สอนวิชามนุษย์กับการเรียนรู้ครั้งที่ 4


สวัสดีครับ ผู้ร่วมเดินทางสู่ความเป็นกลาง ทุกคน

ในชั้นเรียนวิชามนุษย์กับการเรียนรู้วันนี้ แปลกไปกว่าทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมาก มีนิสิตหลายคนทักทายผมแบบมีศรัทธาในเนื้อหาและแนวทางที่พวกเขาได้เรียนรู้ในรายวิชานี้ และขณะที่ผมสอน ผมเห็นแววตาและความตั้งใจของนิสิตหลายคนที่แสดงผ่านความภูมิใจและดีใจของใจผมเองที่ผุดขึ้นเป็นระยะๆ ที่สบตากับพวกเขาเหล่านั้น ถึงแม้ว่าจะยังไม่เยอะมากนัก และยังมีนิสิตส่วนหนึ่ง ยังล่องลอย หล็อกแหล็ก หลุดเลยไปนอกห้องก็ตาม

วันนี้ผมเริ่มด้วยการ "ขอโทษ" หนึ่งในคำที่ในหลวงสอนเราให้พูดบ่อยๆ ขอโทษนิสิตที่มารอเรียนแต่ไม่ได้เรียนเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว วันนี้ผมได้บทเรียนแล้วว่า ถ้าแจ้งยกเลิกชั้นเรียนผ่านระบบระเบียนของมหาวิทยาลัยอย่างเดียว จะมีนิสิตเกือบ 1 ใน 4 ที่ไม่ได้รับข่าวสารนั้น ขณะนั้นในใจผมอยากถามพวกเขาออกไปเหมือนกันว่า ขณะรอแล้วไม่ได้เรียนนั้นหน่ะ ได้เห็นความรู้สึกเบื่อ หงุดหงิด ขัดใจ ของตนเองบ้างหรือไม่ ถ้ายังไม่ แสดงว่ายังไม่ได้นำสิ่งที่เรียนในวิชานี้ไปใช้จริงในชีวิต

หลังจากทบทวนเนื้อหาสาระสำคัญ แก่นสำคัญ ที่ได้เรียนผ่านมา พอสมควร ผมเกริ่นไปข้างหน้าว่า อีก 15 นาทีต่อไปนี้จะเป็นการสอน "แบบเดิม" คือแบบบรรยาย แบบบรรยายให้ผู้เรียน ฟังและคิด คิดสลับฟัง และบางส่วนอาจจะถูก "จำ" เข้าไปสู่ "ความรู้" ที่ยังไม่ใช่ "ตัวรู้" ที่เป็นแก่นของรายวิชานี้ แล้วผมก็บรรยายประกอบเพาเวอร์พอยท์ เรื่อง การเรียนรู้ด้วยการคิด และทฤษฎีทางการเรียนรู้ต่างๆ เช่น ทฤษฎีพหุปัญญา ขั้นการเรียนรู้ของบลูม ทั้งพุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัย หลักการพัฒนาปัญญาของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี การคิดโดยแยบคายหรือโยนิโสมนสิการตามหลักพุทธ และสิบวิธีการคิดสำหรับอนาคตของ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์

กิจกรรมวันนี้คือ "สัตว์สี่ทิศ" เป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ไม่ได้บอกกับนิสิต คือ การได้คิด หรือการ "ใช้ความคิด" พิจารณาอย่างใคร่ครวญว่า ตนเอง คล้ายกับสัตว์ประเภทใดมากที่สุด ระหว่าง นกอินทรีย์ กระทิง หนู และหมี อ่านลักษณะของคนแบบสัตว์สี่ประเภทนี้ที่นี่ 

ผมปรับเปลี่ยนเทคนิคนิดหน่อย แทนที่จะใช้ กระดาษ A4 คนละแผ่น และให้นิสิตเขียนวงกลม แล้วแบ่งวงกลมออกแบบส่วนๆ โดยใช้พื้นที่ของวงกลมแต่ละส่วนแทนความคล้ายสัตว์ประเภทนั้นๆ ว่ามากหรือน้อย คราวนี้ผมตัดกระดาษ A4 ออกเป็น 8 ส่วนเท่าๆ กัน แล้วให้นิสิตพับกระดาษนั้นออกแบบสี่ส่วน โดยมีพื้นที่ของแต่ละส่วนสอดคล้องกับความคล้ายสัตว์ประเภทนั้น มากหรือน้อย....... ปรากฎว่า ได้ผลดีครับ นอกจากจะประหยัดกระดาษ ประหยัดเนื้อที่แล้ว ดูเหมือนว่านิสิตจะสนใจและสนุกกับการพับกระดาษแบบต่างๆ พอสมควร

เนื่องจากกระดาษที่แจกให้มีพื้นที่ขนาดเล็ก ผมจึงให้นิสิตเขียนเพียงหัวเรื่องคร่าวๆ ว่า ทำไมตนเองถึงคล้ายสัตว์ประเภทนั้นๆ โดยให้เขียนลงเฉพาะสัตว์ประเภทที่อยู่ในส่วนพื้นที่มากที่สุด เนื่องจากเวลาที่จำกัด

ผมสังเกตหลายครั้งว่า คนไทยจะมองตัวเองเหมือนหนูมากที่สุดกว่าสัตว์ประเภทอื่นๆ ผมสงสัยว่าถ้าทำกิจกรรมนี้ที่ประเทศอื่นๆ จะเป็นเหมือนกันไหม

สุดท้ายก็แบ่งให้แต่ละกลุ่มโดยมี นกอินทรีย์ 1 กระทิง 1 หมี 1 และหนู 3 เป็นสมาชิกกลุ่ม เดินออกนอกห้องไปเลือกนั่งล้อมวงกันตรงสนามหญ้า ซึ่งขณะเวลาเรียนบรรยายกาศกำลังเย็นสบาย เหมาะอย่างยิ่งต่อการผ่อนคลาย ระบาย และรับฟังเรื่องจากเพื่อนๆ

ครั้งต่อไปเราคงได้สรุปกันว่า ได้อะไรบ้างจากก้อนหิน ปากกา หรือกิ่งไม้ศักดิ์สิทธิ์ .......

ขอจบตรงนี้ครับ

หมายเลขบันทึก: 471538เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2011 00:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท