วิชาการสายรับใช้สังคมไทย : ๔๐. การจัดการงานวิชาการสายรับใช้สังคมไทย วพส. โมเดล



          วันที่ ๒๒ พ.ย. ๕๔ ผมไปประชุมคณะกรรมการชี้ทิศทางของ วพส. หน่วยงาน พิเศษและแปลกหนึ่งเดียวของประเทศ ที่ดำเนินการมา ๘ ปี โดยเงินสนับสนุนของ สสส. และอีกหลายแหล่งทุน   ภายใต้ภาวะผู้นำของ ศ. นพ. วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์   ผมเคยบันทึกเรื่อง วพส. โดยละเอียดไว้ที่นี่ 

          สสส. บอกว่า อยากสนับสนุนให้เกิดหน่วยงานแบบเดียวกันกับ วพส. ในทุกภาค ของประเทศไทย    แต่ก็หาคนทำไม่ได้   งานแบบนี้ต้องการผู้นำที่มีทั้งฉันทะ และความ สามารถ

          ผมเคยเขียนเรื่องวิชาการรับใช้สังคมไทยกับ วพส. ไว้ที่นี่    คราวนี้จะเขียน ต่อยอดว่าประสบการณ์การทำงานของ วพส. นี่แหละเป็นความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) ในการจัดการวิชาการสายรับใช้สังคมไทย    หากทาง วพส. และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินการจัดการความรู้ ถอดออกมาให้ได้เป็น ความรู้แจ้งชัด (explicit knowledge) ว่าด้วยการจัดการให้มหาวิทยาลัยเข้าไป ทำงานใกล้ชิดสังคม หรือรับใช้สังคม จะมีคุณูปการต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง

          ในที่ประชุมวันนี้ มีการพูดกันว่า วพส. ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างสถาบัน อุดมศึกษาในภาคใต้ (ไม่ใช่เฉพาะ มอ.) กับชุมชน หรือพื้นที่ในภาคใต้ เน้น ๓ จังหวัด ภาคใต้ตอนล่างที่มีปัญหาความไม่สงบ   หรือกล่าวใหม่ว่า วพส. ทำหน้าที่จัดการ (manage) ความสัมพันธ์ระหว่างนักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา กับชุมชนหรือผู้คน ในพื้นที่   เพื่อใช้วิชาการแก้ปัญหาหรือดำเนินการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน   แล้วนักวิชาการก็ได้ผลงานทางวิชาการ (ที่ผมเรียกว่าผลงานวิชาการรับใช้สังคมไทย)

          ความสำเร็จอยู่ที่ ศ. นพ. วีระศักดิ์ เป็นนักวิจัยชั้นยอด   และมีวิธีการและฉันทะ ในการชักชวนให้นัก วิชาการมาร่วมกันคิดโจทย์วิจัยจากสภาพ ของชุมชน   และเก่ง ด้านวิธีวิทยาการวิจัย ที่จะเป็นโค้ชให้แก่นักวิจัยระดับรองๆ หรือนัก วิจัยรุ่นใหม่ได้   และที่สำคัญ อ. หมอวีระศักดิ์ เป็นคน “มีใจ” ที่จะทำงานให้แก่ชุมชน หรือพื้นที่   และทั้งๆ ที่ตัวท่านเองมีผลงานวิจัยชนิดตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ   ท่านก็ไม่รังเกียจผลงานวิจัยชนิดที่ก่อประโยชน์ต่อชุมชน แต่ไม่มีความใหม่เพียงพอที่ จะไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติได้

          วพส. โมเดล เป็นโมเดลการจัดการงานวิชาการสายรับใช้สังคมไทยแบบที่เน้น การจัดการงานวิจัยชนิดเชื่อมโยงกับชุมชน/พื้นที่   ที่นักวิจัยระดับยอดเป็นผู้จัดการ เน้นใช้ทักษะในการทำงานวิจัยเป็นหลัก   โดยมหาวิทยาลัยและคณะแพทยศาสตร์ให้ ความเป็นอิสระในการดำเนินการ   และปัจจัยสำคัญที่ได้อิสระก็เพราะใช้ทุนดำเนินการ จากภายนอกทั้งหมด   รวมทั้ง อ. หมอวีระศักดิ์ มีผลงานเป็นที่เคารพนับถือเป็นที่ไว้ วางใจเชื่อถือสูงมาก 

          ในการประชุมวันนี้ ผู้เกี่ยวข้องทุกคนให้ความเห็นตรงกันว่า วพส. ทำงานได้ สำเร็จก็เพราะได้รับอิสระในการดำเนินการ  

          ที่จริงประเด็นสำคัญที่ปรึกษาหารือกันในวันนี้คือ ความยั่งยืนต่อเนื่องของ วพส.   ซึ่งผมคิดต่างจากคนอื่นในที่ประชุม   ว่าคุณค่าของ วพส. อยู่ที่ function มากกว่า structure   และ มอ. ควรขยาย function นี้ให้กระจายออกไปทั่วทั้งมหาวิทยาลัย   เพื่อให้ มอ. มีบทบาท ๒ ด้านที่เกื้อกูลกัน   คือมีทั้งความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับ ชาติ/โลก   และความเป็นมหาวิทยาลัยรับใช้สังคม  

          คำว่า function นี้ หมายถึงการทำหน้าที่สะพานเชื่อมอุดมศึกษากับชุมชน ดังกล่าวแล้ว   และหัวใจของ function คือการจัดการ

          แต่คนอื่นเขาเน้นที่โครงสร้าง (structure) คือความเป็นองค์กรของ วพส.  ที่จะช่วยกันหาทางสร้างความต่อเนื่องให้ได้

 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๒ พ.ย.๕๔
 

หมายเลขบันทึก: 470435เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2011 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2012 13:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท