พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

ความเห็นทางกฎหมายในกรณีปัญหาสิทธิในเสรีภาพในการเดินทางไปต่างประเทศของ ด.ญ.กิติยา ริมพู แห่ง ร.ร.สวนลุมพินี


ความเห็นทางกฎหมายในกรณีปัญหาสิทธิในเสรีภาพในการเดินทางไปต่างประเทศ ของด.ญ.กิติยา ริมพู ฉบับวันที่ 12 ธันวาคม 2554

ความเห็นทางกฎหมายในกรณีปัญหาสิทธิในเสรีภาพในการเดินทางไปต่างประเทศของ ด.ญ.กิติยา ริมพู

--------------------------------------------------------------------------------------------------------

สำรวจข้อเท็จจริงเบื้องต้น และจัดทำความเห็นทางกฎหมาย โดย นางสาวพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์  นักกฎหมายประจำโครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษาด้านสถานะและสิทธิบุคคล ภายใต้กองทุนศาสตราจารย์คนึง ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับวันที12 ธันวาคม 2554
ตรวจสอบการจัดทำความเห็นโดย อาจารย์ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นางสาวอัจฉรา สุทธิสุนทรินทร์ และ นางสาวบงกช นภาอัมพร และอาจารย์กิติวรญา รัตนมณี เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2554

 

-----------------

ข้อเท็จจริง[1]

------------------

  • ชื่อ เด็กหญิงกิติยา ริมพู
  • อายุ 12 ปี
  • เกิดเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2542 ปรากฏตามบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน
  • สถานที่เกิด คือ ประเทศไทย ตามคำพยานของนายบุตตีมานผู้เป็นบิดา
  • ภูมิลำเนาปัจจุบัน คือ เขตบางรัก กรุงเทพฯ

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เอกสารที่รัฐไทยออกให้เพื่อรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย ของด.ญ.กิติยา ริมพู

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

  • บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เลขประจำตัว 0-XXXX-89000-XX-X ออกโดยสำนักเขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2554 หมดอายุเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2564
  • แบบรับรองรายการทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ทร.38ข เลขประจำตัว 0-XXXX-89000-XX-X ออกโดยสำนักเขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

---------------------------------------------------------------------------------

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบิดาของ ด.ญ.กิติยา ริมพู

---------------------------------------------------------------------------------

  • บิดามีชื่อเป็นภาษาไทยว่า “นายบุตตีมาน ริมพู” ปรากฏตามแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ทร.38/1
  • และมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘Budeman” ปรากฏตามหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport)
  • เกิดวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ.1974 เกิดที่เมืองมิตจินา (Myitkyina) ประเทศพม่า ปรากฏตามหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport)
  • ปัจจุบันอายุ 37 ปี
  • เอกสารประจำตัวของบิดาที่รัฐไทยออกให้ คือ

(1)               แบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ทร.38/1 เลขประจำตัว 00-XXXX-XXXXXX-X ออกโดย สำนักงานเขตพระนคร จัดทำทะเบียนเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2547

(2)               ใบรับคำขอ เลขที่ 17572 ออกโดย กรมการจัดหางาน ลงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2554 (ใช้แทนใบอนุญาตทำงาน อนุญาตทำงานจนถึง 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2555)

  • เอกสารประจำตัวของบิดาที่รัฐพม่าออกให้ คือ หนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) เลขที่ TCL049xxx ออกโดย กระทรวงมหาดไทย (Ministry of Home Affairs) ของสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2553
  • ภูมิลำเนาปัจจุบัน คือ เขตบางรัก กรุงเทพฯ
  • ปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นพนักงานขาย ร้าน WESTERN TAILOR ถ.ข้าวสาร บางลำพู กรุงเทพฯ

------------------------------------------------------------------------------------

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมารดาของ ด.ญ.กิติยา ริมพู

-------------------------------------------------------------------------------------

  • มารดามีชื่อเป็นภาษาไทยว่า “นางดูลูกา เดวี ลิมบู” ปรากฏตามแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ทร.38/1
  • และมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Thurakar Devi” ปรากฏตามหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport)
  • เกิดวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ.1974 เกิดที่เมืองโมกก (Mogok) ประเทศพม่า ปรากฏตามหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport)
  • ปัจจุบันอายุ 37 ปี
  • เอกสารประจำตัวของมารดาที่รัฐไทยออกให้ คือ

(3)               แบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ทร.38/1 เลขประจำตัว 00-xxxx-xxxxxx-x ออกโดย สำนักงานเขตบางรัก จัดทำทะเบียนเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2547

(4)               ใบรับคำขอ เลขที่ 141977 ออกโดย กรมการจัดหางาน ลงวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2554 (ใช้แทนใบอนุญาตทำงาน อนุญาตทำงานจนถึง 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2555)

  • เอกสารประจำตัวของมารดาที่รัฐพม่าออกให้ คือ หนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) เลขที่ TCL049xxx ออกโดย กระทรวงมหาดไทย (Ministry of Home Affairs) ของสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2553
  • ภูมิลำเนาปัจจุบัน คือ เขตบางรัก กทม.
  • ปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นพนักงานขายร้าน WESTERN TAILOR ถ.ข้าวสาร บางลำพู

--------------------------------------------------------

การศึกษาของ ด.ญ.กิติยา ริมพู

--------------------------------------------------------

  • ศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-5 ณ โรงเรียนสวนลุมพินี
  • ปัจจุบันกำลังศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ณ โรงเรียนสวนลุมพินี

--------------------------------------------------------------------------

สถานะบุคคลตามกฎหมายของด.ญ.กิติยา ริมพู :

บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรของรัฐไทย

--------------------------------------------------------------------------

  • จากการรับฟังข้อเท็จจริงในเบื้องต้น เด็กหญิงกิติยา ริมพู เกิดในประเทศไทยจากบิดาและมารดาซึ่งสันนิษฐานจากข้อเท็จจริงในการสอบปากคำเบื้องต้นว่าอาจจะเป็นคนไร้สัญชาติตามข้อเท็จจริงในขณะที่อพยพเข้าประเทศไทย เมื่อประมาณปี พ.ศ.2542 ก่อนที่จะให้กำเนิดเด็กหญิงกิติยา หลังจากเด็กหญิงกิติยา เกิด บิดามารดาไม่เคยแจ้งการเกิดและไม่ปรากฏว่าได้มีการบันทึกชื่อของ เด็กหญิงกิติยา ในทะเบียนราษฎรทั้งของประเทศไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า
  • เมื่อปี พ.ศ.2547 ได้มีการเปิดให้คนต่างด้าวที่อพยพและอาศัยอย่างผิดกฏหมายในประเทศไทยที่มาจากประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา ขึ้นทะเบียนเพื่อทำงานและผ่อนผันให้อยู่ประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว” บิดามารดาของเด็กหญิงกิติยาก็ได้ไปขึ้นทะเบียนเช่นกัน แต่มิเคยนำเด็กหญิงกิติยาไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้ติดตามแต่อย่างใด ดังนั้น ตลอดระยะเวลา 12 ปี เด็กหญิงกิติยาซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยจึงประสบปัญหาความไร้รัฐเจ้าของทะเบียนราษฎรตลอดมา
  • และจนกระทั่งในปี พ.ศ.2553 บิดาและมารดาของเด็กหญิงกิติยาได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติพม่า ได้รับเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่ากล่าวคือ หนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) ซึ่งยอมรับบุคคลทั้งคู่ในสถานะราษฎรของประเทศพม่า แต่ในทางตรงกันข้ามเด็กหญิงกิติยายังคงเป็นคนไร้สัญชาติตามข้อเท็จจริงของทุกประเทศในโลก เนื่องจากยังไม่ผ่านกระบวนการรับรองสิทธิในสัญชาติพม่าเฉกเช่นกับบิดามารดา จึงยังไม่สามารถใช้สิทธิในสัญชาติพม่าได้แต่อย่างใด
  • อย่างไรก็ตาม ในปีพ.ศ.2554 เด็กหญิงกิติยาซึ่งเป็นเด็กที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาของประเทศไทย จึงมีโอกาสได้รับการขจัดความไร้รัฐ เนื่องจากเป็นบุคคลกลุ่มเป้าหมายกลุ่มที่ 2 ของยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ภายใต้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2548 ซึ่งถือเป็นกลไกในการคุ้มครองสิทธิของคนไร้รัฐที่ปรากฏตัวบนผืนแผ่นดินไทย อันสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทยในฐานะรัฐภาคี กล่าวคือ (1) ข้อ 6 แห่ง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948 และ (2) ข้อ 16 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและทางการเมือง ค.ศ.1966
  • ภายใต้บทบัญญัติมาตรา 38 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551โดยอ้างถึง หนังสือสั่งการสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่มท.0309.1/ว 33 ลงวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2553 เด็กหญิงกิติยาจึงได้รับการสำรวจและบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎรประเภทบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร (ทร.38ก) กลุ่มเด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาของประเทศไทยแต่ไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับการกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก คือ 0-xxxx-89000-xx-x ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคล ของ เด็กหญิงกิติยา ริมพู และได้ขจัดปัญหาความไร้สถานะทางทะเบียนราษฎรของ เด็กหญิงกิติยา ริมพูให้หมดสิ้นไปแล้ว
  • สำหรับอีกหนทางในการขจัดปัญหาความไร้สัญชาติให้แก่เด็กหญิงกิติยาผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาจใช้อำนาจตาม มาตรา 7ทวิวรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2)พ.ศ.2535 และโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 เพื่ออนุญาตให้สัญชาติแก่เด็กหญิงกิติยา ทั้งนี้เพราะยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2548 กำหนดสำหรับ “กรณีบุคคลที่มีคุณประโยชน์แก่ประเทศ” ว่ารัฐบาลมีนโยบาย “ให้สัญชาติแก่บุคคลที่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนของทางราชการ และอาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป โดยมีความประพฤติดี รวมทั้งได้ศึกษาอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาและมีผลงาน ความรู้ ความเชี่ยวชาญที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ  โดยสรุปหากฟังได้ว่าเด็กหญิงกิติยาเป็นบุคคลที่มีคุณประโยชน์แก่ประเทศ รัฐมนตรีก็มีอำนาจตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวอนุญาตให้สัญชาติแก่เด็กหญิงกิติยาได้

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สิทธิในเสรีภาพในการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อพัฒนาศักยภาพของ ด.ญ.กิติยา ริมพู

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------

  • จากข้อเท็จจริงที่ปรากฎคือ เด็กหญิงกิติยา ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเด็กไร้สัญชาติ ผู้เป็นหัวหน้าหน่วยคัลเลอร์การ์ดของวงโยธวาทิตของโรงเรียนสวนลุมพินี ซึ่งชนะเลิศการแข่งขันวงโยธวาทิตระดับประเทศและได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันประกวดวงโยธวาทิตในงาน Hong Kong Marching Band Festival 2011 วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ณ เขตการปกครองพิเศษฮ่องกง ทำให้ เด็กหญิงกิติยามีความจำเป็นต้องเดินทางออกนอกประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมของทางโรงเรียน ซึ่งเป็นการสร้างทำคุณประโยชน์และสร้างชื่อเสียงให้ทั้งแก่โรงเรียนสวนลุมพินี และแก่ประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาศักยภาพทางดนตรีของเด็กหญิงกิติยา อีกด้วย
  • โอกาสที่จะทำคุณประโยชน์และสร้างชื่อเสียงให้แก่โรงเรียนสวนลุมพินีและประเทศไทย รวมถึงการเข้าถึงโอกาสที่จะพัฒนาทักษะทางดนตรี พัฒนาคุณภาพทางการศึกษาและคุณภาพชีวิตของเด็กหญิงกิติยาจะเป็นไปได้นั้น จำเป็นต้องดำเนินไปบนฐานแห่งสิทธิในเสรีภาพในการเดินทางเพื่อเข้าถึงโอกาสดังกล่าว ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมีโดยเท่าเทียม และไม่ถูกแบ่งแยก หรือถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างด้านเชื้อชาติ สัญชาติ สถานะบุคคล ประเทศไทยจำต้องเคารพต่อสิทธิดังกล่าวของเด็กหญิงกิติยา เพื่อเป็นการสนับสนุนเด็กและเยาวชน ในฐานะมนุษย์ที่เป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคมไทยในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 รับรองไว้ดังปรากฏใน มาตรา 4 และ มาตรา 30 และเป็นไปตามพันธกรณี ข้อ 29 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.1989
  • และเนื่องจาก ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เด็กหญิงกิติยา เป็นคนต่างด้าวไร้สัญชาติ ซึ่งสิทธิอาศัยและสิทธิเข้าเมืองย่อมเป็นไปตาม มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 โดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 54 ในการกำหนดพื้นที่และเงื่อนไขการอยู่อาศัยในประเทศไทยของ เด็กหญิงกิติยา
  • ทั้งนี้ คนต่างด้าวไร้สัญชาติอย่าง เด็กหญิงกิติยา หากเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรสิทธิที่จะได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวต่อไปจะสิ้นสุดลงทันที ตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ประกอบกับ ข้อ 6(3) ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและกำหนดเขตพื้นที่ควบคุม
  • แต่ด้วยเหตุผลข้างต้นที่มีความชัดเจนว่า การเดินทางออกนอกราชอาณาจักรของเด็กหญิงกิติยา ครั้งนี้ เป็นไปเพื่อเป็นตัวแทนโรงเรียนของประเทศไทยไปแข่งขันประกวดวงโยธวาทิต ณ เขตการปกครองพิเศษฮ่องกง อันเป็นการทำคุณประโยชน์ และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ อีกทั้งยังเป็นการเคารพต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของ เด็กหญิงกิติยา ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง จึงถือได้ว่า เป็นกรณีจำเป็นเฉพาะเรื่องที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 อาศัยอำนาจตาม มาตรา 17 เพื่อยกเว้นไม่จำต้องปฏิบัติตาม มาตรา 39 วรรคแรก และมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอนุญาตให้ เด็กหญิงกิติยาเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรและกลับเข้ามาได้ ประกอบกับ ข้อ 5 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและกำหนดเขตพื้นที่ควบคุม

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ข้อเสนอแนะ เพื่อการออกเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลเพื่อเดินทางไปต่างประเทศให้กับ ด.ญ.กิติยา ริมพู

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

  • แม้ว่าตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจะแสดงให้เห็นว่า เด็กหญิงกิติยา จะเป็นบุตรของแรงงานต่างด้าวจากประเทศพม่าที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ซึ่งน่าจะต้องมีสัญชาติพม่าเฉกเช่นกับบิดามารดา หากแต่กระบวนการในการพิสูจน์สัญชาติเพื่อรับรองการมีสิทธิในสัญชาติพม่าของบุตรมิได้เกิดขึ้นในความเป็นจริง เด็กชายสมบูรณ์จึงไม่สามารถใช้สิทธิในสัญชาติพม่าได้แต่อย่างใด
  • อย่างไรก็ตาม ก็มิอาจปฏิเสธอีกข้อเท็จจริงหนึ่งที่ปรากฏอย่างเด่นชัดว่า ประเทศไทยเองก็มีความประสงค์ดีที่จะขจัดความไร้รัฐให้แก่เด็กในสถาบันการศึกษาของประเทศไทย จึงได้รับเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลให้แก่ เด็กหญิงกิติยา ในระหว่างที่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติของบุตรแรงงานต่างด้าวยังมิได้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ ดังเห็นได้จากการออกเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล อันได้แก่ บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ให้แก่เด็กหญิงกิติยา
  • ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเคารพในหลักการการคำนึงถึงประโยชน์อันสูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ ตาม ข้อ 3(1) และการให้ประกันอย่างเต็มที่จากรัฐเพื่อการที่เด็กจะได้รับการพัฒนา ตาม ข้อ 6.2  แห่ง อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.1989 และ มาตรา 22 แห่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ประเทศไทยอันเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของเด็กในความเป็นจริง ณ ปัจจุบัน จึงควรออกเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลเพื่อใช้ในการเดินทางของคนต่างด้าวไร้สัญชาติที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทย อันได้แก่  “เอกสารเดินทางสำหรับคนต่างด้าว” (Travel Document for Aliens) ให้แก่เด็กหญิงกิติยา
  • อนึ่ง ขั้นตอนการทำเอกสารเดินทางของคนต่างด้าว คือ คนต่างด้าวไร้สัญชาติต้องดำเนินการติดต่อสำนักกิจการความมั่นคงภายใน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอความอนุเคราะห์พิจารณาการอนุญาตเดินทางออกนอกประเทศและเดินทางกลับเข้าประเทศ หลังจากนั้นกองตรวจลงตราและเอกสารเดินทางคนต่างด้าว กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ จะดำเนินการออกเอกสารเดินทางดังกล่าว เฉกเช่นเดียวกับกรณีการเดินทางออกไปและกลับเข้ามาในราชอาณาจักรของคนต่างด้าวไร้สัญชาติของ อาจารย์อายุ นามเทพ เด็กชายหม่อง ทองดี และอดีตคนไร้สัญชาติอย่าง นางสาวศรีนวล เสาร์คำนวล

 

 

 

 

 



[1] สอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเพื่อใช้วิเคราะห์ความเห็นทางกฎหมาย โดยการสัมภาษณ์ เด็กชายสมบูรณ์ ริมพู และ เด็กหญิงกิติยา ริมพู เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2554 โดย นางสาวพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์

หมายเลขบันทึก: 471539เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2011 02:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 19:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท