Strategic planning


plan ที่ไม่ ning

Strategic planning

                วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่ได้เรียน Strategic planning อาจารย์ ดร.นพ.ปัตพงษ์ ได้นำวีดีโอเรื่อง “House of numbers”  เป็นเรื่องเกี่ยวกับมุมมองใหม่ในเรื่องเชื้อ HIV กับโรค AIDS  ดูแล้วก็นึกอยู่ว่าเกี่ยวข้องกับ strategic planning ได้อย่างไร จึงกลับมานั่งทบทวนการทำ strategic planning ทำให้นึกถึง “ซุนวู” (Sun Tzu) เป็นผู้ที่เขียนตำราพิชัยสงครามขึ้นมาเมื่อเกือบ 2,500 ปีที่แล้ว และเป็นตำราที่ได้รับการยกย่องอย่างมากในเรื่องของการวางยุทธศาสตร์และกลยุทธ์การรบ แม้กระทั่งจักรพรรดิ์นโปเลียนก็เคยได้ศึกษากลยุทธ์การรบจากตำรานี้เช่นกัน ถึงทุกวันนี้สนามรบได้กลายเป็นสนามแข่งขันทางการค้า และการลงทุน แนวคิดในการวางแผนยุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์ในอดีตก็ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้สำหรับการบริหารจัดการองค์กรซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดทิศทางและความสำเร็จขององค์กร ดังข้อความตอนหนึ่งในตำราที่ว่า “แพ้ชนะสามารถตัดสินได้ ตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่สงครามโดยดูได้จากยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ที่ใช้เป็นแผนนำการรบ”

ในยุคปัจจุบันที่มีการไหลเวียนอย่างเสรีของการค้าการลงทุน ข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีสารสนเทศ ทุกองค์กรต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การวางแผนกลยุทธ์จึงเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร แม้แต่ในระบบราชการไทยเมื่อมีนโยบายการปฏิรูประบบราชการเพื่อให้เกิดการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (good governance) และมีขีดสมรรถนะที่สูง (high performance) การคิดและวางแผนกลยุทธ์ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการกำหนดแผนปฏิบัติราชการของส่วนราชการต่างๆ แม้ว่าการวางแผนกลยุทธ์จะถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ในหลายองค์กรก็ยังขาดความเข้าใจทั้งในแง่ของความหมายและกระบวนการ อันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การวางแผนกลยุทธ์ไม่สามารถนำองค์กรไปสู่ทิศทางและเป้าหมายที่ต้องการได้ โดยหลักการแล้วการวางแผนกลยุทธ์หรืออาจเรียกว่าการวางแผนยุทธศาสตร์คือ การวางแผนที่มีการกำหนดเป้าหมายและทิศทางในอนาคตขององค์กร โดยมีแนวคิด และทิศทางที่องค์กรต้องการไปให้ถึง รวมทั้งมีการกำหนดกลยุทธ์และกลวิธีที่จะทำให้องค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นได้ ดังนั้นการวางแผนกลยุทธ์จึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ของการวางทิศทางและกระบวนการดำเนินการมุ่งสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งในกระบวนการวางแผนกลยุทธ์นั้นต้องผ่านการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการหล่อหลอมแนวคิดในการกำหนดเป้าหมายที่เหมาะสมกับองค์กร และวิเคราะห์ศึกษาทางเลือกและปัจจัยต่างๆ เพื่อให้ได้กลยุทธ์ในการปฏิบัติงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้องค์กรก้าวไปข้างหน้า

ในการวางแผนกลยุทธ์นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรจะต้องมีการวิเคราะห์ศึกษาสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กร ทั้งในแง่บวกและลบ หรือที่เรียกกันว่า SWOT Analysis (Strength, Weakness, Opportunity and Threat) เพื่อให้แต่ละองค์ประกอบของแผนกลยุทธ์นั้นอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้และมีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและปัจจัยภายในขององค์กร ซึ่งขั้นตอนต่างๆ ในการวางแผนกลยุทธ์ขององค์กรนั้นอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปตามแนวคิดของตำราเล่มต่างๆ แต่ทั้งหมดล้วนอยู่บนพื้นฐานของหลักการและแนวทางเดียวกัน โดยแนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) นำมาใช้สำหรับหน่วยงานราชการนั้นมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ การกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ ประเด็นยุทธศาสตร์ เป้าประสงค์ กลยุทธ์ และแผนงานหรือโครงการ

                เมื่อองค์กรได้มีการจัดทำแผนกลยุทธ์ และนำไปปฏิบัติแล้ว ขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้แผนกลยุทธ์ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพคือ ต้องมีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ เพื่อให้ทราบว่าบุคลากรในองค์กรสามารถปฏิบัติตามแผนงานได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ ปัญหาที่ทำให้องค์กรไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้คืออะไร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานในการปรับเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินงานให้สอดคล้องต่อสถานภาพที่เป็นจริงขององค์กรอยู่ตลอดเวลา ในตอนต่อไปจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้การประเมินผลการดำเนินงานนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสะท้อนให้เห็นภาพถึงมิติต่างๆได้อย่างชัดเจน

                ข้อคิดเห็นจากการดูสารคดีเรื่องนี้ทำให้คิดได้ว่า การทำแผนกลยุทธ์ในปัจจุบัน ข้อมูล ที่เชื่อถือได้ ถูกต้อง และทันเหตุการณ์ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้วางแผนได้ถูกทิศถูกทาง รวมทั้งการติดตามประเมินผลในสิ่งที่คิดว่าถูกต้องแล้ว โดยควรมีคนนอกองค์กรมามีส่วนร่วมในการประเมินผล เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์ ย่อมไม่มีความเป็นกลางมักจะหาเหตุผลเข้าข้างในสิ่งที่ตนเองได้คิดว่าดี เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาอย่างแท้จริง

 

คำสำคัญ (Tags): #health#plan
หมายเลขบันทึก: 472956เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2011 08:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2013 00:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท