การประชุมจัดลำดับความสำคัญหัวข้อวิจัย


 

          หนังสือ การบริหารงานวิจัย แนวคิดจากประสบการณ์ ที่ผมเขียนไว้นานแล้ว และยังเป็นที่ต้องการกันอยู่ หากจะมีการเขียนปรับปรุงใหม่ ก็จะต้องนำเอาความรู้ที่ผมได้รับเพิ่มขึ้นในบันทึกนี้ เพิ่มเข้าไปด้วย 

 

          เช้าวันที่ ๘ ธ.ค. ๕๔ ผมโชคดี ได้ไปร่วมการประชุมจัดลำดับความสำคัญหัวข้อวิจัยเพื่อ การประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ประจำปี ๒๕๕๕ (Topic Selection 2012 เสนอความคิด พลิกนโยบาย) ของ HITAP  ได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีจัดการงานวิจัยที่ น่ายกย่องมาก   มีการจัดทุกปี ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๖ คือเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙

 

          เป็นการจัดการงานวิจัยทีืมีประโยชน์ไม่เฉพาะต่อ IHPP ซึ่งเป็นหน่วยวิจัย   แต่ยังมี ประโยชน์ต่อ (๑) นักวิจัยรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างตัว, (๒) ต่อหน่วยงานสนับสนุนการวิจัย ที่ต้องการให้ทุนแก่โครงการดีๆ,  และ (๓) ต่อหน่วยงานที่ต้องการแสวงหาวิธีทำงาน ของตน ที่ได้ผลดีกว่าเดิม ซึ่งในกรณีนี้เป็นหน่วยงานนโยบาย และผมเห็นมีคนจาก กระทรวง สาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ  สำนักงานประกันสังคม  และอีกหลาย หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพ มาร่วมด้วย   รวมผู้เข้าร่วมงานกว่าร้อยคน   มี นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธาน   และ ภก. ศิตาพร ยังคง เป็นแม่งาน

 

          อ่านขั้นตอนวิธีทำงานของการจัดลำดับหัวข้อวิจัยฯ ได้ที่นี่   จะเห็นว่ามีขั้นตอนที่รัดกุม ระมัดระวังมาก   ให้ความสำคัญแก่ภาคีมาก   กระนั้นก็ตาม ในที่ประชุมก็ยังมีคนยก ประเด็นขึ้นมาว่า รู้สึกคล้ายๆ ถูกหลอกให้ทำงานให้แก่ HITAP   เพราะสุดท้ายแล้ว หัวข้อที่ตนเสนอกลายเป็นโจทย์วิจัยของคนอื่น   เพราะหัวข้อถูกปรับแล้วปรับอีก เป็นโจทย์วิจัย ที่ไม่เหลือเค้าเดิม และตนก็ไม่ต้องการทำวิจัยในโจทย์ใหม่

 

          ผมจึงต้องเข้าแจมให้ความเห็นว่า มองจากมุมของการจัดการงานวิจัย นี่คือส่วนที่ เรียกว่า “กระบวนการต้นทาง” (Upstream Research Management) ที่สำคัญมาก   ซึ่งตามหลักการบริหารงานวิจัย  กระบวนการตั้งโจทย์เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ที่จะให้ได้ผลงานวิจัยที่ดี   หากละเลยส่วนนี้หรือจัดการไม่ดี ก็จะได้โจทย์วิจัยที่ไม่ชัด หรือไม่ค่อยมีความหมายต่อสังคมหรือต่อภาคีที่เกี่ยวข้อง   ผลงานวิจัยที่ตามมาก็จะมี ความหมายน้อย หรือมีคุณค่าน้อย

 

          ความเข้าใจที่สำคัญคือ หัวข้อวิจัยยังไม่ใช่โจทย์วิจัย   ผลของการคัดเลือกหัวข้อวิจัยยัง ไม่ใช่ได้โจทย์วิจัย   เพื่อให้ได้โจทย์วิจัยยังต้องทำงานต่ออีกหลายขั้นตอน   จนเมื่อได้ โจทย์วิจัยสิ่งที่ผู้เสนอหัวข้อเสนอมาอาจถูกแปลงจนไม่เหลือร่องรอยเดิม    และผู้เสนอ หมดความสนใจที่จะทำ และรู้สึกว่าถูกหลอกให้ทำงานฟรีๆ   ซึ่งที่จริงแล้ว แม้จะไม่ได้ ทำงานวิจัย   แต่ก็จะได้เรียนรู้มาก หากสนใจประเด็นของการเรียนรู้ 

 

          ผลได้ที่สำคัญของการเข้ากระบวนการนี้คือการเรียนรู้ และการได้ร่วมทำประโยชน์ให้ แก่วงการสุขภาพ   ดังมีนาวาอากาศเอกหญิงท่านหนึ่งบอกว่า ปีที่แล้วท่านได้เสนอ หัวข้อโครงการ และภูมิใจที่ได้มีส่วนทำประโยชน์โดยการยกหัวข้อให้แก่วงการวิจัย ของประเทศ 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๐ ธ.ค. ๕๔


 

บรรยากาศในห้องประชุม


 

ประธานกับแม่งาน


หมายเลขบันทึก: 472664เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2011 14:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 18:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท