การทดสอบบทเรียนโปรแกรม (Programming Test)


                การทดสอบบทเรียนโปรแกรม (Programming Test)

                      การทดสอบบทเรียนโปรแกรมถือเป็นงานส่วนหนึ่งของการเขียนบทเรียนโปรแกรมที่สำคัญมาก  ฉะนั้นหลังจากสร้างบทเรียนโปรแกรมและแก้ไขตามหลักเกณฑ์แล้ว  เราต้องทดสอบบทเรียนว่าบทเรียนโปรแกรมที่เราสร้างขึ้น  สามารถนำผู้เรียนให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามวัตถุประสงค์หรือตามที่ได้ตั้งจุดมุ่งหมายไว้หรือไม่ในการทดสอบบทเรียนนี้เราทำเป็น 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ

                      1.  การทดสอบแบบหนึ่งต่อหนึ่ง (One to One Testing)  การทดสอบแบบหนึ่งต่อหนึ่งเป็นการทดสอบที่ประกอบไปด้วยผู้เขียนบทเรียนคนหนึ่งกับตัวแทนกลุ่มผู้เรียนอีกหนึ่งคน  ตัวแทนของกลุ่มผู้เรียนควรเป็นผู้ที่อ่อนกว่าระดับปานกลางเล็กน้อย  เพื่อจะได้ไม่ทำบทเรียนเร็วเกินไป  และก่อนที่จะให้เขาทำการทดสอบควรให้เขาตระหนักว่าเขากำลังช่วยเราแก้ไขให้ดีขึ้น  ชี้ให้เขาทราบและช่วยหาข้อความที่กำกวม  ไม่เข้าใจ  และข้อความที่สอดคล้องกับความคิดรวบยอดที่เขาได้มาจากตอนต้นของบทเรียนโปรแกรม  การทดสอบแบบนี้ผู้เรียนควรทำบทเรียนกรอบละหน้าโดยมีคำตอบอยู่ข้างหลังหรือตอนบนของหน้าถัดไป  หากผู้แทนของนักเรียนตอบผิด  ผู้เขียนจะต้องอภิปรายเรื่องราวในหน้านั้นๆ กับผู้แทนทันทีและพยายามหาว่าอะไรเป็นสาเหตุ  ซึ่งการอภิปรายนี้จะทำให้ผู้เขียนทราบว่าอะไรที่ทำให้ผู้เรียนออกนอกลู่นอกทาง  และทำให้ทราบอีกว่าในการเขียนเฟรมเพื่อใช้ในการเรียนการสอนนั้นใกล้เคียงและเหมาะสมกับกิจกรรมทางความคิดของนักเรียนเพียงใด

                      2.  การทดสอบกลุ่มเล็ก (Small Group Testing)  ในการทดสอบแบบกลุ่มเล็กนี้คล้ายกับวิธีการทดสอบหนึ่งต่อหนึ่ง  ผิดกันตรงที่ไม่มีการอภิปรายระหว่างผู้เขียนกับผู้เรียนในระหว่างการทดสอบ  นักเรียนที่นำมาใช้ในการทดสอบนี้อาจใช้ 5-10 คน  การทดสอบกลุ่มเล็กนี้ครั้งแรกเป็นการทดสอบพื้นฐานความรู้เดิม(Pre-Test) ของผู้เรียน  ครั้งที่สองเป็นการทดสอบเพื่อจะดูว่าผู้เรียนได้รับความรู้เพิ่มขึ้นเพียงใด  หลังจากเรียนบทเรียนโปรแกรม(Post-test)  ในการทดสอบนี้จะจับเวลาการเรียนของแต่ละคนด้วย  เพื่อที่จะได้ทราบเวลาการทำของคนที่ได้คะแนนดีที่สุดและผู้ที่ได้คะแนนต่ำสุด  ในการทดสอบแบบกลุ่มเล็กครั้งแรกนั้นควรให้เขาทำเครื่องหมายในตอนที่มีความยุ่งยากต่อการทำความเข้าใจหรือข้อความที่อาจจะไม่ชัดเจน  ในการทดสอบแบบกลุ่มเล็กนี้เราจะอภิปรายหลังจากทดสอบครั้งหลังเพื่อนำข้อคิดเห็นข้อบกพร่องไปแก้ไขและนำผลที่ได้ไปวิเคราะห์ค่าทางสถิติ  เมื่อผลวิเคราะห์ได้มาตรฐานเราก็สามารถที่จะนำไปทดสอบขั้นต่อไปได้  แต่ถ้าผลการวิเคราะห์ยังไม่ได้ตามเกณฑ์  เราต้องแก้ไขและนำไปทดสอบกลุ่มเล็กใหม่  เกณฑ์มาตรฐานในการทดสอบกลุ่มเล็กก็เหมือนกับเกณฑ์มาตรฐานในการทดสอบกลุ่มใหญ่หรือการทดสอบภาคสนาม

                      3.  การทดสอบภาคสนาม (Field Testing)  การทดสอบภาคสนามเป็นการทดสอบกับนักเรียนที่เหมือนภาวะของการใช้บทเรียนโปรแกรมจริง  โดยครูผู้สอนเป็นผู้เสนอบทเรียนเหมือนการสอนตามปกติเพียงแต่ใช้บทเรียนโปรแกรมมาเป็นการเรียนการสอนเท่านั้น  ในการทดสอบภาคสนามนี้ผู้สอนจะต้องอธิบายวิธีเรียนให้ผู้เรียนได้เข้าใจ  และจะต้องทำ Pre-Test และ Post-Test เช่นเดียวกับการทดสอบกลุ่มเล็ก  การทดสอบภาคสนามก็เพื่อจะหาความตรงและความแน่นอน (Validity and Reliability) ของบทเรียนโปรแกรม  หากปรากฏว่าผลการทดสอบใช้ได้  ก็สามารถนำไปใช้กับนักเรียนที่กำหนดไว้สำหรับบทเรียนที่สร้างขึ้นได้  โดยทั่วไปการทดสอบภาคสนามมีข้อแก้ไขน้อยมากเพราะเราได้แก้ไขมาแล้วในการทดสอบแบบหนึ่งต่อหนึ่งและทดสอบแบบกลุ่มเล็ก

 

เอกสารอ้างอิง

วิเชียร  ชิวพิมาย. บทเรียนแบบโปรแกรม. ขอนแก่น : คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2544.

 

 

หมายเลขบันทึก: 470634เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2011 07:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 01:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท