ครูใต้แอ่วเหนือ : แม่ฮ่องสอน


กลุ่มเครือข่ายพัฒนาชีวิตครู กลุ่มที่ ๑  อำเภอเมืองชุมพร ทัศนศึกษาดูงานภาคเหนือ ระหว่างวันที่  ๒๐ - ๒๕  ธันวาคม ๒๕๕๔

วันที่  ๒๒  ธันวาคม  ๒๕๕๔  เช้านี้ตื่นตามเสียงโทรศัพท์ของโรงแรม ในการเดินทางครั้งนี้เขาจัดให้นั่งรถคู่กับคุณครูจารีย์  บุณยวรรต เวลาพักที่โรงแรมก็พักด้วยกัน เช้านี้ตื่นขึ้นมาผลัดกันอาบน้ำ เมื่อเรียบร้อยแล้วลงไปทานอาหารเช้า  พร้อมกระเป๋าเดินทางไปแม่ฮ่องสอน  อาหารที่นี่ไม่ดี  ไม่ดีแม้แต่กาแฟ ฝืนทานกาแฟเปล่า ๆ (เพราะไม่มีอะไรที่ให้ทานกับกาแฟ) ไม่มีน้ำส้มหรือน้ำผลไม้อื่น ๆ นอกจากน้ำเปล่า เสร็จเรียบร้อยแล้ว นำกระเป๋าไปขึ้นรถตู้เพื่อจะเดินทางไปแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีทั้งหมด ๘  คัน คันที่ ๑ – ๔ เป็นของคณะครูที่นั่งรถบัสคันที่ ๑ และคันที่ ๕ – ๘ เป็นของคณะครูที่นั่งรถบัสคันที่ ๒ เราได้นั่งรถตู้คันที่ ๑ ทุคนตื่นเต้นเพราะทางไปแม่ฮ่องสอนเส้นทางจากเชียงใหม่ไปแม่ฮ่องสอน ๑๘๖๔ โค้ง เดินทางด้วยรถยนต์ตามเส้นทางสายแม่สะเรียง แม่ฮ่องสอน   หรือเส้นทางสาย ๑๐๘  เขาบอก จะเที่ยวแม่ฮ่องสอนให้ถึงแม่ฮ่องสอนก็ต้องไปทางรถยนต์จึงจะเที่ยวได้ครบ ไม่งั้นไม่รู้บรรยากาศของเส้นทางแม่ฮ่องสอน แล้วก็จะไม่ทราบที่มาของสมการ  อวก + หลับ = แม่ฮ่องสอน    เพราะสมการนี้หัวหน้าทัวร์แจกยาแก้เมารถให้คนที่คิดว่าจะเมาแน่นอนทาน แต่มีคุณครูกาญจนา  บุญเกิด(ครูแอ๊ะ) เขาบอกให้เอาพลาสเตอร์ปิดสะดือ  จะทำให้ไม่เมาและคุณครูชัชฎา (ครูแม็ท)    ณ ระนอง ครูโรงเรียนอนุบาลชุมพร เช่นกัน ยืนยันว่าปิดแล้วไม่เมาแน่นอน หลาย ๆ คนหาพลาสเตอร์มาปิดสะดือ ตัวเองไม่เคยเมารถแต่ก็ชักหวั่น ๆ จึงเอาพลาสเตอร์ปิดสะดือกับเขาด้วย คุณครูจารีย์  บุณยวรรต     ปิดถึง ๒ แผ่น เพราะเป็นคนเมารถง่ายมาก มีฮานะงานนี้ รอดูเมื่อถึงแม่ฮ่องสอนจะเมารถหรือเปล่า

แม่ฮ่องสอน เมืองแห่งขุนเขา ใครๆ ก็รู้ว่าโค้งเยอะมาก เป็นเส้นทางที่ท้าทายนักเดินทาง จนผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนจัดทำใบประกาศให้สำหรับผู้ที่ได้ผ่านเส้นทางนี้ได้ 

๐๗.๓๐ น. ขบวนรถตู้เคลื่อนออกจากโรงแรมศิรินาถการ์เด้นท์ มุ่งหน้าไปวัดพระธาตุจอมทอง คณะครูเข้าไปไหว้พระธาตุและปิดทองพระประจำวันเกิด

 

 วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร จ.เชียงใหม่    พระอารามหลวง ชั้นตรี      ตั้งอยู่หมู่ที่ ๒ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ สร้างเมื่อพุทธศักราช ๑๙๙๔ โดยนายสร้อย นางเม็ง เป็นผู้สร้างขึ้นบนดอยจอมทอง จึงได้ชื่อว่า “ วัดพระธาตุเจ้าศรีจอมทอง ” สูงจากที่ราบ ๑๐ เมตร อยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากอำเภอเมือง เชียงใหม่ ๕๘ กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกมีเทือกเขาเรียกว่า "ดอยอินทนนท์" และลำน้ำแม่กลาง วัดนี้สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
- ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๐
- ได้รับพระราชทานยกฐานะวัดขึ้นเป็นวัดพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิด วรวิหาร เมื่อวันที่ ๓๐ เดือน พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๖
- ได้รับเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ประจำปี ๒๕๒๔ ของกรมการศาสนา
- กระทรวงศึกษาธิการได้รับเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ที่มีผลงานดีเด่น ประจำปี ๒๕๓๘ ของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ

ไหว้พระเสร็จแล้วออกมาด้านนอกบริเวณวัด  มีสินค้าที่ระลึกขายจำนวนมาก หลายคนอุดหนุนเสื้อผ้าป้องกันความหนาวที่ปาย  แต่ขณะนี้ทุกคนยังไม่ได้สัมผัสความหนาว  เหลือบเห็นกล้วยน้ำหว้าบนแผงอาหาร หวีสวยมาก แม่ค้าเรียกกล้วยใต้

 ๐๙.๓๐ น. คณะครูกลับขึ้นรถเดินทางไปเที่ยววนอุทยานแห่งชาติออบหลวง อุทยานแห่งชาติออบหลวง มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด และอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีสภาพป่าที่สมบูรณ์ด้วยระบบนิเวศทุกประการ ทั้งมีความสวยงาม และ ความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ มีคุณค่าทางโบราณคดีทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ทั้งทาง ธรณีวิทยาและคุณค่าทางสถาปัตยกรรมทางธรรมชาติ เหมาะแก่การศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ และเป็นสถานที่ ท่องเที่ยวที่มีคุณค่าและความสวยงามอย่างยิ่ง มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๓๔๕,๖๒๕ ไร่ หรือ ๕๕๓ ตารางกิโลเมตร

  

 ออบหลวง ตั้งอยู่ที่ตรงหลักกิโลเมตรที่ ๑๗ ของทางหลวง แผ่นดินหมายเลข ๑๐๘ คาบเกี่ยวระหว่างตำบล  หางดง อำเภอฮอด ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง เป็นช่องแคบเขาขาดที่มีหน้าผาหินขนาบลำน้ำ ทำให้เกิดหุบผาลึก ความลึกของหน้าผาวัดจากสะพาน ออบหลวงถึงระดับน้ำปกติประมาณ ๓๒ เมตร ส่วนแคบสุด     ๒ เมตร ความยาวของช่องแคบประมาณ ๓๐๐ เมตร ธรรมชาติได้สร้างสรรค์ความน่าพิศวงให้กับแผ่นดินส่วนนี้อย่างมหัศจรรย์  แต่วันนี้มีร่องรอยการเกิดอุทกภัย เสียหายมาก  แต่ยังคงความสวยงาม

ได้เวลาพอสมควรแล้วกลับขึ้นรถตู้เดินทางไปชมความงามของสวนสน สวนสนบ่อแก้ว อยู่บนเส้นทางสายฮอด - แม่สะเรียง กิโลเมตรที่ ๓๖ (อยู่เลยออบหลวงไปไม่ไกล) สวนสนเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจวัตถุดิบเพื่อทำเยื่อกระดาษและเป็นแปลงทดลองปลูกพืชจำพวกสนสามใบ และยูคาลิบตัส ในเนื้อที่ทั้งหมด ๒,๐๗๒ ไร่ อากาศของที่นี่ชื้นและเย็นตลอดปี   สวนสนบ่อแก้ว สวยงามด้วยทิวสนที่ปลูกอย่างเป็นระเบียบงามตา จึงทำให้บริเวณสถานีปลูกต้นสนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมแห่งหนึ่ง

๑๔.๔๕ น. วันนี้รับประทานอาหารกลางวันที่อำเภอแม่สะเรียง  อาหารน่าทานและรสชาติอร่อย  ถูกปากคนใต้อย่างเรา 

 

 เมื่อทุกคนอิ่มแล้ว  กลับขึ้นรถเดินทางต่อไปยังหมู่บ้านห้วยเสือเฒ่า  เพื่อเยี่ยมชมหมู่บ้านของชาวเขาเผ่า     ป่าตองหรือที่เรียกว่ากระเหรี่ยงคอยาว

 หมู่บ้านห้วยเสือเฒ่า ตั้งอยู่ที่ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๖ กิโลเมตร มีลักษณะเป็นธรรมชาติ โดยรอบจะเป็นป่าไม้ร่มรื่น ทางเข้าของบ้านห้วยเสือเฒ่าจะผ่านฝายทดน้ำที่มีน้ำล้นหลายฝาย  ภายในหมู่บ้านมีสถานที่จำหน่ายของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยว โดยมากจะเป็นผ้าทอ   กำไลเงิน สร้อยคอ เครื่องประดับของชนเผากระเหรี่ยงคอยาวในแบบต่าง ๆ ซีดีเพลงที่ขับร้องโดยชาว        กระเหรี่ยงคอยาว นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่รับจากที่อื่นมาขาย เช่น เสื้อผ้าแบบต่างๆ ผ้าคลุมเตียง กระเป๋า ที่เสียบปากกา ตุ๊กตาชาวเขาเผาต่าง ๆ เป็นต้น  กระเหรี่ยงคอยาว มีชื่อเรียกหลายชื่อ ได้แก่ กะยัน และปาดอง เดิมทีเป็นชาวเขาเผ่าหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่า บริเวณที่ราบสูงตอนเหนือของแม่น้ำสาละวิน เนื่องจากตอนนั้นเกิดการสู้รบบ่อยครั้ง จึงได้อพยพจากประเทศพม่าและมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย หมู่บ้านกะเหรียง  คอยาวในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีด้วยกัน $ แห่ง คือ บ้านน้ำเพียงดิน บ้านในสอย และบ้านห้วยเสือเฒ่า ชาว   ปาดองยังชีพด้วยการเกษตรกรรม ปลูกข้าว ใบชา ยาสูบส่วนใหญ่จะนับถือ ศาสนาพุทธกับถือผี หญิงสาวชาวปาดองจะสวมห่วงทองเหลืองที่คอและแขนขา

 

 สิ่งที่ได้พบเห็นเป็นการสร้างภาพ  เพราะที่นี่เป็นจุดขาย มองเข้าไปใต้ถุนบ้าน มีเครื่องซักผ้า หม้อหุงข้าวไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าหลากหลายชนิด ใช้มือถือ 3G น่าอิจฉานะ  สังเกตดี ๆ ห่วงที่สวมอยู่นั้นแกะออกได้เหมือนกำไลที่ผู้หญิงสวมใส่ เป็นแผง ไม่ใช่ห่วงที่ซ้อน ๆ กันเหมือนที่เคยรู้มา เพราะเขาถอดออกวางไว้เวลาไม่มีคนสนใจ  เขาให้ถ่ายภาพได้แต่ขอให้ซื้อสินค้าของเขา  คุณครูซื้อกันเยอะแยะ  แต่ตัวเราเองไม่มั่นใจในสินค้า  ไม่กล้าซื้อกลัวถูกหลอก (ไม่เชื่อใจกระเหรี่ยง)  ออกจากหมู่บ้านห้วยเสือเฒ่าเมื่อเวลา  ๑๗.๑๕ น.

๑๘.๓๐ น. คณะครูแวะขึ้นไปนมัสการพระประจำวันเกิดที่วัดพระธาตุดอยกองมู  ที่นี่มีการเวียนเทียน เขาบอกเวียนหนึ่งรอบอายุยืนไป ๑๐๐ ปี จะเวียนครบทั้ง ๓ รอบหรือไม่ครบก็ได้ จากนั้นจุดเทียนไหว้พระประจำวันเกิด  ทำบุญโดยการบริจาคเงินใส่ตู้เป็นจุด ๆ เช่น สร้างห้องน้ำ   ซ่อมหลังคา  เป็นต้น มาเชียงใหม่วันนี้เป็นวันที่สองแวะวัดไหว้พระทำบุญเยอะมาก  คิดเป็นเงินรวม ๆ กันหลายร้อยแล้ว มีความรู้สึกน่าเบื่อมากที่เขาจ้องที่จะเอาเงินเราโดยอ้างทำบุญ   เสร็จกรรมทำบุญแล้วชมทัศนียภาพมุมสูงของตัวเมืองแม่ฮ่องสอน

 

 ๑๙.๑๐ น. คณะทัวร์พาไปรับประทานอาหารที่ร้านใบเฟิร์น ที่นี่ร้านสวยแบบธรรมชาติ  มีนักร้องร้องเพลงพื้นเมืองไพเราะ ทานอาหารเรียบร้อย  ต่างไปเดินถนนคนเดิน  มีสินค้าเหมือนทุก ๆ ที่ที่ผ่านมา ซื้อไวน์มะเม่า จำนวน ๔ ขวด เป็นเงิน ๘๐๐  บาท กลับมาที่ร้านสั่งไส้อั่วมาลองทานกับเพื่อน รสชาติแปลก ๆ เพราะไม่เคยกิน  ๒๑.๐๐ น. กลับขึ้นรถเข้าพักที่ธนโชติรีสอร์ท อาบน้ำนอน  พร้อมที่จะตื่นเวลา ๕.๓๐  นาฬิกาเพื่อใส่บาตรที่ตลาดเช้า และเดินทางต่อไปปาย พบกันพรุ่งนี้ที่ปาย

“ครูใต้แอ่วเหนือ” : เดินทาง

“ครูใต้แอ่วเหนือ” : เชียงใหม่

ครูใต้แอ่วเหนือ : ปาย

ครูใต้แอ่วเหนือ : กลับใต้

คำสำคัญ (Tags): #แม่ฮ่องสอน
หมายเลขบันทึก: 472607เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2011 23:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2013 20:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ได้รับการเชิดชูเพราะกู้ชาติ
เป็นนักปราชญ์เพราะศึกษาหาความรู้
เพื่อส่วนรวมคนทั้งหลายได้เชิดชู
ชื่อเสียงอยู่คู่แผ่นดินถิ่นเวียตนาม

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท