งานเขียนในหัวข้อ "บันทึกลับไม่ซ่อนเล็บ : การจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน" นี้ เป็นการเขียนจากความรู้สึกและสิ่งที่อยากถ่ายทอด จากการได้เข้าร่วมสัมมนาและเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยการจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน ด้วยข้อจำกัดเฉพาะบุคคล อาจไม่สามารถเก็บรายละเอียดได้ทั้งหมด แต่จะพยายามเท่าที่จะสามารถทำได้
คำถามชุดสุดท้าย
คำถามชุดสุดท้าย ที่พวกเรานักแสวงหาความรู้เพื่อการพัฒนาด้วยจิตสำนึกสาธารณะมักได้พบอยู่เป็นประจำคือ (๑) ก่อนเข้าสู่การเข้าร่วมสัมมนา/การเข้าอบรม ทั้งที่เป็นเชิงปฏิบัติและไม่ปฏิบัติการ เราได้ตั้งเป้าหมายอะไรเอาไว้บ้าง (๒) หลังจากสิ้นสุดกิจกรรมการอบรม/สัมมนา เราได้อะไรบ้าง (๓) เราคิดว่าเราจะนำสิ่งที่เรียนรู้จากการอบรม/สัมมนาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร (๔) หลังจากกลับจากที่อบรม/สัมมนา เราจะไปทำอะไรต่อ
ครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากเข้าร่วมสัมมนาเรื่องการจัดการความรู้ ที่โรงแรมสวนดุสิต แม้จะมีโอกาสได้ไปเพียงวันสุดท้าย แต่ก็รู้สึกยินดีเสมอกับการรวมกลุ่มกันพัฒนาอะไรบางอย่างของเหล่าผู้มีจิตสำนึกสาธารณะ เมื่อการสัมมนากำลังจะยุติลง คำถามชุดสุดท้ายข้างต้นก็โผล่ขึ้นมาทันทีท่ามกลางวงสัมมนา ความเป็นเรื่องที่ดีของคำถามชุดสุดท้าย คือ (๑) เราได้ทบทวนความรู้สึกก่อนเข้าร่วมกิจกรรมและขณะร่วมกิจกรรมที่ผ่านมา (แม้บางคนจะมองว่าการเล่าความหลังเป็นเรื่องของคนแก่ก็ตาม แต่แก่ก็แก่เถอะ แก่แล้วมีประโยชน์ก็พอ) (๒) เราได้มีโอกาสบอกแก่เพื่อนร่วมอุดมการณ์ว่า เราจะทำบางสิ่งบางอย่างข้างหน้าจากนี้เป็นต้นไป และเพื่อนผู้ร่วมอุดมการณ์ก็จะเป็นภาพหลอนคอยกระตุ้นให้เราทำตามคำพูดที่บอกไว้หลังจากกลับสู่ที่มาของแต่ละชีวิต
อย่างไรก็ตาม มีความคิดแวบหนึ่งแทรกมาระหว่างคำถามข้างต้น ความคิดดังกล่าวคือ "เราได้แต่ถามตัวเราเองว่า เราได้อะไรจากการอบรมครั้งนี้บ้าง แต่ทำไมเราไม่ถามด้วยว่า เราให้อะไรกับการอบรมครั้งนี้ ดูเหมือนการอบรมครั้งนี้ โดยส่วนตัวน่าจะไม่มีใครต้องจ่ายเงินสนับสนุน การเข้าใจอย่างนี้ เพราะผมไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายอะไรเลยจริงๆ" เมื่อหันกลับมาทบทวนตัวเองว่าเราให้อะไรกับการอบรมครั้งนี้บ้าง ทั้งที่สิ่งที่เราได้รับจำนวนหนึ่งอาจจะเป็นสิ่งเล็กน้อยสำหรับบางท่าน แต่มันยิ่งใหญ่และมากมายสำหรับหลายๆคน (เคล็ดลับคือ ปล่อยใจให้ว่างก่อนเข้ารับการอบรม) จะพบว่า (๑) ในช่วงการอบรม เราได้สละเวลาส่วนตัวและส่วนสำคัญบางอย่างมามอบให้กับการอบรม (๒) หากอยากจะให้ก็จงให้หลังจากเดินทางออกจากสถานที่อบรม เพราะเงินที่คณะผู้ดำเนินการนำมาจัดการอบรมให้เรา เข้าใจว่าเป็นเงินภาษีอากรของชาวบ้าน ดังนั้น การจะให้หลังการอบรมคือการศึกษาหาความรู้และนำความรู้เท่าที่พอจะมีอยู่ไปมอบให้ ช่วยเหลือตามกำลัง แก่ชาวบ้านตลอดถึงลูกชาวบ้าน ทำให้ได้ข้อคิดว่า ชีวิตเราจะได้ไม่ต้องเป็นหนี้เงินภาษีชาวบ้าน (อิณํ ทุกฺขํ โลเก การเป็นหนี้เป็นทุกข์ในโลก) เพราะเราได้ตอบแทนในหยาดเหงื่อแรงงานของเขาด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การคืนเงินให้
คำตอบจากคำถามชุดสุดท้าย
ส่วนหนึ่งของแรงกระตุ้นที่ต้องมานั่งเขียนรวบรวมความคิด เนื่องจากบอกที่ประชุมไว้ว่า สิ่งที่ได้ในการสัมมนาครั้งนี้ จะเป็นข้อเขียนทางในเวปอันเป็นเวทีแลกเปลี่ยนต่างพื้นที่ คำพูดที่พูดออกไปแล้วคือเจ้านายของเรา อาจเคยได้ยินภาษิตปักษ์ใต้จากหนังตลุง กล่าวว่า "พระราชาพูดแล้วไม่คืนคำ" ถึงแม้เราจะไม่ใช่พระราชาของประเทศใด แต่เราก็เป็นพระราชาของชีวิตผม ดังนั้น พูดแล้วต้องทำตามที่พูด มิฉะนั้น ภาพหลอนจากห้องประชุมจะคอยหลอกหลอนเราตลอดไป
คำถามที่ ๑ ก่อนเข้าร่วมอบรมเราได้ตั้งเป้าหมายอะไรไว้บ้าง (ต้องการอะไรบ้าง) คำตอบคือ ทำทุกอย่างให้ลุล่วงด้วยดี โดยให้มีความกพร่องน้อยที่สุด แม้ทำไม่ได้ก็จะพยายามทำเท่าที่ความสามารถจะมีอยู่
คำถามที่ ๒ หลังจากสิ้นสุดกิจกรรมเราได้อะไรบ้าง คำตอบคือ ได้ความคิดใหม่ ทบทวนความคิดเก่า ทำความคิดเก่าที่ไม่มั่นใจให้มั่นใจมากยิ่งขึ้น ภาคภูมิใจที่เราคือส่วนหนึ่งในการทำภารกิจบางอย่างให้สำเร็จลุล่วงลงได้ มีความคิดที่ได้มานั้น มีอะไรบ้างล่ะ พอจะเรียบเรียงได้ดังต่อไปนี้
๑) ความคิดสายเดี่ยว เป็นความคิดที่ได้เรียนรู้จากที่ประชุม แบ่งย่อยออกเป็น ๒ ส่วนคือ
ก. ความคิดที่เป็นความรู้ แบ่งออกเป็น ๒ คือ (๑) ความรู้บริสุทธิ์ และ (๒) ความรู้ประยุกต์
ข. ความคิดที่เป็นความเข้าใจ แบ่งออกเป็น ๒ คือ (๑) ความเข้าใจเอกจิต เป็นความเข้าใจที่ตรงกับความเข้าใจของผู้ให้ความรู้ (๒) ความเข้าใจพหุจิต เป็นความเข้าใจที่เข้าใจแล้วแต่เบี่ยงเบนจากความเข้าใจของผู้ให้ความรู้ (เข้าใจผิดจากผู้ให้ความรู้ แต่ความเข้าใจนี้เป็นความคิดด้วย) ตรวจสอบได้โดยการถามผู้ให้ความรู้ว่า สิ่งที่เราเข้าใจและสิ่งที่ผู้ให้ความรู้เข้าใจนั้นตรงกันหรือไม่
๒) ความคิดคู่ขนาน เป็นความคิดที่คิดขึ้นจากฐานความรู้ของผู้ฟังเมื่อได้ยินหรือได้เห็นความรู้อื่นๆจำนวนหนึ่ง
ทุกครั้งที่กล่าวถึงความรู้ ถ้อยคำของ "ขงจื้อนักปราชญ์จีน" ก็จะผุดขึ้นมาในความคิดของผมเสมอ ถ้อยคำนั้นคือ คิดโดยไม่ศึกษาเป็นอันตราย และศึกษาโดยไม่รู้จักคิดก็เป็นอันตรายเช่นกัน" จริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องเชื่อคำของท่านก็ได้ เนื่องจากความเห็นนี้เป็นความเห็นของคนๆ เดียว แต่ด้วยความที่หลายคนถูกปลูกฝังและเรียนรู้ความคิดจำนวนหนึ่งของโบราณาจารย์ (สิ่งที่ถูกปลูกฝังมีอิทธิพลต่อมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง) ถูกสอนให้กราบไหว้หนังสือระลึกถึงความพากเพียรพยายามของผู้เขียนก่อนเปิดหนังสืออ่าน จึงทำให้เชื่อว่า โบราณาจารย์เหล่านั้นคือแบบอย่างที่ดี ถูกต้อง ทั้งความคิดและพฤติกรรมการแสดงออก คล้ายกับเรื่องเล่าที่ย่าเล่าให้ฟังสมัยเด็กว่า เมืองสวรรค์เป็นเมืองที่สวยงาม ตลอดถึงคัมภีร์ทางศาสนาก็บอกไว้เช่นนั้น เราก็เชื่อโดยไม่คิดอะไรมาก แต่เมื่อศึกษาจากหนังสือหลายเล่ม โดยเฉพาะความคิดของนักการศึกษาฟากตะวันตก มีนัยสอนให้เราตรวจสอบความรู้ที่ศึกษา โดยไม่สนใจว่า ผู้เขียน (เจ้าของเนื้อหา) จะมีอายุ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ความน่าเชื่อถือ อยู่ในระดับใด การอ้างอิงก็ให้ถือเป็นมนุษย์เหมือนกันโดยไม่ใส่ใจว่าเขาอยู่ในสถานะที่สังคมยกย่องแบบใด เช่น หลวงพ่อพุทธทาส ตามที่ชาวพุทธจำนวนหนึ่งยกย่องเทิดทูนด้วยศรัทธา ในคราวอ้างอิงคำพูดก็จะยกว่า พุทธทาส กล่าวว่า.... หลวงพ่อปัญญานันทะ ก็จะอ้างอิงว่า ปัญญานันทะภิกขุ กล่าวว่า.... เป็นต้น โดยมองว่าเป็นความเที่ยงตรงทางวิชาการ อันที่จริง หากเปรียบเทียบผลงาน เราไม่อาจเทียบแม้แต่เศษฝุ่น ดังนั้น ถ้อยคำของ "ขงจื้อนักปราชญ์จีน" จึงผุดขึ้นมาบ่อยๆ เกือบทุกครั้งที่คิดและพยายามเขียน เพื่อไม่ให้เราหลงประมาทในตนเอง ในเมื่อ ศรัทธาและปัญญามันขัดแย้งกัน ก็ต้องหาจุดผสานร่วมกันระหว่างศรัทธาและปัญญาเท่าที่จะหาและทำให้เป็นไปได้ หากคิดผิดก็ถือว่าศึกษามาไม่ดี หรือไม่ก็การศึกษานั้นเหนือกว่าความคิดที่เราจะไปถึง
ความคิดสายเดี่ยว
๑) ไสยศาสตร์กับการบริหาร ในข้อนี้ ได้ความคิดจากผู้ใหญ่เทพพิทักษ์ จำได้ว่า ช่วงหนึ่ง ผู้ใหญ่เทพพิทักษ์เดินมาหา อ.เบียร์ แล้วบอกว่า "ผมรู้แล้วว่าจะตั้งกองทุนวันละ ๑ บาทได้อย่างไร ผมจะต้องไปบอกชาวบ้านซอยสุขสวัสดิ์ว่า ผมได้ไปดูดวงเมืองมา หมอบอกให้ชาวบ้านซอยสุขสวัสดิ์ต้องสะเดาะเคราะห์วันละ ๑ บาท" (อะไรประมาณนี้แหละครับ ต้องขอโทษผู้ใหญ่หากไม่สามารถเก็บคำพูดทั้งหมดไม่ได้) สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกต คือ (๑) ผู้ใหญ่รู้จุดอ่อนและจุดแข็งดีว่า ลูกบ้านในซอยสุขสวัสดิ์โดยมากหรืออาจจะทั้งหมด มีความเชื่อในเรื่องหมอดู ไสยศาสตร์ ไสยเวทย์ จึงนำช่องว่างตรงนี้มาบริหารจัดการเพื่อรวมความเชื่อตั้งเป็นกองทุน ทำให้เห็นว่า ผู้ใหญ่เข้าใจคิด และมีความน่าจะเป็นสำหรับเป้าหมายของวิธีการ (๒) คงไม่ใช่เฉพาะซอยสุขสวัสดิ์เท่านั้น ที่มีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ ไสยเวทย์ พ่อมดหมอดู โดยเฉพาะกลุ่มคนผู้ควาญหาที่พึ่งแห่งความอิ่มเต็มทางใจไม่เจอ วิธีการนี้จะเป็นวิธีการหนึ่งในการรวมคน แม้ใจหนึ่งของเราจะรู้สึกปฏิเสธวิธีนั้นก็ตาม ต้องยอมรับความจริงอันหนึ่งคือ ต่อให้เราบอกว่าไฟบนแท่งเทียนมันร้อน ก็ไม่สามารถจะห้ามเด็กผู้ฉลาดไปจับไฟนั้นได้ ในเมื่อไฟคือสีพริ้วไหวสวยงามสำหรับเขา และตัวเราเองที่ปฏิเสธเรื่องดังกล่าวอันเป็นวิถีมนุษย์สมัยปฐมบรรพ์ ในบางครั้งจิตยังแสวงหามันและแปลกใจกับเรื่องราวบางอย่างที่เราพิสูจน์ด้วยหลักทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ถึงอย่างนั้นทำให้คิดว่า ตกลง จะโง่หรือฉลาดก็ช่าง ขอให้ชีวิตสัมผัสความสุขแห่งศรัทธาก็ยังดี อย่างน้อย น้ำประปาในโอ่งที่หลวงพ่อตักใส่ขันหยดเทียนลงก็ทำให้คลายทุกข์บางอย่างไปได้ชั่วขณะ แม้จะไม่ยั่งยืนก็ตาม
๒) คำคนคำเข้ม ในข้อนี้ ได้ฟังตัวแทนจากกลุ่มลำปางเอ่ยขึ้นว่า "ออมเพื่อกู้สร้างศัตรูในทันใด ออมเพื่อให้สร้างความเลื่อมใสและศรัทธา" สารัตถะของเนื้อหาประมาณนี้คล้ายๆ กับเคยได้ยินที่ไหนสักแห่ง เมื่อพิจารณาจากเนื้อหา ทุกเครือข่ายกองทุนโดยเฉพาะทุกคนที่ต้องอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมในปัจจุบัน ขณะเดียวกันมีคานงัดสำคัญคือมโนธรรม ซึ่งมีอยู่ในทุกคน ทุกชนชั้น เรามีทางเลือก ๒ ทางคือ (๑) ถ้าต้องการอยู่เพื่อเงิน หวังให้มีเงินมาก ก็ต้องจัดการขั้นเด็ดขาด มีความเชื่อมั่นในระบบกฎหมายและอำนาจบังคับของสังคม (เช่นคำสั่งของผู้มีศักดิ์เหนือกว่า) ผลที่ได้รับคือ ศัตรู แนวคิดข้อนี้คือ ยืนอยู่ท่ามกลางศัตรูมีแต่หดหู่และเหนื่อยอ่อน (๒) ถ้าต้องการสร้างศรัทธา หรือกัลยาณมิตร ก็ต้องออมเพื่อให้ เพราะผู้ให้ย่อมเป็นที่รักเสมอ (ททมาโน ปิโย โหติ) ผู้ให้อาจต้องเสียของบางอย่างในตอนต้น แต่จะได้รับบางอย่างในภายหลัง สิ่งที่ได้รับเป็นสิ่งที่คงอยู่ถาวร นอกจากนั้น คำที่กระตุ้นความคิดอีกอันหนึ่งซึ่งอ.เบียร์ทบทวนให้ฟังในรถตอนเดินทางกลับคือ "จบดอกเตอร์ฉลาดลึกแต่โง่กว้าง" (น่าจะใช่) เป็นคำที่ได้ฟังจาก อ.ตุ้ม
ถ้อยคำชุดที่ ๒ เราได้คุยกันในรถของ อ.เบียร์ระหว่างเดินทางกลับ มีความเห็นที่น่าคิดว่า มันเป็นเช่นนั้นจริง เพราะระบบการศึกษาทำให้เป็น ในเมื่อการเรียนปริญญาเอก คือเรียนเจาะลึกลงไปสายใดสายหนึ่ง ดังนั้น ความลึกจึงเป็นเป้าหมายของปริญญาเอก (ยกเว้นแบบสหวิทยาการ) โง่กว้าง เนื่องจากระบบสอนให้เจาะลึก โดยไม่ได้ใส่ใจปริบทมากนัก ดังนั้น ความโง่หรือความไม่รู้วงกว้างจึงเป็นปกติของผู้จบการศึกษาด้วยระบบเช่นนั้น เอาเป็นว่า เรื่องที่เรียนมา บางทีบางคนยังตอบปัญหาบางอย่างได้ไม่หมด อย่างไรก็ตาม ถ้อยคำชุดนี้กระตุ้นความคิดบางอย่างสำหรับผู้คิดจะเรียนและผู้เรียนจบแล้วแต่พูดออกไปแล้วคนอื่นไม่เข้าใจ ตลอดถึงรู้อย่างเดียวแต่ปฏิบัติไม่เป็น
คำคนคำเข้มฉากสุดท้ายที่จำได้คือ "การทำงานอย่าคิดว่าเป็นปัญหา" อันนี้เป็นข้อคิดจากกลุ่มสงขลา (พูดเวลา ๑๑.๓๕ น.)
เป็นความจริง ถ้าเราคิดว่าเป็นปัญหา เราก็จะไม่สู้มัน แต่เมื่อมีปัญหาและเราได้แก้ไข ยิ่งมีปัญหามากยิ่งทำให้กล้าแกร่งมาก อีกอย่างหนึ่ง หากไม่มีปัญหา คงไม่มีใครให้เรามาแก้ไข เขาเห็นว่าเรามีความสามารถและเราก็เชื่อว่า เรามีความสามารถ เราจึงตั้งใจที่จะสะสางมัน จริงแล้วไม่มีปัญหาอะไรมากไปกว่าการที่เราคิดว่ามันเป็นปัญหา
๕. ตุมพจน์
อ. ตุ้มตั้งข้อสังเกตให้ได้เรียนรู้ว่า "ชั้นของการขับเคลื่อนมี ๒ คือ เชิงวิชาการ และเชิงชาวบ้าน" ข้อความนี้น่าจะคือ
เชิงวิชาการ
ขับเคลื่อนการจัดการความรู้ความเหมาะสมของเป้าหมาย
วิถีประชา ทฤษฎีหลัก
เอกภาพ พหุภาพ เข้ม
ปานกลาง
ชวนฝัน
๔. นันทภีมพจน์
คำว่า นันทภีมพจน์ เป็นเนื้อหาของ อ.ภีม ซึ่งท่านได้เสนอความคิดดีๆ อันเป็นอุดมการณ์ที่เราต้องเดินร่วมกับการปฏิบัติในการทำวิจัยคือ
คลังความรู้ คือรายละเอียดปลีกย่อยที่บันทึกไว้
ขุมความรู้ สาระจากรายละเอียด อันได้แก่ เนื้อหาสำคัญ ประสบการณ์ จินตนาการ
แก่นความรู้ สิ่งที่ได้จากการกลั่นกรองอย่างละเอียดถี่ถ้วนอย่างที่สุด
ในข้อนี้ ทำให้คิดถึง ไม้จิ้มฟันซึ่งผ่านกระบวนการจัดทำจากท่อนไม้ใหญ่ ดังปรากฏในโฆษณาชิ้นหนึ่ง ซึ่งคงไม่ใช่เช่นนั้น เพราะแก่นความรู้ที่ว่าคือ ปัญญา นั้นเอง (ข้อนี้ ไม่มั่นใจนักว่าจะเข้าใจถูกต้องกับความเข้าใจของ อ.ภีมหรือไม่)
ตกลงว่า ความรู้ที่ได้จากการฟัง (สุ.) และคิดตามไปด้วย (จิ.) ขณะเดียวกัน ได้เขียนบันทึกไว้เล็กน้อย (ลิ.) ขาดแต่ยังไม่ได้ถามอาจารย์ทั้ง ๒ ตลอดถึงผู้ร่วมกิจกรรม (ปุ.) จึงทำให้ไม่มั่นใจว่า จะเข้าใจถูกหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีความรู้จำนวนหนึ่งที่ได้มาแล้ว แม้จะเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความรู้ของการเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด
ความคิดคู่ขนาน
ความคิดคู่ขนานนี้ เป็นความคิดที่ได้ระหว่างการฟังการสัมมนาแล้วดักจับความคิดไว้ พอจะรวบรวมได้ดังนี้
๑) เพลงปลุกใจเสือป่า
ขณะที่นั่งฟังกลุ่มกะหลอร้องเพลงอยู่นั้น ความคิดแวบหนึ่งเข้ามาแทนที่คือ เพลงจำนวนหนึ่ง กระตุ้นความรู้สึกให้คนรักชาติ กระตุกความเป็นเลือดเดียวกันได้ดี ดังนั้น เพลงเพื่อปลุกใจจึงน่าจะนำมาใช้ให้เกิดกำลังใจและปลุกใจในทางที่ดีได้ อย่างน้อยเป็นการเพิ่มพูนคุณธรรมอันหนึ่งคือความสามัคคี จึงน่าจะมีเพลงอะไรสักเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อ "การจัดการความรู้ องค์กรการเงินชุมชน" เพื่อกระตุ้นพลังใจในการทำวิจัย
๒) อิทธิพลพระพุทธศาสนาในระบบความคิดของนักวิชาการ
ขณะนั่งฟัง อ.ภีม บรรยาย อ.ภีมได้พูดถึง สิทธัตถะ และเนื้อหาบางส่วนของพุทธศาสนา แวบความคิดหนึ่งเกิดขึ้น เชื่อมโยงถึง สัปดาห์ที่ผ่านมา ในหนังสือพิมพ์มติชน นักคิดท่านหนึ่งได้วิเคราะห์ถึง "ในปัจจุบันมีนักวิชาการจำนวนหนึ่งได้นำพระพุทธศาสนาไปใช้ประยุกต์ ทั้งที่เป็นข้อเขียนและการสนับสนุนความคิด พุทธศาสนาที่เข้าใจนั้นยังไม่ถึงแก่นแท้ มีการเบี่ยงเบนตามความคิดความเข้าใจของแต่ละคน บทความนั้น ยกตัวอย่างหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ เหตุเกิดเมื่อ พ.ศ.๑" ทำให้ย้อนคิดว่า แล้วเราล่ะ เข้าใจพระพุทธศาสนาเพียงใด เป็นการเข้าใจอย่างที่เราเข้าใจ แต่ไม่ได้เข้าใจอย่างที่พระพุทธเจ้าเข้าใจหรือไม่? ระหว่างนั้น ความคิดแวบหนึ่งก็ผุดขึ้นมาอีกว่า ถ้าเราไม่กล้านำความเข้าใจที่เรามีอยู่แม้จะไม่เข้าใจตรงกับเป้าหมายหลักมาลูบคลำบ้าง เนื้อหาดังกล่าวก็กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และกลายเป็นกระดูกไดโนเสาร์ให้คนกราบไหว้บูชาแต่ไม่รู้ถึงสาระสำคัญของสิ่งนั้น ซึ่งเมื่อเดินเข้าไปซึมซับมันเปี่ยมด้วยประโยชน์นานัปประการ
๓) คำคนคนเขียน ข้อนี้มีหลายอย่างที่ได้ดักจับความคิดระหว่างนั่งฟัง
"ความคิดและความคิดทำสงครามกัน มิใช่ผู้มีศรัทธาทำสงครามกับผู้น่าศรัทธา (ความเป็นกลาง)" "คำว่า ดี มันไม่พอสำหรับชีวิตนี้อีกแล้ว ทุกชีวิตต้องอยู่เหนือดี คือ ดีมาก ดีเยี่ยม ชำนาญ และเชี่ยวชาญ" ความคิดนี้ได้รับเมื่อฟังตารางความคิดอิสระจาก อ.ภีม "เราต้องรู้จักตนเองก่อน ก่อนลงมือปฏิบัติ สำหรับคนขี้เหร่ หน้าตาไม่ใช่จุดสนใจสำหรับเพศตรงข้าม ดังนั้น ต้องใช้อะไรสักอย่างในตัวที่คิดว่าถนัด และดีที่สุดที่มีอยู่ ให้ปรากฎเด่นชัดต่อเขา ท่านจึงจะน่าสนใจ"
๔) ข้อปฏิเสธเมื่อรับงาน
ผลเสียของการเรียน/ทำงาน เฉพาะสาขาคือ ความบกพร่องในสาขาอื่นๆ และการปฏิเสธสาขาอื่นเมื่อมีงานที่ไม่ใช่หน้าที่ตนเข้ามา ทั้งที่ไม่ยากเกินกว่าจะแสวงหาความรู้และการเพิ่มพูนศักยภาพความเรียนรู้ได้ คำปฏิเสธเพื่อปัดความรำคาญใจคือ ไม่มีความรู้ในด้านนั้น อันที่จริงคือไม่มีประโยชน์ต่อการพัฒนางานสายของตนต่างหาก
๕) พุทธประยุกตวิทยา
เมื่อได้เห็นตัวปลาที่ อ.ภีมนำเสนอ แวบความคิดจากฐานความรู้ทางพุทธก็เกิดขึ้นว่า จะทำอย่างไรให้นักศึกษาได้เรียนรู้ในสิ่งที่เขามีอยู่อย่างไม่น่าเบื่อ ทราบว่า ความคิดของมนุษย์เป็นภาพ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้นามธรรมเป็นรูปธรรม เช่น แมงมุม ๘ ขา ก็ต้องทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้เป็นแมงมุม แล้วไข่ใต้ท้องแมงมุม น่าจะเป็นอะไร น่าจะเป็นนิพพานอันเป็นเป้าหมายหลักกระมัง แนวคิดนี้ขอตั้งชื่อใหม่ว่า "แมงมุมอริย" จากนั้น กบมีสี่ขา สามารถทำให้เป็น "กบอริยสัจ"
คำถามชุดสุดท้ายในข้อที่ ๒ นี้ เป็นความพยายามเก็บเรื่องราวเท่าที่เก็บได้เท่านั้น สุดท้ายอาจารย์ตุ้มสอนว่า เราควรแผ่เมตตาอภัยก่อนจบการประชุม เพื่อจะได้ไม่จ้องเวรซึ่งกันและกัน ดังนั้น สุดท้ายนี้ กราบขออภัยสำหรับผู้อ่านและทุกคนที่ผมเอ่ยถึง หากมีข้อผิดพลาดประการใดขออภัยไว้แทบความรู้สึกส่วนลึกของทุกท่านด้วย
นม.(คากรอง)