ส่วนหนึ่งของการทุ่มเทจนตลอดชีวิต...พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี...พิษณุโลก...สุโขทัย...(5)


"...การสร้างสรรค์บางสิ่งที่ใหม่ ไม่ได้เกิดมาจากปัญญา แต่มาจากการใช้สัญชาตญาณในการเล่น ซึ่งแสดงออกมาจากความจำเป็นภายในตัวตนของเรา จิตใจที่สร้างสรรค์เล่นกับสิ่งที่เขารัก..." (คาร์ล จุง - จิตแพทย์ชาวสวิส ผู้ก่อตั้งจิตวิทยาวิเคราะห์)
ต่อจากบันทึกนี้ครับ...  ภาพวันสองตอนเช้า...พิษณุโลก...สุโขทัย...(3)

 

การเดินทางชีวิตของผมไม่มีทางจบสิ้นและสิ้นสุด

หนทางที่มีทั้งเรื่องดีและร้าย...ทำให้ผมเติบโต เรียนรู้  และยืนหยัดต่อไป

สาย ๆ ของวันนี้  ผมเดินทางออกล่าความฝันของตนเอง...ผมมีเป้าหมายชัดเจน

แต่กระบวนการ และผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น...เมื่อสิ้นสุดปลายทางฝันของวันนี้

ผมอาจจะคว้าน้ำเหลว หรือมีน้ำทิพย์ชโลมใจก็ได้...ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน

 

เส้นทางที่ไม่คุ้นชิน...ผู้คนที่ไม่คุ้นเคย

แต่ทุกท่านนับกว่าสิบชีวิต...ที่ผมถามไถ่จุดหมายปลายทาง

กลับบอกเส้นทางด้วยมิตรภาพ รอยยิ้ม และน้ำใจ เสมือนผมเป็นเจ้าชายต่างเมือง

ผมผ่านวัดวาแบบพุทธ  ผ่านโบสถ์ของชาวคริสต์  และผ่านมัสยิดของชาวอิสลาม

ทำให้ผมตระหนักดีว่า...เมืองพิษณุโลก เป็นดินแดนแห่งความหลากหลายของคำสั่งสอนที่ทรงคุณค่า และผู้คนต่างจิตใจงดงามยิ่งนัก

 

ถนนหลายสายแยกย้ายออกไปชวนให้ผมหลงทางยิ่งนัก

ทางรถไฟ...หลายสายดูเงียบเหงา เมื่อมองสุดลูกหูลูกตาตามรางรถไฟที่เหยียดยาว

ทำให้ผมหวั่นใจว่า...ผมจะเดินทางไปสู่เป้าหมาย ด้วยการเดินด้วยขาสองข้างของผมหรือไม่ ?

 

ถ้าผมเป็นดั่งเจ้าชาย...ผมก็คงออกเดินทางตามหา “เทวดา”

เมื่อผมเห็นป้าย...เหมือนมีกลีบกุหลาบสีแดงส่งกลิ่นหอมเย้ายวนว่า ผมมาถึงจุดหมายแล้ว

 

แม้ผมจะเตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมข้อมูล ที่มาพบกับเจ้าของพิพิธภัณฑ์

“ จ่าสิบเอกทวี  บูรณเขตต์”  คำถามแรกที่ผมพูดกับท่าน ...เหมือนคำถามมีปีก และกระเจิงลอยหนีขึ้นบนท้องฟ้า

ผมคงจะประหม่า  ตื้นเต้น และไม่มั่นใจ  เมื่อผมต้องพบ และพูดคุยกับคนที่ผมรักและศรัทธาเสมอ ๆ

และเป็นอย่างนั้น ตลอดการสัมภาษณ์คำแรกจวบคำสุดท้ายของผมกับคุณตาทวี

 

คุณตาทวี... อวยพรให้ผม เมื่อผมขอลาท่านกลับ ผมขอกอดท่าน

ผมได้ยินแต่คำว่า “ให้ลูกได้ทำในสิ่งที่ตนเองรัก...และจงทุ่มเทกับมันตลอดชีวิต ...เพราะเราจะรู้สึกมีความสุขเสมอ ๆ ที่ได้ทำมัน”

ผมน้ำตาซึมออกมาเล็กน้อย...เป็นน้ำตาแห่งความอิ่มเอมใจกับชีวิตกับงานพิพิธภัณฑ์ของคุณตา

และตอกย้ำชีวิตของผมที่จะเติบโต เรียนรู้  และยืนหยัดต่อไป

 

ผมบอกกับคุณตาว่า...ผมต้องกลับมาที่อีกครั้ง พร้อมกับลูกชาย และภรรยา

ในใจคิดว่า...ผมอยากให้พวกเขามาอ่านความในใจของถ้อยคำที่คุณตาเขียนบนกระดาน

และผมหวังว่า แรงบันดาลใจของชีวิตที่ผมสะสมมาทั้งที่เกิดขึ้นไปแล้ว และยังไม่เกิดขึ้น...จะมีคุณค่าต่อชีวิตของผมและผู้อื่น

ถึงมันจะเป็นถ้อยคำความในใจเล็ก ๆ บนแผ่นกระดาษบาง ๆ ที่ผมจะเขียนให้…

ลูกชาย  ภรรยา และท่านอื่น ๆ  ว่า ผมได้ทำในสิ่งที่ตนเองรัก...และทุ่มเทกับมันตลอดชีวิต ...อย่างไร ?...

 

 

 

 

ชีวิตกับงานพิพิธภัณฑ์….“ จ่าสิบเอกทวี  บูรณเขตต์”

 

เกือบชั่วชีวิตของผม ผู้คนรอบข้างมักมองเห็นการซื้อหาเก็บวัสดุสิ่งของ

เครื่องมือ เครื่องใช้ ไม้สอยต่าง ๆ ที่เขาพากันทิ้งขว้าง

แม้แต่เศษใบไม้ใบหญ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยด้วยสายตาที่มีคำถามและไม่เข้าใจ

เพราะมันเป็นเรื่องสวนทางของกับวิถีปกติของคนในสังคม

หนัก ๆ เข้าผมจึงถูกมองว่าเป็นคนเพี้ยนไม่เต็มเต็ง  หรือบ้าหอบฟางไปก็มี

 

แม้กระทั่งคนใกล้ตัวอย่างภรรยาของผม

ก็ไม่เข้าใจ และร้องไห้อยู่บ่อย ๆ ขอให้เลิกกิจกรรมนี้

เมื่อเห็นว่า “แย่แล้ว” จึงให้คนไปตามคุณแม่ผมมาห้าม

ซึ่งผมก็รับปากว่าจะเลิกซื้อหา จึงทำให้ผมเสียใจกับการกระทำของตนเอง

จิตใจห่อเหี่ยวหมดกำลังใจที่จะทำต่อไป

ได้แต่นั่งทอดใจถ่วงเวลาจนดึกดื่นเพื่อหลีกหนีกับการเผชิญหน้าระหว่างคน ๒ คน

ที่มีแต่ความเสียใจ ทุกข์ใจอย่างที่สุด

 

ปะเหลาใจให้ภรรยาวางใจได้สัก ๓-๔ วันบ้าง ๗ วันบ้าง

ก็เริ่มแอบซื้อหาอีก  แต่ก็ไม่พ้นสายตา “พวกสายลับ”  ในบ้านที่คอยส่งข่าว

 

อาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยและความนึกคิดของคนทั่วไป เมื่อสิบๆ ปีก่อนนั้น

สิ่งเหล่านี้ยังไม่ได้รับความสนใจ  เก็บรวบรวมนัก

จนเมื่อมีการตื่นตัวอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยกันขึ้น จึงมีผู้เดินทางมาหาความรู้

และท่องเที่ยวกันมากขึ้น ภรรยาและลูก ๆ จึงเข้าใจผมมากขึ้น

แต่จะว่าไปภรรยาของผมก็ไม่ได้ขัดขวางจริงจังอะไร

เพราะถ้าไม่ใช่เขาอาจจะไม่มีผม และพิพิธภัณฑ์ในวันนี้

 

จากการเก็บรวบรวม จึงค่อย ๆ จัดแสดง

สร้างอาคารสถานที่ปรับปรุงมาเรื่อย ๆ จนเป็นรูปเป็นร่าง

ซึ่งยังคงต้องจัดทำ จัดแสดง อยู่ตลอดเวลา ไม่มีวันจบสิ้น

ในช่วงหลัง ๆ นี้ ผมไม่ค่อยได้เดินทางออกไปหาซื้อสิ่งของตามท้องถิ่นต่าง ๆ นัก

เพราะผมต้องหากินหนักขึ้น   ช่วงภรรยาค้าขายหารายได้มาช่วย

ลูกทั้ง ๖ คน บ้างก็ใช้แรงกาย ความคิด บ้างก็แยกย้ายไปทำกิจการอื่น ๆ

หารายได้มาใช้จ่ายทั้งภายในครอบครัว และใช้ดำเนินงานให้พิพิธภัณฑ์ดำรงอยู่ได้นานวัน

 

กว่าจะถึงวันนี้  พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งนี้

จึงเป็นส่วนหนึ่งของการทุ่มเทจนตลอดชีวิต

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 472611เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2011 01:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อ่านเรื่องเล่านี้ด้วยความสุขมากค่ะ เข้าใจความรู้สึกของจ่าทวี เพราะพี่ใหญ่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน และดีใจกับน้องทิมดาบ ที่เดินทางไกลไปพบกันอย่างมีความสุขเช่นนี้ค่ะ

เห็นด้วยกับพี่นงนาทค่ะ

อ่านด้วยความสุขค่ะ เวลาได้พบฮีโร่ ที่เป็นแรงบันดาลใจ ทำให้ชีวิตมีชีวา

“ให้ลูกได้ทำในสิ่งที่ตนเองรัก...และจงทุ่มเทกับมันตลอดชีวิต ...เพราะเราจะรู้สึกมีความสุขเสมอ ๆ ที่ได้ทำมัน”

ขอบคุณค่ะคุณหมออิสาน ...

Ico64

เรียนท่าน อดิเรก เร่งมานะวงษ์

 

- ส่งความสุขปี 2555..มาให้น้องนะคะ

- ขอให้ สุขภาพกาย+สุขภาพใจ ===> ดีเยี่ยม...นะคะ

- P'Ple ทำ สคส.ไม่เก่ง....ขอส่งรูปนี้มาแทนนะคะ


 

                    ขอบคุณคะ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท