จิตสำนึกสาธารณะ : ว่าด้วยวาระการลงชุมชนเพื่อ "ฟื้นฟูและเยียวยา" ชาวบ้านผู้ประสบอุทกภัย


สะท้อนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึง “ความพยายาม” ของการปลูกสร้างเรื่อง ”จิตสำนึกสาธารณะ” ในตัวของนิสิต นอกจากนั้นยังสื่อให้เห็นภาพความต่อเนื่องของ "กิจกรรมเชิงนโยบาย" หรือ "วาทกรรม" ต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมารองรับทิศทางที่กำลังมุ่งไป

การบ่มเพาะให้นิสิตตระหนักในความสำคัญของเรื่อง “จิตสำนึกสาธารณะ” เป็นเรื่องใหญ่มาก จำต้องอาศัยกระบวนการหลายอย่างเข้าขับเคลื่อน  อาศัยเพียงแค่การ
บรรยาย  การสอนทฤษฎีในชั้นเรียน และมอบนโยบายผ่านเวทีอย่างเดียวคงไม่พอ


หากแต่ในวิถีที่ผมรับผิดชอบนั้น  ผมพยายามมุ่งให้นิสิตเรียนรู้เรื่องดังกล่าวผ่าน “กิจกรรม” หรือเรียนรู้ผ่านการ “ปฏิบัติจริง” เป็นที่ตั้ง 

 

 

กรณีไม่นานมานี้ทั้งผมและนิสิตได้จัดตั้งกลุ่ม “มมส แทนคุณแผ่นดิน จิตอาสาเพื่อในหลวง” ขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการเรื่องจิตสำนึกสาธารณะ  โดยเน้นการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ทางสังคม ควบคู่ไปกับการบอกเล่าเรื่องราวที่ทำไปสู่สาธารณะในมิติต่างๆ  เป็นต้นว่าในบางเวทีก็จัดเสวนาเล็กๆ บางเวทีจัดวงโสเหล่ในแบบกันเอง  บางเวทีก็จัดนิทรรศการภาพถ่าย  บ้างก็ทำหนังสือถอดบทเรียนกิจกรรมด้านจิตอาสา และล่าสุดเปิด Facebook ขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่ให้แต่ละคนบอกเล่าเรื่องราว หรือแลกเปลี่ยนเรื่องราวอันดีงามร่วมกัน

โดยหลักๆ แล้วส่วนใหญ่มาจากวิถีผู้นำนิสิตแทบทั้งสิ้น  กำลังร้อยเรียงไปสู่เพื่อนๆ ของบรรดาผู้นำ  ขณะเดียวกันก็บูรณาการเข้ากับวิชา “พัฒนานิสิต” ที่ผมดูแล

 

 

 

เป็นที่น่ายินดีว่าทุกอย่างเริ่มก่อตัวเป็นรูปธรรมมากขึ้นกว่าทุกๆ ปีที่ผ่าน มีกิจกรรมผุดขึ้นเป็นระยะๆ  มีนิสิตเขียนเรื่องเล่าส่งมามากขึ้นทุกวัน  บางเรื่องเล่าด้วยตนเอง  บางเรื่องฝากเพื่อนเล่าผ่านมายังผม  หลายต่อหลายเรื่องส่งไฟล์โดยตรงมายังผมก็เยอะแยะอย่างน่ายกย่อง

สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากความว่างเปล่า ไร้รากทางความคิด หรือแม้แต่ซึ่งไร้ระบบรองรับ   เพราะก่อนหน้านี้ก็ได้ประกาศนโยบายสู่การเป็นปีแห่งเรื่อง “จิตสำนึกสาธารณะ” ผนึกแน่นกับปรัชญามหาวิทยาลัย ”ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน” สู่การประกาศคุณลักษณะอันเป็นอัตลักษณ์ของนิสิตผ่านวาทกรรม MSU FOR  ALL (พึ่งได้) และการเป็น “ที่พึ่งของสังคมและชุมชน”

นอกจากนั้น  โดยส่วนตัวผมก็เคยได้ผุดโครงการ “มมส ร่วมใจห่วงใยชุมชน” (๑ คณะ ๑ หมู่บ้าน) ขึ้นมารองรับกระบวนการที่ว่านี้ มีวาทกรรมชูโรงหลายกระบวนความที่เน้นบริบทใกล้ตัว เช่น เพราะมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน,บอกรักมหาวิทยาลัยอย่างสร้างสรรค์,บอกรักชุมชนอย่างสร้างสรรค์,

รวมถึงวาทกรรมในกิจกรรมเนื่องในวาระพิเศษที่กว้างและชัดลึก  เช่น แทนคุณแผ่นดินเกิด, ทำความดีเพื่อในหลวง, ฯลฯ

 

 


กรณีเช่นนี้เมื่อเจอวิกฤต “ฝนตกน้ำท่วม” ทั้งนิสิตและเจ้าหน้าที่จึงไม่ดูดายต่อกระบวนการดังกล่าว ทุกส่วนจะขยับเข้าหากัน  เพื่อผนึกกำลังลงสู่ชุมชน มีทั้งเป็นกลุ่มใหญ่และการแยกทีม เพื่อให้ได้พื้นที่ในวงกว้างขึ้น

เฉกเช่นกับไม่นานมานี้  องค์กรต่างๆ ก็จัดกิจกรรมลอยกระทงเพื่อระดมทุนไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม  รวมถึงกิจกรรมการนำพา “ลูกฮัก” กลับสู่หมู่บ้านรอบมหาวิทยาลัยฯ ตามแนวคิด “๑ คณะ ๑ หมู่บ้าน”  เพื่อ “บรรเทาทุกข์บำรุงสุขชาวบ้านผู้ประสบภัยน้ำท่วม” 

 

 

 

กรณีบ้านเขียบ (ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม) เป็นอีกภาพสะท้อนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึง “ความพยายาม” ของการปลูกสร้างเรื่อง ”จิตสำนึกสาธารณะ”  ในตัวของนิสิต   นอกจากนั้นยังสื่อให้เห็นภาพความต่อเนื่องของ "กิจกรรมเชิงนโยบาย" หรือ "วาทกรรม" ต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมารองรับทิศทางที่กำลังมุ่งไป

ทันทีที่น้ำเริ่มลดลง  ทีมงานและนิสิตจำนวนหนึ่งลงพื้นที่สำรวจสภาพของชุมชน  เพื่อจัดวางกรอบแนวคิดในการจัดกิจกรรม “ฟื้นฟูชุมชนและชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม”  ซึ่งกรณีบ้านเขียบนั้น  ครัวเรือนและโรงเรียน หรือแม้แต่วัดวาอารามไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเท่าใดนัก  เราจึงหันหัวเรือมายังจุดที่วิกฤตที่สุด นั่นก็คือ “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านเขียบ” อันเป็นพื้นที่หลักที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

โดยหลักๆ สภาพทรุดโทรมหรือได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก  แต่เราก็พยายามวิเคราะห์ภารกิจเท่าที่เราพึงกระทำได้  จนเป็นมติร่วมระหว่างนิสิตกับชาวบ้าน  เช่น  การปรับแต่งพื้นผิวสนามเด็กเล่น  การทาสีตัวอาคารและรั้วศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก  การตัดแต่งภูมิทัศน์ให้สะอาดสะอ้านและร่มรื่น  การจัดหาอุปกรณ์การเรียนรู้มอบให้กับเด็กๆ ฯลฯ

 

 

 

การงานในครั้งนี้  ภารกิจถูกส่งมอบไปยัง “ลูกฮัก” ของ “หมู่บ้าน” นั่นก็คือสโมสรนิสิตวิทยาลัยการเมืองการปกครองและสโมสรนิสิตคณะเภสัชศาสตร์  โดยมีทีมงานจากองค์การนิสิตและชมรมต่างๆ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกระบวนการทั้งปวง

ถึงแม้จะมีการประสานชุมชนและผู้เกี่ยวข้องร่วมสองสัปดาห์เศษๆ แต่ก็อย่างว่าเรื่องบางเรื่องในระบบราชการก็เต็มไปด้วยขั้นตอนอยู่ไม่ใช่ย่อย  หากแต่ชาวบ้านและคณะครูผู้ดูแลยืนยันที่จะดำเนินการในเรื่องเช่นนั้น  ผมและทีมงานจึงฝากย้ำให้เป็นภาระของชาวบ้าน หรือคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องให้การประสานแจ้ง หรือแม้แต่ขออนุญาตในการปฏิบัติการดังกล่าว พร้อมๆ กับการทิ้งประเด็นนัยยะของการมี “ส่วนร่วม” ไว้กับชาวบ้านและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

 

 

ครับ ไม่มีกระบวนการใดที่ปราศจากปัญหาและอุปสรรค  เพราะนั่นคือปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เป็นส่วนหนึ่งกับการงานที่จะมีขึ้น  ซึ่งผมตระหนักในข้อนี้ดี  จึงฝากย้ำผ่านผู้เกี่ยวข้องของชุมชนให้สื่อสารและกระตุ้นให้ภาคส่วนอื่นๆ เข้ามาเป็น “เจ้าภาพ” ร่วมกัน  ยิ่งหากชุมชนยืนยันในกำหนดการที่แจ้งไว้  ยิ่งต้องประสานภาคส่วนต่างๆ ให้แจ่มชัดและลงตัว...

ด้วยเหตุนี้ผมจึงฝากให้เจ้าหน้าที่และนิสิตสอบถามถึงแผนการฟื้นฟูในระดับชุมชน เพื่อที่จะผนึก หรือบูรณาการเข้าร่วมกัน ซึ่งหากไม่มีแผนก็ให้ชัดเจนว่าเราสามารถที่จะเข้าไปดำเนินการได้  และเมื่อลงมือทำงานต้องเห็นความร่วมมือ หรือการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียให้ได้มากที่สุด  เพราะนั่นคือแนวทางที่ไม่ควรละข้ามและเพิกเฉย  ยิ่งชุมชนใดมีวิถีกระแสการเมืองที่เข้มข้น ขาดความเป็นปึกแผ่น เรื่องเหล่านี้จึงจำต้องพึงระมัดระวังอย่างเป็นพิเศษ

นั่นคือสิ่งที่นิสิตจะต้องเรียนรู้ และเรียนรู้ให้มากพอเท่าๆ กับการไปลงแรงเพื่อขอความรู้ หรือให้บริการแก่สังคม...

 

 

ครับ ผมสุขใจกับการงานที่ปรากฏเป็นรูปร่างขึ้น 
สุขใจกับกระบวนการ “ใจนำพา ศรัทธานำทาง” ของนิสิต 
สุขใจกับ “จิตสำนึกสาธารณะ” ที่เกิดจากการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมและวาทกรรมสำคัญๆ ที่ได้รังสรรค์ขึ้น  ทั้งโดยระบบ และการร่วมคิดร่วมสร้างแบบมีส่วนร่วม

และที่สำคัญ เมื่อกิจกรรมใดๆ ยุติลง  ผมก็ยังให้ความสำคัญกับการสร้างกระบวนการสรุปงาน เพื่อถอดบทเรียนกลับสู่กระบวนการต้นน้ำของเรื่องนั้นๆ ...

 

 

วันนี้น้ำที่เคยท่วมขังได้เหือดแห้งลงแล้ว  กิจกรรมจิตสำนึกสาธารณะของนิสิตที่มีต่อการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและชุมชนก็เริ่มทยอยเปิดตัวขึ้น  เป็นการเคาะระฆังให้รู้ว่า “ได้เวลาลงสู่ชุมชน” อีกแล้ว 

ครับ ครั้งนี้ไม่ใช่ไปสู้รบกับกระแสน้ำที่หลากไหลเหมือนวันที่ผ่านมา  แต่เป็นการฟื้นฟูและเยียวยา หรือแม้แต่การทดสอบทักษะของการเรียนรู้และให้บริการแก่สังคมในตัวของนิสิตเป็นที่ตั้ง

และนั่นยังรวมถึงบทพิสูจน์ หรือภาพสะท้อนความสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยกับชุมชนว่าร้อยรัดเข้มแข็ง หรือเป็นปึกแผ่นกี่มากน้อย หรือแม้แต่การพิสูจน์ให้เห็นว่านโยบายเชิงรุกที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพียงปรากฏการณ์ไฟไหม้ฟาง หรือเป็นเมล็ดพันธุ์ที่กำลังแตกใบและหยั่งรากลึกลงในพื้นดิน กันแน่...

นั่นคือสิ่งที่ผมให้ความสำคัญและกำลังเฝ้ามอง....

 

...
๑๖ พ.ย.๕๔
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านเขียบ
ขามเรียง-มหาสารคาม

 

หมายเลขบันทึก: 472651เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2011 13:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

...ขอให้มีความสุข..สงบ..สว่าง..ว่าง..สบายๆ..กับการทำงาน..ตลอดไปนะเจ้าคะ..สวัสดีปีใหม่เจ้าค่ะคุณแผ่นดิน..ยายธี

ชอบ MSU for ALL ค่ะ คุณแผ่นดิน สบายดีนะคะ หายเงียบไปโดน :)

  • "เพราะมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน" ด้วยวาทกรรมนี้สร้างแรงบันดาลใจให้ผมได้มากเลยครับ ในการปาวารณาตัวเป็นลูกชายของชุมชนรอบมหาวิทยาลัยแห่งนี้อย่างสนิทใจ
  • เมื่อบ้านที่เราอาศัยหลับนอน หรือแม้แต่บ้านที่เรามากอบโกยเอาศักดิ์ศรี ใบปริญญา สร้างคุณค่าให้ตนเอง ต้องตกอยู่ในความเดือดร้อนเราเองก็คงต้องรู้สึกเดือดร้อนด้วย
  • การให้กำลังใจ(ผมใช้แทนคำว่าช่วยเหลือ) ชุมชนในยามที่กำลังโดนน้ำท่วมว่าสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าคือการเยี่ยมเยือนในยามที่วิกฤตผ่านพ้น และยามที่ฟื้นฟูบ้านเมืองมากกว่า เพราะเราสามารถไปช่วยได้ทุกคน เห็นความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นอย่างกว้างๆ
  • กระบวนการที่นิสิต คิด ทำ และลงมือทำเอง ดูแล้วง่าย งาม เป็นสิ่งเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ครับ แม้ว่าเราไม่สามารถสร้างบ้านเป็นหลัง ทาสีทั้งหมู่บ้าน หรือขัดทำความสะอาดได้ทั้งตำบล แต่เพียงเราไปเยี่ยมบ้านของเราผ่านศูนย์รวมใจของชุมชนก็ถือเป็นการฟื้นฟูทั้งหมู่บ้านครับ...
  • ขอบคุณมากครับ..

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท