บ้านสันติชล...ชุมชนจัดการตนเอง


เป้าหมายร่วมกันที่ยิ่งใหญ่ ขอเป็นคนไทย อยู่อย่างสงบและปลอดภัย คือจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงบ้านสันติชล

การไปจับภาพการจัดการความรู้ที่ อำเภอปาย จ.แม่ฮ่องสอน ได้พบกับชุมชนเรียนรู้ 3 แบบ 3 สไตล์ คือ

  • ชุมชนจัดการท่องเที่ยวจีนยูนนานบ้านสันติชล
  • กลุ่มสร้างสรรค์สื่อวิทยุชุมชนเพื่อคนเมืองปาย
  • ศบอ.ปายกับการสร้างเสริมอาชีพแก้จนชุมชนเรียนรู้ ต.เวียงเหนือ

   

           ที่บ้านสันติชล เป็นชุมชนจัดการตนเอง ที่สามารถลบภาพชุมชนที่น่ากลัวในอดีตให้กลายเป็นชุมชนท่องเที่ยวที่นำเสนอเอกลักษณ์ วัฒนธรรม ของชาวจีนยูนนานอันเป็นรากฐานของชุมชนมาเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว และยังใช้กิจกรรมท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือของการพัฒนาชุมชนไปพร้อมกัน ทั้งด้านการฟื้นฟู อนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมจีนยูนนาน การพัฒนาอาชีพ ที่ส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ที่เป็นเช่นนี้ได้ เพราะ

  • ชาวบ้านสันติชลมีเป้าหมายร่วมกันที่จะ สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของชุมชนที่เคยน่ากลัวให้กลายชุมชนสงบและปลอดภัย
  • ชุมชนบ้านสันติชลมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้นำ ผู้ดูแล และผู้สนับสนุน รับฟังความคิดเห็น ยึดประโยชน์ของคนในชุมชนเป็นหลัก จึงพยายามเชื่อมโยงภายนอก หน่วยงานทหาร หน่วยราชการอื่น และหน่วยงานพัฒนาต่าง ๆ ที่จะทำให้บ้านสันติชล ประกาศตัวตนต่อภายนอกว่าเป็นชุมชนปลอดยาเสพติดและปลอดภัยสร้างความมั่นใจกับนักท่องเที่ยว ค้นหา ส่งเสริมศักยภาพเศรษฐกิจชุมชน เช่น การแปรรูปถั่วเหลือง
  • มีโครงสร้างการจัดการภายในชุมชนที่เน้นการดูแลช่วยเหลือกัน ดังที่ คุณบุญหล่อ หล่ออริยวัฒน์ ผู้นำชุมชน กล่าวว่า “บ้านสันติชล” เหมือนครอบครัวใหญ่ 190 ครัวเรือน 1,070 คน ผู้นำชุมชนเปรียบเหมือนพ่อบ้านซึ่งอาจดูแลไม่ทั่วถึง จึงมีการคัดเลือก “ผู้ช่วยผู้นำ”มาเป็นหัวขบวนในการดูแลชุมชนในด้านต่าง ๆ อีก 4 คน เช่น ด้านสวัสดิการ ด้านความปลอดภัย เป็นต้น มีทีมคณะกรรมการหมู่บ้าน 13 คน ที่แต่ละคนก็จะดูแล 10 กว่าครอบครัว เป็นการดูแลและจัดการช่วยเหลือกันภายในชุมชนซึ่งพวกเขาบอกว่า “เราเป็นครอบครัวใหญ่ใครคนใดคนหนึ่งเดือดร้อนทุกคนก็เดือดร้อนด้วย” แสดงถึงความใส่ใจและมีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน และช่วยเหลือกัน"

   

 แต่ละเดือนมีการรายงานผลความคืบหน้า การแก้ปัญหา หรือเสนอความต้องการของชุมชน ในเวทีประชุม สรุปร่วมกันแล้วกลับไปดำเนินการต่อเป็นวงจรต่อเนื่อง การประชุมแต่ละครั้งเป็นเวทีการมาพบปะ พูดคุย รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ เหมือนกับการ update เรื่องราวของชุมชน ซึ่งทุกครั้งก็จะมีการบันทึกว่าคุยกันเรื่องอะไร ได้ผลสรุปอย่างไร และจะกลับไปทำอะไรต่อ

ที่สันติชลยังมีลานกลางบ้านหรือลานประชาคมที่คนในชุมชนจะมารวมตัวกันเพื่อให้ความเห็นในเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องการข้อสรุปร่วมกัน นอกเหนือจากช่องทางผ่านกรรมการหมู่บ้านและผู้ช่วยผู้นำผู้นำและแกนนำชุมชนทำหน้าที่ออกไปเชื่อมโยงความร่วมมือจากภายนอก

  • ยกระดับความรู้เก่า นำเข้าความรู้ใหม่ ประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาชุมชน

          -  การท่องเที่ยวชุมชนเกิดขึ้นจากการไปดูงานบ้านรักไทย แล้วเห็นนักท่องเที่ยวมาเยอะ ก็ไปถามว่านักท่องเที่ยวมาทำอะไร มาดูอะไรก็พบว่าเขามากินอาหารจีน ซื้อของที่ระลึก จึงสั่งมาชิมทุกอย่างหมด แล้วบอกว่าแบบนี้สันติชลน่าจะทำได้ จึงนำมาสู่การค้นหาองค์ความรู้ของชุมชน และพัฒนาจุดท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั้งการทำซุ้มประตูที่ใช้แรงงานกว่า 3 พันคนช่วยกันสร้างในเวลา 72 วัน (น่าเสียดายที่ถูกน้ำหลากเสียหายไปเมื่อปีก่อน) เพื่อพิสูจน์ตัวตน ธรรมชาติวิถีคนจีนยูนนาน และทำการเปิดประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่าบ้านสันติชลปลอดยาและปลอดภัย จากหมู่บ้านที่น่ากลัวที่สุดกลายมาเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวได้

            - ไม่ได้หยุดเพียงเท่านั้นยังคิดและพัฒนาต่อเนื่องร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สกว. สำนักงานภาค หน่วยประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นแม่ฮ่องสอนที่ติดตามและพัฒนาโจทย์วิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่เป็นความต้องการของชุมชน เช่น การแปรรูปถั่วเหลือง จากการนำมาทำเต้าหู้กินในครัวเรือน ก็แปรรูปและขายเป็นขนม ของฝาก การพัฒนาจุดแสดงวิถีวัฒนธรรมจีนยูนนาน เป็นลานประชาคม เวทีการแสดง และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวอีกด้วย

   

 จะเห็นว่าชุมชนบ้านสันติชลสามารถเปลี่ยนแปลงได้เป็นผลสำเร็จมาจากความร่วมมือร่วมใจของคนในหมู่บ้านที่มีเป้าหมายร่วมกัน ดังที่ ผู้นำชุมชนกล่าวว่า บ้านสันติชล "ทำได้เพราะใจ"   ดังที่ได้ตั้งปณิธานไว้ สิ่งที่ภูมิใจที่สุดคือ ชาวบ้านได้อยู่กันอย่างสงบ และเป็นหมู่บ้านที่ปลอดภัย สามารถสร้างอาชีพหลากหลายให้กับพี่น้องสันติชล ได้แก่ กลุ่มเลี้ยงไก่ ปลูกผัก เน้นผักปลอดสารพิษ เย็บปักถักร้อย สานรองเท้าจีน แปรรูปอาหาร เป็นต้น เห็นการเปลี่ยนแปลงในชุมชนที่มีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมอาชีพมากขึ้นในชุมชน คนในชุมชนเอาใจใส่ซึ่งกันและกันมากขึ้น มีการฟื้นฟูชิงช้าจีนยูนนาน ดนตรียูนนาน และก็จัดให้มีการแสดงเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย

 เมื่อการท่องเที่ยวเป็นการจัดการของชุมชน สันติชลมีการจัดการดูแลนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย นี่คือผลลัพธ์ที่มาจากการมีเป้าหมายร่วมกันและนำไปสู่การจัดการและเรียนรู้ร่วมกันในทุกเรื่องเพื่อให้อยู่อย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรีบนผืนแผ่นดินไทยเช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป

คำสำคัญ (Tags): #ร่องรอย
หมายเลขบันทึก: 46769เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2006 20:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ทริปนี้ใช่ทริปที่ไปกับอาจารย์จตุพรหรือเปล่าครับ ที่อาจารย์จตุพรบอกว่า สาว สคส. ลืมสัญญา
  • ถ่ายทอดออกมาได้ดีมากเลยครับ โดยเฉพาะภาพ (อาหาร) เห็นแล้วอยากไปสัมผัสมาก ๆ เลยครับ
  • ขอพลังความรู้จงสถิตกับท่านตลอดไปครับ

 

ตอบคุณปภังกร

  • ใช่ค่ะ ทริปนี้ได้รับการต้อนรับอย่างดีจาก คุณจตุพร และยังทำให้ได้รู้ว่า อาจารย์จตุพรเป็นนักประสานงานพัฒนา(โจทย์วิจัย) ตัวฉกาจทีเดียวค่ะ
  • อ้อ....ขอแก้ข่าวค่ะ สาว สคส.ไม่ได้ลืมสัญญานะคะ
  • นี่เป็นเพียงแง่มุมเล็ก ๆ ถ้าอยากสัมผัสของจริงต้องไปที่ปายค่ะ (ติดต่อ "จตุพร...บริการ...ได้เลย 5555555)

รบกวนอยากได้เบอร์โทรสัพท์ที่สามารถติดต่อที่พักได้นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท