"เปลี่ยน" แบบดึงปลั๊ก!


โลกนี้มันช่างมีการเปลี่ยนแปลงได้มากมายหลายแบบจริงๆ  เมื่อวานนี้ได้มีโอกาสสนทนากับกัลยาณมิตร ๒ ท่าน   ที่เพิ่งอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงหลังน้ำท่วมแบบปุ๊บปั๊บ  ทั้งสองท่านนี้  มีผลงานเชิงประจักษ์มากมาย  โดยเฉพาะผลงานด้านการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ในองค์กร  ผลงานด้าน Business outcome ก็ดี   แต่ก็ต้องตัดสินใจปล่อยให้สิ่งที่ทำมาเป็นไปตามวิถีของมัน แล้วหันมาแสวงหาหนทางใหม่

เลยเป็นกรณีที่น่าเรียนรู้อีกแบบหนึ่ง  โลกนี้มันช่างมีเหตุปัจจัยที่เกินกว่าจะคาดคิดได้   เหตุการณ์นี้มันบอกผมว่า ยังมีอีกหลายเรื่องที่มันนอกเหตุเหนือผล กว่าที่หัวมนุษย์อย่างเราๆจะคิดออก

สิ่งที่น่าเรียนรู้ในประเด็นการบริหารงานองค์กร ที่ได้จากการสนทนาเมื่อวานนี้มีหลายเรื่องมาก

...ผู้บริหารองค์กรที่โตมาจากสายการผลิตอย่างเดียว เอาธุรกิจเป็นที่ตั้ง  แต่การดูแลคนมีท่าทีแบบไม่ทำตามก็หาคนใหม่ได้  ผู้บริหารที่มีวิธีคิดแบบนี้ยังมีอยู่ แต่มีอยู่มากน้อยแค่ไหนผมก็ไม่รู้เช่นกัน... 

...การดูแลคน ดูแลงานในองค์กร  หากให้บรรยากาศชีวิตการทำงานกลายเป็นงานประจำที่ซ้ำซากจำเจ การเรียนรู้ในองค์กรก็คงไม่ต้องอธิบาย   หน้าที่ของผู้บริหารที่ดี คือ  ใน ๑๐๐ % ของการทำงาน  ควรแบ่งให้การทำงานประจำสัดส่วน ๘๐ % และอีก ๒๐ % ที่เหลือ จัดสรรสำหรับให้คนทำงานได้ค้นพบว่า "คุณค่าเพิ่ม" ของการทำงานของเขานั้น มันสร้างได้  มันเกิดขึ้นได้ และเข้าใจได้ด้วยตัวเขาเอง...

...องค์กรที่สั่งสมและสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ไว้ ๔-๕ ปี  เกิดอะไรมากมาย  แต่พอถึงคราววาระเอา "ตัวกระตุ้น" (Catalyst Agents) ออก  วัฒนธรรมการเรียนรู้จะยังคงเดินต่อไปแบบไหน?  ดีขึ้น  หรือว่าค่อยๆแผ่วลง  น่าติดตามนะครับ...

แต่ที่แน่ๆ กรณีนี้ "น้องน้ำ"  เป็นตัวกระตุ้น*การเปลี่ยนแปลงในองค์กรแบบ "ดึงปลั๊ก"  ที่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว 

*ตัวกระตุ้น ไม่ได้หมายถึง ต้นเหตุ ของการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นปัจจัยหนึ่งที่เร่งให้เหตุ ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องราวเล็กๆ แต่ไปเร่งให้เกิดการตัดสินใจของผู้คนที่เกี่ยวข้องว่าต้องเลือกไปในทางใด ทางหนึ่งได้เร็วขึ้น 

ทำวันนี้ให้ดี  สั่งสมเอาไว้เป็นทุนติดตัว  เมื่อคราวถูกดึงปลั๊ก จะได้ "เอาอยู่"  กับชีวิตตัวเองได้  อย่างที่ ๒ ท่านนี้กำลังทำให้เราดู

หมายเลขบันทึก: 473500เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2012 09:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท