น้ำท่วม กับลมหายใจของชาวสวนทุเรียนเมืองนนท์ ตอนที่ ๒ (ตอนจบ)


ตอนที่ ๑

          สำหรับการปลูกต้นทุเรียนของที่นี่ เดิมทีที่ดินบริเวณนี้เป็นที่นา เป็นที่ลุ่ม ติดแม่น้ำ ลำคลอง ในฤดูน้ำหลาก น้ำจึงท่วมถึง ทำนาไม่ได้ จึงเปลี่ยนมาเป็นทำสวนแทน โดยการยกร่อง นำดินขุดเป็นร่องน้ำมาทำเป็นคันกันน้ำ แต่ในระยะเริ่มแรก ปลูกผลไม้หลากหลาย และมีการปลูกมะพร้าว ขี้เหล็ก หมาก มะม่วง ทองหลาง ไว้ตามคันสวนเพื่อให้รากยึดคันดินไว้ ไม่ได้ปลูกทุเรียนเป็นหลัก แต่ต่อมาเมื่อมีการทำสวนทุเรียนกันมากขึ้น โดยชาวสวนจะปลูกต้นทุเรียนระหว่างของต้นทองหลางและต้นอื่นๆ เนื่องจากกิ่งก้านใบของต้นทองหลาง สามารถป้องกันแดดให้ต้นทุเรียนที่ปลูกใหม่ในระยะแรกได้ดี อีกทั้ง ใบไม้ของต้นทองหลางและต้นอื่นๆ ที่หล่นร่วง จะทับถมกันและกลายมาเป็นปุ๋ยชั้นดีให้กับต้นทุเรียน ประกอบกับดินดำ น้ำชุ่ม สภาพอากาศเหมาะสม ต้นทุเรียนที่สวนเมืองนนท์ จึงเติบโตงอกงามดี มีรสชาติหวานหอมละมุนและเนื้อเนียนละเอียด

          คนใกล้ชิดผู้เขียน เคยเล่าให้ฟังว่า ทุเรียนที่สวนเมืองนนท์ ไม่มีปัญหาเรื่องการตลาด ไม่มีปัญหาเรื่องการล้นตลาด มีแต่ไม่พอขาย สมัยก่อนจะมีลูกค้ามาจองผลทุเรียนจากต้นตั้งแต่ออกผล เมื่อแก่จัดได้ที่ ลูกค้าก็จะมารับผลทุเรียนที่จับจองไว้ บางปีผลผลิตเยอะ คนใกล้ชิดผู้เขียนกับแม่ก็นำทุเรียนจำนวนมากลำเรียงจนเต็มลำเรือและพายไปวางขายที่ตลาดหัวรถไฟ (ใกล้ๆ โรงพยาบาลศิริราช) ซึ่งขายหมดอย่างรวดเร็ว นำไปเท่าไหร่ก็ขายได้หมดทุกครั้ง นี่ยังไม่นับที่เก็บไว้กินเองและแจกจ่ายเพื่อนฝูงญาติพี่น้อง

          นอกจากทุเรียนเมืองนนท์ที่เป็นผลไม้หลักของสวนแล้ว ยังมีไม้ผลอื่นๆ อีกมากมายหลายชนิดที่ออกผลให้เก็บเกี่ยวขายได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะมังคุดที่ตีคู่เติบโตมาพร้อมกับทุเรียนสวนเมืองนนท์เลยก็ว่าได้ สมกับเป็นราชาและราชินีของผลไม้จริงๆ

          ด้วยสภาพพื้นที่ของตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอบางกรวย แม้จะอุดมสมบูรณ์ ปลูกอะไรก็ขึ้น ปลูกอะไรก็อร่อย แต่ก็เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ติดริมคลอง ซึ่งเป็นคลองสาขาที่แยกมาจากคลองบางกอกน้อย ก็ทำให้สวนผลไม้ของเขาและเพื่อนบ้านชาวสวนละแวกใกล้เคียง น้ำท่วมหลากเป็นประจำทุกปี แต่ความเสียหายไม่มาก และไม่ยาวนาน น้ำมาแล้วก็ไป ชาวสวนสามารถปรับตัวและอยู่กับน้ำได้

          เมื่อก่อนผู้เขียนได้ชิมทุเรียนเมืองนนท์เป็นประจำทุกปี ยังจำรสชาติอันหอมหวานละมุนของทุเรียนเมืองนนท์จากสวนของคนใกล้ชิดผู้เขียนได้ดี

          ผู้เขียนยังเคยถามคนใกล้ชิดของผู้เขียนเลยว่า ทำไมทุเรียนเมืองนนท์จึงแตกต่างจากทุเรียนที่อื่น เขาบอกว่า ทุเรียนเมืองนนท์จะมีหนามแหลม เปลือกบาง เนื้อหนา รสชาติหวานมัน ถึงแก่จัดหรือเก็บไว้นาน เนื้อก็ไม่เละ ยังคงมีเนื้อที่ละเอียดเนียนสวย และหอมหวานอร่อย

          สวนทุเรียนเมืองนนท์พบกับวิกฤติน้ำท่วมอีกหลายครั้ง หนักบ้างเบาบ้าง ต้นทุเรียนเมืองนนท์ของผู้ใกล้ชิดผู้เขียนและสวนอื่นๆ ละแวกนั้น ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ชาวสวนส่วนใหญ่จึงหันไปปลูกกิ่งส้มมากขึ้น  เพราะช่วงนั้น พื้นที่ปลูกส้มที่รังสิตและบางมดเกิดวิกฤติการน้ำท่วมเช่นกัน ต้นพันธุ์กิ่งส้มจึงขาดแคลน ชาวสวนย่านนนทบุรีจึงหันไปปลูกกิ่งส้มเสริมแทนต้นทุเรียนและไม้ผลอื่นๆ ดั้งเดิมที่ตายจากน้ำท่วม เพราะต้นกิ่งพันธุ์ส้มมีราคาดีและให้ผลผลิตเร็วกว่าต้นทุเรียนเมืองนนท์ที่กว่าจะเก็บเกี่ยวผลได้ก็ต้อง ๕ ปีขึ้นไป แต่ต่อมาสวนส้มที่รังสิตและบางมดก็ล่มมลายสิ้นชื่อไป การปลูกกิ่งพันธุ์ส้มของคนใกล้ชิดผู้เขียนจึงลดน้อยลงไปด้วย

          ผู้เขียนจำได้ว่า เมื่อปี ๒๕๓๘ น้ำท่วมใหญ่ สวนทุเรียนเมืองนนท์ก็ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ อีกครั้ง คือ สวนทุเรียนในละแวกนี้ตายหมด มีบางต้นที่เหลือรอดก็ไม่ออกผล สวนทุเรียนเมืองนนท์ของคนใกล้ชิดผู้เขียนก็ประสบชะตากรรมเฉกเช่นเดียวกับชาวสวนทุเรียนเมืองนนท์คนอื่นๆ จนต้องหันมาปลูกไม้ผลอื่นๆ ที่ให้ผลเร็วและทนน้ำได้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นกล้วย มะละกอ ข้าวโพด มะม่วง ชมพู่มะเหมี่ยว มะปราง ฯลฯ รวมไปถึงพืชผักสวนครัวหลากหลายชนิดแทน แต่ก็ยังคงมีการปลูกทุเรียนและมังคุดด้วย แม้จะเป็นจำนวนน้อยลงไปจากเดิมมาก

         วิบากกรรมสวนทุเรียนเมืองนนท์ของผู้ใกล้ชิดผู้เขียนและเพื่อนบ้าน ไม่หมดลงเพียงเท่านั้น เพราะปี ๒๕๔๙ น้ำก็ท่วมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ต้นทุเรียน มังคุด  ไม้ผลอื่นๆ และพืชผักสวนครัว ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย กว่าที่ต้นทุเรียนเมืองนนท์แต่ละต้นจะเติบโตให้ผลเก็บเกี่ยวได้ก็เกือบ ๕ ปี แต่ละปีแต่ละต้นจึงรอดบ้าง ตายไปบ้าง ต้องมีการปลูกต้นทุเรียนมังคุด และพืชอื่นๆ ใหม่เพื่อทดแทนต้นเดิมที่ตายไปเพราะน้ำท่วมหลังหมดฤดูน้ำหลากทุกปี

         มาจนถึงปัจจุบัน (ปี ๒๕๕๔) ที่ประเทศไทยพบเจอกับวิกฤติน้ำท่วมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งนี้หนักหนามากกว่าน้ำท่วมเมื่อปี ๒๕๓๘ และ ๒๕๔๙ มากมายหลายเท่า เพราะเป็นปีที่น้ำท่วมสูงและยาวนานนับเดือน แม้ที่สวนของคนใกล้ชิดผู้เขียนจะทำเขื่อนคอนกรีตกั้นน้ำแล้วก็ตาม ก็ไม่สามารถสกัดกั้นความแรงและจำนวนมากมายมหาศาลของน้ำได้

          น้ำท่วมปีนี้ คนใกล้ชิดผู้เขียนและครอบครัวต้องดำน้ำลึกกว่า ๒ เมตร ลงไปขุดต้นไม้ที่พอจะขุดได้ขึ้นมาพักไว้ในกระถางแทน หวังว่าหากน้ำลดแล้ว ก็จะได้นำไปลงดินอีกครั้ง

          แม้จะยากลำบาก หรือต้องพบเจอกับวิกฤติอุทกภัยอีกกี่ครั้ง จะรุนแรงมากขึ้นแค่ไหน คนใกล้ชิดผู้เขียน ก็ไม่เคยคิดที่จะขายที่สวนมรดกแห่งนี้ จะยังคงปลูกต้นทุเรียนเมืองนนท์ต่อไปอีกจนกว่าชีวิตจะหาไม่ แม้จะต้องปลูกใหม่อีกกี่ครั้งก็ตามที เพราะทุเรียนเมืองนนท์เป็นมากกว่าพืชเศรษฐกิจ แต่มันคือลมหายใจและความผูกพันมาอย่างยาวนานของชาวสวนทุเรียนเมืองนนท์โดยแท้

หญิง สคส.

๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

 

หมายเลขบันทึก: 467674เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2011 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท