เรื่องเล่าจากน้ำท่วม ตอน พลิกฟื้นคุณธรรม


แท้จริงแล้ว อาหารสำเร็จ ถุงยังชีพ และการส่งมอบ ก็เป็นเพียงแค่ “ผลผลิต”แต่ การคัดแยกสิ่งของ การบรรจุถุงยังชีพ การช่วยกันผลิตอาหารเพื่อส่งออกวันละหลายๆ พันชุด และการเดินทางออกสู่ชุมชนนั้น คือ กระบวนการพลิกฟื้นคุณธรรมจริยธรรม ที่หลายคนอาจมองไม่เห็น

พลิกฟื้นคุณธรรม 

          เพราะกรอบงานของมหาวิทยาลัยไม่ได้วางไว้แค่การจัดการศูนย์พักพิงและโรงพยาบาลสนาม เราจึงต้องออกสู่ชุมชนภายนอก เยี่ยมเยียนให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบภัย

         หลายคนอาจคิด การมอบถุงยังชีพ คือ การทำหน้าที่ของนักบุญ คือโอกาสทองของการให้ทาน แต่บางคนมองว่า มันก็แค่หน้าที่หนึ่งในฐานะเพื่อนมนุษย์

         หลายคนคิดว่าตนเป็น “ผู้ให้” อีกฝ่ายเป็น “ผู้รับ” แต่บางคนมองกลับ  ฝ่ายที่กำลังรับต่างหากที่เป็น “ผู้ให้” เพราะเขา “ให้โอกาส” เราจึงควรต้องขอบคุณ ...ขอบคุณที่ทำให้เราได้มีโอกาสทำความดี ด้วยเหตุนี้ จึงได้ให้ด้วยความนอบน้อม ... นอบทั้งกาย น้อมทั้งใจ

         แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเยี่ยมเยียนให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพนั้น คือ เงื่อนไขอย่างดีที่ทำให้เราได้พบปะ รู้จักและคุ้นเคยลึกซึ้งมากขึ้นกับท้องถิ่นและผู้นำชุมชน อันจะเป็นฐานของการทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต.. นับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด เพราะคนเราจะเห็นอกเห็นใจกันก็ในยามยากนี่เอง.. 

         แท้จริงแล้ว อาหารสำเร็จ ถุงยังชีพ และการส่งมอบ ก็เป็นเพียงแค่ “ผลผลิต”แต่ การคัดแยกสิ่งของ การบรรจุถุงยังชีพ การช่วยกันผลิตอาหารเพื่อส่งออกวันละหลายๆ พันชุด และการเดินทางออกสู่ชุมชนนั้น  คือ กระบวนการพลิกฟื้นคุณธรรมจริยธรรม ที่หลายคนอาจมองไม่เห็น

         “วิกฤติคุณธรรม” ได้เกิดขึ้นในสังคมไทยมานานแล้ว ไม่เว้นแม้แต่ในแวดวงของนักศึกษาปัญญาชนที่ครั้งหนึ่งเคยเฟื่องฟูและพรั่งพรูด้วยวลีสวยหรู “เพื่อประชาชน” 

         เรากำลัง “พลิกฟื้น” คุณธรรม ...การร้อย หลอมและรวมใจให้เป็นหนึ่งเดียว ... การฝึกฝนความอดทนและขันติ ... การมีสมาธิ แน่วแน่ มุ่งมั่น ... การรู้จัก รู้ใจ ให้อภัย ... การใส่ใจ เป็นธุระต่อสังคม ตลอดจนการทำงานร่วมกัน จากเดิมที่เป็นแบบ “ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ” มาเป็น “ไม่มีเธอ.. ไม่มีฉัน”

         เราได้ก้าวข้ามพรมแดนต่างๆ มากมาย “ข้ามโปรแกรมวิชา” “ข้ามคณะ” “ข้ามมหาวิทยาลัยและองค์กร” “ข้ามตำแหน่งหน้าที่และสถานภาพ” ที่สำคัญ “ข้ามความขัดแย้งส่วนตัว”

         “ครัว” จึงเป็นที่ขลุกรวมกันของคนจำนวนมากที่ช่วยกัน “คนละไม้ คนละมือ” ความทุกข์ของผู้ประสบภัย คือ กระจกเงาสะท้อนสัจธรรมของชีวิต สะท้อนวิธีคิด วิธีพิจารณาและจัดปรับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์  มนุษย์กับธรรมชาติ อันช่วยขัดเกลาความหยาบกระด้างในใจและยกระดับจิตวิญญาณ  มันสอนเราว่า ...เพราะเราเอาเปรียบธรรมชาติ ...เพราะเราเอาเปรียบกันและกัน ...เพราะเราพูดกันด้วยเหตุผล มากกว่า จิตใจ

         นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่วิกฤติอุทกภัยครั้งนี้ ทำให้เราได้มีโอกาสพลิกฟื้นคุณธรรมให้กลับคืนมา อธิการบดีย้ำว่า โอกาสนี้เป็นโอกาสที่เราต้องช่วยกันเพาะเมล็ดพันธุ์ความดีลงในจิตใจของนักศึกษา โดยไม่จำเป็นต้องสอนด้วยคำพูด แต่สอนด้วยการกระทำ ไม่จำเป็นต้องสร้างสถานการณ์สมมติ ไม่ต้องเล่นบทบาทสมมติ และไม่ต้องใช้ห้องเรียน แต่สอนโดยการทำให้พวกเขาได้พบ ได้เห็น ได้ทำและได้แก้ปัญหาด้วยตนเอง 

         กระบวนการพลิกฟื้นคุณธรรมที่ซ่อนอยู่ภายใต้การทำงานร่วมกันแบบจิตอาสานี้  ... หลายคนอาจมองไม่เห็นเพราะไม่คิดที่จะเห็น ... บางคนอาจพร่ามัวด้วยอคติ แต่ถ้าจะลองเปิดตา เปิดใจให้กว้าง ชีวิตจะมีความสุขมากขึ้น สุขแบบละเอียดๆ 

         ... หลายคนอาจมองไม่เห็น เพียงเพราะว่าตั้งใจที่จะทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเฉพาะหน้า เฉพาะตัวให้ดีที่สุด เหมือนฟันเฟืองตัวเล็กๆ ของเครื่องจักรกลตัวใหญ่  จริงอยู่ที่ว่าถ้าฟันเฟืองทุกตัวต่างทำหน้าที่ของตน หมุนไปตามรอบ ตามจังหวะ เครื่องจักรนั้นก็จะเดินหน้าได้เต็มกำลังสูบ เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลสูงสุด  แต่ “ชีวิตไม่ใช่เครื่องจักร” การเห็นแต่งานเฉพาะหน้า ทำแต่งานเฉพาะส่วน อาจทำให้ภาพรวมเสียศูนย์ บิดเบี้ยว เสียรูปทรงได้  เหมือนที่อาจารย์ประเวศ วะสี พูดเสมอถึงหลักการรักษาคนต้องมองแบบองค์รวม ต้องรู้จักการประสมประสานและบูรณาการ  

         การทำงานในองค์กรก็เช่นกัน เราควรต้องช่วยกันทำให้ทุกคนมองเห็นภาพรวมภาพใหญ่เป็นภาพเดียวกัน   เพราะว่าหน้าที่ ตลอดจนความรู้ ความสามารถและทักษะเฉพาะด้านของแต่ละคนแตกต่างกัน ความคิดเห็นที่แตกต่างจึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ทำอย่างไรเราจึงจะทำให้คนที่กำลังก่ออิฐ โบกปูน ผสมทราย รู้และตระหนักว่า เขากำลังสร้างพระราชวัง    ทำอย่างไร เราจึงจะทำให้คนที่กำลังปอกกระเทียม หั่นผัก หรือหุงข้าว รู้และตระหนักว่า เขากำลังขัดเกลาจิตใจ สร้างและสะสมบารมี...เมตตา ไมตรี กรุณา มุทิตา อุเปกขาปาระมี...  และ สอนคุณธรรมแก่นักศึกษาด้วยการกระทำ

         ด้วยเหตุที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เอง จึงทำให้ต้องหายใจอยู่วิบวับแทบทุกครั้งที่มีการเบิกอาหารหรือสิ่งของที่ได้รับจากการบริจาคจากผู้ควบคุม ไปจัดทำถุงยังชีพหรือไปแบ่งปันยังศูนย์พักพิงอื่นๆ  หรือเบิกเงินไปซื้อของใช้ในครัวเพื่อนำมาประกอบอาหาร ... อาศัยว่าผลัดหน้ากันไป ครั้งนี้..ฉันเบิกแล้ว ครั้งหน้า..ตาเธอนะ.. ทั้งต้องให้เหตุผลประกอบมากมาย อันนั้นเพื่ออะไร อันนี้เอาไปทำไม  เอาไปให้ใคร ฯลฯ  ... มิใช่ว่าผู้ดูแลจะไม่ไว้ใจเรา เพียงแต่เขากลัวความสิ้นเปลือง ...เกรงว่าจะไม่พอเลี้ยง พออยู่กับคนภายใน ...

         หากก็เป็นสีสันของชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง ความคิดเห็นระหว่างเราอาจแตกต่าง แต่ไม่เคยแตกแยก...

หมายเลขบันทึก: 470429เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2011 09:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 14:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท