การบ้านส่งคุณพนัส มมส. (ต่อ 1)


"หมุด" ต่อมา ที่คุณพนัสอยากให้เขียนคือ การเลือกชุมชน กระบวนการเตรียมการ กระบวนการทำงาน และการมีส่วนร่วมของนิสิต บุคลากร และชาวบ้าน.....

เรียนคุณพนัสตามตรงว่า คณะวิทยาศาสตร์เราไม่ได้เลือกหมู่บ้านเอง ดูเหมือนทางมหาวิทยาลัยจะ "สุ่มเลือก" มาให้หรือไม่? ประเด็นนี้คงต้องรอเรียนรู้จากงานเขียนของคุณพนัสอีกทอดหนึ่ง

สำหรับกระบวนการเตรียมการ... ตอนนั้นไม่ต่างจากการทำโครงการ "Routine" ของคณะทั่วไปครับ คือ PDCA มี "กระบวนการ" แต่ไม่มี "กระบวนการเตรียม" หนึ่งปีผ่านไป ประจักษ์แจ้งกับตนเองว่า แนวทางที่เราทำอยู่นั้น "ไม่ใช่" แนวทางที่เราควรจะทำ "Concept" แตกต่างกันแบบ "สวนทาง" ทีเดียว กล่าวคือ ที่ผ่านมาคือ "บุคลากรนำนิสิต" หลักที่เราควรทำคือ "บุคลากรหนุนนิสิต" เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะเราต้องสร้างบัณฑิตที่มีลักษณะอันพึงประสงค์ที่ไม่เพียงแค่ "ทำได้" แต่ต้อง "ทำเป็น" "คิดเป็น" ริเริ่ม สร้างสรรค์ มีจิตอาสา มีจิตสาธารณะ ซึ่งต้องเกิดจากการเรียนรู้จากการปฏิบัติด้วยตนเองทุกขั้นตอน

กระบวนการทำงานเป็นแบบ PAR คือเน้นให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน

การทำงานกับชุมชนของผมที่ผ่านมาเป็น "แบบลุย" ไม่มีกระบวนการมากนัก ข้อดีคือเปิดใจชาวบ้านได้ง่าย เข้าถึงวิถีความเป็นอยู่ได้ดี ไม่มีพิธีรีตอง มีกำหนดการแต่ยืดหยุ่นไปกับความสะดวกของชาวบ้านและนิสิตเป็น เน้นการเข้าไปเป็น "เพื่อนร่วมทุกข์" มากกว่าเข้าไปเป็น "ผู้ให้" หรือ "ผู้ช่วยเหลือ" เช่น 2 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านห้วยชันโดนน้ำท่วมไร่นาเสียหายทั้งหมด เราก็ลงพื้นที่ทุกปีๆ ละหลายครั้ง ถึงแม้จะไม่มีอะไรไปมอบให้มากนัก แต่ก็ได้รับรู้และถ่ายทอดความยากลำบากของชาวบ้านมาสู่บุคลากรและนิสิตในคณะฯ จนเป็นที่มาของโครงการช่วยเหลือฟื้นฟูหลังน้ำท่วมในเวลาต่อมา

การเข้าไปเป็น "เพื่อนร่วมบุญ" เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ตลอด 2 ปี ที่ผ่านมา ผมจะให้ความสำคัญ เนื่องจากมีความเห็นว่า การเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่ดีคือการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในวิถีและวัฒนธรรมนั้นๆ งานบุญเป็นกิจกรรมที่สำคัญยิ่งที่ทิ้งและละเลยไม่ได้สำหรับการเข้าให้ถึงใจชาวบ้าน สังเกตไม่ยาก ส.ส. ส่วนใหญ่ (สมัยก่อนนะครับ) ในไทยยอมรับว่าวิธีการสนับสนุนตามงานบุญต่างๆ ของชาวบ้านเป็น "ไม้เด็ด" ที่จะเข้าถึงและผูกใจชาวบ้านไว้ได้  ผมไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องทำตัวเป็นพ่อบุญทุ่มเหมือน ส.ส. แต่ผมใช้วิธีไปร่วมในประเพณีสำคัญด้วยตนเอง ความจริงแล้วมีไม่กี่ครั้ง แค่ 3 หรือ 4 งาน งานประเพณีทั้งหมด 12 ครั้งต่อปี เช่น งานบุญกฐิน งานผ้าป่าสามัคคี ฯลฯ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ช่วยงานบุญด้วยเงินจำนวนมาก แต่ก็เหมาะสมตามอัตภาพของ "อ. ต๋อย มมส." นั่นหละครับ.....ฮา

ขอสรุปว่า ใช้กระบวนการทำงานแบบ กระบวนการทำงานวิจัยอย่างมีส่วนร่วม หรือ PAR และยึดหลัก "ลุย" "เพื่อนร่วมทุกข์" และเป็น "เพื่อนร่วมบุญ" กับชาวบ้าน ส่วนเรื่อง องค์ความรู้และการบริการวิชาการ จะเน้นการความร่วมมือระหว่าง นักวิชาการที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และปราชญ์ผู้รู้ในท้องถิ่น เข้ามาร่วมด้วย

การมีส่วนร่วมของนิสิต บุคลากร และชาวบ้าน จะเขียนในบันทึกต่อไปนะครับ

หมายเลขบันทึก: 472612เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2011 01:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 12:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท