จัดกิจกรรมกลุ่มนอกห้องเรียน


ตามนักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ ม.หัวเฉียวไป จัดกิจกรรมศิลปะสนุกกับน้ำ ณศูนย์พักพิงวิทยาลัยเทคโนโลยี่สยามซึ่งสมาคมนักสังคมสงเคราะห์และองค์กรวิชาชีพเข้าสำรวจเพื่อจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประสบภัยระหว่าง 22-25 พย. 54 ในช่วงน้ำลดผู้ประสบภัยหลายคนต้องการกลับบ้านแต่มีบางคนที่ไม่มีบ้านให้กลับด้วยพลัดหลงกับลูกหลานไม่รู้สถานการณ์ที่บ้าน ยังไม่รู้สิทธิประโยชน์ของตนเอง สมาคมฯจึงจัดโครงการรับฟังปัญหาความต้องการและประสานงานช่วยเหลือให้กับแหล่งทรัพยากรต่างๆ

ส่วนกลุ่มเด็กและวัยรุ่นต้องการมีกิจกรรมเฉพาะกลุ่มบ้างเพราะโดยส่วนใหญ่กิจกรรมรวมกันเช่น ร้องเพลง ฟังธรรม ซึ่งที่จริงมีพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กที่  Save the Children และมูลนิธิการพัฒนาเด็กได้มอบอุปกรณ์การเล่นที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละวัยและอบรมอาสาสมัครในพื้นที่ให้ช่วยดูแลแต่เมื่อบ้านอาสาสมัครน้ำลดลงต้องกลับไปจึงไม่ค่อยมีผู้นำกิจกรรมสำหรับเด็กจึงชักชวนนักศึกษาไปเรียนนอกห้องเรียนเพราะกำลังสอนเรื่องกิจกรรมกลุ่มและนักศึกษาเพิ่งได้อบรมเรื่องกระบวนการกลุ่มของศิลปะบำบัดสำหรับผู้ประสบภัยจากคุณหมอโจ้ พี่เชอรีีี่จากศูนย์ศิลปะบำบัดและ Daniel Wong นักศิลปะบำบัดจากสิงคโปร์ ไฟแรงกันอยู่

นักศึกษาจึงวางแผนกิจกรรมศิลปะสนุกกับน้ำไว้สำหรับเด็กโตหรือวัยรุ่นและกิจกรรมเสริมสร้างพัฒนาการเด็กเล็กด้วยที่ว่าไม่มีห้องแยกต่างหากมีลานกว้างแบ่งคนละมุมแต่เด็กๆชอบเลื้อยมาอยู่ใกล้กันเพราะส่วนใหญ่เป็นพี่น้องต้องดูแลกัน กิจกรรมกลุ่มจึงดูปนเปกันถึงแม้ไม่เป็นไปตามแผนแต่ความสัมพันธ์นั้นแน่นมาก

เมื่อสอบถามความคิดเห็นของเด็กและผู้ปกครองภายหลังการสิ้นสุดกิจกรรมในพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กพบว่า

 1.เด็กๆได้รู้จักการแบ่งปันของเล่นให้กับเพื่อนใหม่ รู้จักการเล่นและมีกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น รู้จักการอดทน รอคอยที่จะเล่นของเล่นชิ้นเดียวกันกับเพื่อน  การรู้จักควบคุมความต้องการของตนเอง การเสียสละ การมีน้ำใจซึ่งกันและกัน

2.ผู้ปกครองและบุตรหลานได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ถือเป็นการเสริมสร้างและกระชับความสัมพันธ์ภายในครอบครัว การได้ใช้เวลาว่างร่วมกัน ได้เรียนรู้พฤติกรรมซึ่งกันและกันผ่านกิจกรรมการเล่นและของเล่น

3.ผู้ปกครองได้มีโอกาสในการสังเกตและเรียนรู้พฤติกรรมของบุตรหลาน และได้เห็นพัฒนาการและการเรียนรู้ของบุตรหลานผ่านการเล่นของบุตรหลานของตน

4.เด็ก ๆ ได้เจอกับเพื่อนใหม่ ได้รู้จักเพื่อนใหม่ผ่านการเล่น  ได้ใช้จินตนาการ เกิดความคิดสร้างสรรค์ ได้เรียนรู้จักการเป็นผู้รับและผู้ให้ รู้จักการมีน้ำใจ การให้อภัย การแลกเปลี่ยนของเล่นซึ่งกันและกัน รู้จักการแบ่งปัน รวมถึงการได้เรียนรู้การเข้าสังคม การเล่นร่วมกับผู้อื่นทั้งเพื่อนในวัยเดียวกันและเพื่อนๆ ต่างวัย

5.การที่บุตรหลานหรือเด็กๆได้ใช้เวลาในการเล่นของเล่นที่ลานพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กนั้น ส่งผลให้ผู้ปกครองมีเวลาว่างที่จะสามารถไปประกอบกิจการ หรือทำงานที่คั่งค้างได้ เนื่องจากบุตรหลานของตนไม่มารบกวนเวลาในการทำงานมากนัก

6.ผู้ปกครองได้คลายเครียด มีความสนุกสนานร่วมกับบุตรหลานของตนและเพื่อนๆ  ผู้ประสบภัยด้วยกัน  รวมถึงได้มีการเสริมสร้างและสนับสนุนกำลังใจซึ่งกันและกัน

7.บุตรหลานได้ฝึกการออกกำลัง ฝึกเดิน ฝึกการออกกำลังของกล้ามเนื้อ อาทิเช่น การปั้นดินน้ำมัน การต่อภาพ เด็ก ๆได้รู้จักการมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีจินตนาการ ได้มีการสังเกตและเลียนแบบพฤติกรรมการเล่นและการเรียนรู้จากเพื่อนๆและผู้ปกครอง

8.เมื่อผู้ปกครองพาบุตรหลานมาเล่นที่ลานกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก ส่งผลผู้ปกครองเองก็ได้พบปะพูดคุยกับผู้ปกครองคนอื่นๆเช่นกัน ได้มีการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ สภาพปัญหา ต่างๆ อาทิเช่น การเลี้ยงบุตรหลาน พฤติกรรมของบุตรหลานของตน เป็นต้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดแนวทางใหม่ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ในการดูแลกับบุตรหลานของตนได้

นักศึกษาที่จัดกิจกรรมสะท้อนว่าเพียงเวลา 2 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้นที่พวกเราได้มาเรียนรู้นอกห้องแต่ผลที่ผู้ปกครองและเด็กบอกกับเรานั้นมันดูยิ่งใหญ่มากทำให้หัวใจของนักศึกษาพองโต และตื่นเต้นมากกว่าเรียนในห้องเรียนอีก ไม่มีใครหลับด้วยล่ะ 

เรียนนอกห้องเรียนมันดียังงี้เองครั้งหน้าจึงชักชวนกันไปทำกิจกรรมกลุ่มกันที่ศูนย์พักพิงท้องฟ้าจำลองคราวนี้ได้เวลา 5 วันเต็ม

 

คำสำคัญ (Tags): #กิจกรรมกลุ่ม
หมายเลขบันทึก: 469515เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2011 15:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 08:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท