๒๔๐.การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพุทธศาสนาเชิงรุก


นับเป็นสุดยอดทางยุทธศาสตร์การเผยแผ่พุทธศาสนาเชิงรุกของพุทธศาสนาในยุคต้นพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าทรงได้บุคคลเหล่านี้เข้ามายอมรับนับถือพุทธศาสนาแล้ว ย่อมเป็นพลังผลักดันให้คนในระดับล่างเข้ามาสนใจศึกษาและมีส่วนร่วมต่อพุทธศาสนาตามกระแสหลัก ดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

 

     เมื่อพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง พุทธบริษัท 4 คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและอุบาสิกา ได้เข้ามามีส่วนร่วมต่อพุทธศาสนาเชิงรุกเป็นจำนวนมาก เป็นที่น่าสังเกตว่าเพศชายเข้ามามีส่วนร่วมต่อพุทธศาสนาเชิงรุกมากกว่าเพศหญิง จากการรวบรวมชีวประวัติแห่งการบรรลุธรรม 75 อุบาสก พุทธสาวกอดีตชาติของพุทธสาวกในสมัยพุทธกาล (ธรรมสภา 2551 : คำอนุโมทนา) พบว่าพระภิกษุที่เป็นพระอรหันต์จำนวน 80 รูป ขณะที่ภิกษุณีอรหันต์มีจำนวน 40 รูป  ประชาชนฝ่ายอุบาสกมีจำนวน 75 คน ขณะที่ประชาชนฝ่ายอุบาสิกาจำนวน 46  คน เป็นต้น นั้นก็หมายความว่าเพศชายมีส่วนร่วมต่อพุทธศาสนาเชิงรุกมากกว่าเพศหญิง อันอาจหมายถึงเพศชายมีความคล่องตัวมากกว่าในการเดินทางไปมา การอยู่ในสถานที่สงัดมากกว่าเพศหญิง

     นอกจากนี้แล้วในยุคหลังพุทธกาล แม้พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานไปนานแล้วก็ตาม แต่มีพุทธบริษัท  4  โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุบาสกอุบาสิกาได้เข้ามามีต่อพุทธศาสนาเชิงรุกอย่างมาก ผู้ที่มีผลงานโดดเด่นในยุคต่อมาคือพระเจ้าอชาตศัตรู ซึ่งทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงราชคฤห์  ผลงานที่เด่น ๆ ของพระองค์คือทรงรับเป็นผู้อุปถัมภ์การทำสังคายนาครั้งที่  1  ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปเพียง  3   เดือน  ทำให้พระมหากัสสปเถระเข้ามาเป็นประธาน  โดยมีพระอุบาลีเถระเป็นผู้ตอบพระวินัย และพระอานนท์เถระเป็นผู้ตอบพระธรรม  ณ  ถ้ำสัตตบรรณ  โดยมีสาเหตุมาจากหลังพุทธปรินิพพาน การคณะสงฆ์ก็ขาดความเป็นเอกภาพ ไร้ผู้นำทางจิตวิญญาณ ต่างฝ่ายก็ต่างถือทิฐิและมีความเห็นที่แตกต่างกัน ส่วนพระมหากัสสปเถระก็ไม่สามารถเป็นผู้นำที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้

     ต่อมามีอุบาสกอย่างพระเจ้าอโศกมหาราช  ได้เป็นอัครศาสนูปถัมภ์  พระองค์ทรงมีอุปการคุณอย่างยิ่งใหญ่ต่อพระพุทธศาสนา ในฐานนะพระองค์ได้เข้ามามีส่วนร่วมต่อพระพุทธศาสนาเชิงรุกจนทำให้พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอย่างไร้ขีดจำกัด และที่สำคัญได้จุดประกายพุทธศาสนาให้เกิดขึ้นในแดนสุวรรณภูมิอันมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย

     พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพินทุสารและพระนางศิริธัมมา  เมื่อทรงเจริญวัยแล้วพระราชบิดาทรงแต่งตั้งให้เป็นอุปราชครองแคว้นอวันตี  มีกรุงอุชเชนนี้เป็นเมืองหลวง พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ทรงเป็นผู้มีชัยชนะธรรมาวุธ   เมื่อทรงสดับเรื่องอัปปมาทธรรม  (ความไม่ประมาทในธรรม)  จากสามเณรชื่อว่านิโครธก็ทรงเลื่อมใสศรัทธา จนพระองค์ทรงสร้งวัดและพระเจดีย์  และทรงถวายมหาทานอย่างยิ่งใหญ่ทั้งหมดที่อโศการามมหาวิหาร ทรงทราบว่าคำสั่งสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงมีมากถึง  84,000  พระธรรมขันธ์  จึงดำริจะบูชาพระธรรมด้วยการสร้างวิหารเจดีย์ไว้ในนครต่าง ๆ ให้ครบจำนวน  84,000  พระธรรมขันธ์ จำนวน  84,000  แห่งทั่วชมพูทวีป

     พระเจ้าอโศกมหาราช (พระธรรมปิฎก  ป.อ. ปยุตฺโต  2544 : 7-10) ทรงสร้างมหาวิหารในปาตลีบุตรชื่ออโศการาม  ทั้งนี้ทรงมอบภารกิจในการดำเนินการก่อสร้างให้กับพระอินทคุตตเถระ โดยใช้เวลา  3  ปีและทรงเป็นธุระในการทรงจัดหาพระบรมสารีริกธาตุของพระบรมศาสดาไปบรรจุตามวิหารและพระเจดีย์ต่าง ๆ เมื่อคราวที่จะสมโภชทรงโปรดให้ประชาชนทั้งหมด  สมาทานศีล  8  นับว่าเป็นการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาด้วยปัจจัยของทายกที่ยิ่งใหญ่ที่สุด  และที่สำคัญทรงโปรดให้พระราชโอรสคือพระมหินท์และพระราชธิดาคือพระนางสังฆมิตตาผนวชในพระพุทธศาสนา  ต่อมาได้เป็นพระธรรมทูตที่เป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระพุทธศาสนา  หลังจากผนวชแล้ว  พระมหินท์เถระ  ได้ศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ในสำนักของพระอุปัชฌาย์คือพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ  ได้เรียนเถรวาททั้งหมดพร้อมทั้งอรรถกถาจบภายใน  3  พรรษาได้เป็นปาโมกข์ (หัวหน้า)  ของภิกษุประมาณ  1,000  รูป

      พระเจ้าอโศกทรงตั้งเภสัชนิธิถวายสงฆ์  ทรงรับสั่งให้สร้างถังน้ำขนาดใหญ่ไว้ทีประตูนครทั้ง  4  ทิศบรรจุเภสัชอันเป็นโอสถตามพระวินัยทีทรงบัญญัติให้เต็มเพื่อถวายแก่สงฆ์ผู้เดินทางมาจากทิศทั้งสี่เวลานั้นมหาชนนำเครื่องบรรณาการมาถวายแก่พระนิโครธเถระวันละ  1  แสนพระเจ้าอโศกทรงถวายแก่พระสงฆ์ทุกวันวันละ  5  แสนทรงบูชาพุทธเจดีย์วันละ  1  แสน  ทรงบูชาพระธรรมวันละ  1  แสน  เพื่อประโยชน์  4  ของภิกษุผู้พหูสูตวันละ  1  แสน เพื่อประโยชน์แก่เภสัชของภิกษุผู้อาพาธ  1  แสน  ลาภและสักการะจึงเกิดขึ้นจำนวนมากในพระศาสนา

     พระเจ้าอโศกได้ให้ความอุปถัมภ์โดยทรงจัดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่  3  ขึ้นในปี  พ.ศ. 236  ณ  วัดอโศการาม  นครปาฏลีบุตร  แคว้นมคธ  (ปัจจุบันคือ  เมืองปัตนะ  เมืองหลวงของรัฐพิหาร)  ทรงอาราธนาพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธาน  พระองค์ทรงครองราชย์สมบัติอยู่  37  ปีในตอนปลายรัชกาล มหาชนต่างขนานนามพระองค์ว่า  พระเจ้าธรรมาโศกราช 

     การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพุทธศาสนาเชิงรุกของมหาอุบาสกอย่างพระเจ้าอโศกมหาราช  ที่ทรงอุปถัมภ์การทำสังคายนาครั้งที่  3  การทำสังคายนาครั้งนี้พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธาน  และพระองค์ทรงมีแนวคิดในการส่งพระธรรมทูตไปประกาศพระศาสนา เพื่อประดิษฐานพระพุทธศาสนาในนานาอารยประเทศ  โดยคัดเลือกพระภิกษุสงฆ์ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์เป็นหัวหน้าสมณทูตเพื่อออกประกาศพุทธศาสนาให้มีรัศมีครอบคลุมชมพูทวีปเท่าที่จะสามารถกระทำได้แห่งยุคสมัย  จำนวน 9 สายได้แก่ (กรุณา กุศลาสัย อ้างในปรีชา ช้างขวัญยืน.2542 : 134-135)

     สายที่  1  นำโดยพระมัชฌันติกเถระ  เพื่อออกไปประกาศพุทธศาสนาที่แคว้นกัษมีร์และคานธาระ (ปัจจุบันคือแคว้นแคชเมียร์อินเดียตอนเหนือและอัฟกานิสถาน)

     สายที่  2  นำโดยพระมหาเทวะ เพื่อออกไปประกาศพุทธศาสนาที่แคว้นมหึสกะ  (ปัจจุบันคือ  แคว้นมัทราส ทางตอนใต้ของอินเดีย)

     สายที่  3  นำโดยพระรักขิตเถระ เพื่อออกไปประกาศพุทธศาสนาที่แคว้นวนวาสี (ปัจจุบันคือจังหวัดกรรนาฏ ทางใต้ของอินเดีย)

     สายที่  4  นำโดยพระธัมมรักขิตเถระ  เพื่อออกไปประกาศพุทธศาสนาที่แคว้นอปรันตะ (ปัจจุบันคือ คุชราฎ  หรือเมืองบอมเบย์)

     สายที่  5  นำโดยพระมหาธัมมรักขิตเถระ  เพื่อออกไปประกาศพุทธศาสนาที่แคว้นมหารัฐ  (ปัจจุบันคือ รัฐมหาราษฎร์ ทางตะวันตกของอินเดีย)

     สายที่  6  นำโดยพระมหารักขิตเถระ  เพื่อออกไปประกาศพุทธศาสนาที่แคว้นโยนกประเทศหรือยวนอิทธิพลของกรีก  (ปัจจุบันคือ  เขตบากเตรียในเปอร์เซีย)

     สายที่  7  นำโดยพระมัชฌิมเถระ  เพื่อออกไปประกาศพุทธศาสนาที่หิมวันตประเทศ  (ปัจจุบันคือแถบประเทศเนปาล)

     สายที่  8  นำโดยพระโสณเถระกับพระอุตตรเถระ พระเถระสองพี่น้อง เพื่อออกไปประกาศพุทธศาสนาที่สุวรรณภูมิ  (ปัจจุบันคือดินแดนไทย  มอญ  พม่า ลาวและกัมพูชา)

     สายที่  9  นำโดยพระมหินทเถระ  พระอุตติยเถระ พระสมพลเถระ พระอิฏฐิยเถระและพระภัททสาลเถระ เพื่อออกไปประกาศพุทธศาสนาที่ลังกาทวีป (ปัจจุบันคือ ประเทศศรีลังกา)

                ดังนั้น พระนักเผยแผ่เชิงรุกทั้ง 9 สายจึงออกไปเผยแผ่พุทธศาสนาเชิงรุกตามนโยบายของพระเจ้าอโศกมหาราช และผลการส่งพระสมณฑูตออกไปครั้งนี้ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพุทธศาสนาเชิงรุกทั้งในระดับบนและระดับล่าง ตลอดจนถึงการที่พุทธศาสนาได้หยั่งรากลึกลงในดินแดนต่าง ๆ  และขยายกว้างขวางออกไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งสายที่เข้าสู่สุวรรณภูมิที่ทำให้พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในดินแดนของประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชาขณะนี้

     จึงสามารถสรุปได้ว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพุทธศาสนาเชิงรุก  มีมาตั้งแต่ยุคต้นพุทธกาล  ที่มีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมต่อกระบวนการทำงานพุทธศาสนาเชิงรุก ในรูปของพุทธบริษัทสี่อย่างเข้มแข็ง  แม้ในยุคหลังพุทธกาลก็ยังมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพุทธศาสนาเชิงรุกอย่างต่อเนื่องกันมายาวนานไม่ขาดสาย พอจะสรุปได้ดังนี้

                การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อสถานการณ์เชิงรุกยุคต้นพุทธกาล

                   ในยุคนี้มีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมาก โดยที่พระพุทธเจ้าทรงใช้แนวทางการเผยแผ่พุทธศาสนาเชิงรุกในทุกระดับ รวม  4  ระดับประกอบด้วย

     1) ระดับผู้นำทางการเมืองการปกครองคือกษัตริย์   อย่างพระเจ้าพิมพิสาร เป็นต้น

     2) ระดับผู้นำทางจิตวิญญาณคือนักบวชเจ้าลัทธิ  อย่างชฎิลสามพี่น้อง เป็นต้น 

     3) ระดับผู้นำทางด้านเศรษฐกิจคือคหบดีหรือชนชั้นกลาง  อย่างยสกุลบุตร อนาถปิณฑิกเศรษฐี เป็นต้น และ

     4) ระดับรากหญ้า  อย่างประชาชนทั่วไป เป็นต้น

     นับเป็นสุดยอดทางยุทธศาสตร์การเผยแผ่พุทธศาสนาเชิงรุกของพุทธศาสนาในยุคต้นพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าทรงได้บุคคลเหล่านี้เข้ามายอมรับนับถือพุทธศาสนาแล้ว ย่อมเป็นพลังผลักดันให้คนในระดับล่างเข้ามาสนใจศึกษาและมีส่วนร่วมต่อพุทธศาสนาตามกระแสหลัก ดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

                การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อสถานการณ์เชิงรุกหลังยุคพุทธกาล

                   ในยุคนี้เป็นยุคที่พุทธศาสนาได้คนเก่ง-ดีมีความสามารถสูงเข้ามาสู่องค์กรพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถแยกออกเป็น  5  ประการ ดังนี้

                                1) พระภิกษุที่เก่งดีมีวิสัยทัศน์ รวมทั้งภิกษุณีด้วยที่ได้ตระหนักถึงปัญหาในอนาคตที่จะต้องเกิดขึ้น เช่น พระเถระชื่อว่ามหากัสสปะ  ที่ได้คิดริเริ่มทำสังคายนาอันเป็นการรวบรวมพระธรรมวินัยให้เป็นหมวดหมู่และง่ายต่อการเผยแผ่เชิงรุก

     2) อุบาสกที่ดีมีความสามารถสูง รวมทั้งอุบาสิกาด้วยที่ได้ช่วยอุปถัมภ์บำรุงพุทธศาสนา ในด้านต่าง ๆ  เช่น พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างพระสถูปเจดีย์มากถึง 84,000 องค์ จนพระพุทธศาสนาก้าวสู่เชิงรุกไปทั่วโลกอย่างมั่นคง

     3) การทำสังคายนา ในหลายครั้ง หลายยุคสมัย หลายประเทศได้รับการอุปถัมภ์จากผู้นำทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนถึงประชาชนเป็นอย่างดี ทำให้เกิดพุทธศาสนาเชิงรุกในระดับที่กว้างไกลจนไร้ขอบเขตมาจนถึงยุคสมัยปัจจุบัน

     4) การที่มีนโยบาย ส่งพระธรรมทูต 9 สายของพระเจ้าอโศกมหาราช ทำให้พระพุทธศาสนาหยั่งลึกลงในดินแดนต่าง ๆ ทั้งซีกโลกตะวันตกและตะวันออกอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา

     5) ระบบการปกครองที่มีอุปัชฌาย์-อันเตวาสิก และภันเต-อาวุโส ทำให้พระสงฆ์อยู่ด้วยกันได้โดยไม่แตกแยกอย่างรุนแรงเหมือนศาสนาต่าง ๆ

 

หมายเลขบันทึก: 475374เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2012 08:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท