ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

“อยู่กับน้ำ” ปลุกกำลังใจคนไทยให้เข้มแข็ง และใช้ชีวิตอยู่กับน้ำได้อย่างมีความสุข


       จากมหาอุทกภัย ที่คนไทยต้องเผชิญร่วมกัน และเป็นปัญหาที่ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หลายคนตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าน้ำมาถึงแล้ว จะอพยพดี หรือจะอยู่กับน้ำดี แต่เชื่อเหลือเกินว่า ไม่มีใครอยากจะอพยพมาอยู่ข้างนอกบ้าน แต่สิ่งที่หลายคนยังตั้งข้อสงสัยว่า แล้วเราจะอยู่กับน้ำได้จริงหรือ จากคำถามดังกล่าว ดับเบิล เอ จึงจัดงานเสวนา “อยู่กับน้ำ” Don’t let Flood STOP your Life ขึ้น โดยเชิญกูรูสาขาต่างๆ มาบอกเล่าถึงประสบการณ์และแนะนำวิธีที่จะทำให้เราทุกคนอยู่กับน้ำได้อย่างมีความสุข

  
       โดยงานในวันนั้นเริ่มจากการร่วมฟังการบรรยายธรรม จาก พระมหาหรรษา ธมมหาโส ผู้ช่วยอธิบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็น สถาบันการศึกษาแห่งแรกๆ ที่ประสบภัยใน อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ด้วยการเตรียมความพร้อม มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงได้กลายเป็นศูนย์กลางการพักพิงของคนกว่า ๒,๐๐๐ ครอบครัว แม้จะลำบากแต่พระมหาหรรษา บอกว่า “รู้สึกภูมิใจ เพราะการไม่ย้ายไม่อพยพของเรา ทำให้ทุกวันนี้ทุกคนในชุมชนกว่า ๒,๐๐๐ ครอบครัวทั้งพุทธ และมุสลิมสามารถต่อสู้ยืนหยัดจนวันนี้น้ำลดลงไปกว่า 60 ซม.แล้ว"


       "ในความเป็นจริงแล้ว น้ำไม่ใช่ศัตรูของเรา  แต่เราควรมองว่าน้ำคือเพื่อนของเรา วันนี้เขามาเยี่ยมเรา มาค้างคืนกับเรา อาจจะหลายคืนหน่อย หรืออาจจะเป็นเดือน  แล้ววันหนึ่งเขาก็จะจากเราไป เราจึงไม่ควรโกรธ และเกลียดน้ำ"  หลังจากนั้น ก็ดำเนินชีัวิตอย่างเกื้อกูลกัน เช่น การที่พระจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทมาเป็นฝ่ายช่วยเหลือญาติโยม

       "ชีวิตของเราเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะเราแปลงร่างจากอาจารย์สอนหนังสือมาเป็นคนขับเรือยนต์ให้ญาติโยมนั่ง  มาใส่บาตรให้ญาติโยมได้รับประทานอาหารกัน  อาตมายังนึกดีใจว่า ขอบคุณสายน้ำที่ทำให้พระได้มีโอกาสทำบุญ ขอบคุณสายน้ำที่ทำให้มหาจุฬาฯ ได้ใกล้ชิดกับชุมชนมากยิ่งขึ้น"

    
       แต่ประเด็นวันนี้ คือ ถ้าเราไม่หนีน้ำเราจะทำอย่างไร สิ่งสำคัญคือ เราต้องปรับตัวเข้ากับน้ำให้ได้ เวลาสายน้ำเดินทางผ่านมาเรามักจะเป็นทุกข์ สโลแกนของพระมหาหรรษา คือ “อยู่กับน้ำให้เป็นไม่เห็นความทุกข์ ” ซึ่งพระมหาหรรษา กล่าวว่า ขณะนี้คนส่วนใหญ่เวลาน้ำวิ่งเข้ามาหาน้ำไม่ได้ท่วมแค่กาย แต่น้ำได้ท่วมไปที่ใจ เพราะขณะนี้คนที่ประสบภัยไปแล้ว หรือคนที่กำลังจะประสบภัย จะมีความโกรธและความโลภ

       "สายน้ำอาจจะพัดพาทรัพย์สมบัติของเรา เช่น ที่นอน หมอน มุง รถ และสิ่งของอื่นๆ ที่หามาด้วยความยากลำบากให้พลันมลายหายไปกับสายน้ำ  แต่น้ำไม่มีวันที่จะพัดพาเอารอยยิ้ม ความรัก ความหวัง และกำลังใจไปจากใจของเรา และสังคมไทย"

       หลังจากนี้อาตมาอยากให้ทุกคนที่เป็นผู้ประสบภัยแล้ว และคนที่กำลังจะเป็นผู้ประสบภัย ตั้งสติให้ดีและไล่เรียงลำดับความสำคัญว่าอะไรควรเก็บควรทำก่อนหลัง ขอให้คิดว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง มีท่วมก็ต้องมีแห้ง ขอให้ทุกคนเข้าใจว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น มันคงอยู่กับเราไม่นาน ขอให้อดทน และอาตมาไม่แนะนำให้คนที่มีบ้าน 2 ชั้น ย้ายบ้าน แต่ที่สำคัญคนที่รับผิดชอบอย่าไปตัดน้ำ ตัดไฟเขา เพราะเขาดูแลของเขาได้”

      
        ขณะที่ สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ หรือ พี่เชค โปรดิวเซอร์รายการคนค้นคน บอกเล่าถึงประสบการณ์ในการลงพื้นที่จริงได้อย่างน่าสนใจ “น้ำท่วมครั้งนี้กินพื้นที่กว้างขวางมาก ตั้งแต่ชนบท ที่คนเรียนรู้ที่จะอยู่กับน้ำ จนถึงใจกลางมหานคร คนที่อยู่ไม่มีทั้งความรู้ ไม่คุ้นชินและไม่ได้มีการเตรียมพร้อมที่จะอยู่กับน้ำ ดังนั้นการลงไปจัดการกับปัญหาเหล่านี้ในบริบทมันมีความแตกต่างกัน และคนถูกน้ำท่วมยังถูกน้ำท่วมด้วยดีกรีที่แตกต่างกัน
      
       จากการลงพื้นที่ผมพบว่า ในกลุ่มคนที่ถูกน้ำท่วม เป็น 5 ประเภท คือ 1. เดือดร้อน 2.ลำบาก 3.ยากเย็น 4.เข็ญใจ และ 5.ไม่ไหวแล้วโว้ย คือ เดือดร้อน ลำบาก ยากเย็น เข็ญใจ ทำให้วิธีที่เราจะต้องลงไปช่วยเหลือจะแตกต่างกัน ประกอบกับการมีต้นทุนบางอย่าง บางพื้นที่ที่มีทุกข์กับน้ำท่วมมาก เพราะไม่มีต้นทุน มีความแตกแยก ไม่มีความสามัคคี แต่บางพื้นที่มีผู้นำที่เข้มแข็ง รวมกลุ่ม และจัดการทำให้ชุมชนอยู่ได้ แต่ในพื้นที่ส่วนใหญ่เมื่อถูกน้ำท่วมต่างคนต่างคิดจะเอาตัวรอด ทำให้ทั้งตัวเองและชุมชน ไม่สามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้
      
       ด้าน นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข … เล่าถึงประสบการณ์จากฐานะผู้ประสบภัยกลับมาเป็นผู้ช่วยเหลือว่า “ผมอยู่ในเขตบางบัวทอง จึงถือเป็นผู้ประสบภัยลำดับแรกๆ หรือ ผู้ประสบภัยรุ่นที่ 1 โดยที่ผ่านมาผมเตรียมสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งหลายๆ คนบอกอาจารย์หนีเถอะ เพราะน้ำเยอะจริงๆ และไม่มีทางรอด แต่ผมเริ่มจากความไม่ประมาท ตระเตรียมทุกอย่างในการดำรงชีวิต
      
       แต่สาเหตุที่ต้องออกมาอยู่ข้างนอก เพราะบังเอิญรายการโทรทัศน์ได้ชวนออกไปอยู่ข้างนอก เลยตัดสินใจออกมากับทางรายการ และปรับเปลี่ยนตัวเองจากผู้ประสบภัยมาเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ โดยลงพื้นที่คลองมหาสวัสดิ์ ไปพบว่า ชาวบ้านตั้งใจว่าเขาจะอยู่ และทาง กทม. ตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวไว้ที่โรงเรียนคลองมหาสวัสดิ์ และที่วัดปุณณาวาส ผมจึงเริ่มกระบวนการกับชุมชน และเราเตรียมเป็นขั้นเป็นตอน และทุกคนต่างร่วมแรงร่วมใจกัน แต่ก็มีความขัดแย้งกัน แต่อย่างที่บอก ในสถานการณ์แบบนี้ อยู่ที่ต้นทุนและผู้นำชุมชนว่าเป็นอย่างไร เราจะจัดระบบอย่างไรให้เกิดผู้นำ และความสามัคคีขึ้น ซึ่งจากความสามัคคี ทำให้ชุมชนดังกล่าวอยู่ได้ด้วยความเข้มแข็ง โดยย้ำว่า ถ้าเราฝ่าวิกฤตได้ เราก็จะแข็งแรงขึ้นกว่าเก่า”
      
       การเสวนาในครั้ง คงจะช่วยทำให้ทั้งผู้ประสบภัยและผู้ที่กำลังจะประสบภัย ได้กำลังใจและแนวทางที่จะลุกขึ้นมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยไม่ปล่อยให้น้ำมาหยุดวิถีชีวิตของเรา ขอแค่รัฐบาลอย่าตัดน้ำตัดไฟ คนที่ตั้งใจจะสู้อยู่กับน้ำ ก็จะอยู่ได้ ในช่วงท้ายเสวนาดั๊บเบิ้ล เอ ผู้จัดเสวนาได้นำร่องมอบเรือเมล์ และไม้ต้นกระดาษให้แก่นพ.โกมาตร เพื่อนำไปสร้างสะพานต้นแบบสำหรับการสัญจรของชุมชนที่ประสบอุทกภัย ให้สามารถมีวิถีชีวิตอยู่กับน้ำ และขอฝากคำดีๆ ของพระมหาหรรษา ไว้ด้วยว่า “ แม้ว่าน้ำจะพัดพาทุกอย่างไปจากชีวิตเรา แม้ว่าจะพัดพาบางอย่างไปจากสังคมของเรา แต่น้ำจะไม่พัดพาสยามเมืองยิ้ม กำลังใจ และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันไปจากสังคมไทย เราจะสู้ไปด้วยกัน”

http://www.manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx?NewsID=9540000145793

หมายเลขบันทึก: 468566เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2011 19:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ท่าน ดร.ขจิต

  • ขอแสดงความชื่นชมท่านมากๆ ที่เป็นความหวังและกำลังใจแก่พี่ๆ น้องๆ
  • มิตรแท้ คือมิตรในยามยาก  สักวันเราจะผ่านฝันร้ายไป ฝันร้ายๆ มักทำให้เราเข้มแข็งเสมอ  เราจะฝ่าอุปสรรคไปด้วยกัน

ขอเป็นกำลังใจกับทุกท่านที่ประสบภัยจากน้องน้ำตามพร้อมกับความคิดเห็นของท่านนะคะ

คงจะมีโอกาสได้ไปแวะเยี่ยมท่านที่วังน้อยนะครับ

นมัสการครับ

เจริญพร ท่านทูต

  • ขอบคุณท่านที่แวะมาเยี่ยมเยียน
  • ปีหน้ามหาจุฬาฯ จะเป็นเจ้าภาพจัดงานวิสาขะ อีกครั้ง
  • รอตอนรับท่านมาเยี่ยมเยียนมหาวิทยาลัย

..ดีใจและเป็นกำลังใจ..กับ..ผู้ยิ้มสู้.ที่มีเมตตามุทิตาอุเบกขาของคนไทย.ทุกท่านเจ้าค่ะ..ยายธี

  • นมัสการครับพระอาจารย์
  •  “ อยู่กับน้ำให้เป็นไม่เห็นความทุกข์ ” เป็นสัจธรรมในยุคนี้จริงๆ เลยครับ
  • ในเมื่อเราหนีน้ำไม่พ้น เราก็ต้องปรับตัวอยู่กับน้ำให้ได้

เจริญพรยายธี และโยมวศิน

  • เืชื่อว่าเกษตรศาสตร์ก็ลำบากไม่แพ้มหาจุฬาฯ
  • เราคงต้องรอเวลาให้น้ำแห้งมากกว่านี้ เพื่อจะได้ฟื้นฟูอย่างเต็มกำลัง
  • ให้กำลังใจท่านกับผู้บริหารและคณาจารย์เกษตรฯ ทุกท่าน
  • เราจะฝ่าวิกฤตินี้ไปด้วยกัน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท