หารือผู้ว่า วงคุณเอื้อจัดการความรู้เมืองนคร


แนวความคิดที่จะใช้KMเสริมกระบวนการชุมชนเข้มแข็งผ่านสภาผู้นำที่ท่านเล่านั้น มีประโยชน์มาก เพราะจะสอดคล้องกับแนวคิดบูรณาการภาคชุมชนกับภาคสนับสนุนให้เชื่อมร้อยกันอย่างเป็นเอกภาพ งานทุกเรื่องก็จะผ่านทางสภาผู้นำ

เมื่อวาน(30..)ท่านผู้ว่าชวนทีมงานเข้าพบเพื่อหารือโครงการจัดการความรู้เมืองนคร ผมไปถึงเวลาบ่ายโมงครึ่งพอดี มีผอ.วิมล อ.เฉลิมลักษณ์และอ.ชมภูจากกศน.และท่านสาธารณสุขจังหวัดรออยู่ก่อนแล้ว นั่งลงยังไม่ได้ทักทายอะไรกันมาก เลขาหน้าห้องก็มาเชิญให้เราเข้าไปในห้องรับรองบอกว่าท่านต้องไปเปิดงานเวลาบ่ายสอง  พวกเราทยอยกันเข้าไปรอโดย ผอ.วิมลโทรศัพท์ชวนเพื่อนพ้องหัวหน้าส่วนราชการมากันพร้อมหน้าพร้อมตาคือ ท่านพัฒนาชุมชนจังหวัด เกษตรจังหวัด ผอ.โสภณจากธกส. และจ่าจังหวัด เริ่มรายการโดยผอ.วิมลขอให้   .ชมภูรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการซึ่งมีทั้งส่วนที่ประสบผลสำเร็จและมีปัญหาอุปสรรคอยู่บ้าง 

Img_0001_2jpg

ผมพูดเสริมข้อมูลจากเวทีคุณอำนวยกลางที่สะท้อนความซ้ำซ้อนของงาน Km กับงานอื่นๆโดยสรุปในเอกสาร  1 แผ่น คือ งานพัฒนาชุมชนผ่านมา 3 ช่องทางหลัก 1)ทางโครงสร้าง 2)ทางตรงเช่นกองทุนหมู่บ้านSML 3)ทางอปท. ช่องที่ 4)คืองบบูรณาการCEO เสียงสะท้อนทำให้ทราบว่างาน KM ไปเพิ่มงบโครงสร้างขึ้นอีกช่องหนึ่ง ทำให้คุณหมอนพพร(สธ.จังหวัด)ให้ความรู้เรื่องKMว่าเป็นเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรให้สามารถแข่งขันได้ เป็นงบเรียนรู้พัฒนางานที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่ไปทำเรื่องใหม่ขึ้นมา ซึ่งท่านเข้าใจดีมากและ สธ.ก็ทำKmในหน่วยงานอย่างดีอยู่แล้ว


หลักการสำคัญนี้หลายคนยังไม่เข้าใจ ทำให้คิดว่าเป็นงานของกศน. ที่สำคัญคือนายอำเภอส่วนใหญ่ไม่เข้าใจทำให้การทำงานในระดับอำเภอไม่เป็นเอกภาพ จึงได้เสนอแนวทางการปรับปรุงงาน โดยจ่าจังหวัดเสนอว่าแผนเดิมที่ให้ปกครองเดินงานแผนแม่บทชุมชนโดยการสำรวจข้อมูลรายครัวเรือนไปข้างหน้า  จากแผนที่ได้ส่งต่อให้ทีม KM นั้น ควรปรับให้ทีม Kmรับผิดชอบตั้งแต่เริ่มกระบวนการแผนเลย เพราะกระบวนการเรียนรู้ควรเริ่มตั้งแต่ต้น ไม่ต้องส่งไม้กัน ซึ่งทุกฝ่ายเห็นร่วมกัน โดยเสนอให้มีการหารือกันทุก 2 สัปดาห์ในวงคุณเอื้อจังหวัดเช่นวันนี้ พอถึงบ่ายสองท่านผู้ว่าก็ต้องขอตัวไปเปิดงาน แต่พวกเราก็ยังหารือกันต่อ ทำให้เรียนรู้เข้าใจกันมากขึ้น เพราะคุณเอื้อไม่เคยได้มานั่งคุยกันอย่างนี้มาก่อน ผมพบว่าท่านสธ.จังหวัดมีความรู้เรื่องนี้ดีมาก ท่านบอกว่าเราต้องพัฒนาคุณลิขิต และคุณอำนวยที่มีความสามารถ เป็นงบประมาณพัฒนาคนโดยเฉพาะ ท่านเกษตรจังหวัดและพัฒนาชุมชนก็มีประสบการณ์ตรง ได้เสนอแนวทางเป้าหมายร่วมแต่แบ่งกันทำงาน ซึ่งผอ.โสภณเห็นว่าเรามีคนเก่งๆของแต่ละหน่วยงาน ก็ให้เป็นหลักในพื้นที่นั้น ให้หน่วยงานอื่นๆมาเป็นทีมเรียนรู้สลับกัน โดยทางจ่าจังหวัดได้ค้นพบจากการเรียนรู้ด้วยตนเองว่า ต้องทำให้นายอำเภอเข้าใจงานนี้ให้ได้ จึงมีการเสนอให้เลือกอำเภอนำร่อง 5 อำเภอโซนละ 1 อำเภอเพื่อเป็นต้นแบบ โดยทีมงานคุณเอื้อจังหวัดจะลงไปสร้างความเข้าใจกับทีมงานอำเภอซึ่งมีนายอำเภอเป็นประธาน โดยจะลงไปพร้อมกันทั้งคณะ

นัดแรกตกลงกันวันที่ 13 ที่อำเภอเชียรใหญ่เวลา10.00-12.00.

การพูดคุยเป็นไปอย่างสนุกสนานจนถึงบ่ายสาม ก่อนที่แต่ละท่านต้องขอตัวไปทำภารกิจของหน่วยงาน ผมกับทีมกศน.ออกมาหลังสุด กำลังจะขอตัวกลับ มองไปข้างนอกฝนตกหนัก  ผอ.วิมลจึงชวนนั่งคุยกันต่อที่ลานหินข้างนอกตรงบันไดหน้าห้องท่านผู้ว่า คุยกันสักพัก ท่านผู้ว่าขึ้นมาบอกว่ารีบกลับมาเพราะยังคุยไม่จบ แล้วชวนพวกเรา 4 คนเข้าไปคุยต่อในห้องรับรอง ท่านอารมณ์ดีมาก ซักถามว่าพูดคุยกันได้ข้อสรุปอย่างไรบ้าง ทีมงานของเราจึงช่วยกันรายงานซึ่งท่านได้จดวันนัดหมายที่จะลงพื้นที่อ.เชียรใหญ่ไว้ด้วย การกลับเข้ามาคุยในช่วงหลังนี้ ทำให้พวกเราเข้าใจแนวคิดของท่านมากขึ้น คือ แนวทางของท่านต้องการสานต่อความคิดของน้าประยงค์ในเรื่องสภาผู้นำชุมชน ฐานคิดคือ ต้องการค้นหาและพัฒนาการเรียนรู้ของสภาผู้นำชุมชนระดับหมู่บ้าน โดยใช้กระบวนการสำรวจข้อมูลครัวเรือนเพื่อทำแผนแม่บทชุมชนเป็นเครื่องมือ        เริ่มจากผู้นำ 8 คนทั้งทางการและธรรมชาติ จากนั้นขยายเพิ่มเป็น64คนโดยเฉลี่ยตามขนาดของหมู่บ้าน64คนนี้จะเป็นแกนนำในการพัฒนาชุมชนทั้งระบบครบวงจรผ่านแผนแม่บทชุมชน หน่วยงานสนับสนุนเมื่อเชื่อมโยงกันแล้วก็จะมาเชื่อมต่อกับสภาผู้นำ แผนงาน/โครงการพัฒนาก็จะเป็นเอกภาพหนึ่งเดียว แต่พวกเราเข้าใจผิดว่า 8 คนคือผู้นำ ที่เหลือคือกลุ่มอาชีพเป้าหมายตามโครงการที่เสนอไว้ ก็เป็นประสบการณ์ที่ดีให้เราเรียนรู้เพื่อปรับแก้กัน ซึ่งท่านผู้ว่าก็ให้กำลังใจว่า ที่ทำไปก็ไม่ผิด ถือเป็นการสร้างความเข้าใจเบื้องต้น ก็มีประโยชน์เช่นกัน แต่ต่อไปเราจะขับเคลื่อนให้ถูกต้องชัดเจนก็อาจจะต้องทำคู่มือให้ชุมชนและคุณอำนวย รวมทั้งคุณเอื้อเพื่อให้เข้าใจตรงกัน  ท่านได้ขอให้พวกเราช่วยหาทีมวิชาการมาหนุน เพราะภีมคนเดียวไม่ไหว ผมได้ขอให้ทางกศน.เชิญทีมวิชาการที่มีรายชื่อเข้าร่วมทุกครั้ง แต่ผอ.วิมลบอกว่าส่วนใหญ่จะติดภารกิจงานสอน และยังไม่เข้าใจแนวทางการจัดการความรู้ซึ่งเป็นเรื่องทักษะไม่ใช่ความรู้ในหนังสือ ท่านบอกให้ผมเป็นคนประสานสร้างทีม ซึ่งผมเองก็จนปัญญาเหมือนกัน เพราะได้พยายามนำเข้าหารือ เชิญชวนอาจารย์ในม.วลัยลักษณ์ ทั้งสำนักวิชาการจัดการ สหเวชและอื่นๆเข้าร่วมประชุม ถึงขนาดเสนอให้ทำหลักสูตรพิเศษเก็บค่าเล่าเรียนด้วยซ้ำ สุดท้ายอาจารย์ก็ลงความเห็นว่า ไม่มีเวลาและไม่ถนัด เพราะเป็นเรื่องสืบเนื่องที่ต้องเกาะติด

แนวความคิดที่จะใช้KMเสริมกระบวนการชุมชนเข้มแข็งผ่านสภาผู้นำที่ท่านเล่านั้น มีประโยชน์มาก เพราะจะสอดคล้องกับแนวคิดบูรณาการภาคชุมชนกับภาคสนับสนุนให้เชื่อมร้อยกันอย่างเป็นเอกภาพ งานทุกเรื่องก็จะผ่านทางสภาผู้นำ แต่ในทางปฏิบัติ ทีมวิชาการและกองกลางต้องมาช่วยกันคิดว่า กระบวนการKmควรเป็นอย่างไร? เป็นโจทย์ใหญ่ที่ฝากให้ทีมงานนครศรีธรรมราชและผู้สนใจช่วยคิดช่วยเขียนเสนอความเห็นด้วย

หมายเลขบันทึก: 47400เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2006 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตกประเด็นสำคัญไปเรื่องนึงคือ ท่านผู้ว่าเสนอให้ทุกวันประชุมประจำเดือนของจังหวัด จะเชิญนายอำเภอ 5 อำเภอเป้าหมายและคุณเอื้อจังหวัดหารือกันในวงเล็กก่อนประชุมจังหวัดด้วย ซึ่งถ้าเป็นตามนี้ จะมีการประชุมวงคุณเอื้อ 2 ครั้ง คือ2 สัปดาห์ /1 ครั้ง 

ครั้งที่2ก็เป็นการประชุมกับ5อำเภอเป้าหมาย

นอกจากนี้ก็จะมีแผนลงพื้นที่ 5 อำเภอเป้าหมายของคุณเอื้อจังหวัด ซึ่งผมนึกถึงการจัดKmสัญจร ซึ่งนอกจากการพูดคุยที่อำเภอแล้ว ควรลงไปเรียนรู้ทำความเข้าใจจากกิจกรรมในพื้นที่เพิ่มเติมด้วย คุณอำนวยกลางควรประสานคุณอำนวยอำเภอเพื่อหารือกับคุณอำนวยตำบลเตรียมพื้นที่เรียนรู้ โดยทีมคุณเอื้อไปร่วมสังเกตการณ์ จะเป็นการเรียนรู้2-3ทางเพื่อเสริมพลังกันด้วย

      ได้อ่านเรื่องนี้แล้วกำลังคิดว่าจะบูรณาการงานที่ภาคประชาชนกำลังดำเนินการภายใต้ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนภาคประชาขน (ศตจ.ปชช)ที่กำลังจัดทัพให้มีกลไกในการขับเคลื่อนงานในแต่ละจังหวัดกันอยู่ สำหรับในจังหวัดนครศรีธรรมราชอยู่ในระหว่างการปรึกษาหารือกับผู้หลักผู้ใหญ่ อย่างเช่นน้าประยงค์และทีมงาน เพื่อให้การทำงานบรรลุวัตถุประสงคแล้วจะหาโอกาสไปปรึกษาพี่ด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท