มีจุดแข็งตรงกับจุดอ่อน มาช่วยสนับสนุน จะช่วยแก้จุดบกพร่องดังกล่าวได้ 

     ส่วนพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี   (www.Kalyanamitra.org/board/index.2551) ได้ให้ความหมายของ “พุทธศาสนาเชิงรุก” ด้านการเผยแผ่เอาไว้ว่าการเป็น  Active  Buddhism  ได้นั้นพระนักเผยแผ่ต้องพยายามปรับภาพลักษณ์ตัวเองใหม่โดยต้องเป็น  Active  Buddhist  Missionary  หรือเรียกลักษณะดังกล่าวว่าท่าทีใหม่แห่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และใช้คำว่า  “พุทธก้าวหน้า  พระก้าวนำ”  โดยขยายความคิดดังกล่าวว่าพระนักเผยแผ่ไม่ควรอยู่แต่ในวัดเพื่อรอรับโอกาสจากประชาชนอย่างเดียว แต่ต้องก้าวออกไปข้างนอกเมื่อมีโอกาสและเรียกรูปแบบดังกล่าวนี้ว่าธรรมะอินเทรนด์ ธรรมะแนวนี้สาระสำคัญอยู่ที่การทำให้เกิดการเข้าใจง่าย โดยมีกระบวนการเผยแผ่ธรรมะที่มีทักษะของพระธรรมทูต  โดยเน้น  2  วิธี คือ

      วิธีที่หนึ่ง  การทลายกำแพงแห่งภาษา หมายความว่าภาษาที่พระนักเผยแผ่ใช้เป็นกำแพงที่ปิดกั้นระหว่างผู้สื่อกับผู้รับฟัง ดังนั้นการทำลายกำแพงแห่งภาษาจึงต้องประยุกต์ให้ภาษาที่ประชาชนสามารถเข้าใจได้ง่าย ๆ

     วิธีที่สอง  ปรับเปลี่ยนกำแพงท่าที  พระสงฆ์ที่ทำการเผยแผ่แต่เดิมนั้นจะแสดงธรรมก็ต่อเมื่อได้รับการอาราธนาจากประชาชน  และบริบทในการนำเสนอธรรมะส่วนมากจะเป็นวัด ซึ่งเป็นการแสดงธรรมด้วยอารามิกโวหารคือใช้ภาษารู้กันเฉพาะวงการพุทธศาสนาเท่านั้น  การจะมาเผยแผ่ธรรมะในเชิงรับแบบเดียวไม่ได้แล้ว  จำเป็นต้องมีพุทธศาสนาเชิงรุก

     นอกจากนี้แล้วพระมหาวุฒิชัย  วชิรเมธี ยังมองว่า พุทธศาสนาต้องถูกนำไปเป็นเครื่องมือในการพัฒนา  ไม่ใช่ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการจับผิดคน  จึงทำให้เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง  น่าเบื่อ   เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวได้นำเสนอธรรมะผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่โดยใช้คำที่ทันสมัยว่า “ธรรโมโลยี” (www.Kammatan.com/board/index.2552) โดยคิดจะนำ  ธรรมะฉบับ เอสเอ็มเอส  มาใช้หรือที่เรียกว่า ธรรมโมบาย อันเป็นรูปแบบใหม่แห่งนวัตกรรมการสื่อสารด้วยการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ยังสร้างวัดป่าชานเมืองโดยบูรณาการผสมผสานระหว่างวัดบ้าน  ที่เน้นภารกิจหลักด้านการศึกษา  การเผยแผ่  การผลิตสื่อการสอนธรรมะ  และวัดป่าที่เน้นความร่มรื่นด้วยพฤกษชาตินานาพันธุ์  สายน้ำ  ฟังธรรมในโบสถ์ธรรมชาติอิงรูปแบบของสวนโมกขพลารามและสถานที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน  เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อความเป็นอุทยานธรรมะ  สวนธรรมที่ร่มรื่น และรีสอร์ททางจิตวิญญาณของคนร่วมสมัย (Spiritual  Resort) (ความทุกข์มาโปรด  ความสุขโปรยปราย, 2553 : 15)

     ดังนั้น การเผยแผ่พุทธศาสนาเชิงรุกนี้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน ตรงตัว แม้ว่าประชาชนจะอยู่มุมไหนของโลกก็สามารถรับรู้ธรรมะดี ๆ ได้อย่างทั่วถึง  นับว่าเป็นการนำเอาเทคโนโลยีร่วมสมัยทางการสื่อสารมารับใช้ธรรมะอย่างน่าสนใจยิ่ง

     ส่วน ประเวศ  วะสี (www.202.28.52.4/article/article_file/buddhism_Strategy.2551)  ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องการเผยแผ่และการทำงานของพระสงฆ์ในปัจจุบัน ภายใต้หัวข้อ  “ยุทธศาสตร์การวิจัยทางพระพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาสังคม”  ว่า การที่พระสงฆ์ได้พยายามคิดทำงานวิจัย  จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อพุทธศาสนาเชิงรุก  เพราะจะทำให้พุทธศาสนามีพลังที่จะขับเคลื่อนต่อไป ปัจจุบันสถานการณ์ของโลกเป็นโอกาสของพุทธศาสนาที่จะทำงานเชิงรุกมากขึ้น  โดยเฉพาะแนวคิดที่จับยุทธศาสตร์การขจัดทุกข์ เป็นยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน  ส่วนชาติตะวันตกไปจับยุทธศาสตร์การสร้างสุข  เพราะสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ผลพวงที่ต่างกันมาก  การขจัดทุกข์นำไปสู่ปัญญา  ส่วนการสร้างความสุขนำไปสู่ความโลภ  การแย่งชิง  การทอดทิ้งกันและการอยู่ร่วมกัน  ทำให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้าง  พระนักเผยแผ่ต้องสนใจโครงสร้างตรงนี้

     ดังนั้น หัวใจสำคัญคือส่งเสริมให้พระสงฆ์ทำงานด้านการวิจัยทางพุทธศาสนาเพื่อการพัฒนาสังคม อันจะเป็นอาวุธชนิดหนึ่งที่ผลักดันให้พุทธศาสนาเชิงรุก โดยมีพระรุ่นใหม่ก้าวหน้าโดยอาศัยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์สังคมที่ชื่อว่าวิจัย

                นอกจากนี้แล้ว ประเทศไทยยังมีพระนักเผยแผ่ที่สามารถส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยเริ่มจากสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรํสี) ที่ใช้เทคนิคการเผยแผ่เชิงรุกด้วยเทศนาโวหารเข้าหาคนทั้งในระดับสูงและระดับล่าง กล่าวคือระบบบนได้แก่คนชั้นสูงในสังคมไทยสมัยนั้น เช่น ราชวงศ์ และขุนนางชั้นผู้ใหญ่  ส่วนระดับล่างได้แก่ประชาชนทั่วไป  รุ่นต่อมามีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่ทรงทำงานพุทธศาสนาเชิงรุกด้วยการจัดทำหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี-โท-เอก รุ่นต่อมาพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) และพระพรหมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) สองสหายธรรมได้ร่วมกันทำพุทธศาสนาเชิงรุกด้านการเผยแผ่อันเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจยิ่งในยุคสมัย รุ่นต่อมาพระราชธรรมนิเทศ (พะยอม กลฺลยาโณ) ก็ใช้แนวคิดเดียวกัน ปัจจุบันก็มีพระมหาวุฒิชัย  วชิรเมธี พระมหาสมปอง  ตาลปุตฺโต และพระภิกษุนักเผยแผ่อีกจำนวนมาก(ที่ไม่ได้นำมากล่าวไว้ตรงนี้)ที่ได้ขับเคลื่อนพุทธศาสนากระจายตามจังหวัด (อำเภอ ตำบล)ต่าง ๆ ของประเทศ

 

หมายเลขบันทึก: 475379เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2012 09:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท