One Stop Crisis Center : OSCC โรงพยาบาลชุมพร (9)


ก่อนสิ้นปี 2554 ผู้เขียนได้รับการติดต่อจากจังหวัดชุมพร ให้ช่วยเขียนเรื่องของ OSCC ส่งประกวดในโครงการ UN Public Service Award 2012 โดยการตอบ 9 คำถามสำคัญ

9. What are the lessons ?

บทเรียนจากการทำงานช่วยให้ OSCC สร้างความเข้าใจที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการปฏิบัติ สรุปได้ดังนี้

1) คุณค่าและความหมายของ “พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์”

พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ของ OSCC คือ “บุคคล กลุ่มบุคคล หน่วยงาน หรือองค์กรที่ไม่ใช่เจ้าภาพหลักในการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงโดยตรง แต่เป็นตัวช่วยในการปฏิบัติภารกิจให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้”

OSCC ได้รับความร่วมมือ ช่วยเหลือ สนับสนุน ส่งเสริม จากพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ในภารกิจต่าง ๆ ได้แก่ เปิดเวทีแห่งโอกาสให้เครือข่ายได้สร้างสรรค์ผลงานสู่สาธารณะ ร่วมเป็นที่ปรึกษา ช่วยเหลือ สนับสนุน การจัดการ ร่วมคิด ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ทัศนคติ มีการปฏิบัติงานอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน ให้การสนับสนุนการจัดสรร งบประมาณและทรัพยากรและการติดตามผล/ ประเมินผล ดังนั้น พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์จึงต้องมีคุณสมบัติบางประการในการเป็นตัวช่วยที่ดีและทำงานร่วมกัน คือ

1.1) มีความรู้ความสามารถที่ตรงกับความต้องการในการบริหารยุทธศาสตร์ให้บรรลุผลสำเร็จ โดยเฉพาะการขยายเครือข่ายกลุ่มเป้าหมายและการสร้างคนต้นแบบด้วยความรู้และทักษะในการจัดค่ายครอบครัว การเยี่ยมบ้าน การบริการปรึกษา การจัดกลุ่มสนับสนุนผู้ประสบปัญหาแบบเดียวกัน

1.2) ในกรณีที่เป็นหน่วยงานหรือองค์กร ที่เข้ามาทำหน้าที่พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ หน่วยงาน หรือองค์กรนั้นจะต้องมีศักยภาพ ภารกิจ หรือความรับผิดชอบที่ตรงกับบทบาทในการเข้ามาเป็นตัวช่วย ทำให้สามารถสนับสนุนปัจจัยต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ และผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นผลงาน ผลประโยชน์ ความก้าวหน้า ฯลฯ ร่วมกันระหว่างเจ้าภาพหลักและตัวช่วย

1.3) การกำหนดภารกิจของพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ ควรระบุให้ชัดเจน เป็นลายลักษณ์อักษรในแผนที่กลยุทธ์ และ/หรือ ในแผนยุทธศาสตร์รูปแบบอื่น ๆ จะทำให้เข้าใจในบทบาทของตนเอง และสามารถบริหารจัดการภารกิจให้ลุล่วงไปได้ เป็นการเสริมยุทธศาสตร์หลักให้บรรลุสู่ความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ร่วมที่กำหนดไว้ร่วมกัน

2) ช่วยเหลือผู้ผ่านพ้นให้กลายเป็นอาสาสมัครจิตอาสา

OSCC มีวิธีการทำงานดูแลผู้รับบริการเสมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน โดยใส่ใจกับปัญหาของผู้รับบริการเสมือนญาติพี่น้อง มองปัญหาแบบองค์รวม สร้างความเข้าใจว่าปัญหาของคนมีเรื่องราวอื่น ๆ มาเกี่ยวข้องอีกมากมาย วิธีคิดดังกล่าวทำให้ผู้รับบริการที่ผ่านพ้นปัญหา กลับมาเป็นพี่เลี้ยงหรือจิตอาสาช่วยงาน OSCC และช่วยเหลือผู้ประสบปัญหารายใหม่ต่อไป

3) สื่อสารเรื่องสำคัญให้ผู้นำในสังคมได้รับรู้นำมาซึ่งความร่วมมือทางสังคม

OSCC ได้รับประสบการณ์จากการสื่อสารเรื่องของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและเด็กให้ผู้นำในสังคมได้รับรู้ นำมาซึ่งการสร้างความร่วมมือทางสังคม โดยใช้เทคนิคจัดประชุม Case ที่ห้องประชุม อบต. เทศบาล ในพื้นที่ที่เกิดเหตุ ผลักดันการทำงานในรูปแบบทีมสหวิชาชีพเป็นนโยบายระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน จัดประชุม Case ที่ผู้มีอำนาจและมีชื่อเสียงในสังคมเป็นผู้กระทำรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ทำให้เกิดการสร้างความตระหนักในปัญหาอย่างชัดเจน นำมาซึ่งความร่วมมือทางสังคม

คำสำคัญ (Tags): #oscc
หมายเลขบันทึก: 472954เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2011 08:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท