ศรีตรัง : เพียงแค่สายลมที่พัดผ่าน


ไม้ดอกสีม่วงที่งดงามกับสายลมจากอดีต

หลายวันมานี้สายลมหนาวพัดโชยเอื่อยมันช่างสดชื่นหัวใจจริงๆ (ถึงแม้จะไม่ค่อยได้อาบน้ำตอนเช้าก็ตามที แฮะๆ แต่ดมดูแล้วกลิ่นยังโออยู่ก็เอานะ...) ขับรถก็ไม่ต้องเปิดแอร์ให้เปลืองน้ำมัน แดดเช้าที่เคยร้อนจนแสบผิวก็อบอุ่นระยิบระยับจับตา ที่สำคัญคือ ดอกไม้แห่งเหมันต์เริ่มที่จะเบ่งบานกันแล้ว เป็นความงดงามที่จรรโลงหัวใจให้สดชื่นหากต้องหมองหม่นลงด้วยลมร้อนของชีวิต

หนึ่งในดอกไม้ที่เบ่งบานให้ได้เห็นกันคือไม้ดอกสีม่วงทรงเสน่ห์สำหรับใครหลายๆคน “ศรีตรัง” ก่อนอื่นหากใครๆที่ชื่นชอบพรรณไม้ยืนต้นดอกงาม แล้วค้นภาพต้นไม้จาก Internet แล้วพบภาพศรีตรัง ขอให้ทราบก่อนว่า ศรีตรังนั้นแบ่งเป็นสองชนิดใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ

ศรีตรัง

1.ชนิดที่มีช่อดอกเกิดที่ปลายยอด มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Jacaranda minosifolia D.Don เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ยักษ์ ประมาณต้นก้ามปู มีทรงพุ่มที่สวยงามเป็นรูปร่ม คนไทยมักเรียกว่า “ศรีตรังออสเตรเลีย” น้องชายจากเว็บ akitia บอกว่าศรีตรังชนิดนี้ต้องการความแห้งแล้งอย่างมากเพื่อให้ทิ้งใบและออกดอกได้งดงาม หากปลูกในบ้านเราอาจจะไม่ทิ้งใบก็ได้ ที่บ้านผมก็ได้เมล็ดมาเพาะจากออสเตรเลียจำนวนหนึ่ง เพาะขึ้นแล้วก็แจกจ่ายเพื่อนฝูงไป เหลือปลูกลงดินหนึ่งต้นยังคิดๆอยู่ว่าจะเอาออกดีไหม เพราะเขาเป็นไม้ใหญ่มากๆ อาจจะไม่เหมาะสมที่จะปลูกในบ้าน เร็วๆนี้อาจจะขุดออกไปปลูกในวัดก็ได้

2.ชนิดที่มีช่อดอกเกิดที่ซอกใบตามกิ่งและปลายยอด มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Jacaranda filicifolia D.Don ชนิดที่นิยมปลูกกันโดยทั่วไปในประเทศไทยได้แก่ชนิดที่ 2 นี้เอง เป็นศรีตรังขนาดเล็กสูง 4-10 เมตร  ทรงพุ่มสูงโปร่ง

ศรีตรัง

เพราะศรีตรังออสเตรเลียไม่ค่อยมีในบ้านเรา จากนี้ผมจึงจะพูดถึงแต่ศรีตรังชนิดที่สองที่แพร่หลายในบ้านเรานะครับ ส่วนหนึ่งเท่าที่สังเกตผมแปลกใจนิดๆ เพราะเห็นว่าศรีตรังจะแบ่งออกเป็นสองขนาดอย่างชัดเจน คือ ขนาดคอมโบ้ แบบนี้ต้นเล็กๆสูงสี่ห้าเมตรเท่านั้น หากซื้อมาปลูกเขาจะโตช้ามากๆ เมื่อโตแล้วก็จะแคระอยู่ที่ขนาดนั้น ผมเห็นสิบกว่าปีอยู่เท่าไรก็เท่านั้นเลย กับอีกแบบ จะมีขนาดใหญ่กว่า สูงได้เป็นสิบเมตร เวลาปลูกลงดินเขาจะโตพรวดพลาดเลยทีเดียว ปลูกสองปีลำต้นใหญ่เท่าท่อนขาแล้ว ใบก็จะใหญ่กว่า เลยสงสัยว่าจริงๆอาจมีสองสายพันธุ์ที่ขายๆกันในชื่อศรีตรัง

ศรีตรัง

ศรีตรัง หรือ แคฝอย มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกาใต้ เป็นไม้ต้นขนาดเล็กในวงศ์ Bignoniaceae ผลัดใบ เรือนยอดโปร่ง เปลือกสีน้ำตาลอมขาว แตกล่อนเป็นแผ่นบางตามยาวคล้ายกระดาษ ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น เรียงตรงกันข้าม ใบย่อย 12-21 คู่ เรียงตรงข้าม ใบรูปขอบขนานแกมรูปเหลี่ยมข้าวหลามตัด มีขนาดเล็ก กว้าง 0.5-0.7 ซม. ยาว 1-1.5 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบเบี้ยว เส้นแขนงใบข้างละ 4-5 เส้น ก้านใบหลักยาว 7-11 ซม. ก้านใบประกอบยาว 4-8 มม. ไม่มีก้านใบย่อย ดอก สีม่วงอ่อน มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกเป็นช่อแบบกระจุกแยกแขนงตามกิ่งและซอกใบ ใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 5-9 ซม. กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีม่วงเข้มปลายแยก 5 แฉก ดอกบานเต็มที่กว้าง 1.5-2.5 ซม. ผลแห้งแตกเป็นฝักสีน้ำตาลอ่อน กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 2.2-2.5 ซม. เมล็ดมีปีกจำนวนมากออกดอกประมาณเดือน มกราคม-มีนาคม เป็นผลประมาณเดือน เมษายน-พฤษภาคม

ต้นศรีตรังเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดตรัง และเป็นไม้ประจำหน่วยงานและสถานศึกษาหลายแห่งคือ โรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง  โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ และโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม

ศรีตรัง

ในหนังสือ “วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดตรัง” ได้บันทึกไว้ว่า ศรีตรัง นั้นเป็นไม้ท้องถิ่นของประเทศบราซิลในทวีปอเมริกาใต้ซึ่งปลูกกันในหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ทานซาเนีย ซิมบับเว ภูฐาน ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ และอินเดีย โดยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ได้นำศรีตรังต้นแรกมาปลูกในจังหวัดตรังในพ.ศ. 2444 หลังจากที่ท่านปลูกยางพาราต้นแรกในพ.ศ. 2442 เพียง 2 ปี และด้วยความงามของศรีตรัง ชาวตรังรุ่นต่อมาจึงถือเอาศรีตรังเป็นต้นไม้ประจำเมือง และได้นำช่อศรีตรังขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองตรังเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2502

ในพ.ศ. 2537 - 2539 รัฐบาลมีโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี และได้ทำพิธีเปิดโครงการ  ณ  ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  เมื่อวันที่  9  พฤษภาคม  พ.ศ. 2537  โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  ได้พระราชทานต้นไม้มงคลหรือต้นไม้ประจำจังหวัดให้แก่ทุกจังหวัด จังหวัดตรังนั้นได้รับพระราชทานต้นศรีตรังซึ่งนำมาปลูกไว้หน้าศาลากลางจังหวัดตรังเมื่อวันที่  9  มิถุนายน พ.ศ. 2537 

ศรีตรัง

ความเชื่อของพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เชื่อว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ที่สามซึ่งมีพระนามว่า พระสรณังกรพุทธเจ้า (แปลว่า “ผู้เกื้อกูลแก่ชาวโลก”) และ พระพุทธเจ้าพระองค์ที่ยี่สิบสอง ซึ่งมีพระนามว่า พระวิปัสสีพุทธเจ้า (แปลว่า “ผู้หาที่เปรียบมิได้”) ได้ตรัสรู้ใต้ต้นศรีตรังซึ่งในภาษาบาลีเรียกว่าต้น “ปาตลี” หรือ “ปาฏลิ” (พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันที่ได้ตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์และในอดีตคือเจ้าชายสิทธัตถะนั้นคือพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ยี่สิบแปดซึ่งมีพระนามว่า “พระโคตมพุทธเจ้า” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้ประเสริฐแห่งหมู่ศากยราช” โดย “ศากย” แปลว่า กษัตริย์วงศ์หนึ่งในกรุงกบิลพัสดุ) โดยพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ล้วนแล้วแต่มีต้นไม้ประจำพระองค์ด้วยกันทั้งสิ้น

ศรีตรังขนาดเล็กสายพันธุ์  Jacaranda filicifolia D.Don ที่นิยมปลูกกันในบ้านเรา มีจุดเด่นตรงที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยอากาศเย็นหรือความแห้งแล้งเพื่อพลัดใบให้ดอก ดังจะเห็นว่าศรีตรังที่ปลูกในจังหวัดตรังซึ่งมีฝนตกชุกก็ผลัดใบให้ดอกสวยงามได้ และหากขับรถไปบนเส้นทางเขาค้อ จะพบเห็นศรีตรังปลูกไว้ริมทะเลสาบจำนวนมาก ก็ผลัดใบให้ดอกสวยงาม จึงเป็นไม้อีกชนิดหนึ่งที่น่าปลูกประดับบ้านเรือนเป็นอย่างมาก แต่การปลูกศรีตรังให้สวยงามนั้น ควรปลูกให้ห่างจากไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ เพื่อให้เกิดความโดดเด่นในยามที่ศรีตรังเบ่งบาน

ศรีตรัง

เมื่อสมัยมัธยม ผมใช้ชีวิตอยู่ในบ้านพักโรงพยาบาลพุทธชินราช ผมต้องเดินจากบ้านพัก ผ่านกลางโรงพยาบาล ออกประตูผี เพื่อไปขึ้นรถเมย์ที่ท่ารถสถานีรถไฟไปโรงเรียนทุกวัน ตลอดเส้นทางนี้ หากว่าเป็นฤดูร้อนต้นคูณริมสระน้ำจะเบ่งบานเหลืองอร่ามยามเดินผ่านดอกคูณที่ร่วงหล่นบนถนนเหมือนพระราชาเดินบนพรมทองคำ แต่เมื่อสายลมหนาวมาเยือน เมื่อนั้นหล่ะ การเดินทางบนถนนเล็กๆสายนี้ของผมจะเป็นสิ่งที่น่ารื่นรมย์ยิ่งนัก

ศรีตรัง

เมื่อหลับตาแล้วปล่อยให้สายลมเย็นพัดผ่านใบหน้า นึกถึงภาพเมื่อวันวาน เหมือนว่ามันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้เอง ผมตื่นแต่เช้าแต่งตัวไปเรียนแต่หัววัน เพื่อจะได้เดินชื่นชมความงามบนถนนสายที่ผมรักนานๆ  อาหารตอนเช้าถ้าไม่ใช่ข้าวพัด ข้าวต้มหมู ก็จะเป็นไข่ดาวกับไส้กรอก ทุกอย่างทานกับซอสแม๊กกี้และพริกไทยที่ผมชื่นชอบ ทานเสร็จต้องเข้าห้องน้ำอีกรอบเพื่อความชัวร์ว่าระบบทางเดินอาหารจะไม่ทรยศตอนเดินทาง ผมคว้ารองเท้าแล้วเดินเขย่งๆออกมาใส่รองเท้านอกบ้านที่ม้านั่งหินอ่อน ก็ไม่รู้ทำไม คงชอบให้เท้าได้สัมผัสพื้นเย็นๆนอกบ้าน หรืออยากรีบออกมาสูดอากาศบริสุทธิ์ยามเช้า แต่ก็ทำแบบนี้เป็นกิจวัตร

ผมเดินออกจากซอยของบ้านพัก ในซอยจะมีแคฝรั่งสีชมพูอยู่สองต้น ออกดอกสะพรั่งราวกับซากุระ ดอกที่ร่วงหล่นลงพื้นทับถมหนาเป็นนิ้ว ต้นหนึ่งสูงชะลูด อีกต้นเป็นพุ่มกลมงามตา ทั้งต้นมีแต่ดอกตระการตาไม่มีใบแม้แต่ใบเดียว แคฝรั่งนอกจากจะสวย ดอกยังทานได้ด้วยนะครับจะบอกให้ แต่จะให้ปลูกในบ้านต้องคิดดูก่อน เพราะใบเหม็นเขียวน่าดูเลย

พอพ้นปากซอยถึงถนนเลียบรั้วด้านในวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี มีต้นศรีตรังต้นสูงประมาณสี่เมตรปลูกไว้ ออกดอกสีม่วงมีเสน่ห์น่าหลงใหล เป็นต้นไม้ที่ผมเดินผ่านแล้วต้องหันไปเมียงมองอย่างชื่นชม และบอกกับตนเองว่า อีกหน่อยบ้านผมจะมีต้นไม้ดอกสีม่วงนี้ปลูกอยู่อย่างแน่นอน ทั้งๆที่ผมไม่เคยเลยจะรู้ว่าต้นไม้สุดสวยนั้นชื่อว่าอะไร แต่ผมก็ไม่รีบร้อนจะรู้จักเค้า เพราะด้วยวัยรุ่นเล็กๆผมยังมีเวลาอีกมากมายมันไม่ต้องเร่งรีบที่จะทำอะไร นอกจากทานแยะๆแล้วไปเรียนหนังสือ

ศรีตรัง

เมื่อลมพัดมา ต้นศรีตรังไม่ไหวติง มีเพียงดอกเล็กๆที่สั่นแผ่วเบาเหมือนระฆังในเทศกาลคริสมาส แต่ผมสิสั่นสะท้านจนต้องซุกมือเข้าไปในกระเป๋าเสื้อกันหนาว จากศรีตรังต้นโปรด ผมเดินผ่านถนนที่ปูลาดด้วยสีชมพูของชมพูพันธุ์ทิพ ที่ดอกร่วงหล่นทุกครั้งที่มวลอากาศพลิ้วไหว เป็นภาพที่จดจำได้อย่างแม่นยำ

เดินผ่านสิ่งสวยงามจรรโลงโลกแล้ว เข้าถึงเขตอาคารของโรงพยาบาล มันกลายเป็นโลกอีกใบที่ช่างแตกต่างกันเหลือเกิน เขตบ้านพักที่ผมเดินผ่านมา ดอกไม้สวยงาม หมอพยาบาลสวมชุดขาวเดินคุยกันด้วยรอยยิ้ม พอเดินผ่านตัวอาคารโรงพยาบาล มีญาติผู้ป่วยนอนอย่างไร้ที่พักพิงอยู่สองข้างทางเดิน คนป่วยท่าทางทรมานและหมดอาลัย บางครั้งก็มีรถเข็นศพผ่านมา พ้นเขตตึกผู้ป่วยก็จะเป็นทางออกประตูผีโรงพยาบาล เป็นทองออกด้านโรงเก็บศพ คนที่เข้ามาประตูนี้คือคนที่มารับศพญาติเท่านั้น ไม่เคยมีรอยยิ้มอยู่ ณ ที่นี้เลย แรกๆผมก็ปรับตัวไม่ค่อยทันกับความแตกต่างในโลกที่ได้สัมผัส แต่ว่า..วันเวลาก็ค่อยๆให้ผมได้เรียนรู้ถึงความเป็นจริงของชีวิตเหล่านี้

ศรีตรัง

แตกต่างกับตอนที่ผมเด็กกว่านั้น ตอนที่เพื่อนผมคนหนึ่งตายไป ผมป่วยไปหลายวัน เพราะรับไม่ได้กับความตาย แต่ถนนสายนั้นที่ผมเดินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ก็ได้สอนให้ผมรู้จักและเข้าใจถึงความจริงของโลกที่เราต้องยอมรับ ถนนสายดอกไม้ที่เริ่มต้นอย่างงดงาม กลางทางที่เศร้าสลด และปลายทางที่เป็นอีกโลกที่ผมต้องต่อสู้ดิ้นรน ภายนอกประตูรั้วโรงพยาบาลมีอะไรมากมายกว่านี้ที่ผมต้องเผชิญ แต่ผมคงจะบอกเล่าแก่ตนเองภายหลัง ไม่นานจากนี้ก่อนที่ผมจะลืมเลือนมันไปกับกาลเวลา เหมือนสายลมที่พัดผ่านมาแล้วก็จากไปไม่ทิ้งร่องรอย บางครั้งก็หนาวเย็นจนสั่นสะท้าน บางคราก็สดชื่นชวนให้สดใส ไม่กี่ครั้งที่พัดพาความหอมหวานมาจากที่ใดที่หนึ่งมาให้ดอมดม แต่บ่อยครั้งที่ร้อนลุ่มชวนให้ไม่สบายตัว แต่สายลมนั้นผ่านมาแล้วก็จะพัดผ่านไป สิ่งที่เหลืออยู่ไม่มีอะไร นอกจากความรู้สึกของเราเอง หลายคนชอบจะย้ำถึงความร้อนแสบทรมานกับสายลมเมื่อคิมหันต์ ถึงแม้ลมร้อนจะผ่านไปก็ยังคิดตอกย้ำถึงความร้อนนั้น ก็เหมือนการเผากายเผาใจของตนเองไม่จบสิ้น ทั้งๆที่มันก็ได้ผ่านเราไปแล้ว... ก็แค่สายลมที่พัดผ่านไป มาชุ่มชื่นหรรษากับสายลมหนาวกันนะครับ

 

หมายเลขบันทึก: 470642เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2011 09:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 17:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • ชอบมากค่ะ  ดอกไม้สีม่วง
  • ได้รายละเอียดความรู้เยอะดี
  • เคยไปโรงพยาบาลตรัง  แล้วมองจากระเบียงชั้น 2  ลงมา  ถามเจ้าถิ่นว่าต้นอะไรในสวนตรงข้าง ๆ โรงพยาบาล  พี่เขาตอบว่าต้นศรีตรัง......เป็นม่วงที่สวย  เย็นตามาก
  • เห็นความสวยงามชัดเจนอีกที....ในบันทึกนี้เอง
  • พร้อมกับความเข้าใจชีวิตในวัยที่ผ่านผัน
  • ขอบคุณมากค่ะ

..ดูภาพแล้วคิดถึงบ้านเกิด..แดนใต้..คิดถึง..ศรีตรัง..ที่ปลูกไว้ในป่า..ปลูกที่เมืองกาญจน..ยายธีเจ้าค่ะ

ชอบสไสต์การเล่าเรื่อง...ตัวอักษรทุกพยางค์และประโยค

ชวนให้อ่านต่อวรรคต่อ ๆ ไปครับ

สรุป..ผมชอบครับ

ตามมาจากบันทึกทะเลดำ ชอบการเล่าเรื่องเพลินดี เราก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบดอกไม้สีม่วงมาก

เพราะโดยส่วนตัวเป็นคนชอบสีม่วง แต่ดอกนี้ไม่เคยเห็น อยากบอกว่า มันสวย งดงามเหลือเกิน

ดูเย็นตา เห็นแล้วอยากยกต้นนี้ออกมาจากหน้าจอคอมไปไว้บ้านเรา อิอิ สวยอ่ะ ดูๆไปคล้ายดอก Happiness ที่บ่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท