"จิตผ่องใส" ทั้งที่พึงและไม่พึงเป็นไป


จากบันทึก การละชั่ว ทำดี อย่างไหนสำคัญกว่ากัน ได้ยกคำตรัสของพระพุทธองค์ที่กว่า การทำดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้ผ่องใสมากล่าวอ้าง ว่าทั้งหมดนั้นต้องไปด้วยกัน

อย่างไรก็ดี มีเรื่องที่ควรระวังเกี่ยวกับการ ทำจิตให้ผ่องใส อยู่บ้างค่ะ เพราะการที่จิตผ่องใสนั้น บางทีก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อมรรค ผล นิพพาน เสมอไป

เพราะเหตุที่จิตผ่องใส มาได้ด้วยเหตุ ๓ ประการ เป็นต้น ดังเช่น

ด้วยวิปัสสนูปกิเลส หรือ อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา(1) เช่น เมื่อได้วิปัสสนาญาณอ่อนๆแล้ว เกิดสุขขึ้น ซึ่งอาจเกิดต่อเนื่องไปแม้จะออกจากกรรมฐานแล้วนานถึง 2 3 วัน ซึ่งอาจมีอาการเย็นอยู่ในอกพร้อมๆกันไปด้วย จึงเข้าใจถึงความสุขและความมีจิตใจผ่องใสนั้นไปว่าตนบรรลุมรรคผลแล้ว ก็เสพสุขผ่องใส และติดใจกับความรู้สึกนั้น จนไม่ใช้จิตพิจารณาธรรมใดๆเพื่อให้ได้ญาณที่สูงขึ้นเพื่อให้หลุดพ้นต่อไป และเมื่อความรู้สึกนั้นหายไป ก็อยากให้เกิดขึ้นอีก การฝึกกรรมฐานจึงไม่มีใจที่จะพิจารณาธรรมเพราะใฝ่หาแต่สุข จึงไม่สามารถก้าวหน้าไปในทางปัญญาได้

ด้วยการฝึกสติปัฏฐานแบบสมถะ หรือแบบโลกิยะ (2) คือการตั้งสติติดตามกาย เวทนา จิต ธรรม เพียงเพื่อรักษาจิตให้สงบ ผ่องใส เช่น เมื่อเกิดเวทนาใดๆจนนำไปสู่ตัณหาขึ้น ก็รู้ได้ และเพราะรู้ดีว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี จึงดับเสีย อันเป็นการดับปฏิจจสมุปบาทที่กลางสาย คือดับที่ตัณหา และเพราะ สำรอกตัณหาออกเสียได้ (3) สายปฏิจจสมุปบาทจึงดับ จึงไม่เกิด ชาติ ชรา มรณะ ทุกขโทมนัสอุปายาส ขึ้น จิตก็กลับมาผ่องใสเหมือนเดิม

เพราะการดับทุกข์นั้น ดับได้ ๒ ที่ คือที่ตัณหา และที่อวิชชา การดับที่ตัณหาเป็นการดับเป็นครั้งๆ ไม่ให้ตัณหาก่อความยุ่งยากให้ต่อไป แต่เหตุให้เกิดตัณหายังไม่ได้ถูกดับ ดังนั้น เมื่อใดมีอารมณ์เดิมหรือคล้ายๆของเดิมมากระทบ ก็เกิดตัณหาเดิมขึ้นได้อีก เพียงแต่เกิดแล้วดับได้ ไม่นำไปสู่ทุกข์เท่านั้น

ด้วยการฝึกสติปัฏฐานแบบโลกุตตระ จนกระทั่ง จิตหลุดพ้น คือการฝึกที่ต่อเนื่องจากในสติปัฏฐานแบบโลกิยะนั่นเองค่ะ เพียงแต่เมื่อจิตกลับมาผ่องใสตามเดิมแล้ว ได้นำตัณหาที่เคยเกิดขึ้นเพราะเวทนาใดมาพิจารณาในขณะที่จิตเป็นสมาธิ (ควรบรรลุฌาน 4 แล้ว) จนเห็นเหตุที่มา ผลที่ไปหากจัดการกับเวทนานั้นด้วยปัญญา หรือจัดการด้วยความหลง เห็นทั้งคุณ โทษ จนไม่ดึงเข้าหาเพราะคุณ และไม่ผลักออกเพราะโทษ ก็ค่อยๆวางใจเป็นกลางกับเวทนานั้นๆในแง่มุมนั้น

เมื่อนำเวทนาขึ้นมาพิจารณาอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะด้วยต้องการค้นลึกลงไปในธรรม (4)หรือเพราะจิตดิ้นรน กวัดแกว่ง แสวงหาแง่มุมอื่นๆขึ้นมาให้ยึดมั่น ก็จะพบความเป็นจริงเกี่ยวกับเวทนานั้นในแง่มุมต่างๆยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนวางใจเป็นกลางในแต่ละแง่มุมได้มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อใด ที่จิตเห็นเวทนานั้นตามความเป็นจริง เห็นธรรมในทุกแง่มุม (ด้วยอานาปานสติในขั้นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานและในขั้นธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน- (5) เมื่อตามเห็นความไม่เที่ยงของธรรมต่างๆ เช่น ขันธ์ อายตนะ จนเบื่อหน่าย จิตก็จะหลุดพ้นจากธรรมนั้น เมื่อจิตหลุดพ้นจากธรรมนั้นแล้ว ก็รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว จึงทำให้ในเวลาต่อไป หากมีอารมณ์ในลักษณะนั้นมากระทบ จิตก็ยังคงผ่องใส ไม่หวั่นไหวไปตาม เพราะความที่จิตหลุดพ้นจากเวทนาที่มาจากอารมณ์นั้นแล้วนั่นเอง

จิตยิ่งหลุดพ้นจากสิ่งที่ยึดถือได้มากเท่าไหร่ ก็มีโอกาสที่จะคงความ ผ่องใส ได้ตลอดเวลาได้มากขึ้นเท่านั้น

และเพราะมนสิการโดยแยบคาย เห็นความไม่เที่ยงของอายตนะทั้งภายใน และภายนอก (บางทีเรียกว่า อารมณ์ 6)จึงเบื่อหน่าย สิ้นความเพลิดเพลิน เรียกว่า "จิตหลุดพ้นดีแล้ว" (6)

เมื่อจิตหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหมด คือ ราคะ โทสะ โมหะ แล้ว จึงเรียกว่า จิตหลุดพ้นได้ดี (6)

ส่วนการ รู้ชัด ว่าจิตหลุดพ้นได้ดี นั้น เรียกว่า ปัญญาหลุดพ้นได้ดี นั่นคือ รู้ว่าจิตหลุดพ้นแล้วจากราคะ โทสะ โมหะ หมดแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณาธรรมใดๆต่อไปอีกแล้ว เพราะ ชาติ อันจะเกิดเพราะธรรมต่างๆได้ สิ้น แล้ว

จึงปรินิพพานในปัจจุบัน(7) จิตจึงผ่องใสอยู่ได้ตลอดไป

เหล่านี้คือความเข้าใจตามความรู้ที่ได้จากการศึกษาในขณะนี้ค่ะ ท่านผู้รู้ท่านใด มีความเห็นอย่างไร กรุณาแลกเปลี่ยนกันนะคะ

อ้างอิง

(1) วิปัสสนูปกิเลส อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา,สภาพน่าชื่นชม แต่ที่แท้เป็นโทษเครื่องเศร้าหมองแห่งวิปัสสนาซึ่งเกิดแก่ผู้ได้วิปัสสนาอ่อนๆ ทำให้เข้าใจผิดว่าตนบรรลุมรรคผลแล้ว จึงไม่ดำเนินก้าวหน้าต่อไปในวิปัสสนาญาณ มี ๑๐ คือ
๑. โอภาส แสงสว่าง
๒. ปีติ ความอิ่มใจ
๓. ญาณ ความรู้
๔. ปัสสัทธิ ความสงบกายและจิต
๕. สุข ความสบายกาย สบายจิต
๖. อธิโมกข์ ความน้อมใจเชื่อ
๗. ปัคคาหะ ความเพียรที่พอดี
๘. อุปัฏฐาน สติชัด
๙. อุเบกขา ความวางจิตเป็นกลาง
๑๐. นิกันติ ความพอใจ

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์

Tiny_img_5049-repaint3-pic

(2) สติปัฏฐานมีวิธีเจริญ สองแบบหรือสองชั้นสองระดับ คือ ระดับสมถะอย่างหนึ่ง ระดับปัญญาอย่างหนึ่ง ถ้าพูดอย่างระบบอานาปานสติ ๑๖ ขั้น มันไปพร้อมกันไปตามลำดับ ตั้งแต่ สมถะ ถึงปัญญา มรรค ผล นิพพาน อานาปานสติ ๑๖ ขั้นกว้างอย่างนี้ แต่ถ้าพูดอย่างสติปัฏฐาน ๔ ที่พูดกันอย่างทั่วๆไป ก็พูดถึงตั้งจิตสองระบบนี้ ระบบสมถะทำอย่างหนึ่ง ระบบปัญญาทำอย่างหนึ่ง แล้วก็ไม่ค่อยได้พูดถึง มรรค ผล นิพพาน พูดแต่การตั้งจิต

พุทธทาสภิกขุ โพธิปักขิยธรรม ธรรมสูงสุด หน้า ๖๒

Tiny_img_3741-1

(3) สรุปว่าหลักการสำคัญของการดับทุกข์ คือการตัดวงจรให้ขาด วงจรนี้ตามปกติตัดได้ที่หัวเงื่อนหรือขั้วสองแห่ง ได้แก่ที่ขั้วใหญ่คืออวิชชา และที่ขั้วรองคือตัณหา แต่ไม่ว่าจะตัดที่ใด ก็ต้องให้ขาดถึงอวิชชาด้วย

การตัดวงจรจึงมีสองอย่างคือ ตัดโดยตรงที่อวิชชา และตัดโดยอ้อมที่ตัณหา เมื่อวงจรขาด กระบวนการสังสารวัฎฎ์สิ้นสุดลง ก็จะบรรลุภาวะแห่งความดับทุกข์ เป็นผู้มีชัยชนะต่อปัญหาชีวิต เป็นอยู่อย่างไร้โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พุทธธรรมฉบับปรับปรุงและขยายความ หน้า 229

Tiny_pinkrosec

(4) ธรรม หมายถึง

๑ ตัวธรรมชาติ หรือปรากฏการณ์ตามธรรมชาติทั้งหมด เรียกว่า สภาวธัมม์

๒ กฎของธรรมชาติทั้งหมด เรียกว่า สัจจธัมม์

๓ หน้าที่ของมนุษย์ตามกฎธรรมชาติ เรียกว่า ปฏิปัตติธัมม์

๔ ผลที่ได้รับจากการทำหน้าที่ เรียกว่า วิปากธัมม์

พุทธทาสภิกขุ การทำงานคือการปฏิบัติธรรม

(5) [๒๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่อย่างไรเล่า

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น

ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตภายในอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในจิตอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในจิตอยู่

หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า จิตมีอยู่ ก็เพียงเพื่ออาศัยเจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรๆในโลก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ อย่างนี้แล

ที.มหา.(แปล) ๑๐/๓๘๑/๓๑๔-๓๑๕

Tiny_img_30933-3

(6) [๕๑๘] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

บุคคลมีกายอันสงบ มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว

เป็นผู้ไม่มีอะไรๆ เป็นเครื่องปรุงแต่ง

มีสติ ไม่มีความอาลัย รู้ทั่วธรรม

มีปรกติเพ่งอยู่ด้วยฌานที่ ๔ อันหาวิตกมิได้

ย่อมไม่กำเริบ ไม่ซ่านไป ไม่เป็นผู้ย่อท้อ

สํ.ส.(แปล) ๑๕/๑๖๑/๒๑๔

[๑๕๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเห็นจักขุที่ไม่เที่ยงนั่นแลว่า 'ไม่เที่ยง' ความเห็นของภิกษุนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) เมื่อเห็นชอบก็ย่อมเบื่อหน่าย เพราะสิ้นความเพลิดเพลิน จึงสิ้นราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงสิ้นความเพลิดเพลิน เพราะสิ้นทั้งความเพลิดเพลิน และราคะ เราจึงเรียกว่า จิตหลุดพ้นดีแล้ว ฯลฯ

ภิกษุเห็นชิวหาที่ไม่เที่ยงนั่นแลว่า 'ไม่เที่ยง' ความเห็นของภิกษุนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อเห็นชอบก็ย่อมเบื่อหน่าย เพราะสิ้นความเพลิดเพลิน จึงสิ้นราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงสิ้นความเพลิดเพลิน เพราะสิ้นทั้งความเพลิดเพลินและราคะ เราจึงเรียกว่า จิตหลุดพ้นดีแล้ว ฯ

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเห็นมโนที่ไม่เที่ยงนั่นแลว่า 'ไม่เที่ยง' ความเห็นของภิกษุนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อเห็นชอบก็ย่อมเบื่อหน่าย เพราะสิ้นความเพลิดเพลิน จึงสิ้นราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงสิ้นความเพลิดเพลิน เพราะสิ้นทั้งความเพลิดเพลินและราคะ เราจึงเรียกว่า จิตหลุดพ้นดีแล้ว

สํ.สฬา.(แปล) ๑๘/๑๕๖/๑๙๓

.

ภิกษุเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นได้ดี เป็นอย่างไร

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีจิตหลุดพ้นจากราคะ มีจิตหลุดพ้นจากโทสะ มีจิตหลุดพ้นจากโมหะ ภิกษุเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นได้ดี เป็นอย่างนี้แล

ภิกษุเป็นผู้มีปัญญาหลุดพ้นได้ดี เป็นอย่างไร

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ชัดว่า ราคะ เราละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มีเกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ รู้ชัดว่า โทสะ เราละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มีเกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ รู้ชัดว่า โมหะ เราละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มีเกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ภิกษุเป็นผู้มีปัญญาหลุดพ้นได้ดี เป็นอย่างนี้แล

ที.ปา.(แปล) ๑๑/๓๔๘/๓๖๕

Tiny_img_5144-1part1

(7) ผู้ให้ทาน ย่อมเพิ่มพูนบุญ

ผู้สำรวม(ในศีล) ย่อมไม่ก่อเวร

ส่วนผู้ฉลาด ย่อมละบาปได้

เพราะสิ้น ราคะ โทสะ โมหะ

ผู้นั้นจึงชื่อว่า ปรินิพพาน แล้ว

ขุ.อุ.(แปล) ๒๕/๗๕/๓๓๐

หมายเลขบันทึก: 471864เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2011 15:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 20:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

*ขอบคุณพุทธรรม พุทธวิถี สู่ความหลุดพ้นอย่างแท้จริงค่ะ

*ภาพดอกกุหลาบทุกภาพงดงามอ่อนหวานมากค่ะ

ว้าว พี่ณัฐขา งามงดอีกแล้ว

เพิ่งเดินชมสวน เจอกุหลาบแดงบานเบ่ง

มาเห็นในบันทีกแล้ว ยิ่งว้าว กว่า

สุขสันต์ และฝันดีค่ะ

รับหัวมันหัวใหญ่เอาไปบ้าน
มองอยู่นานมันชื่อไรก็ไม่รู้
สีเทาเทาหัวใหญ่ใหญ่เอาให้ดู
หากใครรู้อย่าหลอกช่วยบอกที เอย............?

 

สวัสดีค่ะคุณ.ณัฐรดา..มา."ชมว่าเขียนภาพ..ดอกไม้ได้..งดงามมาก"..เจ้าค่ะ..แสดงถึงเป็นผู้มีสมาธิ..ที่ควรงาน..อย่างยิ่ง..บังเอิญไปได้ยินใน"ยูทูป"ของท่าน พุทธทาสที่กล่าวถึง "วิปัสสนา"ว่าเป็นการเรียน ที่ฝึกฝนให้เห็น อย่างวิเศษ เห็นอะไร เห็นอย่างดับ ทุกข์ได้..สุดท้าย..คงเห็น"นิพพาน"นะเจ้าคะ..ยายธีค่ะ

ขอบคุณที่นงนาทค่ะ ที่มาเยี่ยมกันเสมอ

สวัสดีครับพี่ณัฐรดา

ขอบคุณมากครับ สำหรับธรรม ข้อคิด ยามเช้าของวันทำงานวันนี้

สวัสดีค่ะคุณปู

ขอบคุณที่แวะมาค่ะ

ยินดีจังค่ะที่ดอกกุหลาบที่วาดทำให้รู้สึกดีค่ะ

 "จิตผ่องใส  ใจเบิกบาน"

ดอกกุหลาบสีหวานมากค่ะ

ขอบคุณที่แบ่งปันนะคะ

สวัสดีค่ะคุณโสภณ

ขอบคุณค่ะที่แวะมา

แต่ ไม่ทราบจริงๆค่ะ ว่า "มัน" คืออะไรค่ะ

ขออนุญาตนำบางส่วนไปสอนนิสิตในชั้นเรียนนะครับ...

ขอบพระคุณครับ

มาส่งความสุขด้วยปฏิทินชุด "รอยยิ้มของพ่อ" ค่ะ

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/471969

สวัสดีค่ะคุณยายธี

ขอบคุณที่แวะมาค่ะ

เมื่อไรจะมีโอกาสดีๆในพระศาสนาอย่างที่คุณยายธีเคยมีมาบ้างแล้วน้า

สวัสดีค่ะ อ.สุชาติ

ขอบพระคุณสำหรับพรปีใหม่ค่ะ

สวัสดีค่ะคุณบินหลาดง

ตามไปอ่านวัฒนธรรมองค์กรที่บ้านแล้วค่ะ

น่าดีใจแทน

ขอบคุณที่แวะมานะคะ

ขอบคุณและสวัสดีปีใหม่ค่ะพี่ณัฐรดา

สวัสดีปีใหม่ค่ะพี่ณัฐรดา

  • ขอบคุณเรื่องราวดี ๆ ที่ได้นำมาพิจารณาตัวเองค่ะ
  • ระลึกถึงเสมอค่ะ และขออนุญาตแบ่งปันนะคะ..^_^

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท