สภาแจงเพิ่มสิทธิเงินพยาบาล อ้างประกันหมู่เอกชนดูแลไม่ดี


เลขาธิการสภารอกฤษฎีกาตีความระเบียบเพิ่มสิทธิวงเงินรักษาพยาบาล ส.ส.-ส.ว.อ้างประกันกลุ่มบริษัทดูแลไม่ทั่วถึง 'ไพจิต' แจงสมาชิกรัฐสภาทำประโยชน์ให้ชาติ ต้องได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าบัตรทอง 30 บาท จากกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม เห็นชอบร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเกี่ยวกับการประกันสุขภาพ (การรักษาพยาบาล) ของสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ... ซึ่งมีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์และสิทธิค่ารักษาพยาบาลหลายรายการแก่ ส.ส. และ ส.ว.นั้น

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่าระเบียบกระทรวงการคลังดังกล่าว ออกตามความในพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาประธานและรองประธานวุฒิสภา และผู้นำฝ่ายค้านในสภา ส.ส. ส.ว. และกรรมาธิการซึ่งกำหนดเรื่องสิทธิประโยชน์ในด้านต่างๆ ไว้สำหรับการรักษาพยาบาล เดิมใช้การประกันสุขภาพกลุ่ม โดยมีการอุดหนุนในอัตราไม่เกิน 20,000 บาท/คน/ปี โดยรัฐสภาไปหาบริษัทมารับประกันเอง แต่ไม่เพียงพอ การรักษาไม่ครอบคลุมโรค มีขีดจำกัดเรื่องสถานพยาบาลทำให้ต้องมาพิจารณาทบทวนกันใหม่ โดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการสภา เบื้องต้นได้หารือกับกระทรวงการคลัง ในส่วนของสวัสดิการดังกล่าวนั้น ควรยกให้เทียบเท่ากับข้าราชการ

นายพิทูรกล่าวว่า ขณะนี้ระเบียบใหม่ยังไม่มีผลใช้บังคับใช้ เพราะอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าติดขัดปัญหาทางกฎหมายอะไรหรือไม่ ดังนั้นทั้งในเชิงตัวเลขสิทธิรักษาพยาบาล รูปแบบการประกันสุขภาพ จึงขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเห็นด้วย หรือท้วงติงอย่างไร อย่างไรก็ตาม รูปแบบใหม่ตามระเบียบกระทรวงการคลัง จะคล้าย ๆ กับนำ ส.ส.และ ส.ว.เข้าสู่ระบบประกันสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีในแต่ละด้านอยู่แล้วแต่ของ ส.ส.และ ส.ว.จะเรียกว่าอะไรนั้นต้องรอผลการศึกษาของกฤษฎีกาอีกครั้ง

ด้านนายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ.กิจการสภา กล่าวถึงที่มาการร่างระเบียบกระทรวงการคลัง ที่มีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์และสิทธิการเบิกค่ารักษาพยาบาลครั้งละ 1 แสนบาท ซึ่งทำให้มีวงเงินค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 112 ล้านบาท ว่า ที่ผ่านมา ส.ส.และส.ว. บ่นว่าการรักษาพยาบาลทำได้ไม่เต็มที่เพราะใช้ระบบประกันกลุ่ม ซึ่งบริษัทประกันก็ทำกำไรในส่วนนี้สูง แต่ไม่ดูแลในเรื่องของการเบิกจ่ายค่ารักษาของสมาชิกเท่าที่ควรโดยเฉพาะการตรวจสุขภาพที่สมาชิกสามารถเบิกได้เพียงครั้งละ 2,000 บาทเท่านั้น แต่สมาชิกต้องจ่ายเต็มจำนวน 10,000-12,000 บาท จึงมีการหารือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการสรุปว่าควรนำหลักเกณฑ์การเบิกค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกรัฐสภาเทียบเท่ากับข้าราชการในระดับ 10 หรือ 11

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเพิ่มเพดานการรักษาพยาบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เท่าเทียมกันในการรักษาพยาบาลระหว่างประชาชนเจ้าของภาษีกับสมาชิกรัฐสภา นายไพจิตกล่าวว่า เรื่องที่มีการพูดว่าเป็นสิทธิพิเศษเกินกว่าคนธรรมดานั้น สมาชิกรัฐสภาถือว่าเป็นคนทำประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมืองสังคมก็ควรที่จะให้การดูแล เชื่อว่าประชาชนเข้าใจในเรื่องนี้ ที่มีการถามกันว่าบัตรทอง 30 บาทก็มี ทำไม ส.ส.ไม่ใช้เหมือนประชาชนนั้นเห็นว่าถ้ามีระบบการรักษาสุขภาพที่ดีที่เป็นองค์กรเฉพาะของสมาชิกรัฐสภา ก็จะทำให้การรักษามีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น เรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งคิด แต่คิดกันมาสิบกว่าปีแล้ว เพิ่งผลักดันสำเร็จในยุคนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระเบียบกระทรวงการคลังดังกล่าว มีรายละเอียดเดียวกับที่เคยเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2553 แต่ ครม.ตีกลับให้ไปทบทวนเรื่องตัวเลขและความเหมาะสมใหม่ หลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องท้วงติง อาทิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ความเห็นว่าการจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลสำหรับ ส.ว.และ ส.ส.ในระหว่างการดำรงตำแหน่งมีความจำเป็น แต่แนวทางการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลตามอัตราสิทธิประโยชน์ที่กำหนด เป็นการให้สิทธิแบบการประกันสุขภาพเอกชน แม้จะมีการจำกัดขอบเขตบริการและเพดานค่าใช้จ่ายต่อครั้ง แต่ไม่มีการเฉลี่ยความเสี่ยง หรือกำหนดเพดานวงเงินงบประมาณภาพรวมในแต่ละปี อาจส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลได้อย่างเหมาะสมและเป็นภาระงบประมาณของรัฐ

นอกจากนี้การกำหนดสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคในการได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลจากรัฐของปวงชนชาวไทย แม้เปรียบเทียบกับสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการก็ตาม ขณะที่สำนักงบประมาณตั้งข้อสังเกตว่าอัตราสิทธิประโยชน์สวัสดิการรักษาพยาบาลตามร่างระเบียบที่เสนอ จะทำให้รัฐมีภาระงบประมาณเพิ่มขึ้น จากประมาณปีละ 12,600,000 บาท เป็นประมาณปีละ 124,635,700 บาท หรือเพิ่มขึ้น 112 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ร่างระเบียบกระทรวงการคลังดังกล่าวกำหนดเรื่องสิทธิประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ไว้ อาทิ ค่าที่พัก ค่าเดินทาง รวมทั้งสวัสดิการการรักษาพยาบาล สำหรับสวัสดิการการรักษาพยาบาลมีการยกร่างแก้ไขเพิ่มเข้าไปในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกฯ เมื่อปี 2540 ในมาตรา 7 ระบุให้ ส.ส. และ ส.ว.ได้รับการประกันสุขภาพขณะดำรงตำแหน่งโดยให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิฯ และสำนักงานเลขาธิการสภา จัดให้มีการประกันสุขภาพ ซึ่งกระทรวงการคลังเบิกจ่ายงบประมาณอุดหนุนสวัสดิการรักษาพยาบาลแก่สมาชิก

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ส.ว.และ ส.ส.ได้รับการประกันสุขภาพเป็นรายปี โดยเบิกจ่ายเงินงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายในลักษณะการประกันสุขภาพกลุ่ม ในอัตราไม่เกิน 20,000 บาทต่อคนต่อปี มีค่าใช้จ่ายประมาณปีละ 12.6 ล้านบาท แต่ร่างระเบียบฉบับใหม่ที่เสนอปรับให้เป็น ส.ว.และ ส.ส. จะได้รับสิทธิประโยชน์สวัสดิการรักษาพยาบาล โดยเบิกค่ารักษาพยาบาลทั่วไปต่อครั้งได้ 100,000 บาท, ค่าผ่าตัดต่อครั้งได้ 120,000 บาท และค่าตรวจสุขภาพประจำปีได้ 7,000 บาท โดยจะมีผลบังคับใช้ในปีงบประมาณ 2556 เพราะปี 2555 ยังอยู่ในสัญญาประกันสุขภาพกลุ่มรวมค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 124.63 ล้านบาท เท่ากับว่าระเบียบใหม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 112 ล้านบาท

เมื่อผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบสิทธิประกันสุขภาพในหน่วยงานอื่น ได้แก่ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่ล้วนยังใช้รูปแบบประกันกลุ่ม โดยมีอัตราสิทธิประโยชน์น้อยกว่าร่างระเบียบที่เสนอโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีเนื้อหาจ่ายงบตรงจากกระทรวงการคลังระบุสิทธิประโยชน์ชัดเจน และไม่ผ่านระบบประกัน โดยสิทธิประกันสุขภาพของหน่วยงานต่าง ๆ เมื่อเทียบแล้วค่อนข้างน้อยกว่าของฝ่ายนิติบัญญัติมาก อาทิ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตามระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินวิธีการเบิกจ่าย และอัตราค่าประกันสุขภาพของผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2544 ในข้อ 3 ให้ได้รับการประกันสุขภาพตามอัตราที่จ่ายจริงคนละไม่เกิน 30,000 บาท/ปี

ส่วนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตามระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยประโยชน์ตอบแทนอื่นในส่วนที่เกี่ยวกับการประกันสุขภาพของประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2549 ค่าเบี้ยประกันสุขภาพตามอัตราที่จ่ายจริงในวงเงินคนละไม่เกิน 40,000 บาท/ปี

สำหรับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามระเบียบ ป.ป.ช. ว่าด้วยการประกันสุขภาพของประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2544 ให้ได้รับการประกันสุขภาพตามอัตราที่จ่ายจริงคนละไม่เกิน 30,000 บาท/ปี เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 หมวดสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐ ตามมาตรา 51 ระบุ บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริหารสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดังนั้นจึงเป็นข้อสังเกตว่าระเบียบดังกล่าวสอดคล้องกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อเทียบกับสิทธิรักษาพยาบาลในระบบปัจจุบัน ได้แก่ประกันสังคม หลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการ

มติชน 16 ธันวาคม 2554

หมายเลขบันทึก: 471491เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2011 12:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท