GotoKnow

บ้านเปร็ดใน

tum
เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2549 20:07 น. ()
แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2556 17:31 น. ()
การจัดการความรู้มีหลายแบบ ที่บ้านเปร็ดใน ต.ห้วงน้ำขาว แม้จะมีปัญหาปลีกย่อยเป็นความขัดแย้งทางความคิด แต่เมื่อมีปัญหาที่ชุมชนถูกกระทำจากภายนอกเมื่อไหร่พวกเขาก็พร้อมใจกันลุกขึ้นสู้ โดยมี "ความรู้" เป็นอาวุธ เรียกได้ว่าแม้ความคิดต่างแต่เป้าหมายเดียว เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการจัดการความรู้ซึ่งเราพบที่นี่

บ้านเปร็ดใน :  ชุมชนที่อยู่กันได้แม้ความคิดต่าง

 เมื่อ "ความรู้" คืออาวุธ  สร้างการเปลี่ยนแปลง

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม  ที่ผ่านมา   หลังจากไปนั่งคุย เดินคุย กับชาวบ้านเปร็ดใน หมู่ 2 ต.ห้วงน้ำขาว จ.ตราด  กลับมานั่งประมวลภาพของชุมชนเข้มแข็งที่คนในชุมชนสามารถฟื้นฟูและอนุรักษ์ผืนป่าชายเลนในพื้นที่ 12,000 ไร่ ไว้ได้อย่างดี จนกลายเป็นชุมชนตัวอย่างที่มีหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ  ในประเทศก็มี ต่างประเทศก็มา อยากจะต่อยอดกันทั้งนั้น   ในหมู่บ้านจึงมีป้ายดีเด่นด้านโน้น ด้านนี้อยู่เต็มไปหมด   เกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่า แล้วพวกเขาอยู่กันอย่างไร จัดการกันอย่างไร   

      

   

     

     ทั้งตำบลห้วงน้ำขาวเรามีกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก แต่กลุ่มแกนหลักจริง ๆ คือ กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน   และ กลุ่มองค์กรการเงินชุมชน  ส่วนกลุ่มอื่น ๆ ก็เกิดขึ้นขยายต่อออกมาครอบคลุมคนทั้งตำบล  เรียกได้ว่าทุกคนในเปร็ดในล้วนเป็นสมาชิกกลุ่มกิจกรรมไม่กลุ่มใดก็กลุ่มหนึ่ง  ลืมตาเกิดมาก็เป็นสมาชิกกลุ่มแล้ว  ผู้ใหญ่สำเนา เป็ดแก้ว บอก  

              การเป็นสมาชิกกลุ่ม ซื้อของสหกรณ์ ร้านค้าชุมชน ร่วมกิจกรรมพัฒนาชุมชน  ร่วมเป็นนักวิจัยชาวบ้าน กลางแสดงความคิดเห็น  พูดคุยกันด้วยข้อมูล คือสิ่งที่เห็นจากบ้านเปร็ดใน    การคุยกันอย่างถึงพริกถึงขิง (ดุเดือด ขนาดแบ่งฝ่ายลุกขึ้นชี้หน้ากัน) ก็มีออกบ่อย   การรวมกลุ่มระดมความคิดเห็นหาข้อสรุปในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอาจต้องจัดเวทีกันหลายรอบ บางครั้งคุยกันไม่ได้  แต่ละฝ่ายก็กลับไปทบทวน แล้วกลับมาคุยกันใหม่ หาคนกลาง(ผู้นำส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาจเป็น ผู้ว่าฯ หรือผู้นำที่คนในชุมชนนับถือ)มาอยู่ด้วย ซึ่งบางทีก็ไม่ได้ผล  แต่ในหลาย ๆ เวทีที่ไม่สำเร็จพวกเขาก็เรียนรู้ว่าในที่สุดแล้วยุติได้ด้วยการ นำ ข้อมูล มาคุยกัน  ความร่วมมือกับภายนอกทั้งงานวิจัย งานพัฒนาต่าง ๆ ก็เพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น   ซึ่งชาวบ้านหลายคนยืนยันว่า เมื่อมีข้อมูลเราจะทำอะไรก็ได้  

  Ø     ความรู้ช่วยฟื้นฟู อนุรักษ์ป่าØ     ความรู้ช่วยแก้ปัญหาØ     ความรู้สร้างอาชีพ Ø     ความรู้สร้างความสัมพันธ์ชุมชนØ     ความรู้ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง  

ผู้ใหญ่สำเนา เป็ดแก้ว ม.2 

 

น้ากำธร ห้วงน้ำ

 คนเปร็ดในว่ากันตามจริงก็เป็นเครือญาติกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเห็นต่างกันอย่างไร เช่นบางกลุ่มมองว่าต้องใช้ความเด็ดขาดในการจัดการกับปัญหา บางกลุ่มก็มองว่าเหตุผลสิต้องเอาข้อเท็จจริงมาคุยกัน  แต่เมื่อใดมีใครมาสร้างปัญหาให้กับชุมชน คนเปร็ดในก็รวมตัวกันได้เพื่อจัดการกับปัญหานั้น และทำทุกรูปแบบ เพราะเราผ่านประสบการณ์ต่อสู้ร่วมกันมาเยอะ น้ากำธร ห้วงน้ำ  1 ในแกนนำที่ร่วมต่อสู้เรื่องป่ากันมา บอก  และว่า คนในเปร็ดในเราถึงยุคที่ต้องใช้สมอง แม้ปัญหาในเปร็ดในยังคงอยู่ (จากความคิดต่าง) แต่สังคมโดยรวมสงบขึ้น อยู่กันด้วยดี  เป็นความภูมิใจจากการทำงานของเราที่ช่วยกันเติมทุนทางสังคมของชุมชน แต่ความสำเร็จอย่างนี้ที่ไม่สามารถปั้นเป็นตุ่มเป็นโอ่งได้ (เปรียบเทียบว่าอาจไม่เห็นเป็นผลงานที่จับต้องได้) แต่เรารับรู้กันว่ามันดีขึ้น 

เมื่อให้ความสำคัญกับการมีข้อมูลความรู้ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือของการทำทุกเรื่องของชุมชน พวกเขาจึงยินดีที่จะร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์กรภายนอกที่เข้ามา แต่ก็เป็นไปอย่างระมัดระวัง  และมีการทบทวนกันอยู่ตลอดเวลา ถ้าเห็นท่าไม่ดีก็จะไม่ทำ

ที่ยกเรื่องนี้มาเล่า ก็เพื่อจะบอกว่า การเรียนรู้ของบ้านเปร็ดในเขาเรียนรู้กันไม่ใช่แค่มองกันแต่เรื่องดี ๆ แต่เขาก็เรียนรู้จากปัญหาและความขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้นในชุมชนง  และใช้ "ความรู้"เป็นเครื่องมือคลี่คลายปัญหา ดังนั้นแม้มีความคิดแตกต่างแต่พวกเขาก็อยู่ร่วมกัน และแสดงออกถึงความเป็น คนเปร็ดใน อย่างชัดเจนเมื่อภัยมาถึง  ถ้าพูดอย่างหนังจีนก็คงต้องออกมาประมาณว่า "ชุมชนข้าใครอย่าแตะ....แต่เราแตะกันเองได้" ก้อน่าสนใจไปอีกแบบ

 

คำสำคัญ (Tags): #ความรู้ 

ความเห็น

ไม่ระบุ
เขียนเมื่อ

โย่ว ที่นี่เขาจัดได้ดีมาก

ไม่ระบุ
เขียนเมื่อ

บ้านเปร็ดในดีมากๆ ควรมาเที่ยวกันหน่อย

ไม่ระบุ
เขียนเมื่อ

อยากทราบที่อยู่ และ เบอร์ ติดต่อ ประธานกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน

มีข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวแล้วครับ อยากจะให้มี ที่อยู่และเบอร์ติดต่อด้วยในลิ้งนะครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย