พัฒนาศักยภาพการเยี่ยมบ้านสำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขเชี่ยวชาญและบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล


หน่วยบริการสาธารณสุขที่เล็กที่สุดของกระทรวงสาธารณสุข ก็คงจะเป็น “สถานบริการสาธารณสุขชุมชน” (สสช.) ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่มีในระบบโครงสร้างของกระทรวงสาธารณสุขตามกฎหมาย แต่ที่สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการของพี่น้องประชาชนในหมู่บ้านพื้นที่ห่างไกล ที่ไม่สามารถไปรับบริการที่สถานีอนามัยหรือรพ.สต.ในปัจจุบัน ด้วยระยะทางที่ห่างไกล การคมนาคมลำบาก หลายพื้นที่ต้องเดินด้วยเท้าในฤดูฝน ไม่มีไฟฟ้าใช้

นโยบายด้านสาธารณสุขในยุคหนึ่งจึงได้มีการสร้างเป็น “สถานบริการสาธารณสุขชุมชน” เป็นหน่วยบริการขนาดเล็กในการดูแลสุขภาพเบื้องต้น โดยคนในพื้นที่ที่จบ ม.๖ สายวิทย์ ไปอบรมหลักสูตรพนักงานสุขภาพชุมชน ระยะเวลา ๖ เดือน แล้วกลับมาทำงานในสสช. คอยดูแลประชาชนในพื้นที่ ปัจจุบันหลายแห่งได้รับการยกฐานะเป็นสถานีอนามัย(รพ.สต.) บุคลากรส่วนใหญ่ก็ได้รับการศึกษาต่อเนื่องอีก ๒ ปี ในหลักสูตรเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน

บางแห่งก็ให้นักวิชาการสาธารณสุขหรือพยาบาลวิชาชีพเข้าไปปฎิบัติงาน มีการพัฒนาระบบบริการให้ได้คุณภาพมาตรฐานใกล้เคียงกับ รพ.สต.

................................................................

ในปัจจุบันจังหวัดน่าน มี สสช. ทั้งหมด ๒๔ แห่ง กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ แม้จะเป็นสถานบริการเล็กๆ แต่บทบาทภารกิจก็ไม่น้อยไปกว่ารพ.สต. แต่ด้วยศักยภาพของสถานบริการ และพื้นที่ ที่จำกัด ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาระบบบริการอย่างต่อเนื่องให้ได้คุณภาพ

และปีงบประมาณ ๒๕๕๕ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอภูเพียง ได้กำหนดจัดโครงการพัฒนาศักยภาพการเยี่ยมบ้านสำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขเชี่ยวชาญและบุคลากรในสถานบริการสาธารณสุข จังหวัดน่าน (Tract C) ระหว่างวันที่ ๑๖-๑๗ มกราคม ๒๕๕๕ ณ บ้านปัวชัย ตำบลฝายแก้ว อำเภอภูเพียง โดยใช้บ้านปัวชัยเป็นหมู่บ้านต้นแบบในการศึกษาเรียนรู้เรื่องการจัดการสุขภาพของชุมชน การพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขเชี่ยวชาญ การพัฒนาพยาบาลประจำครอบครัว และการเยี่ยมบ้าน มีกลุ่มเป้าหมายการอบรมจากสสช.แห่งละ ๒ คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ๑ คน และอสม.เชี่ยวชาญ ๑ คน ใช้กระบวนการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรียนรู้แนวคิด ทฤษฎี ดูตัวอย่างของจริง แล้วลงฝึกปฏิบัติจริงในพื้นที่

...............................................................

กระบวนการเริ่มด้วยการเปิดด้วยการให้นโยบายในการจัดการสุขภาพชุมชน โดยนายแพทย์พิศิษฐ์  ศรีประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน ว่า “...นักจัดการสุขภาพชุมชนที่ดีควรต้องรู้ข้อมูลชาวบ้าน รู้ปัญหาชาวบ้าน มีองค์ความรู้ในการจัดการสุขภาพ สามารถเชื่อมประสานแกนนำ และกองทุนสุขภาพชุมชน มาช่วยในการจัดการสุขภาพของชุมชน...”

 

         นพ.พิศิษฐ์  ศรีประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน

หมอคนเดียวทำเองไม่ได้ ดูแลไม่ทั่วถึง  หาคนมาช่วยแบ่งเบา


ฌัชชภัทร พานิช สาธารณสุขอำเภอ

 

คุณฌัชชภัทร พานิช สาธารณสุขอำเภอ ได้นำเสนอหลักการแนวคิดการจัดการสุขภาพชุมชน “....หลักคิดสำคัญคือปัญหาสุขภาพเราดูแลเองไม่ได้ ถ้าคิดว่าป่วยแล้วรักษา โรงพยาบาลที่มีอยู่ งบประมาณที่มีอยู่ก็ไม่พอ...เฉพาะคนที่ป่วยอยู่เราก็ดูแลได้ไม่ดี ไม่ทั่วถึง...เราต้องหาคนมาช่วย...คนที่จะช่วยเราได้ดีที่สุดคือลูกหลาน สามี ภรรยา ของเขาเอง หากพัฒนาให้เขาเป็นพยาบาลประจำครอบครัว เขาก็จะสามารถดูแลคนในครอบครัวเขาได้อย่างดีและต่อเนื่อง..”

หลักการสำคัญ

“บ้าน” คือ สถานบริการ

สร้าง “หมอ” ประจำหมู่บ้าน (จนท.+อสม.เชี่ยวชาญ)

พัฒนา “ลูกหลานหรือคนดูแล” เป็นพยาบาลประจำครอบครัว

ให้ “ชุมชน” เป็นเจ้าของสุขภาพ

...................................................................

                             แกนนำบ้านปัวชัย

 

ประสบการณ์การจัดการสุขภาพชุมชนของบ้านปัวชัย (ดูบันทึกเรื่องราวบ้านปัวชัยที่นี่)

“...ผู้นำ อสม.ทำเป็นตัวอย่าง อะไรที่ไปเห็นมาว่าดีก็นำมาลองใช้กับตนเอง ครอบครัว แล้วชักชวนคนอื่นมาร่วมด้วยช่วยกัน ส่งเสริมกลุ่มต่างๆ ที่เขามีอยู่แล้ว อะไรที่ไม่มีก็ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรม ทำแล้วมีติดตาม สรุปประเมินผล...”

 


กระบวนการหลักการจัดการสุขภาพชุมชนบ้านปัวชัย

  • ค้นหาทุนทางสังคม “หาให้เจอ ใช้ให้เป็น”
  • คัดกรอง/ค้นหาปัญหา “รู้ปัญหาคนในชุมชน”
  • แยกกลุ่ม ๔ กลุ่ม – ปกติ เสี่ยง ป่วย แทรกซ้อน “ใครอยู่กลุ่มไหน อยู่บ้านหลังใด ใครดูแล”
  • จัดทำ “แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์” เชื่อมกับ “กองทุน”
  • ดำเนินการตามแผน “มีคนรับผิดชอบแต่ละเรื่อง”
  • กำหนดมาตรการชุมชน
  • ส่งเสริมกลุ่มสนใจ/กิจกรรมทางเลือก/ภูมิปัญญาชาวบ้าน “ตามวิถีวัฒนธรรมชุมชน”
  • ติดตามประเมินผล / ถอดบทเรียน “ทบทวนอยู่เสมอ”


 


การดูกลุ่มที่ได้จากการคัดกรองสุขภาพ

กลุ่มป่วย/ติดบ้านติดเตียง

  • อบรมพยาบาลประจำครอบครัว ๑ คน : ๑ ผู้ป่วย (ลูกหลาน/คนใกล้ชิด/คนดูแล)
  • อบรมอาสาสมัครเชี่ยวชาญโรคเบาหวาน/ความดัน (เป็นผู้ติดตามเยี่ยมดูแลให้คำแนะนำพยาบาลประจำครอบครัว/ผู้ป่วย)
  • หมออนามัยดูแลสนับสนุนติดตาม

 

กลุ่มเสี่ยง

  • จัดกลุ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรม “ปรับ ๓ อ. - อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ ”
  • อสม.ติดตามเยี่ยมดูแลให้คำแนะนำ/ตรวจวัดผล
  • หมออนามัยดูแลสนับสนุนติดตามผลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

 

กลุ่มปกติ

  • ส่งเสริมกลุ่มสร้างสุขภาพในรูปแบบต่างๆ ตามช่วงวัย
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและปัจจัยแวดล้อมในชุมชน
  • ส่งเสริมกลุ่มสนใจ/กิจกรรมทางเลือก

 

เป็นการแยกกลุ่มในการเข้าไปดูแลตามความเหมาะสม ซึ่งบ้านปัวชัยสามารถพัฒนาบุคคลต้นแบบในการด้านต่างๆ มาเป็นแกนนำในการสร้างสุขภาพของชุมชน เช่น แกนนำเต้นแอโรบิค, แกนนำออกกำลังกายแบบชักกะลา, แกนนำรำไม้พลอง, พยาบาลประจำครอบครัว, บุคคลต้นแบบลดหวานมันเค็ม เป็นต้น

..........................................................

 

                        กลุ่มออกกำลังกายบ้านปัวชัย

 

หลังการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับแกนนำบ้านปัวชัย แล้วก็ได้มีโอกาสได้ดูการสาธิตการออกกำลังกายแบบต่างๆ ของชุมชนบ้านปัวชัย ได้แก่ การเต้นแอโรบิค การรำไม้พลอง การเต้นฮูล่าฮูป และการชักกะลา

 

และแบ่งกลุ่มในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องแกนนำชุมชน พยาบาลประจำครอบครัว บุคคลต้นแบบ และอาสาสมัครสาธารณสุขเชี่ยวชาญ

............................................................

ในวันที่สอง ได้เริ่มด้วยการให้ความรู้เรื่องหลักการเยี่ยมบ้าน โดยคุณพุทธรักษ์  สุดแดน และคุณเยาวพร  จำนงวิทย์   พยาบาลวิชาชีพชำนาญการจากโรงพยาบาลน่าน

 


หลักปฏิบัติการเยี่ยมบ้าน

  • ยึดครอบครัวเป็นจุดศูนย์กลางในการให้บริการทั้งในภาวะปกติ ภาวะวิกฤตหรือภาวะผิดปกติจากสาเหตุต่างๆ 
  • ประยุกต์ความรู้ทาง ด้านพฤติกรรมศาสตร์  ความรู้ทางสังคมศาสตร์   จิตวิทยา  และทางวิทยาศาสตร์สุขภาพในการให้บริการ
  • ให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาสุขภาพและพึ่งตนเองได้

 

                                  ฝึกปฏิบัติเยี่ยมบ้าน

 

เป็นการปูพื้นฐานความรู้ให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรมก่อนลงปฏิบัติการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยจริงในบ้านปัวชัย โดยแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม เยี่ยมกลุ่มประชากรเป้าหมายตามชุดสิทธิประโยชน์ หลังการเยี่ยมบ้านเสร็จก็มาร่วมกันสรุปผลการเยี่ยม นำเสนอในกลุ่มใหญ่ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันว่าไปเยี่ยมบ้านมาแล้วผลเป็นอย่างไร

                       ร่วมกันสรุปผลการเยี่ยมบ้าน

 

                นำเสนอผลสรุปการเยี่ยมบ้าน

........................................................

สุดท้ายของการเรียนรู้ก็ได้สรุปบทเรียนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ๒ วัน ๑ คืนนี้ แล้วมอบหมายภารกิจในการกลับไปทำงานในพื้นที่ต่อไป

วางแผนการดำเนินงาน

  • Ø การจัดทีมงาน อสม.ช. / ซุปเปอร์อสม.
  • Ø ค้นหากลุ่มเป้าหมาย ๔ กลุ่ม
  • Ø คัดเลือกพยาบาลประจำครัวเรือน กลุ่มป่วยเรื้อรัง/ติดเตียง/พิการ
  • Ø จัดอบรม อสม.ช./ พยาบาลประจำครอบครัว
  • Ø ติดตามเยี่ยม/แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประจำเดือน
  • Ø สรุปรายงานผลการดำเนินงาน

 

ผู้ใหญ่ประนอม ภิมอญ ผู้ใหญ่บ้านปัวชัย กล่าวขอบคุณผู้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

 

 

แล้วนัดหมายกันอีก ๒ เดือน เพื่อติดตามความก้าวหน้าว่าได้นำเอาแนวคิดประสบการณ์นี้ไปดำเนินการในพื้นที่อย่างไร ผลเป็นอย่างไร โดยมี สสช.บ้านห้วยมอญ ตำบลสะเนียน อำเภอเมืองน่าน เป็นสถานที่เรียนรู้ในครั้งหน้า

ก็หวังว่าประสบการณ์การเรียนรู้ใน ๒ วันนี้ จะสามารถจุดประกายการทำงานเชิงรุกอย่างมีคุณภาพให้กับแกนนำกลับไปทำงานเพื่อพี่น้องที่อยู่ห่างไกลต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 475024เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2012 08:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
ศรัจจันทร์ อุดมแก้วกาญจน์

ยอดเยี่ยมค่ะ..ฝึกฝนกันต่อในพื้นที่จริง เป็นกำลังใจให้ทุกท่านค่ะ

"ชีวิตที่ลำบาก เป็นชีวิตที่เจริญ" ๑๐๐ ปี นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว มหกรรมสุขภาพชุมชน ครั้งที่ ๒

ดีใจที่ได้มีโอกาสไปปฏิบัติราชการ สสช.ดงป่าสัก และบ้านปัวชัย ผู้คนเป็นมิตร พร้อมที่จะเป็นเพื่อนร่วมทางในการพัฒนา

ความเข้มแข็ง=การจัดการตนเอง(ปัญญาที่ทำให้เรื่องเป็นไปไม่ได้...เป็นไปได้)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท