ชีวิตที่พอเพียง : 1445. บันทึกเมืองไทยเมื่อน้ำเริ่มลด


มีคนที่บ้านถูกน้ำท่วมมากมายกว้างขวางมาก หลายคนทำใจได้อย่างน่าชื่นชม คือยังมาทำงานได้ตาม ปกติ ทั้งๆ ทีขณะนี้น้ำยังท่วมบ้าน ยังเข้าไปดูไม่ได้

ชีวิตที่พอเพียง  : 1445. บันทึกเมืองไทยเมื่อน้ำเริ่มลด

วันที่ ๑๒ พ.ย. ๕๔ น้ำในกรุงเทพเริ่มลด รัฐบาลเริ่มเตรียมตั้งกลไกฟื้นฟู    มีการตั้ง กยอ. และ กยน. ดังข่าวนี้   และไทยรัฐสรุปข่าวน้ำท่วมวันที่ ๑๒ พ.ย. ที่นี่   จะเห็นว่าวันที่ ๑๒ พ.ย. พื้นที่ในกรุงเทพน้ำเริ่มลด   แต่ไปเอ่อแถวบางชัน ถนนพระราม ๒ สมุทรสาคร ตามคาด

อดีตอธิบดีปราโมทย์ ไม้กลัด ได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งใน กยน. ได้ให้ความเห็นไว้ที่นี่   และข่าวใน เดอะเนชั่นชิ้นนี้บอกเรื่องราวเชิงลึกทางการเมืองเบื้องหลังการตั้ง กยอ. ดีมาก

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มี โครงการจัดทำกรอบและประสานการบริหารจัดการและทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา อ่านบางส่วนได้ที่นี่ 

วันที่ ๑๓ พ.ย. มติชนลงข่าวดีจาก ศปภ. ว่าป้องกันนิคมบางชันได้ และถนนพระราม ๒ รถก็ยังผ่านได้ อ่านได้ที่นี่ และ , ,   ความเห็นของ อ. ศศิน เฉลิมลาภ ก็บอกว่ามีโอกาสที่จะป้องกันหลายพื้นที่ได้ จากประสิทธิภาพของการสูบน้ำออกไปทางคลองต่างๆ    รวมทั้งการขุดลอกสิ่งกีดขวางในคลอง    เรื่องการเตรียมขุดลอกคลองให้น้ำผ่านสะดวกนี้   เป็นจุดอ่อนของการเตรียมการป้องกันน้ำท่วมในปีนี้ 

การเปิดโปงของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล เรื่องการเปลี่ยนผังเมืองเพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือครองที่ดิน น่าอ่านมาก อ่านได้ที่นี่

เช้าวันที่ ๑๔ พ.ย. ผมไปประชุมที่อาคารมหานครยิปซั่ม (ถิ่นเก่าของผม) ได้ดูทีวีรายการสรยุทธ ชาวบ้านมีอารมณ์ถกเถียงกับเจ้าหน้าที่   และจากข่าวในบางกอกโพสต์ที่นี่ แสดงให้เห็นความอ่อนแอด้านการ สื่อสารสังคม ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม   ยิ่งได้ฟังข่าว ศปภ. สั่งให้ กทม. ไปแก้ปัญหาชาวบ้านรื้อบิ๊กแบ็กตอนสีทุ่ม ยิ่งเห็นการทำงานแบบไร้แผนที่ดีของ ศปภ.   เพราะหากมีแผนที่ดี ก็ต้องวางมาตรการปกป้องบิ๊กแบ็กตั้งแต่ต้น ทั้งด้านการสื่อสารทำความเข้าใจกับ ชาวบ้าน และด้านการจัดเจ้าหน้าที่เป็นเวรยามดูแลไม่ให้มีคนไปรื้อ   รวมทั้งให้รู้ว่าการรื้อเป็นการผิดกฎหมาย

บางกอกโพสต์ลงข่าววายร้ายโปรยตะปูเรือใบเจาะยางรถยนต์ของทีมช่วยกู้ภัยน้ำท่วมที่นี่    เป็นอาชญากรรมที่น่ารังเกียจมาก    และควรจับมาลงโทษอย่างหนัก 

ภาพเหล่านี้สะท้อนหลายอย่างของสังคมไทย    สำหรับเอามาตั้งเป็นโจทย์ PBL ให้นักเรียนเรียนรู้   เพื่อสร้างบุคลิกที่ดีให้แก่คนรุ่นใหม่ของสังคมไทยที่รักของเรา

ไทยรัฐลงสรุปข่าววันที่ ๑๓ - ๑๔ ที่นี่   มีข่าวหมอสายด่วน ซึ่งผมได้ฟังวิทยุ อสมท. ๑๐๐.๕ เมื่อเช้ามืดวันที่ ๑๓ พ.ย. สัมภาษณ์คุณหมอศุภชัย จันทร์วิทัน ทีมงานหมอสายด่วนที่คิดทำงานอาสาช่วยเหลือ ผู้เจ็บป่วยยามน้ำท่วม ผ่านการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์ น่าชื่นชมมาก

ในขณะที่น้ำในหลายบริเวณเริ่มลด   แต่ที่อ้อมน้อยน้ำสูงขึ้นตามข่าวนี้   

เมื่อค่ำวันที่ ๑๑ พ.ย. ผมเอ่ยกับท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่า ผมขอให้กำลังใจให้ท่านจัดการระบบ ป้องกันโรคระบาดในสถานการณ์น้ำท่วมได้สำเร็จ    และเดอะเนชั่นลงข่าวเรื่องการป้องกันโรคระบาดที่นี่    หลังจากสดับตรับฟังภาพน้ำท่วมทั้งหมด ผมมีความเห็นว่า ศปภ. และ กทม. มีช่องโหว่เรื่องการจัดการขยะใน สถานการณ์น้ำท่วม ทำให้น้ำเน่ารุนแรง   

ข้อเรียนรู้เรื่องการจัดการภัยพิบัติคือ ต้องมีระบบหลากหลายด้าน มีการมอบหมายแบ่งหน้าที่กันดูแล   และต้องมีระบบประสานงาน ทำงานแบบเสริมพลังกัน ไม่ใช่แบบขัดแย้งกันดังในภาพที่เราเห็น    เรื่องภัยพิบัตินี้ นับวันจะรุนแรงและกว้างขวางยิ่งขึ้น   เราควรช่วยกันพัฒนาระบบที่ดีเอาไว้ใช้ในภายหน้า    โดยเรียนรู้จากข้อ บกพร่องและความสำเร็จจากวิกฤติน้ำท่วมปี ๒๕๕๔ ครั้งนี้   ผมมีความเห็นว่า การจัดการภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้ รัฐบาลทำงานแบบไม่มีระบบ    ไม่มองครบถ้วนรอบด้าน   ทำงานแบบลุกลนเฉพาะต่อสู้น้ำ ซึ่งก็เป็นยุทธศาสตร์ที่ ผิดมาตั้งแต่ต้น 

เช้าวันที่ ๑๕ พ.ย.  เมื่ออ่านข่าวนี้ ผมก็คิดว่า ช่วงนี้น้ำจะท่วมหรือไม่ท่วมตรงไหนขึ้นกับการสูบน้ำผันน้ำไปทางไหนที่กรุงเทพชั้นใน ๓   แต่ก็มาพบการแก้ข่าวที่นี่   ก็สงสารคนใน ๓ พื้นที่ว่าเมื่อทราบประกาศได้อพยพกันไปหรือเปล่า 

ข่าวและคลิปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตรน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาชิ้นนี้ทำให้ผมสบายใจว่าทรงเกษมสำราญดี

ฟังและอ่านข่าวน้ำท่วมในตอนนี้ ผมสรุปว่าสภาพปัญหากำลังเคลื่อนสู่ปัญหาน้ำขังและน้ำเน่า    และได้เรียนรู้ว่า การจัดการน้ำท่วมแบบไม่พยายามมองภาพรวมและภาพเคลื่อนไหวทั้งหมด เป็นจุดอ่อนหรือความผิดพลาดที่จะต้องไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำในปีต่อๆ ไป    ปัญหานี้นำไปสู่เหตุการณ์ที่ชาวบ้านแถบดอนเมืองรวมตัวกันรื้อบิ๊กแบ็กโดยไม่เกรงกลัวทางฝ่ายรัฐ   และเจรจากันจนต้องยอมเปิดทางให้น้ำไหลเพื่อลดน้ำเน่าเสีย    มองจากฝั่งทางภาครัฐก็ได้ข้อเรียนรู้ว่าภาครัฐจัดการน้ำโดยไม่มองจากมุมของชาวบ้าน   ทำให้ชาวบ้านไม่ศรัทธาเชื่อถือภาครัฐ    ได้ข่าวว่าวันนี้ชาวบ้านแถบรังสิตก็จะรวมตัวกันรื้อบิ๊กแบ็กอีก 

อ่านและฟังข่าวจากสื่อมวลชนเช่นที่นี่ และที่นี่ ผมคิดว่าตอนนี้ทั้งฝ่ายภาครัฐและฝ่ายสื่อมวลชน จับประเด็นไม่ครบถ้วน ไม่เป็นพลวัตพอ   คือไม่จับประเด็นน้ำเน่าและการกำจัดขยะไม่ให้เพิ่มปัญหาน้ำเสียรุนแรงยิ่งขึ้น    รวมทั้งปัญหาน้ำขังนานมาก ก่อปัญหาต่างๆ ตามมา     คือน้ำท่วมแบบน้ำบ่ามันแบบหนึ่ง ต่างจากน้ำท่วมขัง เป็นน้ำนิ่งไม่ไหล   ที่จะต้องมีวิธีจัดการไม่เหมือนกัน    แต่เรายังไม่ได้แยกแยะ

ศ. ระพี สาคริก เขียนบทความเรื่องน้ำท่วมที่นี่

บทความเรื่องคนจนต้องทนน้ำท่วมขังยาวนานเพื่อไม่ให้คนรวยโดนน้ำท่วม โดย ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ ที่นี่

วันที่ ๑๗ พ.ย. ข่าวความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกันเอง  และระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ อันเนื่องจากความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปกป้องภัยจากน้ำท่วม ดูจะขยายมากขึ้นดังข่าว , ,  

ระหว่างวันที่ ๑๗ - ๒๘ พ.ย. ๕๔ ผมออกไปทำงานมากขึ้น   ได้พบปะผู้คนที่เป็นมิตรสนิทสนมจำนวน มาก พบว่ามีคนที่บ้านถูกน้ำท่วมมากมายกว้างขวางมาก   หลายคนทำใจได้อย่างน่าชื่นชม คือยังมาทำงานได้ตาม ปกติ ทั้งๆ ทีขณะนี้น้ำยังท่วมบ้าน ยังเข้าไปดูไม่ได้   ผมอยู่ในกลุ่มคนโชคดีจำนวนน้อย ที่บ้านไม่ได้อยู่ในเขต กรุงเทพชั้นใน แต่น้ำไม่ท่วม

เราได้เห็น “เงาสะท้อน” จากน้ำ ให้เห็นความไม่เป็นธรรมในสังคม หรือความเหลื่อมล้ำในสังคม    แสดงอาการปฏิกิริยาทางสังคมออกมาเป็นการประท้วง การเรียกร้อง ความขัดแย้ง    นี่คืออาการเตือนของ โรคทางสังคม

อีกโรคหนึ่งคือ คอรัปชั่น ที่เหตุการณ์น้ำท่วมช่วยสะท้อนภาพให้เราเห็น   ว่าเดี๋ยวนี้เมื่อมีเหตุการณ์ให้ ต้องใช้เงินก้อนโต   เงินก้อนนั้นจะรั่วไหลเสมอ   มิตรสนิทคนหนึ่งเล่าว่า พี่ชายทำงานธุรกิจที่ขายชุดยังชีพ ตอนน้ำท่วม   มีเจ้าหน้าที่ของทางการไปถามราคา ได้คำตอบว่า ๑๒ บาท   เจ้าหน้าที่นั้นบอกว่าจะซื้อในวงเงิน .... แต่มีเงื่อนไขว่าให้เสนอราคา ๒๕ บาท   นี่คือข่าวลือที่ผมเชื่อว่าจริง    แต่เหตุการณ์ไม่เดินต่อ เพราะนักธุรกิจและ บริษัทนั้นเขายึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตไม่ร่วมมือกับคน (และพรรค) โกง  

ในช่วงเวลานี้ ไม่มีข่าวไหนดังเท่าข่าวปล้นเงินสด ๒๐๐ ล้านจากบ้าน “ทรัพย์ล้อม”   ที่ดูจะลึกลับ ซับซ้อนหักเหลี่ยมหักคมกันทางการเมืองอย่างที่คนหน่อมแน้มอย่างผมไม่มีทางเข้าใจ    แต่ก็เชื่อว่าเป็นวิถี แห่งคนบาป

เช้าวันที่ ๒๘ พ.ย. ๕๔ ผมจองแท็กซี่ เรดิโอ ๑๖๘๑ ตีห้าครึ่ง โดยเขามีกำหนดว่าพอตีห้าก็จะโทรมาบอก เบอร์รถ   วันนี้ ตีห้าห้านาทีเขาโทรมาบอกว่าไม่มีรถ   ผมต้องไปขึ้นแท็กซี่หน้าหมู่บ้าน    คุยกับโชเฟอร์จึงทราบว่า ในสภาวะน้ำท่วมเช่นนี้ ไม่มีรถแท็กซี่อยากรับผู้โดยสารแถวบ้านผมไปส่งที่สนามบินสุวรรณภูมิในตอนเช้ามืด   เพราะเขาจะต้องจ่ายค่าทางด่วนกลับไปหากินแถวปากเกร็ด   เนื่องจากขับลัดเลาะตามถนนข้างล่างเพื่อเลี่ยงค่า ทางด่วนไม่ได้ เพราะน้ำท่วมถนนบางสาย    เขาจำใจรับผมเพราะผมเป็นผู้โดยสารคนแรกที่เรียก เขาถือเคล็ดต้องจำใจไปส่งทั้งๆ ที่ไม่อยากไป    เกรงว่าหากปฏิเสธผู้โดยสารคนแรกของวัน วันนี้ทั้งวันจะหาผู้โดยสารเรียกได้ยาก    จึงบันทึกไว้ว่าน้ำท่วมมีผลเช่นนี้ด้วย   และมีการถือเคล็ดเช่นนี้ด้วย 

วิจารณ์ พานิช

๒๘ พ.ย.​๕๔ 

 

หมายเลขบันทึก: 469645เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2011 05:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 00:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท