One Stop Crisis Center : OSCC โรงพยาบาลชุมพร (4)


ก่อนสิ้นปี 2554 ผู้เขียนได้รับการติดต่อจากจังหวัดชุมพร ให้ช่วยเขียนเรื่องของ OSCC ส่งประกวดในโครงการ UN Public Service Award 2012 โดยการตอบ 9 คำถามสำคัญ

4. What were the strategies used to implement the initiative ?

การทำงานของ OSCC วางอยู่บนพื้นฐานของการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ เมื่อได้รับการถอดบทเรียนสร้างเป็นแผนที่กลยุทธ์ เพื่อใช้เป็นรูปแบบในการถ่ายทอดให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เดินทางมาดูงานได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานซึ่งกันและกัน มีการใช้กลยุทธ์สร้างวิสัยทัศน์ร่วม คือ “ร่วมกันป้องกัน ดูแล ช่วยเหลือและพิทักษ์สิทธิผู้หญิงและเด็กในจังหวัดชุมพร โดยกำหนดการบริหารให้มุ่งไปสู่ความสำเร็จใน 4 มิติ ดังนี้

มิติที่ 1 ผลสัมฤทธิ์ต่อผู้หญิงและเด็กผู้ถูกกระทำรุนแรง คือ กลุ่มเป้าหมายหลักที่ OSCC กำหนดให้ผู้หญิงและเด็กได้รับการดูแล ส่งเสริม สนับสนุน ปกป้อง คุ้มครอง ตามอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองผู้หญิงและเด็กแห่งชาติ พ.ศ.2532 แนวคิดหลักพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คือ ศักดิ์ศรี คุณค่าของมนุษย์ที่เท่าเทียมกันในเรื่องเสรีภาพความยุติธรรมและสันติภาพ ภายใต้สิทธิพื้นฐานที่จะมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย ได้รับการปกป้องคุ้มครอง ได้รับการพัฒนา และมีสิทธิในการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น นอกจากนั้นยังได้ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 โดยเฉพาะการใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 และใช้เกณฑ์มาตรฐานโรงพยาบาล (HA) มากำหนดเป็นวัตถุประสงค์ของ OSCC

กลยุทธ์ที่ใช้ในมิติที่ 1 จึงเป็นเรื่อง การหลอมรวมกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของผู้หญิงและเด็กยกขึ้นมาเป็นเป้าหมายของโครงการ

มิติที่ 2 กระบวนการจัดการภายใน OSCC โรงพยาบาลชุมพร ในช่วงแรกของการเปิด OSCC การทำงานเน้นหนักไปที่การออกแบบระบบบริการเพื่อให้เหมาะสมกับภารกิจช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กผู้ถูกกระทำรุนแรง ด้วยการลดขั้นตอนการทำงานของทีมงานภายในโรงพยาบาลชุมพร ประกอบด้วย แผนกฉุกเฉิน ห้องตรวจนรีเวช แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และผู้เกี่ยวข้องที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาคุณภาพงาน

 กลยุทธ์ที่ใช้ในมิติที่ 2 จึงเป็นเรื่อง การพัฒนามาตรฐานบริการเพื่อรับมือกับเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและเด็ก

มิติที่ 3 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นกระบวนการที่ทำอย่างต่อเนื่องโดยนำปัญหาอุปสรรค ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานเข้าสู่กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มผู้ปฏิบัติ เพื่อหาข้อสรุปที่สร้างสรรค์นำไปทดลองใช้และทบทวนเมื่อเสร็จสิ้นการปฏิบัติ เพื่อนำผลที่ได้ไปใช้ในการปรับปรุงยกระดับคุณภาพมาตรฐานให้สูงขึ้น ในระยะต่อมาเมื่อ OSCC ขยายเครือข่ายอาสาสมัตรจิตอาสาในชุมชน กระบวนการจัดการจึงได้เพิ่มขั้นตอนการทำงานในชุมชนให้สอดคล้อง ควบคู่ไปกับการทำงานของทีมบุคลากรภายในโรงพยาบาลชุมพร

กลยุทธ์ที่ใช้ในมิติที่ 3 จึงเป็นเรื่อง การบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม และสร้างวัฒนธรรมการปฏิบัติงานแบบกัลยาณมิตรโดยใช้ชุมชนเป็นฐานการพัฒนา

มิติที่ 4 งบประมาณและทรัพยากร OSCC กำหนดเป้าหมายและแนวทางคือ จะต้องมีทรัพยากรที่เหมาะสม การใช้จ่ายมีประสิทธิภาพ มีระบบเครือข่ายผู้อุปถัมภ์ให้การสนับสนุน และมีการส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้หญิงและเด็ก ผู้ผ่านพ้นจากการลด-ละ-เลิกเหล้า มีช่องทางการทำงานประกอบอาชีพ และมีการเก็บออม

กลยุทธ์ที่ใช้ในมิติที่ 4 จึงเป็นเรื่อง การระดมทุนในวาระต่าง ๆ และส่งเสริมการออมเงิน เช่น งดเหล้าหยอดกระปุก นำมาผ่านับเงินพร้อมกันในวันรณรงค์ มีกรณีที่ดีคือผู้ชายที่เลิกเหล้านำเงินที่เก็บออมไปซื้อเครื่องตัดหญ้าใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากิน เป็นต้น

คำสำคัญ (Tags): #oscc
หมายเลขบันทึก: 472947เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2011 07:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 18:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท